วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“จริยธรรม”บททดสอบ“นายกฯอุ๊งอิ๊ง” “ทักษิณ”เล่นเสี่ยงหวังพลิกเกมให้รอด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“จริยธรรม”บททดสอบ“นายกฯอุ๊งอิ๊ง” “ทักษิณ”เล่นเสี่ยงหวังพลิกเกมให้รอด

หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา จากนั้น “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ในฐานะแกนนำรัฐบาลใช้เวลาเพียงไม่ถึง 7 วัน ก็สามารถสรรหา “หัวหน้ารัฐบาลคนใหม่” ได้

แม้ในช่วงแรกมีข่าว “ทักษิณ ชินวัตร” จะผลักดัน “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) หนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย แต่ในที่สุด “ผู้มากบารมี” ก็เปลี่ยนรายชื่อมาเป็น “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หลังมีรายงานข่าวในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยช่วงเช้าเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า “สส.ส่วนใหญ่” เสนอชื่อ “แพทองธาร” เป็นนายกฯ

โดยให้เหตุผลว่า หากเป็น “ชัยเกษม” กังวลในเรื่องสุขภาพ ประกอบกับในพื้นที่เรียกร้องให้เอา “แพทองธาร” เป็นนายกฯ เนื่องจากที่ผ่านมา “แพทองธาร” ลงพื้นที่หาเสียงเป็นส่วนใหญ่ จึงอยากให้มาเป็นนายกฯ และคงโครงการดิจิทัล วอลเล็ต อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ว่าจะเห็นตาม สส.ของพรรคหรือไม่

และในที่สุด “กก.บห.” ก็เห็นตาม “สส.พรรคเพื่อไทย แจ้งชื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลได้รับทราบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ สส.พรรคเพื่อไทย เห็นต่างจาก “ทักษิณ”

ขณะที่ “แพทองธาร” ได้ออกมาแถลงภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯด้วยคะแนน 319 คะแนน ไม่เห็นชอบ 145 คะแนน งดออกเสียง 27 คะแนน จากนั้นมีคำถามที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ตั้งคำถามว่า “รู้สึกอย่างไรกับกรณีที่นายเศรษฐาหลุดจากตำแหน่ง” โดย นายกฯหญิงคนที่สองของประเทศไทย ตอบว่า ตอนนั้นอยู่บนเครื่องบินกำลังเดินทางกลับมาจากประเทศจีน เมื่อได้ทราบข่าว ก็รู้สึกเสียใจ และเมื่อกลับมาถึงประเทศไทยได้มีการพูดคุยกับนายเศรษฐา ครอบครัว รวมถึงคนในพรรค ว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้กับประเทศ แล้วหวังว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าไปได้ ทำให้ประชาชนมั่นใจ สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิต นี่คือสิ่งที่พยายามจะทำ 

นั่นหมายความว่า “อุ๊งอิ๊ง” ตัดสินใจเองว่า จะขอรับตำแหน่งนายกฯเอง ทั้งที่ก่อนหน้านั้น “ทักษิณ” ยังเคยระบุว่า จะให้บุตรสาวดูแลพรรค ในฐานะหัวหน้าพรรค คำถามคือ ทำไม่อดีตนายกฯถึงยอมให้ “แพทองธาร” เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ เพราะมีปัญหาหลายอย่างรุมเร้าประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา “เศรษฐา” จะบริหารงานมาเกือบครบปี แต่ผลงานก็ยังไม่เป็นที่พอใจ ทั้งจากผลสำรวจของโพลสำนักต่างๆ  ที่พบว่า คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน” (ปชช.) นำโด่งมาตลอด รวมทั้งในส่วน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก่อนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็นำห่างตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่นๆ

รวมถึงผลจากตลาดเงินและตลาดทุน ไม่ตอบรับการบริหารงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการเข้ามาบริหารประเทศของ “แพทองธาร” จึงเป็นไปด้วยความเสี่ยง ช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลเกือบ 3 ปี จะดึงคะแนนนิยมให้พรรคเพื่อไทยกลับมาได้หรือไม่

