จะบอกว่า สถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี ในประเด็นความเป็นไปของ “พรรคประชาชน” (ปชช.) ที่เข้ามาสืบสานเจตนารมณ์ของ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การ ยุบพรรคสีส้ม ก็อาจพูดได้
โดยเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ พรรคประชาชน-People’s Party เผยแพร่ข้อมูลว่า หลังจากการเปิดรับสมาชิกแบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ส.ค. และเปิดรับสมัครแบบใช้กระดาษ หรือ Offline ครั้งแรกในวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนให้การตอบรับและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพรรคประชาชนผ่านการสมัครสมาชิกอย่างท่วมท้นนั้น ภายในเวลา 3 วัน เรามีสมาชิกใหม่แล้วถึง 50,000 คน ทั้งในทางออนไลน์และออฟไลน์ ในขณะที่ยอดบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของพรรค อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านบาท
“เดินหน้าต่อ นับหนึ่งให้ถึงแสนภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ขอบคุณและยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ทุกท่าน เตรียมพบกับกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์สุด exclusive เร็ว ๆ นี้” เพจพรรคประชาชน-People’s Party ระบุ
นั่นหมายความว่า “พรรคประชาชน” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับ “การสร้างกระแส-เรียกคะแนนสงสาร” ภายหลังพรรคก้าวไกลต้องถูกยุบไป
โดยตั้งเป้าไว้ในห้วงเวลา 1 เดือน จะหาสมาชิกพรรคได้ 1 แสนคน แต่ช่วงเวลาไม่ถึง 5 วัน ก็มีประชาชนสมัครเป็นสมาชิกแล้วกว่า 50,000 คน ซึ่งคงใช้เวลาไม่กี่วันสมาชิกให้ครบแสนคน ทำให้แกนนำพรรคประชาชน นำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้มากมาย รวมถึงเงินบริจาคที่ได้ถึง 25 ล้านบาท
ยิ่งถ้าใน การเลือกตั้งซ่อมที่เขต 1 จ.พิษณุโลก พรรคประชาชนจะส่ง “ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” หรือ “โฟล์ค” ซึ่งสมัครเป็นสมาชิกพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ครบ 90 วัน ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน รวมถึงให้การสนับสนุน “ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์” หรือ “หวุน” ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี คว้าชัยได้ทั้ง 2 สนาม ก็น่าจะส่งผลทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ต้องวิตกกังวลกับกระแสความนิยมของพรรคประชาชนแน่ๆ
ก่อนหน้านี้ เวลาโพลสำนักต่างๆ สำรวจความนิยมของพรรคการเมือง และผู้นำแต่ละพรรค จะพบว่าคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล และ “พิธา ลิ้มเจริณรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรค มาเป็นอันดับ 1 อยู่เสมอ ถ้าพรรคประชาชนยังเลี้ยงกระแสความนิยมไปได้จนถึงการเลือกตั้งเมื่อ 2570 อาจได้ สส.ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เกินครึ่ง 250 เสียง ได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
เพราะถ้าย้อนไปอดีต ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้จำนวนส.ส. 81 คน จากนั้นเมื่อพรรคถูกยุบไป แล้วแปรสภาพเป็นพรรคก้าวไกล พอการเลือกตั้ง เมื่อปี 2566 ได้จำนวน สส. 151 คน เรียกได้ว่า ได้เสียงมากที่สุดในสภา แต่ในที่สุดก็ต้องตกอยู่ในสภาพเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหน ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย เนื่องจากมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีไว้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสถาบัน และในที่สุดก็มีผู้นำเรื่องไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค จนมีมติยุบพรรคในที่สุด
จึงต้องมาตามดูผลพวงการยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ จะทำให้จำนวน สส.ของพรรคประชาชนได้มากกว่าเดิมหรือไม่???
