วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 5, 2024
spot_imgspot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปรับ“เศรษฐา 1/1” บทเรียนสอน“ผู้นำ” ถูกเพื่อนหักหน้า-อุ้มระเบิดเวลาใกล้ตัว
spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปรับ“เศรษฐา 1/1” บทเรียนสอน“ผู้นำ” ถูกเพื่อนหักหน้า-อุ้มระเบิดเวลาใกล้ตัว

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ก็คงนึกไม่ถึงว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา 1/1” จะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง แบบนอกเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ “พรรคเพื่อไทย” (พท.) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

ใครคงจำได้ ก่อนทรงโปรดเกล้าฯรายชื่อครม. “หัวหน้ารัฐบาล” ยังกล่าวชื่นชม “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า มีศักยภาพอย่างเต็มที่กับการดูแลพรรคต้นสังกัดไม่ให้เกิดปัญหา แต่ในที่สุดก็เกิดเรื่องจนได้ โดยเฉพาะในห้วงเวลา ที่มีการประกาศรายชื่อครม.ชุดใหม่ออกมา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ยื่นใบลาออกจากรมว.ต่างประเทศทันทีในวันเดียวกัน (28 เม.ย.) จากนั้นเอกสารก็ปรากฏตามสื่อต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย และในที่สุดก็ต้องนำเสนอชื่อ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” ขึ้นเป็น “รมว.ต่างประเทศ” แทน

หากย้อนไปดูรายชื่อ “ครม.เศรษฐา 1/1” หลังมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ปรากฏชื่อประกอบด้วย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นรองนายกฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง, “พิชัย ชุณหวชิร” เป็นรองนายกฯและรมว.คลัง, “จักรพงษ์ แสงมณี” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ, “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ, “จิราพร สินธุไพร” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ, “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” เป็นรมช.คลัง, “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” เป็นรมว.ต่างประเทศ, “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” เป็นรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, “อรรถกร ศิริลัทธยากร” เป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์, “สุชาติ ชมกลิ่น” เป็นรมช.พาณิชย์, “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” เป็นรมว.วัฒนธรรม, “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นรมว.สาธารณสุข 

ส่วน “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รมต.ประจำสำนักนายกฯ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี, “ไชยา พรหมา” รมช.เกษตรฯ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี, “อนุชา นาคาศัย” รมช.เกษตรฯ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี, “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รมว.สาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

จะเห็นว่า “พิชัย” นั่งเก้าอี้รองนายกฯควบรมว.คลัง ซึ่งหลายคนไม่แปลกใจ เพราะในฐานะที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ  ต้องมีอำนาจในการดูแล ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ยิ่งผลงานด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นจุดขายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปโชว์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

แต่ที่น่าแปลกคือ การนำเก้าอี้รองนายกฯไปมอบให้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งดูแลกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีคำถามว่า มีเหตผลและความจำเป็นอะไร หรือไม่ จากผลพวงดังกล่าว เลยทำให้ “ปานปรีย์” หรือที่ใครคุ้นเคยชอบเรียกชื่อกันว่า “ ดร.ตั๊ก” ต้องเหลือเพียงเก้าอี้ “รมว.ต่างประเทศ” จนในที่สุด นำมาสู่การตัดสินใจยื่นใบลาออก สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองให้กับรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยมากพอสมควร

ปานปรีย์ พหิทธานุกร

“ปานปรีย์” ให้เหตุผลในการลาออกตอนหนึ่งว่า ตำแหน่งรองนายกฯอาจจะไม่จำเป็นต้องกำกับดูแลงานหลายงาน โดยนายกฯอาจจะมอบหมายงานให้กับรองนายกฯคนอื่นก็ได้ หรือจะมอบหมายให้รมว.ต่างประเทศ อย่างในกรณีที่เคยมอบหมายให้ตนทำก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ทำได้ด้วยความเรียบร้อย แต่เมื่อมาเหลือตำแหน่งเดียว ตนก็เห็นว่าสิ่งที่ตนจะดำเนินการต่อไป ในด้านการต่างประเทศอาจจะไม่รวดเร็ว และอาจจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ดังนั้นคิดว่าหากนายกฯเห็นว่า มีคนอื่นที่เหมาะสมกว่าให้มาทำงานแทน

