วันพุธ, มิถุนายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ส่งสัญญาณไร้‘ดีลลับ’ ลุ้น‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’จับมือล้างผิด 112
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ส่งสัญญาณไร้‘ดีลลับ’ ลุ้น‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’จับมือล้างผิด 112

บรรดา สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) และ มวลหมู่กองเชียร์ คงคาดไม่ถึงว่าการเดินทางกลับมาประเทศไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ยอมเข้าสู่เรือนจำซักวันเดียว นอกจากจะสร้าง “ความรู้สึกเหลื่อมล้ำ” ให้คนที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้ ยังกลับทำให้กระแสความนิยมพรรคแกนนำรัฐบาล “กู่ไม่กลับ” หลัง “สถาบันพระปกเกล้า” เปิดเผยผลสำรวจ หลังเลือกตั้งครบรอบ 1 ปี

สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี 1 ปี หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต ผู้ตอบร้อยละ 35.7 ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล รองลงมาระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 18.1, ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.2, ผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.2, ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.8, ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5 เป็นต้น

เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล จะได้ สส.เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง เป็น 208 ที่นั่ง ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลง อาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไป 28 ที่นั่ง จะเหลือแค่ 105 ที่นั่ง เมื่อสอบถามว่า ถ้าเลือกได้ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่าอ ยากให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” คิดเป็นร้อยละ 46.9 รองลงมาระบุว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 17.7, “แพทองธาร ชินวัตร” ร้อยละ 10.5, “เศรษฐา ทวีสิน” ร้อยละ 8.7 ตามลำดับ

สะท้อนเห็นว่า แม้รัฐบาลจะทำงานผ่านมาเกือบ 1 ปี แต่ผลงานที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถสร้างการยอมรับได้  แม้ “ทักษิณ” จะเดินทางกลับมาประเทศไทย และเริ่มเดินสายไปพบปะมวลชนในพื้นที่ต่างๆ ก็ยังไม่สามารถดึงคะแนน “พรรคเพื่อไทย” ให้กลับขึ้นมาได้

แถมปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “อดีตนายกฯ” ยังสร้างความยุ่งยากให้พรรคแกนนำรัฐบาล และ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่บุพการีหมายมั่นปั้นมือจะให้ก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำฝ่ายบริหาร” หลังจากประสบความสำเร็จมาแล้ว 5 คน

แต่เมื่อดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.ปี 2566 พรรคเพื่อไทยก็พ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้จำนวนสส. 141 ที่นั่ง ส่วนพรรคก้าวไกลได้ 151 ที่นั่ง แถมล่าสุดผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า ยังตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคเพื่อไทย

ยิ่งล่าสุด “อํานาจ เจตน์เจริญรักษ์” อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นสั่งฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” ในคดีอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 ซึ่งก่อนหน้านั้น “อดีตนายกฯ” ได้ปฏิเสธข้อหา พร้อมทั้งทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แต่ในที่สุด “อสส.” ก็ยืนยันสั่งฟ้อง

โดย “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” ออส.ในช่วงเวลานั้น เคยสั่งฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ย.59 และนัดนำตัวส่งฟ้องศาลในวันที่ 18 มิ.ย.67

ขณะที่ “ทักษิณ” ได้ให้ทนายความขอเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 25 มิ.ย.67 โดยแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน แต่ “อสส.” ก็ยังคงเดินหน้าสั่งฟ้องคดี และให้ทีมโฆษกฯออกมาแถลงสั่งฟ้อง จนกลายเป็น “ชนักปักหลัง” ทั้งที่อยู่ในช่วง “พักโทษ” และมีเสียงวิจารณ์ตามมา วิบากกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมา เคลื่อนไหวในลักษณะ “ล้ำเส้นเกินไป” ทำ “เกินดีล” กับที่เคยพูดคุยกันไว้กับ “ผู้มากบารมี” 

แต่ที่ทำให้เป็นปัญหากับ “บุตรสาวคนเล็ก” คือคำให้สัมภาษณ์ของ “แพทองธาร” เอง ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความไม่เข้าใจในระบบราชการ และหลักการของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีเสียงวิจารณ์ “อุ๊งอิ๊ง” ในทางลบ หลังออกมาให้ความเห็นถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาแล้ว

“แพทองธาร” ให้สัมภาษณ์กรณีที่ “ทักษิณ” ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า “ได้พูดคุยแล้ว คุณพ่อก็ไม่ได้กังวลในเรื่องนี้มาก เพราะคดีนี้เกิดขึ้นตอนที่มีปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่ง “อสส.” ในขณะนั้น ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนายทักษิณยังบอกอีกว่า การขึ้นศาลก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้พูดถึงข้อเท็จจริงได้”

