วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐา”เล่นบทหนามยอกเอาหนามบ่ง ดึง“เนติบริกร-วิษณุ”ช่วยรับมือ“40 สว.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐา”เล่นบทหนามยอกเอาหนามบ่ง ดึง“เนติบริกร-วิษณุ”ช่วยรับมือ“40 สว.”

ไม่รู้ใช้ ยุทธวิธี “หนามยอก-เอาหนามบ่ง” หรือไม่ หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับกับสื่อว่า เดินทางไปพักบ้านพัก “เนติบริกร-วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกฯ และมือกฎหมายคนสำคัญของหลายรัฐบาล รวมทั้งตลอด 9 ปีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งหลังเข้ามามีอำนาจทางการเมืองเมื่อปี 2557 และเข้ามาเป็นนายกฯภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งก็ถืออยู่คนละฝ่ายกับ “พรรคเพื่อไทย” (พท.)

โดนหัวหน้ารัฐบาลยอมรับว่า ได้ไปพูดคุยกับ “วิษณุ” ที่บ้านพัก เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย หลังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คนยื่นเรื่องต่อ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) วินิจฉัยตามรธน.มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ผู้ถูกร้องที่ 1 และ “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรธน.หรือไม่ ซึ่ง “พิชิต” ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และศาลรธน.รับคำร้อง ในส่วนของ “เศรษฐา” ให้ชี้แจงภายใน 15 วัน

เมื่อถามอีกว่า จากการพูดคุยทำให้เรามีความรู้สึกว่าการสู้คดีครั้งนี้จะสู้ได้แน่นอนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “มั่นใจครับ” 

จริงๆ ในพรรคเพื่อไทย นอกจาก “พิชิต” จะเป็นมือกฎหมายให้อดีตนายกฯมาหลายคน โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในแวดล้อมตระกูล “ชินวัตร” ก็ยังมี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ซึ่งรับผิดชอบดูแลกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งการผลักดันกระบวนการนิรโทษกรรม กระบวนการแก้ไข รธน. และมักมีชื่อติดโผเป็นรัฐมนตรี เพื่อเข้ามาดูแลกฎหมายโดยตลอด รวมทั้ง “ชัยเกษม นิติศิริ” อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ รวมทั้ง “ธงทอง จันทรางศุ” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ และ “นพดล ปัทมะ” สส.พรรคพท. ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาฯ และอีกหลายๆ คน 

แต่น่าแปลกเมื่อ “หัวหน้ารัฐบาล” หันไปใช้บริการจาก “วิษณุ” ซึ่งตอกย้ำว่า “เศรษฐาและทีมงาน” มีความหนักใจพอสมควร จึงต้องหันมาพึ่งพามือกฎหมายคนสำคัญของ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม”

แม้ว่า “วิษณุ” จะเคยเข้าไปมีตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” แต่ก็ลาออกก่อนที่จะถูกรัฐประหาร โดย “มือกฎหมายชั้นครู” ยังเคยตอบโต้ “ทักษิณ” หลังถูกระบุว่า การเข้าไปทำบุญในวัดพระแก้ว จนถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม อ้างว่าได้รับคำแนะนำจาก “วิษณุ” ทำให้อดีตรองนายกฯ ตอบกลับมาว่า “โยนมาเถอะ ผทเป็นรองนายกฯ ท่านเป็นนายกฯ เหมือนเรื่องข้าวก็โยนให้ “บุญทรง” (บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์) เรื่องบ้านอาทรก็โยนให้ “วัฒนา” (วัฒนา เมืองสุข  อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)” จนทำให้หลายคนเชื่อว่า ทั้ง “วิษณุ” และ “ทักษิณ” ไม่น่าจะจูนกันได้ แต่ในที่สุด “เศรษฐา” กลับหันมาใช้บริการมือกฎหมายรัฐบาลในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