อีกทั้งยังระบุว่า สาเหตุของการปรับออกจากรองนายกฯครั้งนี้ เชื่อว่าไม่เกี่ยวกับไม่มีผลงานแน่นอน เพราะทุ่มเทการทำงานด้านต่างประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนมากขึ้น ตามที่รัฐบาลได้แถลงผลงานไปแล้ว จนสามารถตอบสนองต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างเด่นชัด วันนี้ไทยหวนกลับมาขึ้นบนจอเรดาร์ของโลก มีมิตรประเทศเพิ่มขึ้น และมีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น

นั่นหมายความว่า การมอบหมายให้ “ดร.ตั๊ก” ดูแลกระทรวงต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ศักยภาพในการทำงานอาจจะไม่เพียงพอ ในอดีตที่ผ่านมาสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” และ “นพดล ปัทมะ” ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ก็ไม่ได้นั่งควบเก้าอี้รองนายกฯ แต่ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ดอน ปรมัตถ์วินัย” ได้นั่งควบรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศด้วย แต่การแสดงออกของ “ปานปรีย์” โดยเลือกทิ้งตำแหน่งในวันที่มีการโปรดเกล้าฯครม.ชุดใหม่ ในทางการเมืองก็ถือว่า รุนแรงมาก

เศรษฐา ทวีสิน

ส่วนท่าที “เศรษฐา” ซึ่งออกมาแถลงข่าวหลังจากมีการปรับครม. จนส่งผลให้ ปานปรีย์” ลาออกจากตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ โดยตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าว ก่อนที่จะปรับครม.นายกฯได้มีการพูดคุยหรือแจ้งกับนายปานปรีย์ ก่อนหรือไม่ และหลังที่นายปานปรีย์ลาออกได้มีการพูดคุยกันแล้วหรือไม่ว่า “ขอตอบคำถามหลังก่อน ผมได้มีการส่งข้อความไปหานายปานปรีย์ ในกรุ๊ปที่เกี่ยวกับเรื่องของการต่างประเทศ ผมบอกว่าผมขอโทษ ถ้าเกิดผมทำให้พี่ไม่สบายใจเรื่องอะไร ก็ขอขอบคุณที่ช่วยงานกันมา ส่วนที่ถามว่าได้มีการแจ้งนายปานปรีย์ก่อนที่จะปรับครม.หรือไม่นั้น อย่างที่เรียนเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมาได้มีการเชิญหลายๆท่านมาพูดคุยกัน และนายปานปรีย์ก็เป็นหนึ่งในหลายๆท่านที่เรียกเข้ามาพูดคุยกัน เชื่อว่าวันนั้นก็เป็นเรื่องของการสนทนา ระหว่างบุคคลสองคนแล้วกัน มั่นใจว่าผมพูดอะไรไป และเชื่อว่าในฐานะนายกฯมีความชัดเจน ในเรื่องของการที่ได้มีการบอกกล่าวอะไรไป”

พร้อมทั้งระบุอีกว่า ในแต่ละรัฐบาล มีทั้งรองนายกฯควบรมว.ต่างประเทศเหมือนกัน ขอใช้คำว่า อำนวยความสะดวกหรือมีการช่วยเหลือผลักดันเรื่องต่างๆ หากจะต้องมีการทำงานข้ามกระทรวง เช่น วีซ่าฟรี อาจจะต้องมีการทำงานข้ามไปถึงกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายความมั่นคงด้วยเหมือนกัน เรื่องของการทำเขตการค้าเสรี (FTA) ก็มีกระทรวงพาณิชย์ด้วย มีผู้แทนการค้าไทย ซึ่งเชื่อว่าเราทำงานเป็นทีมได้อยู่แล้ว และใช้คำว่าความจำเป็นดีกว่า ที่จะต้องมีการควบ ตนถือว่าอาจจะไม่จำเป็น แต่อย่างที่บอกหลายๆเรื่องมุมมองของแต่ละคนแตกต่างกันไป และเราเองก็มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป

จับท่าที “หัวหน้ารัฐบาล” ที่ชี้แจงออกมา ยืนยันว่า ได้แจ้งให้ “ปานปรีย์” รับทราบล่วงหน้าแล้ว และมองว่า รมว.ต่างประเทศไม่จำเป็น ต้องนั่งควบรองนายกฯ แต่คำถามตามมาคือ ถ้าหากอดีตรมว.ต่างประเทศไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทำไมไม่แจ้งให้หัวหน้ารัฐบาลทราบ ในวันที่มีการหารือ แต่กลับมายื่นใบลาออกภายหลัง เหมือนต้องการให้เกิดผลกระทบกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่ “ปานปรีย์” ก็เป็นบุคคลที่ “คุณหญิงพจมาณ ดามาพงศ์” อดีตภริยานายทักษิณ ผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทยให้ความไว้วางใจ เรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

นอกจากนี้ ยังมีปฏิกิริยาของแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่อการปรับครม.ที่เกิดขึ้น ในส่วนเพจเฟซบุ๊ก “หมอชลน่านFcไม่มีดราม่า” ได้มีความเคลื่อนไหว โดยแต่งบทกลอน เปลี่ยนภาพในเฟซบุ๊ก สำหรับบทกลอนนั้นระบุว่า ชลน่านพลีชีพโดดเดี่ยวโดนกระทืบ ผู้คนหนีเข้าซอกหลืบหลบมุมไหน พอผ่านพ้นผู้คนตะเกียกตะกาย เหยียบย่ำแย่งเป็นใหญ่ไร้ยางอาย…  ซึ่งเฟซบุ๊กดังกล่าวทำโดยคนใกล้ชิด “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” อดีตรมว.สาธารณสุข และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลต้องถูกโจมตีจากคนบางกลุ่ม เนื่องจากฉีกสัตยาบัน ที่ได้มีข้อตกลงในการร่วมรัฐบาลกับ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) แต่ในที่สุดข้อตกลงดังกล่าว ก็ถูกฉีกทิ้งไป พรรคเพื่อไทยหันมาจับมือจัดตั้งรัฐบาล กับ “ขั้วอำนาจเดิม” 

จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ “นพ.ชลน่าน” ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อแสดงความรับผิดชอบ   นอกจากนี้ยังถูกโจมตีจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย กับการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล และะในที่สุด “อดีตรมว.สาธารณสุข” ก็ยอมลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อแสดงความรับผิดชอบ กับจุดยืนของตนเองที่แสดงออกไป ทำให้หลายคนมองว่า “นพ.ชลน่าน” เปรียบเสมือนเป็นหนังหน้าไฟ ต้องออกหน้าทางการเมือง  เพื่อประโยชน์กับพรรคต้นสังกัด แต่ในที่สุดก็ยังถูกปรับออก หลังจากทำงานได้ไม่ครบ1 ปี เป็นไปตามสำนวน เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”

นอกจากนี้โซเชียลมีเดีย ยังมีการแชร์เนื้อหาข่าวระหว่างที่ “นพ.ชลน่าน” ได้กล่าวในตอนท้ายการประชุมกับบุคลากรที่โรงพยาบาลอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า “ผมทำงานมีผลงานตลอด นับว่าเป็นเกรด A+ ได้ 80 คะแนนจาก 20 คะแนน แต่ท่านนายกฯคาดโทษพวกผม คาดโทษรัฐมนตรี นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านอยากจะปลดผม ว่าเอาข้าราชการไม่อยู่ ผมจึงนำเรียนท่านด้วยความเคารพ แต่ผมเองไม่ได้ติดใจอะไร เพราะผมผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ช่วงตั้งรัฐบาลผมโดนเหยียบหน้ามาเยอะ โดนเหยียบกลางถนนทุกวัน”

