วันพุธ, กันยายน 18, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“นายกฯอิ๊งค์”เดินหน้าผลักดัน“กาสิโน” เสี่ยงครหาล็อกเป้านายทุนหนุนรัฐบาล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“นายกฯอิ๊งค์”เดินหน้าผลักดัน“กาสิโน” เสี่ยงครหาล็อกเป้านายทุนหนุนรัฐบาล

ถูกวิจารณ์ตั้งแต่วันแรก หลังรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ปรากฏออกมา ทั้ง “รัฐบาลพ่อ-ลูก” “ครม.แฟมิลี่” แต่ที่หนักมากหน่อยหนีไม่พ้น “ครม.สืบสันดาน”

เพราะเต็มไปด้วย “ตัวแทนผู้มากบารมี” บางคนก็ส่ง “ลูก” มาเป็นตัวแทน “พ่อ” หรือบางคนก็ส่ง “พ่อ” มาทำหน้าที่แทน “ลูก” รวมถึงหัวหน้ารัฐบาล ถ้าหากไม่ได้ “บุพการี-ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทย (พท.) ใครก็เชื่อว่า…เธอคงไม่มีโอกาส  เข้ามานั่งทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้าฯ

หรือ “สรวงศ์ เทียนทอง” ลูกชาย “เสนาะ เทียนทอง” อดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น, “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ลูกชาย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รมว.ศึกษาธิการ น้องชาย “เนวิน ชิดชอบ” คีย์แมนพรรคภูมิใจไทย (ภท.), “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.วัฒนธรรม ลูกสาว “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” แกนนำกลุ่มโคราช และอดีต รมช.คมนาคม, “จิราพร สินธุไพร” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ลูกสาว “นิสิต สินธุไพร” อดีตสส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม ลูกบุญธรรม “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), “วราวุธ ศิลปอาชา” ลูกชาย “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกฯ

อีกทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ แต่ก็มี “บรรดานักร้อง” ไปยื่นเรื่องให้ “องค์กรอิสระ” ตรวจสอบ “นายกฯอิ๊งค์” เกิน 10 เรื่องเข้าไปแล้ว จึงไม่แปลกที่ใครต่อใครจะมองว่า การบริหารงานของ “นายกฯอิ๊งค์” ต้องฝ่ากับดักระเบิดตลอดเวลา ยิ่งเขี่ย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในซีก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ซึ่งยังมีบารมีในกองทัพและทางการเมืองอยู่ ไปเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ทำให้ “ศัตรูการเมือง” เพิ่มขึ้นอีก

เรียกว่าทุกย่างก้าวต้องระมัดระวัง เพียงแต่ยังมีโชคดีอยู่บ้าง เมื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แกนนำพรรคฝ่ายค้าน “ชกไม่เต็มที่” เพราะยังหวังความร่วมมือพรรคแกนนำรัฐบาลในการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่ รวมถึงการแก้ไขรธน.รายมาตรา โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรม สส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอำนาจขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับบทลงโทษนักการเมืองและการยุบพรรค

ขณะที่ การแถลงนโนบายรัฐบาล ที่ปรากฏออกมา 10 ข้อเร่งด่วน ก็ถูกมองว่า เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ “ทักษิณ” หลังไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์กับสื่อบางค่าย อย่างเช่น เรื่องที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐ ด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

หรือ เรื่องที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลก มาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ความหมายการนำ “เศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดิน” เข้าสู่ “ระบบภาษี” ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี รวมถึงการการผลักดัน “สถานบันเทิงครบวงจร” (เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) ซึ่งหนีไม่พ้นการอนุญาตให้เปิดกาสิโนถูกกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านั้น มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เพราะเกรงจะว่าเป็น “บ่อเกิดของอาชญากรรม” อีกทั้งประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ อาจทำให้คนมัวเมาและหลงใหลในอบายมุขเพิ่มมากขึ้น

แต่ก่อนหน้านั้น ในสมัย “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เคยพยายามผลักดันเรื่องนี้ โดย “เศรษฐา” กล่าวเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่า ที่ประชุมครม. รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ กาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎรทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง รับศึกษาความเป็นไปได้รายละเอียดของคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือกาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายให้นำมาเสนอต่อครม.ภายใน 30 วัน