ศรษฐา ทวีสิน

นอกจากนี้นายกฯยังได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง “วิษณุ” เป็นที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งแต่ช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมให้เจ้าหน้าที่เตรียมห้องทำงานที่ตึก สลค.เอาไว้ให้ด้วย

โดย “วิษณุ” ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯได้ลงนามแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสำนัก สลค.จริง โดยเป็นการพูดคุยกับ สลค. หลังจากพ้นตำแหน่งรองนายกฯ พอนายเศรษฐาทราบข่าว ก็มาเรียนให้ทราบว่า จะมีการลงนามแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา สลค. ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ สลค. ซึ่งจะมีการปรับระบบ ระเบียบของเอกสารงาน สลค. มาก่อน ว่าจะให้มาเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐาได้มาพบกันที่บ้านพัก ซึ่งคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับ  40 สว.ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติด้วย 

เมื่อถามว่า เป็นการปรึกษาด้วยการให้เป็นหัวขบวน ชี้แจงศาลรธน.หรือไม่ “วิษณุ” กล่าวว่า ไม่ใช่ตน ต้องเป็นนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯเป็นหัวขบวน และตอนนี้ สลค. ก็มีการเตรียมการ ทำคำชี้แจงล่วงหน้าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว 

เมื่อถามต่อว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาสลค.แล้ว จะปูทางสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่านี้ หรือตำแหน่งรองนายกฯหรือไม่ “วิษณุ” ปฏิเสธว่า ไม่ขอรับตำแหน่งใดทางการเมือง และตอนนี้ก็พักรักษาตัวดูแลสุขภาพอยู่

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ส.ค.66 “วิษณุ” ได้ให้เจ้าหน้าที่มาเก็บของออกจากทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตทางการเมืองว่า จะอยู่บ้านพักผ่อน เล่นกับหลานด้วยความสุขมากๆ รวมทั้งจะเขียนหนังสือสอนหนังสือ และอาจเข้าไปเป็นประธานกรรมการบริษัทต่างๆ เพื่อจะมีรายได้

ส่วนที่ว่าจะมีโอกาสได้เห็นลุยงานทางการเมืองอีกหรือไม่ “วิษณุ” กล่าวว่า ไม่มีอะไรทำ จบแล้ว แต่ส่วนตัว ก็คิดแบบนี้ตั้งปี 2549 แต่อีก 8 ปีถัดมา ก็มีเหตุให้ตนกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่มีเหตุให้กลับมาแล้ว เพราะตอนนี้ป่วยจากการฟอกไต

ขณะที่มีรายงานว่า “วิษณุ” เป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 ซึ่งมีส่วนในการพิจารณาคุณสมบัติ “พิชิต” ด้วย ซึ่งมือกฎหมายคนสำคัญของหลายรัฐบาล มีจุดเด่นในเรื่องเข้าใจระบบราชการ มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย

วิษณุ เครืองาม

ขณะที่ประเด็นสำคัญกลุ่ม สว.จำนวน 40 คนร่วมลงชื่อยื่นต่อศาลรธน. ให้พิจารณาการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และ “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพราะขาดคุณสมบัติตามรธน.มาตรา 160 (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่

สำหรับคำตอบของสำนักงานกฤษฎีกาที่ ส่งถึงรัฐบาลเมื่องวันที่ 1 ก.ย.66 มีข้อความดังนี้จากกรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดย “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.ย.66 ตอบกลับไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาระบุว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7)กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”

ดังนั้น การได้รับโทษจำคุก ไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

พิชิต ชื่นบาน

ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก             

ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น

อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

โดย “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเอกสารความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับคุณสมบัติของ “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกฯว่า กฤษฎีกาตอบคำถามเท่าที่มีการถามมาเท่านั้น ส่วนความเห็นของกฤษฎีกา จะถูกนำไปใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่ หากศาลรธน.รับคำร้องในวันที่ 23 พ.ค.นั้น ตนไม่ทราบว่าศาลรธน.จะเรียกหรือไม่ รวมถึงจะต้องเป็นฝ่ายกฎหมายให้รัฐบาลในคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น ศาลอาจจะให้ทำคำชี้แจง ก็แล้วแต่ศาลรธน. อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถึงศาลแล้ว อย่าถามตนเลย ไปว่ากันที่ศาล