ขณะที่ “นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์” ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข และแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน เปิดเผยว่า เมื่อ นพ.ชลน่านพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ทำให้เกิดความกังวลว่า การบริหารประเทศของนายเศรษฐาอาจจะสะดุด และเกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรมว.กลางคัน ก็เชื่อว่าจะมีปัญหา อยากจะแนะนำว่าหมอปกครองยาก อาจจะทำให้สะดุดไม่ราบรื่น บางทีอาจจะล้มเลยก็เป็นได้

ส่วน “ไชยา พรหมา” อดีต รมช.เกษตรฯ และสส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการถูกปรับออกจากครม.ว่า เสียดายโอกาสที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในภาคอีสาน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี จึงมุ่งหวังที่จะทำงานช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะขณะนี้งบประมาณประจำปี 2567 ออกมาแล้ว แต่ไม่มีโอกาสขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขภัยแล้ง การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร จึงขอโทษคนอีสานด้วย

“ไม่ทราบเหตุผลว่า ที่ถูกปรับออกคืออะไร วานนี้ติดตามนายเศรษฐาตรวจราชการที่ จ.จันทบุรี ได้แจ้งว่ามีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องปรับ ครม. ซึ่งก็ยอมรับในอำนาจของนายกฯ เข้าใจถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค หากถูกประเมินว่าผลงานน้อย ยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่ใช่ เพราะทำงานเต็มที่ มีรัฐมนตรีบางคนที่แทบไม่ได้ออกสื่อเลย กลับอยู่รอดปลอดภัย ผมเป็นสส.ที่ไม่มีฐานนายทุนสนับสนุน มีแต่ฐานเสียงของประชาชนในภาคอีสานที่เลือกตั้งมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่เสียใจ แต่เสียดายโอกาสสานต่อการทำงาน จึงขอฝากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลแก้ไขปัญหาปากท้องของคนอีสานด้วย” ไชยา กล่าว

พิชิต ชื่นบาน

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. “วิรังรอง ทัพพะรังสี” ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ได้ยื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยหรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) วินิจฉัยว่า “พิชิต ชื่นบาน” ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในรธน. มาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

จากกรณีเคยถูก “สภาทนายความ” ถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2551 โดยตนมีความห่วงใยประเทศชาติ รู้สึกไม่สบายใจที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯนำชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ผู้ซึ่งน่าจะขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นการระคายเบื้องพระยุคลบาท

ในอดีตที่ผ่านมา คนที่ติดตาม และนักวิเคราะห์ทางการเมือง มักพูดตรงกันว่า การปรับครม.ครั้งใด เท่ากับรัฐบาลนับถอยหลัง เพราะคนที่ถูกปรับออกก็ไม่พอใจ สส.พรรคแกนนำรัฐบาล ที่ไม่ได้มีโอกาสนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ก็อาจเก็บความไม่พอใจลึกๆ ไว้ รอเอาคืนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งแม้หลายคนเชื่อว่า ในอดีตที่ผ่านมา “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ซึ่งถือเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จัดการกับปัญหาในพรรคได้แต่ตลอด แต่การปรับครม.ครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ก็เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นมาแล้ว

มีรอยร้าวเกิดขึ้นในฝ่ายบริหาร อีกทั้งการแต่งตั้งบางบุคคล ก็มีคำถามเรื่องคุณสมบัติ และปัญหาด้านจริยธรรม ดังนั้นที่ “เศรษฐา” คาดหวังในเรื่องกระแสตอบรับ การเร่งสร้างผลงาน อาจไม่ได้เป็นไปตามหวังไว้ เพราะกระแสขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทย กลายมา “กลบเป้าหมาย” ในการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร

วันนี้ “หัวหน้ารัฐบาล” คงเริ่มเรียนรู้ งานการเมืองไม่ง่ายเหมือนการเป็น “ซีอีโอ” บริษัทเอกชน นอกจากต้องต่อสู้กับคู่แข่งทางการเมืองอย่าง “พรรคก้าวไกล” ที่หายใจรอต้นคอมาโดยตลอด ยังต้อง “บริหารความพอใจ” ของ “เพื่อนร่วมงาน” ด้วย เพราะ “เศรษฐา 1/1” คงไม่ใช่การปรับครม.ครั้งสุดท้าย

………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลึก-ลับ

โดย..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img