โดย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ยุบพรรคก้าวไกล ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้อเท็จจริงในการพิสูจน์ในคดีนี้นั้น เป็นที่สิ้นสงสัยแล้วว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลนั้น มีการสนับสนุนกิจกรรมที่มีลักษณะกระทบต่อสถาบันเรื่อยมา ในลักษณะ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไป อาจจะส่งผลนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ อีกทั้งสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องยังมีการทำตัว เป็นนายประกันผู้ที่ต้องคดี 112 มาโดยเสมอ ทั้งๆ ที่ พรรคการเมืองควรจะควบคุม ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง อีกทั้งการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้หาประโยชน์เพื่อหวังผลคะแนนเสียง นั้นเป็นการมุ่งหวังให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ดังนั้น จึงถือว่าพรรคมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันจนนำไปสู่การล้มล้างได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมี “มติเอกฉันท์” 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงว่า จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
ซึ่ง สส.พรรคก้าวไกลต้องหาพรรคสังกัดอยู่ใหม่ ภายในระยะเวลา 60 วัน เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ สส. โดยมีการเตรียมตัวไว้เป็นอย่างดี เพราะมีการใช้ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” มารองรับ สส. ที่เหลืออยู่ หลังจากยุบพรรค โดยทั้ง 143 คน ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่อย่างพร้อมเพียง ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ อีกทั้งยัง ไม่มี “สส.แตกทัพ” ไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากเคยมีบทเรียนสมัยพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วมีสส.บางส่วนแตกแถว ไปร่วมงานกับพรรคร่วมรัฐบาลในอดีต แต่ในที่สุด ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.66 สส.ที่ทำตัวเป็นงูเห่าสอบตกทั้งหมด เลยทำให้ใครที่คิดย้ายพรรค คงต้องคิดหนัก ในที่สุดต่างเดินทางไปร่วมเส้นทางเดียวกับในนาม “พรรคประชาชน”
นอกจากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัย ตัดสิทธิทางการเมือง “คณะกรรมการบริหารพรรค” (กก.บห.) ในห้วงเวลาที่มีการกระทำความผิด จำนวน 11 คน พร้อมห้าม “กก.บห.ชุดดังกล่าว” ไปจดทะเบียน หรือมีส่วนรวมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค ประกอบด้วย…
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค-สส.บัญชีรายชื่อ 2.ชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรค-สส.บัญชีรายชื่อ 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกก.บห. สัดส่วนภาคเหนือ-สส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรค และปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม 6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห. สัดส่วนภาคใต้ 7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห. สัดส่วนภาคกลาง 8.อภิชาติ ศิริสุนทร กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สส.บัญชีรายชื่อ 9.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออก-สส.บัญชีรายชื่อ 10.สุเทพ อู่อ้น กก.บห. สัดส่วนปีกแรงงาน-สส.บัญชีรายชื่อ และ 11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก. สัดส่วนภาคเหนือ
ส่งผลให้ 5 สส.บัญชีรายชื่อ ที่สังกัดพรรคก้าวไกลคือ “พิธา-ชัยธวัช-อภิชาติ-เบญจา-นายสุเทพ” ต้องสิ้นสถานะ สส.ไปโดยปริยาย
ทำให้ “อดีตสส.ก้าวไกล” ที่ยังมีสถานะ สส.อยู่ เหลือเพียงแค่ 143 คน โดยไม่สามารถเลื่อนผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้ เนื่องเพราะ 5 อดีต สส.ที่ว่าข้างต้น ไม่ได้เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่ง ก่อนศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ส่วนตำแหน่ง สส.เขต 1 จ.พิษณุโลก ของ “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์” ที่ต้องถูกตัดสิทธิ์การเมือง และหลุดจากเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ไปด้วยนั้น ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่
นอกจากนี้ คำวินิจฉัยคดียุบพรรค ยังมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะส่งผลต่อการพิจารณา “คดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า 44 สส. สมัยยังทำหน้าที่อยู่ในพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
แต่เชื่อว่า ผลจากคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น จะเป็นหลักฐานที่ “ป.ป.ช.” สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาลงมติ ถ้า “ป.ป.ช.” เห็นว่า “ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม” เรื่องก็จะถูกส่งต่อไปดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถ้าวินิจฉัยว่า “มีความผิด” โทษที่ได้รับอาจจะมีความรุนแรง ถึงขั้นตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
เช่นเดียวกับกรณีของ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ หรือกรณีของ “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีตสส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต…ไปแล้ว
