วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 4, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเกมพลิก“เพื่อไทย”เจอวิบากกรรมอีก! ‘คดีความ’ทำ‘นายกอบจ.ปทุมฯ’สะดุด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เกมพลิก“เพื่อไทย”เจอวิบากกรรมอีก! ‘คดีความ’ทำ‘นายกอบจ.ปทุมฯ’สะดุด

จะเรียกว่า หยดน้ำในทะเลทราย ก็คงพูดได้ว่า หลัง ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏผลว่า “ชาญ พวงเพ็ชร์” ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 1 คว้าชัยชนะไปด้วยคะแนนรวม 203,032 คะแนน เฉือนเอาชนะ “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครคู่แข่ง ซึ่งได้คะแนน 201,212 คะแนนไปแบบหวุดหวิด

โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 949,421 คน, ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 472,536 คน คิดเป็นร้อยละ 49.77, บัตรดี 428,349 บัตร คิดเป็นร้อยละ 90.65, บัตรเสีย 11,302 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.39, บัตรไม่เลือกผู้ใด (โหวตโน) 32,885 บัตร คิดเป็นร้อยละ 6.96 โดยผู้ที่ “โหวตโน” ถูกมองว่าเป็นเสียงของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ไม่ได้ส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

ก่อนหน้านี้ใน การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ลงสมัครด้วย ในช่วงแรกมีการคาดเดากันว่า อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งมีสถานะเป็น “น้องเขยนายทักษิณ ชินวัตร” น่าจะผ่านการเลือกสว.ระดับประเทศ ได้เป็นสมาชิกสภาสูงตัวจริง แถมยังมีข่าวจะได้รับการผลักดันให้เป็นประธานวุฒิสภา เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ในที่สุดกลับสอบตกได้ไม่ถึง 10 คะแนน

รวมถึง “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ “ตระกูลชินวัตร” ก็ไม่ผ่านรอบคัดเลือกเช่นเดียวกัน

จนมีเสียงวิจารณ์ “สีแดง” หมดพลัง แต่ “สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) กลับมามีบทบาทแทน เนื่องจาก สว.ที่มีความใกล้ชิดกับค่ายการเมืองนี้ ผ่านการคัดเลือกเป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ ใครก็เห็นภาพ “เพื่อไทย” แกนนำรัฐบาลประกาศสนับสนุน “ชาญ” อย่างเปิดเผย แม้กระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และผู้มากบารมี ยังลงไปในพื้นที่เรียกบรรดาบ้านใหญ่ ที่มีฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ มาหารือเพื่อขอความสนับสนุน

สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้มาก เพราะถ้าแพ้นั่นหมายความว่า “อำนาจบารมี” จะถูกมองว่าเสื่อมและถดถอย ย่อมส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่

เนื่องจาก “พรรคเพื่อไทย” มีคู่แข่งสำคัญคือ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งการเลือกตั้งสส.เมื่อเดือนพ.ค.66 พรรคเพื่อไทยก็พ่ายแพ้เป็นครั้งแรก รวมถึงทายาทของนายทักษิณ ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคพท. และ “โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร” ก็ยังลงพื้นที่ช่วย “ชาญ” หาเสียง บ่งบอกให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับสนามเลือกตั้งครั้งนี้

ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 66 จ.ปทุมธานีมีทั้งหมด 7 เขต จำนวน สส.7 ราย ปรากฎว่า พรรคก้าวไกลได้ 6 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 1 เขต ซึ่งเดิมพื้นนี้ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคแกนนำรัฐบาล ดังนั้น “ผู้มากบารมี” ในพรรคเพื่อไทย จึงหวังที่จะได้พื้นที่นี้คืน แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ชัยชนะที่เฉียดฉิว แม้จะได้ “บ้านใหญ่” ออกแรงหนุน ประกอบกับการออกเสียงโหวตและบัตรเสีย ผลพวงจากการเลือกตั้ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ครั้งนี้ อาจทำให้พรรคเพื่อไทยยังภูมิใจได้ไม่มากหนัก เพราะการทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปในการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ก็ยังคว้าชัยชนะได้แบบไม่ขาดลอย ดังนั้นต้องรอดูนับจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง พรรคแกนนำรัฐบาลจะสามารถพลิกเกม ทำให้โหวตเตอร์กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่

