ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน และไม่รู้จะมีบทสรุปได้เมื่อไหร่กับ ปัญหาความขัดแย้ง ใน “องค์กรสีกากี” จนทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ต้องกระโดดลงมาแก้ไข สั่งโยกย้ายทั้ง “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ผบ.ตร. และ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” รองผบ.ตร. เข้ามาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง
อีกทั้ง 2 นายตำรวจคนดัง ยังมีเรื่องพัวพันเว็บพนัน เพียงแต่ “บิ๊กโจ๊ก” เรื่องเข้าสู่กระบวนการรตรวจสอบขององค์กรอิสระ อย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนคดีความของ “บิ๊กต่อ” ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน
แต่ที่กลายเป็นประเด็นร้อน และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงสัปดาห์นี้ คงหนีไม้พ้นการออกมาแถลงข่าวของ “วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแจกแจงถึงความคืบหน้า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” และ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” เพราะถูกนำมาตีความในประเด็นต่างๆ และกลายเป็นประเด็นที่ “บิ๊กโจ๊ก” ใช้มาเป็นมูลเหตุในการเคลื่อนไหวในช่วงต่อมา
สำหรับคณะกรรมการฯดังกล่าว ประกอบด้วย “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ประธานกรรมการ, “ชาติพงษ์ จีระพันธุ” กรรมการ และ “พล.ต.อ.วินัย ทองสอง” กรรมการและเลขานุการ
“วิษณุ” กล่าวตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการดังกล่าวตรวจสอบเสร็จสิ้น และได้ข้อสรุปดังนี้ 1.ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นใน ตร. จึงมีความขัดแย้งในระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะเหตุเดียวกัน หรือจากคนละเหตุแล้วบังเอิญมาประจวบกันด้วยกัน จนเกิดเป็นคดีต่างๆ ที่มีการฟ้องร้องหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานภายนอกและภายในตร. 2.เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” และ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกัน ระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นทีมงานของทั้ง 2 คนด้วย
โดยมีคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านี้ อาทิ คดีเป้รักผู้การ 140 ล้าน, คดีกำนันนก, คดีมินนี่ พนันออนไลน์, คดีเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค และมีคดีย่อยๆ อีก 10 คดี ซึ่งกระจายกันอยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ และในศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 ทั้งนี้ความขัดแย้งบางเรื่อง เป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น แต่บางเรื่องเกิดขึ้นเกือบ 10 ปีมาแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นคดีเหล่านี้ขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ในสมัย “บิ๊กเด่น-พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์” ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ดูแลงานด้านการสืบสวน และต้องรับผิดชอบคดีสำคัญเช่น คดีเป้รักผู้การ 140 ล้าน, คดีกำนันนก ซึ่งมีนายตำรวจที่มีความใกล้ชิดกับ “บิ๊กต่อ” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เลยมีเสียงวิจารณ์ว่า กระบวนการสอบสวนเหมือนต้องการให้เชื่อมโยงไปถึง “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” เพื่อต้องการดิสเครดิต เนื่องจากเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.คนต่อไป
ขณะที่ “คดีมินนี่ พนันออนไลน์-คดีเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค” ซึ่งมีนายตำรวจที่ใกล้ชิดกับ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ทำคดีและมีการตรวจสอบพบว่า มีเส้นเงินของเว็บพนัน เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “บิ๊กโจ๊ก” และบรรดานายตำรวจที่มีความใกล้ชิด ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการเอาคืนของ “บิ๊กต่อ” จนกลายเป็น “ปฐมบทของความขัดแย้ง” ต่อเนื่องมาจากถึงปัจจุบัน
นั่นหมายความว่า คณะกรรมการสอบสวนฯสามารถเจาะลึกถึงปัญหาได้
ส่วนคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” ที่ปรึกษาของนายกฯ ชี้แจงว่า ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบไป บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมคือ ตำรวจ อัยการ ศาล ให้ว่ากันไปตามปกติ ขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจขององค์กรอิสระ คือ ป.ป.ช. ก็ให้รับไปดำเนินการ และเวลานี้คดีทั้งหมดมีหน่วยงานเจ้าของคดีรับดำเนินการหมดแล้ว ไม่มีคดีตกค้างอยู่ที่ ตร.