ขณะที่ “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้วว่า การตรวจสอบนั้นมีมูลเบื้องต้น มีพยานหลักฐานเบื้องต้น ตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติสั่งไต่สวนแล้วทั้ง 44 คน ส่วนข้อเท็จจริง อยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ยังไม่ได้ให้ผู้ต้องหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ทั้งนี้ 44 สส.สมัยที่ยังทำงานอยู่ในพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังถูก “ป.ป.ช.” ตรวจสอบเรื่องเรื่องจริยธรรม ประกอบด้วย 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 3.ธีรัจชัย พันธุมาศ 4.ญาณธิชา บัวเผื่อน 5.ศิริกัญญา ตันสกุล 6.กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี 7.เบญจา แสงจันทร์ 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ 9.นิติพล ผิวเหมาะ 10.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร 11.ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ 12.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 13.ปดิพัทธ์ สันติภาดา 14.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 15.ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ 16.ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ 17.ณัฐวุฒิ บัวประทุม 18.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 19.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ 20.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา 21.วรภพ วิริยะโรจน์ 22.คำพอง เทพาคำ
23.สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ 24.ทองแดง เบ็ญจะปัก 25.จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ 26.จรัส คุ้มไข่น้ำ 27.สุเทพ อู่อ้น 28.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 29.อภิชาติ ศิริสุนทร 30.องค์การ ชัยบุตร 31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ 32.ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ 33.ศักดินัย นุ่มหนู 34.มานพ คีรีภูวดล 35.น.พ.วาโย อัศวรุ่งเรือง 36.วรรณวิภา ไม้สน 37.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 38.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ 39.ทวีศักดิ์ ทักษิณ 40.สมชาย ฝั่งชลจิตร 41.สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล 42.วุฒินันท์ บุญชู 43.รังสิมันต์ โรม และ 44.สุรวาท ทองบุ
ซึ่งถ้าผลออกมาในทางลบ จะทำให้ “อดีต สส.ก้าวไกล” อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง สิ้นสภาพจากการการเป็น สส. อีก 30 คน เมื่อรวมกับ สส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ก่อนหน้านี้ ในฐานะ “กก.บห.” จะทำให้ “สส.พรรคประชาชน” เหลือเพียง 110 คน ซึ่งในบรรดา สส. 44 คน หลายคนเป็นคนมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร และอภิปรายประเด็นต่างในสภาฯ อย่างเช่น “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ-ศิริกัญญา ตันสกุล-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร-รังสิมันต์ โรม-น.พ.วาโย อัศวรุ่งเรือง-ธีรัจชัย พันธุมาศ” เป็นต้น
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่อาคารไทยซัมมิท ภายหลังที่ประชุม สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมประชุมกับ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” เพื่อเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น “พรรคประชาชน” และแต่งตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ใหม่ โดยมี “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค “ศรายุทธ ใจหลัก” เป็นเลขาธิการพรรค
ทั้งนี้ “ณัฐพงษ์” กล่าวว่า “กระบวนการทำให้พรรคประชาชนเป็นสถาบันทางการเมือง สืบทอดอุดมการณ์พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค จะพูดสื่อสารถึงประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ว่า ภารกิจของเราต่อจากนี้ จะสร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 2570 สำคัญที่สุด เราจำเป็นต้องชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า เราต้องตั้งเป้าหมายให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากการเป็นพรรคอันดับ 1 ในการเลือกตั้งปี 2566 ต่อไปคือการชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ นี่คือเป้าหมายสูงสุดของพวกเรา”
นอกจากนี้สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามถึงกรณี การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนี้จะลดเพดานลงหรือไม่ “ณัฐพงษ์” กล่าวว่า “เราไม่เคยสื่อสารว่า ลดเพดานอะไร เรายืนยันว่า เราเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งพรรคฝั่งตรงข้าม และคำวินิจฉัยศาล ไม่ได้สั่งห้ามแก้ไข แน่นอนว่าเราไม่ประมาท เราทำทุกอย่างรอบคอบ คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา จนยุบพรรคก้าวไกล เราต้องศึกษาอย่างดี แต่คิดว่า พวกเราต้องผลักดันเดินหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่”
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราเซ็นเซอร์ปิดปากตัวเอง เราเสนอบนหลักการ เราไม่ได้มุ่งเป้าเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันใด ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เราต้องยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรายืนยันเดินหน้าทุกอย่างต่อ แต่เราต้องกลับมาศึกษาข้อกฎหมายทุกอย่างด้วย
“การที่บอกว่าเจรจาบนโต๊ะ ในส่วนการทำหน้าที่ในส่วนนี้ หรือพรรคก้าวไกลถูกคำสั่งยุบพรรค จะทำให้การทำงานของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ คิดว่าวิธีการปฏิบัติ เราไม่ประมาท เราต้องกลับมาทบทวนเรียนรู้ในส่วนคำตัดสินศาล และประเด็นกฎหมายต่างๆ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือหลักการและความเชื่อ เราต้องการทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ณัฐพงษ์ กล่าว
นั่นหมายความว่า มาตรา 112 ยังเป็นปมร้อน ที่อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ “พรรคประชาชน” ไปไม่ถึงฟากฝัน แม้จะอ้างว่าต้องศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่พูดว่าจะแก้ไขเมื่อไหร่ ก็ไปกระตุกต่อมของ “ผู้ไม่เห็นด้วย” ให้ออกมาต่อต้าน และอาจกลายเป็น “เงื่อนไข” ที่ทำให้พรรคน้องใหม่ ต้องเผชิญข้อกล่าว “มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง” นำไปสู่การยื่น “ยุบพรรค” อีกรอบหนึ่ง
…………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”