บางคนอาจคิดว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) คงนึกไม่ถึงว่า คำพูดที่พาดพิง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) จะกลายเป็นข่าวใหญ่ กลบเป้าหมาย จัดอีเวนต์ใหญ่ ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่หวังโชว์ผลงานในช่วงที่ผ่านมา
แต่เหนืออื่นใดคือ การตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ไม่รอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หมดวาระในเดือนพ.ค. ซึ่งถ้ารอหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.66 และมีกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) พยายามเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ต้องอาศัยเสียงโหวตของ สว. เพราะจะหมดวาระในเดือนพ.ค. ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน แต่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจสลัดทิ้งข้อตกลงกับพรรคก้าวไกล เดินหน้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จนถูกวิจารณ์ว่า “ตระบัดสัตย์”
“แพทองธาร” กล่าวตอนหนึ่งในงานอีเว้นต์ใหญ่ของพรรคว่า “เพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากที่สุด หากไม่เป็นแกนนำรัฐบาลผสม คงยากที่ปัญหาหมักหมม จะแก้ไขได้ กฎหมายพยายามจะให้ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลัง ถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธปท.ไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานนี้ได้ 10 เดือนที่ผ่านมา”
จับดูภาษากายในระหว่างพูดประโยคนี้ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก้มหน้าอ่าน “ไอแพด” ตลอด นั่นหมายความว่า “มีการเตรียมการมาล่วงหน้า” ซึ่งต้องยอมรับว่า สุ่มเสี่ยงพอสมควร เนื่องจากที่ผ่านมา “อุ๊งอิ๊ง” ไม่เคยให้ความเห็นในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาตำแหน่งที่ได้รับคือ “รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” มีบทบาทสำคัญคือผลักดัน วัฒนธรรมไทยไปสู่สายตาชาวโลก และมีตำแหน่ง “รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งดูแลโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ต่อยอดมาจาก “30 บาทรักษาทุกโรค”
ซึ่งทั้งสองบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ล้วนสร้างภาพลักษณ์ในทางบวก เพราะเกี่ยวข้องกับการงานสังคม และเป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอ “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” มาจับประเด็นร้อน เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและ พาดพิง “”ธปท.” เลยมีกระแสตีกลับในด้านลบทันที เนื่องจากที่ผ่านมา “แพทองธาร” ยังไม่เคยโชว์ความรู้ในเรื่องการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อีกทั้ง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการฯธปท. ก็มีดีกรีในเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาตลอด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บริหารภาครัฐที่มีบทบทบาทสำคัญดูแลงานด้านการเงิน
หรือการออกมาให้เห็นดังกล่าว ในฐานะหัวหน้าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นการส่งสัญญาณต้องการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของแบงก์ชาติ หรือการให้อำนาจฝ่ายการเมือง ในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯธปท.” สามารถทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา แนวทางในการทำงานของรัฐบาลและแบงก์ชาติ ก็มีความเห็นขัดแย้งมาตลอด เช่น นโยบายลดดอกเบี้ย ซึ่งทาง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้สื่อสารมาตลอด ต้องการให้ลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ก็มีมติ 5:2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50 ต่อปี ทำให้หัวหน้ารัฐบาลต้องขอร้องไปทาง “4 ธนาคารขนาดใหญ่” จนได้รับความร่วมมือลดดอกเบี้ยให้ 0.25 บาทเป็นเวลา 6 เดือน
นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบของครม. ให้เริ่มดำเนินโครงการได้นั้นมีหลายหน่วยงานที่ส่งความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. โดย “เศรษฐพุฒิ” ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงเลขที่ ธปท.ฝกม. 285 /2567 เรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ธปท.มีความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตในโครงการอาทิ เช่น
ความจำเป็นในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลควรทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท
เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อย มีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภค สูงกว่ากลุ่มรายได้อื่นและมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ 7.1%เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553-2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี
นอกจากนี้การให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความขัดเจนทางกฎหมายว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
อย่าลืมว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ถือเป็นนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ มีการนำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มาช่วยยืนยันว่า ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นเอกภาพ พรรคเพื่อไทยจะได้ไม่ถูกโดดเดี่ยว ดังนั้นเมื่อ ธปท.ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญ ที่ดูงานด้านเศรษฐกิจออกมาท้วงติง ย่อมทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่พอใจ ถูกมองว่า ค้านในสิ่งที่ฝ่ายบริหารดำเนินการทุกเรื่อง แม้กระทั่งการร่วมประชุมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ระยะหลัง “เศรษฐพุฒิ” ก็ไม่เข้าใจร่วมประชุม มอบหมายให้ รองผู้ว่าการธปท. เข้าร่วมแทน ยิ่งถูกมองว่า ไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายลรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
จึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อ “คุณไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะออกมาให้ความเห็น ถึงท่าทีหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงออกในระหว่าง การจัดงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ที่พาดพิงถึงแบงก์ชาติ โดยการพูดถึงกฎหมายที่ให้อิสระกับแบงก์ชาติ และยังระบุอีกว่า “กฎหมายที่ให้อิสระมากเกินไป เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายของรัฐ ทางฝั่งนิติบัญญัติก็ต้องเก็งข้อสอบแล้วว่า ขณะนี้จะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย จากทาง สส.พรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะครั้งล่าสุดที่มีการแก้ไขคือปี 2550 ที่แก้ไขให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระมากขึ้นด้วย ซ้ำเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าจับตา ที่ไม่ใช่แค่จากประชาชน แต่รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ที่จะมองเข้ามาว่า แบงก์ชาติจะคงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่”
สำหรับบทบาทหน้าที่ของธปท. คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนมีหลายปัจจัย รวมถึงการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ดี ซึ่งตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน
ประกอบด้วย ออกและจัดการธนบัตรและบัตรธนาคาร, กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน, บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท., เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล, เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน, จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน, กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา และควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ขณะเดียวกัน มีคำถามตามมาว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการเปลี่ยนตัว “เศรษฐพุฒิ” ในฐานะผู้ว่าการธปท.คนที่ 24 หรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด พ.ศ.2551 ระบุไว้ใน มาตรา 28/19 (4) ให้อำนาจรมว.คลัง เสนอต่อ ครม. ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ แต่จะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด และมีข้อพิสูจน์ว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 28/19 (5) มีบทบัญญัติว่า (5) ให้อำนาจคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเสนอต่อ รมว.คลัง เสนอครม. สั่งปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้อีกทางด้วย หากกรณีมีข้อพิสูจน์และหลักฐานว่าผู้ว่ามีความผิดบกพร่อง ในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
ซึ่งในอดีตมีผู้ว่าฯแบงก์ชาติ 4 คนถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง โดย ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 9 “โชติ คุณะเกษม” ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) สาเหตุพัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร, “นุกูล ประจวบเหมาะ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 13 ถูกปลดในสมัย “สมหมาย ฮุนตระกูล” เป็น รมว.คลัง เพราะนโยบายลดค่าเงินบาท “กำจร สถิรกุล” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 14 ถูกปลดในสมัย “ประมวล สภาวสุ” เป็นรมว.คลัง จากความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 19 ถูกปลดในสมัย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ไม่ระบุเหตุผล แต่เข้าใจว่ามีความขัดแย้งเชิงนโยบายเรื่องค่าเงินบาท
ขณะที่ท่าที “เศรษฐา” ได้ตอบคำถามสื่อ หลังมีกระแสข่าวรัฐบาลมีแนวคิดจะแก้พ.ร.บ.เกี่ยวกับอำนาจของผู้ว่าฯธปท.ว่า ไม่ได้มีแนวคิด และไม่เคยพูด ต้องไปถามต้นตอของข่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่ต้องไปดูแล ต้องมีการส่งเรื่องมา ซึ่งยังไม่เห็นมีการส่งขึ้นมา
“ไม่เคยพูดให้ผู้ว่าฯลาออก และปลดผู้ว่าฯ ด้วยความเคารพ ถ้าท่านผู้ว่าฯฟังอยู่ ผมไม่เคยกดดัน และไม่เคยพูดด้วย อาจจะมีการพูดคุยถึงเรื่องเนื้องานเป็นหลัก ผมเป็นผู้นำรัฐบาลพูดมาแค่นี้โดยตลอด ก็แค่นี้ แต่อนาคตผมไม่ทราบ ต้องถาม”นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรมว.คลัง และผมไม่เคยไปมีประเด็นอะไรกับท่านเลย และไม่เคยขัดแย้งอะไรกัน ไม่ได้มีการไปต่อว่าอะไรทางผู้ว่าฯธปท.”นายกฯ กล่าว
จับคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้ารัฐบาล แม้จะยืนยันว่า ไม่แนวคิดจะแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับอำนาจของผู้ว่าฯธปท. แต่ก็ระบุว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่ได้ “พิชัย ชุณหวชิร” เข้ามาทำหน้าที่ รองนายกฯ และรมว.คลัง ซึ่งผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่ง “กรรมการ ธปท.” ไปพิจารณา นั่นหมายความ ไม่ได้ปิดทางในการแก้ไข
ส่วน “พิชัย” แม้จะยืนยันว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องพูดคุยกับธปท. ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ร่วมกับธปท. ที่เราจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่อง ทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางได้เราต้องตกผลึก และทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ มองว่าธปท. ควรอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาลหรือเป็นอิสระ “พิชัย” กล่าวว่า จริงๆ ท่านก็อิสระอยู่แล้วในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งตนมองว่าความอิสระนั้นก็มีมาตลอด และสามารถกำหนด และตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณ รวมถึงคนที่เข้ามาร่วมกันตัดสินนโยบาย ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเป็นไป เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ
จากนี้ต้องรอดูว่า การเปลี่ยนบทให้ “พิชัย” มาเป็นตัวกลางในการประสานงานกับ “ธปท” แทนที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลเหมือนเดิม จะทำให้การทำงานระหว่าง 2 หน่วยงาน เป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ แม้ “รมว.คลัง” จะเคยทำหน้าที่ “กรรมการธปท.” แต่ก็ยืนยันว่า แบงก์ชาติต้องสนับสนุนนโยบายภาครัฐ
จึงต้องจับตาการทำงานของ “รมว.คลัง” และ “ผู้ว่าฯธปท.” จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ ซึ่ง “พิชัย” ถือเป็นมือทำงานให้กับคนในตระกูล “ชินวัตร” มาโดยตลอด หากเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้น คงไม่ปล่อยให้รัฐบาลมีปัญหาแน่ๆ จากนี้จึงอยู่ที่ว่าผู้บริหารแบงก์ชาติและฝ่ายการเมือง ใครจะแสดงให้สังคมเห็นว่า ยึดถือผลประโยชน์ของชาติและประชาชนมากกว่ากัน
…………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…แมวสีขาว