ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หลังติดสินใจยึดอำนาจทุกหน่วยงาน ขอเป็น “แม่ทัพหน้า” ต่อสู้กับเชื้อไวรัสร้าย “โควิด-19” กับปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นมาฉีดวัคซินป้องกันเชื้อไวรัสร้าย กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ นำไปสู่ เป้าหมาย 100 ล้านโดส กับจำนวนประชากร 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ต้องยอมรับว่า การระบาดของเชื้อไวรัสร้ายในรอบสาม ทำให้รัฐบาล เกิดสภาพติดลบ ยิ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเกินพัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19อยู่ในระดับเลขสองหลักต่อเนื่องติดต่อหลายวัน อีกทั้งยัง เจอกระบวนด้อยค่า ออกมาโจมตีสองวัคซินหลักที่นำมาใช้ในประเทศ ทำนองว่ามีปัญหาเรื่องคุณภาพ และก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียง “ซิโนแวค” และ “แอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งในส่วนวัคซินประเภทที่สอง บริษัทของคนไทยมีส่วนในการผลิตด้วยซ้ำ
“พล.อ.ประยุทธ์” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ วัคซีน “วาระแห่งชาติ” ของไทยตอนหนึ่งระบุว่า ขอย้ำว่า รัฐสามารถจัดหาวัคซีน ให้กับ ประชากรในประเทศ ได้ทุกคนอย่างแน่นอน และจะไม่หยุดการจัดหาและสำรอง ใช้เพื่อความปลอดภัย ของคนไทยทุกคน จากเป้าหมายเดิมของเราที่วางไว้ว่าจะต้องหาให้ได้ 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ ผมได้สั่งการให้ขยายเป้าหมายเพิ่มเติมออกไปอีกเป็น อย่างน้อย 150 ล้านโดส ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าจะจัดหาได้ครบถ้วนอย่างแน่นอน
ประเทศไทยจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่เป็นศูนย์กลาง ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้มาตรฐานสูง ผ่านการรับรองคุณภาพจากทั่วโลก โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะส่งมอบวัคซีนให้เราได้อย่างน้อย 61 ล้านโดส ซึ่งจะสร้างความมั่นคงยั่งยืนในการต่อสู้กับ ไวรัสโควิด-19 นี้ในระยะยาว และสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันให้กับประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย…
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึงความคืบหน้าของ การผลิตวัคซีน ของแอสตร้าเซนเนก้าในไทยจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อตัวอย่างวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์ ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งใน ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เรียบร้อยแล้ว
แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเราที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดแรกให้แก่รัฐบาลไทยเร็วๆ นี้
“วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าผ่านการ ตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัยทั้งในกระบวนการผลิตและการจัดส่ง โดยมีการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตรวมกันมากกว่า 60 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนถึงการฉีดวัคซีน และมีการ ประกันคุณภาพอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน”
นายทีก ยังยืนยันว่า แอสตร้าเซนเนก้ายังทำงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของวัคซีนให้ตรงตามมาตรฐานและข้อกำหนดของไทย โดยเป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้าคือการส่งมอบวัคซีนที่มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยให้กับรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุด
นั่นหมายความว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการการันตีเรื่องคุณภาพจากนานาชาติ ทั้งยุโรป และอเมริกา หลังก่อนหน้านั้น มีคนไทยบางกลุ่มพยายาม ปลุกกระแสต่อต้านวัคซีน ซึ่งบริษัทคนไทยมีส่วนรวมในการผลิต หวังต้องการดิสเครดิต “สยามไบโอไซเอนซ์” เพราะมีเป้าหมายแฝงเร้นบางประการ
ก่อนหน้านั้น อย. ได้ขึ้นทะเบียน ขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว 3 ราย ได้แก่ 1.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 2.วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม และ 3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด
ส่วนที่อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย คือ วัคซีนโมเดิร์นนา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และยังมีอีก 2 ราย อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิก ไฟท์ โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
โดยซิโนแวคมีแผนการนำเข้าตั้งแต่ก.พ.ถึงสิ้นเดือนพ.ค. รวมทั้งหมด 6 ล้านโดส ส่วนแอสตร้าเซเนก้าที่จะส่งมอบในเดือนมิถุนายน ประมาณ 5 ล้านโดส ขณะที่ไฟเซอร์กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสันน่าจะนำเข้าได้เดือนธันวาคม ด้านสปุตนิก วี ถ้าขึ้นทะเบียนสำเร็จภายใน 1 เดือนจะสามารถนำเข้าได้ราว 1 ล้านโดส
อย่างไหร่ก็ตาม จากการเปิดลงทะเบียนยืนยันและนัดหมายการฉีดวัคซีนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน 2 กลุ่ม “ผู้สูงอายุ”และ “ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง” ผ่านระบบ “หมอพร้อม” และช่องทางต่างๆ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.6 ล้านคน สูงสุดคือกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 5 แสนคน ตามมาด้วย ลำปาง ซึ่งมียอดมากกว่า 2 แสนคน ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมาย ออกมาฉีดวัคซิน เนื่องจากเป้าหมายวางไว้ 15 ล้านโดส
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 พ.ค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูลสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกแล้ว 1,259 ล้านโดส ใน 195 ประเทศ/เขตปกครอง โดยขณะนี้อัตราการฉีดล่าสุดรวมกันทั่วโลกที่ 19.4 ล้านโดสต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณารายประเทศพบว่าอิสราเอลได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมเกินครึ่งของประชากรแล้ว ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีจำนวนการฉีดวัคซีนสูงที่สุดที่ 257 ล้านโดส โดยมีชาวอเมริกันกว่า 113 ล้านคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว
ด้านอาเซียนขณะนี้ทุกประเทศได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว มียอดรวมกันที่ ประมาณ 33.4 ล้านโดส โดยสิงคโปร์ฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค (19.5% ของประชากร) ในขณะที่อินโดนีเซียฉีดวัคซีนในจำนวนมากที่สุดที่ 21.97 ล้านโดส สำหรับประเทศไทยข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ค.64 ได้ฉีดวัคซีนแล้ว กว่า 1,743,720 โดส โดยฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขมากที่สุดในสัดส่วนกว่า 49.5% ซึ่งถือว่ายังเป็นจำนวนที่ต่ำอยู่
จากนี้ไปไปต้องรอดูว่า การโหมระดมของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หลังเจอกระแสโจมตี ในในทำนองว่า คนไทยไม่มีทางเลือก ไม่อยากฉีดวัคซินที่มีคุณภาพต่ำ เพราะนอกจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในกระบวนการ จัดหาวัคซีน ยังต้องเผชิญกับกระแสกดดันการเมืองทั้งในและนอกสภา ที่อยากเห็นความล้มเหลวของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่ วาระสุดท้าย หวังเป็นจุดเริ่มของความเปลี่ยนแปลง
………………………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย “แมวสีขาว”