ขณะที่อีกประเด็นสำคัญตามที่ “วิษณุ” แถลงคือ การออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีส่งตัว “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” กลับไปดำรงตำแหน่ง “ผบ.ตร.” ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณี “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน คือสั่งตามแบบที่เคยสั่งในอดีต ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2505 แต่ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เพิ่มบทบัญญัติว่า ในกรณีที่การสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนซึ่งกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น การออกคำสั่งดังกล่าวจะต้องทำตามคำแนะนำหรือเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนเท่านั้น
แต่คำสั่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ออกจากราชการไว้ก่อน ได้ทำให้เกิดปัญหาและนำไปสู่การส่งเรื่องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้มีมติเอกฉันท์ว่า คำสั่งดังกล่าวที่ให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เพราะไม่ได้มาจากคำแนะนำหรือความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ทั้งที่เป็นเรื่องส่งกระทบกับสิทธิและหน้าที่ต่างๆ รวมถึงโอกาสการที่จะเลื่อนตำแหน่งของ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” จึงให้ ตร.นำไปแก้ไขหรือทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้นสถานะของ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ยังอยู่ระหว่างการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ต้องตรวจสอบว่า ได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อยู่ระหว่างพิจารณากรณีดังกล่าว หลัง “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ยื่นคำร้องไว้
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงจับตามอง การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) วันที่ 26 มิ.ย.ซึ่ง “เศรษฐา” ในฐานะ ประธานก.ตร. จะเดินทางเข้าไปร่วมประชุม ซึ่งมีวาระสำคัญคือการพิจารณา เรื่องการกลับเข้ารับราชการของ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” โดยจะนำประเด็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาทางวินัย และ ก.พ.ค.ตร. ซึ่ง “พล.อ.สุรเชษฐ์” ยื่นร้องขอความเป็นธรรมไว้พิจารณาด้วย
ขณะที่ “พล.ต.อ.วินัย ทองสอง” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และ ประธานคณะอนุ ก.ตร.เกี่ยวกับดำเนินการทางวินัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ได้พิจารณากรณีที่ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์” ช่วงทำหน้าที่รักษาราชการแทน (รรท.).ผบ.ตร. เซ็นหนังสือคำสั่งให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ออกจากราชการ ถูกต้องตามระเบียบตามพ.ร.บ.ตำรวจ 2565 หรือไม่ ซึ่งจากการพิจารณาพ.ร.บ.ตำรวจฯ รวมถึงกฎหมายลูกอื่นๆ คณะอนุกรรมการฯลงความเห็นว่า การเซ็นหนังสือคำสั่งดังกล่าว ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ
ผลการลงมติดังกล่าวจะนำส่งต่อไปให้นายกฯ และที่ประชุม ก.ตร.ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 26 มิ.ย. โดยมติความเห็นของอนุกรรมการฯ จะถูกนำไปประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและความเห็นของผู้ร่วมเข้าประชุมคนอื่นๆ ซึ่งจะมีผลชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมก.ตร.ยังไม่ชี้ขาด คำสั่งให้ออกจากราชการของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็ยังมีช่องเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตนเอง หลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ต่อ “ก.พ.ค.ตร.” ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน หากยังไม่แล้วเสร็จ สามารถขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน ซึ่งยังเหลือเวลาอีกกว่า 2 เดือน ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่ง “ก.พ.ค.ตร.” ขณะนี้กรรมการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งรับไว้พิจารณา และได้สั่งให้ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” ทำคำแก้อุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ซึ่งขณะนี้คำสั่งแก้อุทธรณ์เสร็จ และได้ส่งให้กับกรรมการเจ้าของสำนวนแล้ว ขั้นตอนต่อไปกรรมการเจ้าของสำนวนจะต้องส่งให้กับ “บิ๊กโจ๊ก” พิจารณามีสิทธิแย้งได้ แต่หากไม่มีคำแย้ง พยานหลักฐานครบถ้วนทั้งสองฝ่าย กรรมการเจ้าของสำนวนจะกำหนดวันสิ้นสุด การแสวงหาข้อเท็จจริงกำหนดวันพิจารณา หากคำวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ไม่เป็นผลบวกต่อ “บิ๊กโจ๊ก” สามารถยื่นร้องต่อศาลปกครองได้อีก
นอกจากนี้ตัวแทนของ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” เดินทางไปที่ศูนย์รับ-ส่งหนังสือตำรวจแห่งชาติ สำนักเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือถึง “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ในฐานะ ผบ.ตร. ให้พิจารณายกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน เนื้อหาในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า กรณีที่ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์” รรท.ผบ.ตร.ในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวขัดกับพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 (ฉบับใหม่) จึงถือว่าเป็นคำสั่งโดยไม่ชอบ จึงขอให้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ เพื่อระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมของพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ
“หากพบว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ไม่ดำเนินการ ละเลยหรือประวิงเวลา จนได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายต่อสิทธิที่ควรจะได้รับ ถือว่ามีเจตนากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ท้ายหนังสือระบุ
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักในช่วงนี้ เพราะได้รับสัญญาณจาก “ผู้มากบารมี” ว่า จะหนุนส่งให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “แม่ทัพสีกากี” โดยหวังให้ช่วยขยายฐานเสียงในพื้นที่ด้ามขวาน เนื่องจากมีตำแหน่งเป็น “นายกสมาคมปักษ์ใต้” และสามารถทำตามคำสั่งของ “นาย” โดยไม่เกี่ยงงอนอะไรทั้งสิ้น นอกจากนี้บิดาของ “บิ๊กโจ๊ก” ยังเคยเป็นคนขับรถให้ “พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงษ์” บิดาของคุณหญิงพจมาณ ดามาพงศ์ จึงได้รับความไว้วางใจจาก “นายหญิง” ด้วย
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า “บิ๊กต่อ” อาจลาออกจากราชการ หลังผ่านพ้นพระราชพิธีสำคัญในเดือนก.ค. ดังนั้นยิ่งเป็นตัวเร่งที่ทำให้ “บิ๊กโจ๊ก” ต้องกลับเข้ารับราชการให้เร็วที่สุด คงต้องรอดูว่า “บิ๊กโจ๊ก” จะมีโอกาสลุ้นชิง “ผบ.ตร.คนที่ 15” ในปีนี้หรือไม่
……………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย….“แมวสีขาว”