วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเปิดแผน“ก้าวไกล”รับมือปมร้อนยุบพรรค “พรรคใหญ่”ตั้งเป้าหวังดูด“งูเห่า 50 คน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดแผน“ก้าวไกล”รับมือปมร้อนยุบพรรค “พรรคใหญ่”ตั้งเป้าหวังดูด“งูเห่า 50 คน”

ปมร้อนที่หลายคนติดตาม และให้ความสนใจ นอกจากความเป็นไปของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คงหนีไม่พ้นชะตากรรมของ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ซึ่งหลายคนตั้งฉายาให้เป็น “เครื่องจักรสีส้ม” หลังเผชิญวิบากกรรม อันเนื่องมาจากคำร้อง “คดียุบพรรค”

ก่อนหน้านั้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” (รธน.) เคยตัดสิน “ยุบพรรคอนาคตใหม่” (อนค.) กรณีพรรคกู้เงินจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่มีการทำสัญญากู้เงิน คือวันที่ 2 ม.ค.2562 และ 11 เม.ย.2562 เป็นเวลา 10 ปี

ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้ “กก.บห.” ทั้งหมด 16 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง แม้มี 2 คนลาออกไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ซึ่งรวมถึง “ธนาธร” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” โดยในจำนวนนี้เป็น สส.จำนวน 11 คน ทำให้อนาคตใหม่เหลือเสียงในสภา 65 คน จากเดิม 76 คน จากนั้นจึงกลายมาเป็น “พรรคก้าวไกล” ในวันนี้

ดังนั้นหลายเลยลุ้นหนักว่า “เครื่องจักรสีส้ม” จะเผชิญวิบากกรรมเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ !!!

ยิ่งข้อกล่าวหาที่นำไปสู่คดียุบพรรคก้าวไกล ร้ายแรงกว่าในสมัยที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกลตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567

จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกก.บห.พรรคก้าวไกล และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกก.บห.พรรคก้าวไกล และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกก.บห. หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง  

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จากแถลงการณ์ปิดคดี ให้ยื่นเป็นหนังสือสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ 2562 ข้อ 24 ภายในวันที่ 24 ก.ค.2567

ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่นให้รับรวมไว้ในสำนวนคดี เพื่อประกอบพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 ส.ค. เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. โดยไม่เปิดให้มีการไต่สวน

ก่อนหน้านั้น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงประเด็นการสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยย้ำว่า แนวทางการต่อสู้มีทั้งหมด 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ เน้นไปที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีเป็นหลัก สำหรับแนวทางการต่อสู้ 9 ข้อ ประกอบด้วย 

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี 2.กระบวนการยื่นคำร้อง กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3.คำวินิจฉัยของคดีเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันต่อคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นการล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็นมติของพรรค 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็นฉุกเฉิน ฉันพลัน และไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย 7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์ กก.บห. 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับ กก.บห.ในช่วงที่ถูกกล่าวหา

อีกประเด็นหนึ่งคือ กรณีคำวินิจฉัยศาลฯ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันกับคำวินิจฉัยในคดีนี้ ซึ่งอาจจะมีคนคิดว่า ข้อเท็จจริงได้รับการวินิจฉัยแล้ว และด่วนสรุปว่า คำวินิจฉัยคดีก่อน ผูกพันคดีนี้โดยอัตโนมัติ แม้แต่ กกต. ยังใช้คำวินิจฉัยนี้เป็นหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคก้าวไกล แต่ความเป็นจริง ตามหลักการทางกฎหมาย กรณีที่คำพิพากษาคดีหนึ่งจะผูกพันกับอีกคดีหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อเป็นข้อหาเดียวกัน และระดับโทษใกล้เคียงกัน

“พิธา” ยังย้ำถึงโทษยุบพรรคว่า ต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น ซึ่งมาตรการยุบพรรค เป็นบทลงโทษที่มีได้ในระบบประชาธิปไตย เพื่อปกป้องประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของประชาธิปไตย เป็นตัวแทนประชาชน ดังนั้นการยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น

ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ “พรรคก้าวไกล – Move Forward Party” ได้โพสต์ข้อความ เปิดความเห็น 4 ประเด็น ของ “ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” กรณี กกต. ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล มีรายละเอียดระบุว่า…

“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. เป็นหนึ่งในพยานของพรรคก้าวไกล ที่ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นไปยังศาลรธน. ในคดีที่ กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล โดย “ศ.ดร.สุรพล” ได้ให้ความเห็นต่อคำร้องของ กกต.ในประเด็นหลักเกี่ยวกับคดีนี้  

อย่างเช่น คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? การยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองของ กกต.ต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.92 และ ม.93 ซึ่ง ม.92 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง และ ม.93 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดกระบวนการขั้นตอนให้ กกต.ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเสียก่อน โดย กกต.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพิ่มเติมไว้ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณี กกต.มีมติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นต้องถูกเพิกถอนไป

อย่างไรก็ตาม คดียุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรธน.ที่ 3/2567 หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีล้มล้างการปกครอง” สืบเนื่องจากกรณีพรรคก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเมื่อ 31 ม.ค.2567 ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 พร้อมสั่งให้เลิกการกระทำ

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 “เป็นการลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์” ส่วนการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง “เป็นการนำสถาบันฯลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน”

“มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้ชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง นําไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ในที่สุด” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 ม.ค. ระบุตอนหนึ่งไว้