ขณะที่วันเดียวกัน กับที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิ.ย.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึง บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 ระบุว่าเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” (พรรคก้าวไกล) เพราะชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง มีความรู้ และความสามารถรอบด้าน, อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 ระบุว่าเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

อันดับ 4 ร้อยละ 6.85 ระบุว่าเป็น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะมีภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ การทำงานมีความซื่อสัตย์ สุจริต, อันดับ 5 ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น “แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร” (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประเทศ, อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็น “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารที่โดดเด่น และมีความน่าเชื่อถือ, อันดับ 7 ร้อยละ 2.05 ระบุว่าเป็น “อนุทิน ชาญวีรกูล” (พรรคภูมิใจไทย) เพราะมีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร เข้าถึงประชาชน และชื่นชอบนโยบายที่ผ่านมา

ร้อยละ 3.40 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) วราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) ชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) ชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) วันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) เทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และร้อยละ 0.55 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.20 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล, อันดับ 2 ร้อยละ 16.85 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 ร้อยละ 15.00 ระบุว่ายังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 4 ร้อยละ 7.55 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 6 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 8 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย, ร้อยละ 1.05 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี และร้อยละ 1.10 ระบุว่า ไม่ตอบ ไม่สนใจ

เมื่อเทียบกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่1/2567 จะพบว่า คะแนนนิยม “”พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” สูงมากว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยก็มีสถานะเป็นแกนนำรัฐบาล มีอำนาจฝ่ายบริหาร ตัวแทนของพรรค “เศรษฐา” ก็เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ผ่านพ้นมา 1 ปี ก็ไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมให้ประชาชนชื่นชอบได้ แม้ว่าจะเป็นการสำรวจผ่านสถาบันการศึกษา แต่หลายครั้ง ผลสำรวจของ “นิด้า”  ก็ตรงกับข้อมูลที่ปรากฏ ทั้งการเลือกตั้งในระดับต่างๆ หรือบุคคลสำคัญที่จะเข้าไปมีบทบาทในหน่วยงานสำคัญ

แม้ก่อนหน้านี้ หลายคนเชื่อว่า เมื่อ “ทักษิณ” เดินทางกลับมา จะมีส่วนช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้ฝ่ายบริหารและแกนนำรัฐบาล แต่จากข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น หลัง “ทักษิณ” ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษจากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี แต่ “อดีตนายกฯ” กลับมีอาการป่วยนับตั้งแต่คืนวันแรก ที่เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าไปนอนพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนกระทั่งถึงวันพักโทษ โดยไม่เข้าถูกจองจำในเรือนจำซักวันเดียว จนทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ และส่งผลต่อคะแนนนิยมในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมากพอสมควร แม้ในช่วงที่ผ่านมา “อดีตนายกฯ” พยายามเดินสายไปในพื้นที่ต่างๆ เหมือนต้องการฟื้นความนิยมของตนเองให้กลับมา เพราะหมายปั่นมือจะผลักดัน “แพทองธาร” เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ ต่อจาก “เศรษฐา”

จากนี้ไปหลังจาก “ชาญ” เฉือนเอาชนะ “พล.ต.ท.คำรณวิทย์” ในศึกการเลือกตั้ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” กลับมาทวงคืนแชมป์เก่าของตัวเอง ในสมัยที่ 4 ได้สำเร็จ โดยขั้นตอนจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเป็นผู้พิจารณา รับรองผลการเลือกตั้ง จากนั้น “ชาญ” จึงเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันข้ามวัน วิบากกรรมแต่หนหลังของ “ชาญ” ก็เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อสื่อบางสำนักรายงานว่า ถ้า “ชาญ” ได้รับการรับรองจาก “กกต.” ก็อาจจะยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ได้ เนื่องจาก ในปีพ.ศ.2555 “ชาญ” ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” เกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพ โดยในปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะที่ศาลอาญาฯได้มีคำสั่งประทับฟ้อง “ชาญ” จะไม่ได้ดำรงตำแหน่ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ก็ตาม แต่เมื่อล่าสุด “ชาญ” ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ในอีกวาระหนึ่ง “ชาญ” จึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่งพ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1486/2565 ด้วย ดังนั้นเรื่องนี้อาจเป็นปัญหากับ “ชาญ” ตามมา