เมื่อถามอีกว่า มีกระแสข่าวว่าการที่นายทักษิณ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นเพราะไม่เป็นไปตามดีลที่ตกลง ใช่หรือไม่ “แพทองธาร” กล่าวว่า “ไม่มีค่ะ ไม่มีดีล จะมีดีลอะไรเกี่ยวกับคดีนี้ ไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีดีลอะไรเลย”

เมื่อถามต่ออีกว่า เรื่องนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยเสียกำลังใจหรือไม่ “แพทองธาร” กล่าวว่า “ทุกคนเป็นห่วงนายทักษิณ แต่ตนก็ให้ความมั่นใจว่า นายทักษิณไม่ได้กังวลใจอะไรในเรื่องมาตรา 112 และส่วนตัวมองว่า มีการบิดเบือนความเป็นจริงตั้งแต่เริ่มฟ้อง เรื่องนี้เรามั่นใจว่าไม่มีทางที่จะโดนคดีนี้ และนายทักษิณบอกว่า ดีที่จะได้ขึ้นศาล เพราะจะได้อธิบายข้อเท็จจริงไปเลย”

สำหรับที่ไปที่มาของคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย.58 “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้พาดพิง “สถาบัน” จากนั้น “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.ขณะนั้น ในฐานะเลขาธิการ คสช. สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญ แจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

ต่อมาพนักงานสอบสวน ส่งสำนวนการสอบสวนคดี มีความเห็น สั่งฟ้อง “อดีตนายกฯ” ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของ “อสส.”

ส่วนที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า อสส.ในขณะนั้น ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ก็ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.59 “อสส.” ที่มีความเห็นสั่งฟ้องคือ “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” แล้วเป็นความจริงหรือไม่ ที่คสช. แต่งตั้ง “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์” เป็น “อสส.”

เดือนมิ.ย.58 มีการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เพื่อพิจารณาเสนอชื่อผู้ที่คุณสมบัติและความเหมาะสมเป็นอสส.คนใหม่ แทนที่ “ตระกูล วินิจนัยภาค” ขณะนั้นมีรอง อสส. 6 คน ประกอบด้วย 1.วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ 2.มนัส สุขสวัสดิ์ 3.ชาญวิทย์ เจริญพจน์ 4.เรวัตร จันทร์ประเสริฐ 5.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร 6.วีรพล ปานะบุตร

แต่เนื่องจาก คนที่1-4 และ 6 จะเกษียณราชการพร้อมกับ “ตระกูล วินิจนัยภาค” คือวันที่ 30 ก.ย.2558 จึงเหลือ “รอง อสส.” เพียงคนเดียวคือ “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” ในการลงมติวันนั้้น และมีการเชิญ “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์” ออกนอกห้องประชุม เพื่อโอกาสให้มีการถกเถียงและคัดค้านกันได้ แต่ปรากฏว่าที่ประชุม ก.อ.ลงมติเห็นชอบ และไม่มีใครคัดค้าน กระบวนการต่อจากนั้นคือ ต้องเสนอชื่อต่อที่สภาฯ ซึ่งช่วงนั้นไม่ใช่สภาผู้แทนฯ แต่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เช่นเดียวกับการแต่งตั้ง “อํานาจ เจตน์เจริญรักษ์” ขึ้นทำหน้าที่ “อสส.” ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ก.อ. โดยประธาน ก.อ. จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง “อสส.” โดยคํานึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติ การปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น ต่อ ก.อ. จากนั้น ก.อ. จะมีมติเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง “อสส.” ต่อวุฒิสภา เพื่อขอความเห็นชอบ โดย “ประธานวุฒิสภา” เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยสำนักงาน อสส.เป็นหน่วยงานราชการอิสระ ไม่สังกัดสำนักนายกฯ กระทรวง หรือทบวงใด แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และเพื่อมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น

นั่นหมายความว่า การออกมาตอบคำถามผ่านสื่อของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” ไม่มีการทำการบ้าน ผ่านการศึกษาข้อมูลที่ไม่รอบคอบ แม้จะต้องการขอความเป็นธรรมให้กับ “บิดาบังเกิดเกล้า” แต่ก็ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เมื่อสื่อสารไม่ถูกต้อง ย่อมมีผลกระทบกับเครดิตและความน่าเชื่อถือ อย่าลืม “อุ๊งอิ๊ง” มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก

ดังนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ยังสะท้อนให้เห็นถึง “วุฒิภาวะ” ซึ่งยังไม่พร้อมกับ “ตำแหน่งสำคัญ” ที่มีบทบาทในการบริหารประเทศ