หรือการที่ “ทักษิณ” ยอมไฟเขียวให้บุตรสาวคนสุดท้อง มารับตำแหน่งผู้นำประเทศ เพราะคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 2570 หากสภาฯอยู่ครบวาระ โอกาสที่ “พรรคเพื่อไทย” จะคว้าชัยชนะคงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งอายุของ “ทักษิณ” ก็มากขึ้น เพิ่งฉลองครบรอบวันเกิด 75 ปี นั่นหมายความว่า พละกำลังและสติปัญญาก็อาจถดถอยลงไป

ดังนั้นการผลักดันให้บุตรสาวเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ อาจเป็นจังหวะดีที่สุด ไม่ต้องไปเสี่ยงลุ้นในวันข้างหน้า อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์นิยม ร่วมสนับสนุนอยู่ด้วย หนทางที่จะเผชิญวิบากกรรม หรือคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก ต้องกระทำผิดอย่างชัดเจนจริงๆ 

นอกจากนี้ด้วยภาพลักษณ์ของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่ถือเป็น “คนรุ่นใหม่” คงสามารถสื่อสาร “โหวตเตอร์” ที่มีอายุไม่มากหนัก และดึงคะแนนจากคนกลุ่มนี้ ให้มาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยได้ เมื่อเทียบกับ “ชัยเกษม” ที่อายุเกิน 70 ปีแล้ว คงไม่เข้าเทรนต์ยุคสมัยในโลกปัจจุบัน ที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ เข้ามามาบทบาทในด้านต่างๆ

แต่ขณะเดียวกัน กระบวนการทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของ “แพทองธาร” ก็เดินไปด้วยความรัดกุม ไล่ตั้งแต่การคัดเลือกรัฐมนตรี โดยนายกฯหญิง กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้จะประสานเพื่อพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพยายามจะทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ พร้อมย้ำว่า การแต่งตั้งครม.ชุดนี้ จำเป็นจะต้องดูเรื่องของคุณสมบัติเป็นพิเศษ เพื่อไม่อยากให้เกิดสิ่งที่ผิดพลาด และไม่อยากให้ใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องรีบแต่งตั้ง ครม.ให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะส่งคุณสมบัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เพราะรอบนี้หลายคนก็แนะนำว่า การตรวจคุณสมบัติจะนานขึ้น และคิดว่าไม่น่าใช้เวลาถึง 1 เดือนในการฟอร์ม ครม.

ด้าน “ภูมิธรรม เวชยชัย” รักษาการรองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ กล่าวถึงการตั้งครม.ชุดใหม่ว่า จะแจ้งพรรคร่วมรัฐบาล ให้ส่งรายชื่อผู้ที่จะเสนอเป็นรัฐมนตรี มาที่นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เพื่อส่งให้เลขาธิการครม. และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบคุณสมบัติตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องตรวจสอบเข้มกว่าเดิม จากปกติใช้เวลาไม่กี่วัน หรือไม่ถึงสัปดาห์ แต่ครั้งนี้ต้องใช้เวลามากขึ้น เวลานี้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยดี ต้องรีบให้เร็วที่สุด คาดว่าทุกพรรคจะเสนอรายชื่อได้

เมื่อถามถึงการตรวจคุณสมบัติเข้มขึ้น จะตรวจเข้มอย่างไร “ภูมิธรรม” กล่าวว่า หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ได้คุยกับเลขาธิการครม. และเลขาธิการกฤษฎีกา ที่บอกว่า ต้องทำงานละเอียดขึ้น มากขึ้นและยากขึ้น ใช้เวลาตรวจนานมากกว่าเดิม เพื่อให้ละเอียดตามคำวินิจฉัยของศาลรธน.จากปกติ 3-4 วันจะตรวจเสร็จ

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และ “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่  

เพราะอดีตมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกฯ (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกฯสิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรธน.มาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่ง ทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป

นั่นหมายหมายความว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร” ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ตั้งแต่เริ่มแรกของการทำงาน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ต้องล้มไป อันเนื่องมาจากการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีปัญหา 

โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมและภูมิหลัง ทำให้มีข่าวแคนดิเดต 4 รัฐมนตรีอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ไม่ได้ไปต่อกับรัฐบาลแพทองธาร หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ท้วงติงเรื่องคุณสมบัติ โดยเฉพาะ “ทักษิณ” ที่สั่งการให้ตรวจสอบอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้บุตรสาวต้องเผชิญกับวิบากกรรม เหมือนอดีตนายกฯที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง

แม้กระทั่ง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคประชารัฐ (พปชร.) ยังอาจไม่ได้รับตำแหน่ง โดยมีชื่อติดอยู้ใน 4 รัฐมนตรีที่สุ่มเสี่ยงอาจเป็นปัญหา

กรณี “ร.อ.ธรรมนัส” ที่ว่าจะหลุด เพราะเคยมีคดีการครอบครองสารเสพติด อ้างว่าเป็นเฮโรอีน น้ำหนัก 3.2 กิโลกรัม แต่ด้วยความที่เป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ซึ่งยก “หลักอธิปไตย” ของประเทศมาเป็นหลักในเหตุผลข้อหนึ่งว่า การต้องคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ ไม่ใช่ศาลไทย จึงไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี และ สส.

ขณะที่ “ชาดา ไทย​เศรษฐ์” รักษาการรมช.มหาดไทย ที่เคยตกเป็นจำเลยในคดีจ้างวานฆ่า โดยศาลชั้นต้น สั่งตัดสินให้จำคุก แต่สุดท้ายศาลฎีกายกฟ้อง จึงต้องพิจารณารายละเอียดและข้อกฎหมายว่า เมื่อศาลยกคำร้องแล้ว จะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

ส่วน “สันติ พร้อมพัฒน์” รักษาการรมช.สาธารณสุข เคยถูกลบชื่อออกจากนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2542 เหตุให้ผู้อื่นปลอมบัตรนักศึกษา-ใบขับขี่ เพื่อทุจริตการสอบวิชาปรัชญาเบื้องต้น

อีกคนที่มีชื่อว่า จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คือ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการพรรค รทสช. ซึ่งเคยมีคำพิพากษาชั้นต้นจำคุก 1 ปี โดยรอลงอาญา ก่อนจะพิพากษากลับยกฟ้อง จากคดีเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. ชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน พ.ย.56-1 พ.ค.57

อย่าลืมในอดีต “นายกรัฐมนตรี” ที่มาจากตระกูล “ชินวัตร” ล้วนมีจุดจบที่ไม่ดี ยิ่ง “แพทองธาร” มีอายุเพียง 37  ปี ไม่เคยดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารในรัฐบาล หลายคนปรามาสว่า ถ้าหากไม่ได้บารมี “ทักษิณ” ในฐานะที่เป็นบิดา ไม่มีทางที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้แน่ 

ขณะที่ “แพทองธาร” ถือเป็นนายกฯคนที่ 4 ของตระกูล “ชินวัตร” ต่อจาก “ทักษิณ  ชินวัตร, “อาเขย” สมชาย วงษ์สวัสดิ์ และ “อาปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ “ทักษิณ” ยังผลักดัน “สมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) และล่าสุด “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งถือว่า “ทักษิณ” สามารถสร้างประวัติศาสตร์ผลักดันบุคคลให้เข้ามาเป็นผู้นำประเทศ 6 คนแล้ว ซึ่งถือว่า ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน แต่ทุกคนล้วนมีจุดจบไม่ดี ดังนั้นการดูแลและป้องกันไม่ให้ “แพทองธาร” ต้องเผชิญวิบากกรรมในอดีต จึงถือว่ามีความสำคัญมาก

การเลือกรัฐมนตรีเข้ามาร่วมงาน จึงถือเป็นด่านแรกที่มีความสำคัญ ทั้งในเรื่องคุณสมบัติจะสร้างปัญหาให้หรือไม่ มีความรู้ความสามารถจะช่วยนำพาให้รัฐนาวาอยู่รอด ตลอดในช่วง 3 ปีที่เหลืออยู่หรือไม่

…………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img