สำหรับ คณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาฯมี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ “ รมช. คลัง เป็นประธานการประชุม โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 ได้พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งทางบวกและทางลบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเชิญผู้แทนจากกรมธนารักษ์ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหารือ

ในระหว่างการประชุม มีความเห็นเรื่องพื้นที่สำหรับสร้างสถานบันเทิงครบวงจร จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่รอบข้าง ซึ่งควรมีระยะที่ห่างไกลกับสถานศึกษา และไม่สร้างผลกระทบต่อกิจการทางศาสนาของประชาชนในบริเวณนั้น โดยเล็งเห็นว่า พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา รวมถึงพื้นที่ที่มีการจัดสรรให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ยังไม่ใช้ประโยชน์ อาจเป็นตัวเลือกในการจัดสรรให้เป็นพื้นที่สร้างสถานบันเทิงแบบครบวงจร

ส่วนเรื่องผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นส่วนหนึ่งในกิจการ โดยผู้แทนจากมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลถึงผลการศึกษาผลกระทบดังกล่าว พบว่า ข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลการตลาดของการพนันโลก รวมถึงแนวโน้มและปัจจัยที่มีผลการขยายกิจการธุรกิจกาสิโนในต่างประเทศ เช่น นโยบายปราบปรามการพนันของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีนโยบายห้ามไม่ให้ประชาชนชาวจีนเล่นการพนันนอกพรมแดน ที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของกิจการกาสิโนในภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ของผู้ใช้บริการสถานบันเทิงครบวงจร จะเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการกำหนดกรอบการดำเนินกิจการ โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ควรจะต้องเป็นนักท่องเที่ยว หรือนักพนันจากต่างประเทศ และจะต้องมีสัดส่วนที่มากกว่านักท่องเที่ยว หรือนักพนันภายในประเทศ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนในประเทศอย่างมีนัยสำคัญต่อไปในอนาคต รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและกำกับดูแลสถานบันเทิงครบวงจร ตลอดจนการศึกษาถึงต้นทุนที่รัฐจะต้องแบกรับ หากเกิดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ

ขณะที่เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรว่า กระทรวงการคลังได้ทำประชาพิจารณ์ตัวร่างพ.ร.บ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเข้าใจว่ามีคนที่เห็นชอบน่าจะสูงถึง 80% สิ่งที่เราทำก็เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ก็คือ การจัดทำประชาพิจารณ์ โดยจะนำความคิดเห็นจากประชาพิจารณ์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ส่งความเห็นมา แล้วเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ก็จะนำไปปรับตามนั้น จากนั้นก็มีหน้าที่ ในการส่งเข้าสู่การพิจารณาของครม. โดยทุกพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยกัน ก่อนว่าโอเคหรือไม่ ถ้าพรรคร่วม และ ครม.เห็นชอบตรงกัน ก็ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างเพื่อส่งไปสภาฯ ไม่ได้รีบไม่ได้อะไร ขั้นตอนซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน  ดูว่าจังหวะเวลาไหนที่มีความเหมาะสมที่สุด

ก่อนหน้านั้นมี แถลงการณ์จาก “นักวิชาการจำนวน 99 รายชื่อ” ร่วมคัดค้าน “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” โดยระบุว่า “ตามที่สภาฯได้มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาของคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการ เปิดสถานบันเทิงครบวงจรนั้น ขอแสดงความห่วงใยและเสนอแนะความเห็นต่อนายกฯและครม. ต่อเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ การพนันไม่ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดผลผลิตเพราะเป็นเพียงการยักย้ายถ่ายโอนเงินจากกระเป๋าของผู้แพ้พนัน ไปสู่กระเป๋าของผู้ชนะพนัน ซึ่งในกรณีของกาสิโนนี้ผู้ชนะคือเจ้าของสถานกาสิโน การส่งเสริมให้มีกาสิโนจึงเท่ากับเป็นการสนับสนุน ให้กลุ่มทุนดูดซับเงินจากภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนชั้นกลาง ผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย และชนชั้นล่างของสังคม