ขณะที่มีรายงานว่า อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อ “รมว.มหาดไทย” กรณีการเข้าสมัครเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี และการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ “ชาญ พวงเพ็ชร์” หลังการเลือกตั้ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ได้ผลเป็นทางการแล้ว 

โดยประเด็นแรก กรณี “ชาญ พวงเพ็ชร์” ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริต ศาลอาญาฯประทับฟ้องแล้ว ทำไมยังสมัครเป็นนายก อบจ.ปทุมธานีได้ 

“สถ.” ระบุว่า การที่ “ชาญ พวงเพ็ชร์” ถูกศาลอาญาฯประทับฟ้อง โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด และไม่ได้ถูกคุมขังโดยหมายศาล อีกทั้งไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น “ชาญ” จึงยังไม่มีลักษณะต้องห้าม และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “นายก อบจ.ปทุมธานี” ได้ ตามพ.ร.บ.อบจ. พ.ศ.2540 มาตรา 35/1 ประกอบ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ม.50 (5) (6) และ (10) และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ม.81 และ ม.93

ส่วนประเด็นที่สอง ทำไม “ชาญ พวงเพ็ชร์” ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ปทุมธานี แม้ต่างกรรมต่างวาระ

“สถ.” ระบุว่า การที่ “ชาญ พวงเพ็ชร์” ได้กระทำความผิดเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ในวาระก่อน และศาลอาญาฯได้ประทับฟ้อง “ชาญ” เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม แม้ต่อมาเมื่อ “ชาญ” ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “นายก อบจ.ปทุมธานี” ในอีกวาระหนึ่ง “ชาญ” ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561  ม.81 และ ม.93 เทียบเคียงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1486/2565

ด้าน “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีคดีติดค้างของ “ชาญ พวงเพ็ชร” ที่ศาลอาญาฯประทับรับฟ้องคดีการทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพช่วยน้ำท่วม เมื่อปี 2554 และมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่แล้วว่า หากนายชาญเข้าปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ปทุมทานีเมื่อใด ก็ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อนั้น แต่หากนายชาญ ต้องการจะโต้แย้งคำสั่ง ก็ต้องไปดำเนินการ สถ. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการเข้าสู่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้บริหารท้องถิ่น และจะมีอำนาจ ออกคำสั่งดำเนินการต่อไป

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังอธิบายสาเหตุกรณีการยุติการปฏิบัติหน้าที่ทุกกรณีว่า เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูล และศาลฯมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งในระหว่างนั้น หากพ้นตำแหน่ง และได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ ก็ยังคงจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปยุ่งเหยิงในคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งกรณีของนายชาญ ก็จะเข้าเงื่อนไขดังกล่าวโดยอัตโนมัติ

จึงมีคำถามตามมาว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ “ชาญ” หรือ??? ว่ามีคดีความอะไรติดตัวมาบ้าง  เพราะหากคว้าชัยชนะได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และคาดเดาไม่ได้บทสรุปของคดีจะจบอย่างไร 

หรือชัยชนะที่ได้จาการเลือก “นายก อบจ.ปทุมธานี” จะกลายเป็นวิบากกรรมให้พรรคเพื่อไทย แทนที่จะช่วยฟื้นความนิยม กลับมาดึงพรรคให้ไปเกี่ยวพันกับบุคคลที่มีคดีความติดตัว ผลที่ได้จากการเลือก “นายก อบจ.ปทุมทานี” จึงอาจไม่เป็นอย่างที่หวังไว้

…………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img