ยิ่งย้อนไปดู “สถาบันพระปกเกล้าโพล” เมื่อถามว่า อยากให้ใครเป็นนายกฯของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่าอยากให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” คิดเป็นร้อยละ 46.9 รองลงมาระบุว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 17.7 และ “แพทองธาร ชินวัตร” ได้แค่ร้อยละ 10.5

นั่นหมายความว่า คะแนนนิยมของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ห่างจากแกนนำพรรคก้าวไกลมากพอสมควร ดังนั้นหาก สื่อสาร และพบว่ามีปัญหาและมีความผิดบ่อยๆ ย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ บทสรุปของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ.ฯ จะนำเรื่องการล้างผิดในมาตรา 112 ให้รวมอยู่ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

ก่อนหน้านี้มีเพียง “พรรคก้าวไกล” ที่เห็นด้วยให้ล้างผิดมาตรา 112 เนื่องจากมี สส.ในพรรคและบรรดานักเคลื่อนไหว ที่เป็นแนวร่วมติดร่างแห ถูกลงโทษในคดีล่วงละเมิดสถาบัน แต่เมื่อ “ทักษิณ” ซึ่งถือเป็น “ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล” ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จุดยืนของ “เพื่อไทย” จะเปลี่ยนหรือไม่ เพราะถ้ารวมเสียงในสภาฯ ทั้ง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จะได้ 290 เสียง เรียกว่า “เกินครึ่ง” สามารถผลักดันให้กฎหมายผ่านได้อย่างสบายๆ เพียงแต่ต้องมาลุ้นจะมี “แรงต้านจากนอกสภาฯ” หรือจะมีใครไปยื่นร้ององค์กรอิสระให้ตรวจสอบการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยรวมมาตรา 112 อยู่ด้วยนั้น ทำถูกขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) หรือไม่

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ขณะที่ “ชูศักดิ์” ในฐานะประธานกมธ.ฯตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงคดีที่ “ทักษิณ” ถูกฟ้องมาตรา 112 ว่า คดีในลักษณะนี้ต้องพิจารณาว่ามีผลพวงมาจากการรัฐประหารหรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และเชื่อว่านายทักษิณคงใช้สิทธิ์ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่ง กมธ.ชุดนี้จะพิจารณาเฉพาะคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น รวมถึงคดีชุมนุมทางการเมืองต่างๆ

“คดีของนายทักษิณ แน่นอนว่าเป็นผลพวงของการรัฐประหาร ขณะนี้ตอบได้เพียงเท่านี้ เพราะ กมธ.ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ หาก กมธ.ชุดนี้รวมเอาคดีมาตรา 112 ให้เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ทั้งหมดก็ต้องถูกรวมเข้ามาด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติ” ชูศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนพรรคเพื่อไทย หลังจากนายทักษิณถูกสั่งฟ้องในคดี 112 มีจุดยืนต่อมาตรา 112 อย่างไร “ชูศักดิ์” กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้เป็นมติอะไร แกนนำหรือผู้บริหารพรรคหลายคน ก็ไม่ได้ขัดข้องว่า จะต้องรวมคดี 112 เข้าไปในการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่พรรคเพื่อไทยต้องการสดับตรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน เพราะไม่ต้องการให้มาตรา 112 เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมอีก

ต้องยอมรับ การที่ “ทักษิณ” ติดบ่วงกรรม จากคดีมาตรา 112 มีผลต่อสถานการณ์การเมืองพอสมควร อาจไปถึงจุดที่กระทบกับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล

ยิ่ง “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ยืนยันว่า “ไม่มีดีล” บางที “เพื่อไทย” อาจพลิกขั้วไปจับมือกับ “ก้าวไกล” ช่วยล้างผิดในคดีที่ “อดีตนายกฯ” ติดชนัก เคยเผชิญวิบากกรรมเกี่ยวกับคดีความมาแล้ว 

อีกทั้งการที่ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เดินหน้าไปไม่ได้เต็มตัว พรรคแกนนำรัฐบาลอาจมอง เป็นเกมของ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ที่คอยดึงเกม ไม่ให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เลยคิดเอาคืน หันมาจับมือ “เครื่องจักรสีส้ม” เพราะได้ทั้งอำนาจรัฐ ทำให้ “ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาล” กลายมาเป็น “คนปลอดคดี” เคลื่อนไหวได้เต็มที่หลังจากพ้นการพักโทษ ไม่ต้องพะวงข้อตกลงหรือดีลอะไรอีกต่อไป    

…………….

คอลัมน์ : ”ล้วง-ลับ-ลึก”

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img