คณะกมธ.ฯ จะเสนอให้เริ่มต้นที่ไซส์ XL ก่อน แต่รายงานของคณะกมธ.ฯ ก็เปิดช่องให้สามารถมีแหล่งพนันที่มีขนาดเล็กรองลงมา ที่น่าจะเข้ามาเปิดใกล้ชุมชนมากขึ้น และลดกฎเกณฑ์ความเข้มงวดให้คนไทยได้เข้าเล่นง่ายขึ้น ถึงวันนั้นกาสิโนจะเป็นสิ่ง ถ่างขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้น และซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลพร่ำบอกมาตลอดว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

แม้รัฐบาลอาจมองเห็นว่า การมีกาสิโน รวมถึงสถานบันเทิงครบวงจรอื่นๆ จะก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้และการหมุนเวียนของเงินตราในระบบเศรษฐกิจ แต่หากนับเฉพาะส่วนของกาสิโนที่คณะกมธ.ฯกล่าวว่ามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของกิจการทั้งหมด กิจการกาสิโนจึงอาจก่อให้เกิดผลดีต่างๆ ที่กล่าวมาได้ไม่มาก แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่รุนแรงมากกว่า การได้ไม่คุ้มเสียจึงเป็นข้อห่วงใยที่สำคัญ และกิจการอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสถานบันเทิงครบวงจร อาจจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่รัฐบาลพึงคาดหวังมากกว่า โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีกาสิโนก็ได้”

โดยนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน นำโดย “ร.ศ.แล ดิลกวิทยรัตน์” อดีตคณะเศรษฐาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็น สมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ขณะที่ความเห็นของ “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งถือเป็นมืออภิปรายคนสำคัญของแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ระบุว่า ทราบว่ารัฐบาลคิดว่า เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จะเป็นเรื่องสำคัญในการผลักดัน แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะทำได้ทันที จะต้องดูว่า มันจะมีผลกระทบอย่างอื่นอะไรบ้าง ถ้ายังไม่มีสิ่งที่ตนกังวล ก็คือมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะเราอาจจะเจอเรื่องของการฟอกเงิน ยาเสพติด การพนันออนไลน์ ที่จะเป็นปัญหาต่อไป นอกจากนั้นสิ่งที่ตนกังวล คือความโปร่งใส คำถามคือโปรเจกต์นี้ ความโปร่งใสจะมีมาก-น้อยเพียงไร เพราะว่าเวลาคุณบอกว่า คุณจะทำที่ต่างๆ พูดตรงๆ ก็คือ มันมีข่าวลือเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่า ได้มีการกำหนดกันไปแล้วว่า ใครได้ใบอนุญาตบ้าง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิด “ล็อก” กันไว้แล้วว่า อาจจะมี “ทุนใหญ่” ไหนบ้าง ซึ่งอาจทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ทำให้ประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับไม่เกิดขึ้นจริง

ต้องรอดูว่า ความพยายามผลักดันเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จะผ่านความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ รวมทั้งฝ่ากระแสคัดค้านจากคนในสังคมบางส่วน เงื่อนไขในการเข้าไปเล่นกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย จะวางกฎกติกาไว้เข้มข้นมากแค่ไหน เพื่อป้องกันไม่ให้คนมีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลาง เข้าไปอยู่ในวงจรดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม รวมทั้งการตั้งคำถามของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถึงนโยบายดังกล่าว จะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาล

อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกต มีการ “ล็อกใบอนุญาต” ไว้ให้กับ “นายทุนบางกลุ่ม” ซึ่งมีบทบาทในการ “สนับสนุนรัฐบาล” ให้ได้ “สัมปทานเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ถ้าหากเป็นจริง ยิ่งจะกลายเป็น “ปมร้อน” ทำให้เกิดผลกระทบกับรัฐบาล เพราะเวลา “พรรคเพื่อไทย” เข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล มักมีข้อครหาเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” กลายเป็นปัญหา อาจทำให้ “นายกฯอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” อาจต้องเหนื่อยมากขึ้น หากถูกตั้งคำถาม หรือนำไปซักฟอกในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

……………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img