ด้าน “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดียุคพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะไม่กระทบกับทุกทางและเป้าหมายการทำงาน ถ้าผลออกมาแย่ เรายังมีเวลาพูดคุยกันในพรรค ได้ชี้แจงกับ สส.ไว้แล้ว หากผลออกมาไม่ดี เราจะมีกระบวนการหลังจากนั้น เชื่อมั่นว่า เรามีโอกาสชนะสูง ทั้งข้อต่อสู้ทางด้านกฎหมายที่มีน้ำหนัก

ขณะที่มีรายงานข่าวจากพรรคก้าวไกล ถึงการเตรียมรับมือคดียุบพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยวินิจฉัยชี้ขาด ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า แกนนำพรรคก้าวไกลเตรียมการรับมือไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งในกรณีผลคดีเป็นบวก หรือผลคดีเป็นลบ โดยภายในยังประเมินว่า ผลทางคดีจะเป็นบวก มากกว่าลบ โดยมองเรื่องกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากถูกยุบพรรคขึ้นมาจริงๆ ก็เตรียมลู่ทางสร้างบ้านหลังใหม่ไว้แล้ว ซึ่งทางแกนนำเปิดเผยว่า จะไม่ใช้ชื่อ “พรรคก้าวใหม่” ตามที่เคยมีข่าวลือ แต่จะใช้โมเดลเดียวกันกับครั้ง “พรรคอนาคตใหม่” ถูกยุบ ที่ต่อมามีการย้ายไปอยู่ “พรรคผึ้งหลวง” จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคก้าวไกล”

ที่ผ่านมามีการไปพูดคุยกับพรรคที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นพันธมิตรกัน ในการจะย้ายเข้าไปอยู่ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ จากนั้น ค่อยให้สมาชิกพรรค หรือ สส.โหวตชี้ขาดว่า จะใช้ชื่อเดิมที่ย้ายไป หรือเปลี่ยนชื่อใหม่ โดยแกนนำปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อพรรคพันธมิตร เกรงว่าหากข่าวหลุดไปก่อน จะถูกเพ่งเล็ง เหมือนกับกรณีที่เคยเตรียมการจดแจ้งชื่อพรรคหนึ่งไว้ แต่สุดท้ายพรรคดังกล่าว ส่งงบการเงินผิดแค่วันเดียว ก็ถูกเลิกกิจการพรรคการเมืองแล้ว

สำหรับ ตัวเต็งหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ หากถูกยุบพรรคขึ้นมาจริงๆ นั้น ไม่ใช่ชื่อของ “อ.ต้น-ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร” ทีมเศรษฐกิจก้าวไกล แม้จะมีความสามารถ และเป็นเพื่อนรักของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า แต่การคัดเลือกผู้บริหารพรรคชุดใหม่นั้น ต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการโหวตของสส.พรรคด้วย และขณะนี้ เมื่อไป สอบถามบรรดา สส.พรรคก้าวไกล หลายคนตอบตรงกันว่า “มีบุคคลในใจแล้ว” หากต้องโหวตชื่อหัวหน้าพรรคขึ้นมาจริงๆ และถึงแม้จะไม่ต้องโหวต ก็มีฉันทามติโดยมองเป็นคนๆ เดียวกันหมด โดยบุคคลดังกล่าวเป็น สส.อยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ถ้าหากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค จะเกิดปรากฎการณ์ “ผึ้งแตกรัง” เหมือนช่วงพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบหรือไม่ แต่บรรดาผู้กระทำตนเป็น “งูเห่า” ในยุคนั้น ก็ถูกลงโทษโดยสอบตกทั้งหมด 

แต่กระนั้นยังมีข่าว “พรรคการเมืองใหญ่” ได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้ “นักการเมืองอาวุโส” ไปดึงสส.พรรคก้าวไกล มาร่วมงานด้วยประมาณ 50 คน หากพรรคสีส้มไม่รอดจากคดียุบพรรค

คงต้องรอดูว่า เป้าหมายจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์หรือไม่ เพราะหลายคนเชื่อว่า แม้พรรคก้าวไกลจะมีอันเป็นไปในทางการเมือง และต้องเปลี่ยนไปใช้อื่น แต่ความนิยมของคนส่วนใหญ่ ก็ยังให้การสนับสนุนอยู่ หากดูผลโพลสำนักต่างๆ ที่มีการสำรวจมา จึงอาจเป็นเรื่องยากที่ สส.พรรคก้าวไกลจะกล้าแตกแถว

แต่อย่าลืม ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค จะส่งผลให้แกนนำและกก.บห. จำนวน 11 คน (ในขณะนั้น) ไล่ตั้งแต่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ชัยธวัช ตุลาธน-ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์-ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล-ปดิพัทธ์ สันติภาดา-สมชาย ฝั่งชลจิตร-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล-เบญจา แสงจันทร์-อภิชาติ ศิริสุนทร-สุเทพ อู่อ้น” จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี 

นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็รับตรวจสอบจริยธรรม สส.ก้าวไกลทั้ง 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายประมวลอาญา มาตรา 112 ด้วย

ต้องรอดู “พรรคก้าวไกล” รอดพ้น “ปมร้อน” ที่มีบทลงโทษถึงขั้น “ยุบพรรค” หรือไม่???

แม้ “แกนนำในพรรคสีมส้ม” อาจจะมั่นใจปรัชญา “ตายสิบเกิดแสน” แต่ “ฝ่ายตรงข้าม” คงไม่ยอมให้ “เครื่องจักรสีส้ม” แย่งชิง “อำนาจรัฐ” ไปได้ง่ายๆ ยิ่งเป้าหมายต้องได้เสียงเกินครึ่ง (250 เสียง) เป็นโจทย์ใหญ่ที่ยากจะทำได้จริง

…………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img