สำหรับรธน.ปี 60 มาตรา 160 เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี มีดังนี้ (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186

คำถามคือ ทำไมรัฐบาลไม่สอบถามในมาตรา 160(4) และ (5) หากคำวินิจฉัยของศาล รธน. มีการระบุว่า “เศรษฐา” มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เสนอชื่อคนขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นรัฐมนตรี-มีการช่วยเหลือให้นายพิชิต ให้ได้เป็นรัฐมนตรี โดยให้เลขาธิการ สลค.ทำหนังสือสอบถามความเห็นกรรมการกฤษฎีกาไม่ครบถ้วน ถึงขั้นศาล รธน. ถ้าระบุในคำวินิจฉัยว่า “เศรษฐา” มีพฤติการณ์เข้าข่ายทำผิดมาตรฐานจริยธรรม หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนรธน.ถ้าออกมาแบบนี้ จะมีผลทำให้ “เศรษฐา” ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตาม รธน.มาตรา 160 (4) และ (5) ตลอดไป จึงทำให้ไม่สามารถกลับมาเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีใดๆ ได้อีกต่อไป ตราบที่ยังใช้ รธน.ปี 2560

สมชาย แสวงการ

ด้าน “สมชาย แสวงการ” 1 ใน 40 สว. กล่าวว่า การที่สว.ยื่นศาลรธน.ตรวจสอบคุณสมบัติ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และ “พิชิต ชื่นบาน” อดีตรมต.ประจำสำนักนายกนรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือปิดเป็นความลับ เมื่อฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ก็เป็นหน้าที่ สว.ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ โดยเฉพาะคุณสมบัติคนเป็นรัฐมนตรี ต้องเหนือกว่าคุณสมบัติ สส. ไม่มีความผิดเรื่องจริยธรรม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องบ้านเมือง คนเป็นนายกฯต้องรับผิดชอบ การนำชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ แม้สำนัก สลค.สอบถามคุณสมบัตินายพิชิต ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ถามเฉพาะรธน.มาตรา 160 อนุ 6 และ 7 เป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะควรถามมาตรา 160 ทั้งมาตรา ไม่ทราบว่าทำไมถามแค่นี้ 

“สมชาย” กล่าวอีกว่า พบว่า มีการถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแค่ครั้งเดียวคือ ตอนตั้งครม.เศรษฐา 1 เมื่อเดือนก.ย. 2566 แต่การปรับครม.ครั้งล่าสุด เดือนเม.ย.2567 ไม่มีการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องคุณสมบัติ “พิชิต” ทั้งที่ควรสอบถามเพิ่มเติมว่า “พิชิต” มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีควบถ้วนตามมาตรา 160 หรือไม่  นายกฯรู้อยู่แล้ว “พิชิต” มีปัญหาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม การที่ “เศรษฐา” เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 ถือว่าถูกต้องแล้ว ถ้ารู้ว่า “พิชิต” มีปัญหาคุณสมบัติ แต่ยังนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ จะมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง 

จากนี้ต้องรอลุ้น หลังจากรัฐบาลพึ่งพิง “มือกฎหมายคนสำคัญ” ที่มีบทบาทในหลายรัฐบาล จนได้ฉายา “เนติบริกร” มาช่วยให้คำปรึกษาในคดี 40สว. ร้องตรวจสอบสถานะความเป็นนายกฯของ “เศรษฐา” จะช่วยให้รอดพ้นความผิด กับการฝ่าฝืนรธน.หรือไม่ เพราะในทางการเมืองถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว แต่หนทางเอาตัดรอดของนักการเมือง ต้องทำได้ทุกอย่าง แม้จะต้องถึงพึ่งพาบุคคลที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้าม

……………………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img