วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘พรรคร่วมฯ’ต้านแก้ไขรธน.ปมจริยธรรม ‘เพื่อไทย’จำยอมถอย-หวั่น‘รัฐบาล’ร้าว!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พรรคร่วมฯ’ต้านแก้ไขรธน.ปมจริยธรรม ‘เพื่อไทย’จำยอมถอย-หวั่น‘รัฐบาล’ร้าว!

กลายเป็นปมร้อน ที่ทำให้รัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ต้องเผชิญแรงกดดัน แบบที่ “พรรคเพื่อไทย” (พท.) สร้างขึ้นมาเอง ทั้งที่เพิ่งบริหารประเทศมายังไม่ครบ 1 เดือน แม้แกนนำรัฐบาลจะเล่นบทแยกกันเดิน “นายกรัฐมนตรี” เล่นบทบริหารราชการบ้านเมือง ส่วน “มือกฎหมาย-ฝ่ายการเมือง” ก็เร่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ซึ่งเชื่อว่า เป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน 

แต่ลืมไปว่า ทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์ เมื่อเลือกจับในเรื่อง “ผลประโยชน์นักการเมือง” กระแสโจมตีก็ถาโถมใส่ทั้ง พรรคเพื่อไทยและฝ่ายบริหาร มีคำถามตามมา “รัฐบาลแยกแยะได้หรือไม่”-“อะไรคือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำ”-“อะไรที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน”

ยิ่งถ้าไล่เข้าไปดูเนื้อหาในการแก้ไขกฎหมายแม่บท ในการใช้ปกครองประเทศ เป็นประโยชน์แก่นักการเมืองล้วนๆ แม้จะได้ “พรรคประชาชน” (ปชน.) มาเป็นแนวร่วม แต่ในฐานะเป็น “ฝ่ายคุมอำนาจรัฐ” มีเสียงข้างมากอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร “กระแสด้านลบ” จึงถาโถมเข้าใส่ “ฝ่ายบริหาร” เต็มๆ

วันมูหะหมัด นอร์ มะทา

สำหรับรายละเอียดถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา ที่ “พรรคเพื่อไทย” ส่งไปถึง “วันมูหะหมัด นอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา แบ่งเป็น 6 ประเด็น ประกอบด้วย…

1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

2.แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246      

4.แก้ไข มาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5.แก้ไข มาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

6.แก้ไข มาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ และ แก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก

ทั้งหมดถือเป็น ประเด็นละเอียดอ่อน หลายฝ่ายมองว่า เป็นประโยชน์กับนักการเมือง ทั้งเรื่อง คุณสมบัติรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรอบจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้ง การลดอำนาจองค์กรอิสระ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ เลยยิ่งทำให้คนที่ไม่เห็นด้วย ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ

ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยอาจมองว่า การแก้ไขดังกล่าว อาจไม่มีคนไปร้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง เป็นช่องทางทำให้คนที่ไม่เห็นด้วย นำเรื่องไปยื่นให้องค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ จนกลายเป็นความเสี่ยงของรัฐบาล แม้จะมองว่า เป็นการทำ “นิติสงคราม” แต่ถ้าไม่เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามตรวจสอบได้ ก็คงไม่มีใครไปยื่นร้องได้

ดังนั้นเมื่อ “เดินหน้าลุยไฟ” เลยกลายเป็น “โจทย์ใหญ่” เป็น “ชนักติดหลัง” นอกจากจะต้องเร่งสร้างผลงานให้ประชาชนพอใจ พรรคเพื่อไทยยังมี “เดิมพันสูง” ต้องนำพา “แพทองธาร” กลับมาเป็น “นายกฯรอบสอง” ให้ได้ ในการเลือกตั้งปี 70 แต่กลายเป็นว่า ทำให้เกิดประเด็นการเมืองมา “กลบ” การแก้ไขปัญหาประเทศในด้านต่างๆ ของรัฐบาลเอง

อีกทั้ง “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ยังไม่ถูกบรรจุในวาระ บรรดา “นักร้อง” ก็เริ่มทำงานไล่ตั้งแต่ “สนธิญา สวัสดี” อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาฯ เข้ายื่นหนังสือถึง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ “ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน หรือพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากมองว่า เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ แต่หากมีการดำเนินการดังกล่าวในกลไกของรัฐสภา ก็เตรียมพิจารณายื่นเรื่องร้องเรียนประเด็น “จริยธรรม” ต่อ ป.ป.ช. หรือในทุกหน่วยงานที่ทำได้ ดังนั้นขอให้สภาฯแก้ปัญหาให้ประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญไปว่ากันภายหลัง อีกทั้งมองว่า “คนดี-คนชั่ว” ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ “ตัวบุคคล” ว่าจะทำงานให้ประชาชนได้มากน้อยหรือไม่

อีกด้านที่สำนักงาน ป.ป.ช. “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยกรณี สส. หรือพรรคการเมือง ได้ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ฯลฯ เป็นการขัดกันแห่งผลกระโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 หรือไม่ ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่ง การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทําการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง (หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ) เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

ด้วยเหตุดังกล่าว “องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน” จึงต้องนำความไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ซึ่งหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเข้าข่าย ก็อาจต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการเอาผิดนักการเมืองต่างๆ ที่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อไป ซึ่งเราเคยเห็นผลงานของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาหลายกรณีแล้ว และเนื่องจากพรรคการเมือง/นักการเมืองกำลังจะเข้ามาก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยตรงอีกด้วย จึงจำเป็นจะต้องสั่งสอนนักการเมือง ให้จำเป็นบทเรียนเสียบ้าง

ทั้งนี้เชื่อกันว่า เมื่อถึงเวลาที่จะมีการพิจารณาในสภาฯ หรือมีการลงมติในการแก้ไข ให้ความเห็นชอบเมื่อไหร่ ต้องมีบรรดา “คนไม่เห็นด้วย” ไปยื่นร้องให้ตรวจสอบอีกแน่ๆ เพราะถือว่า “ความผิดสำเร็จแล้ว”

นอกจากนี้ บางฝ่ายยังมองว่า การแก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ถูกมองว่า เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ “ผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทย” ซึ่งเคยถูกพิพากษาว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ สามารถกลับมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ จะได้ตัดปัญหาเรื่อง “ครอบงำพรรค” เพราะถือว่าเป็นคนในพรรค ทำให้ “ทักษิณ” กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกรอบ

เศรษฐา ทวีสิน-พิชิต ชื่นบาน

โดยก่อนหน้านี้ ก็มีเสียงวิจารณ์กันว่า การที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ เพราะมีคุณสมบัติเรื่องจริยธรรม แต่ได้รับคำขอร้องจาก “ผู้มากบารมี” จึงนำมาสู่การแก้ไขอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าต่อไปจะวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพราะมติศาลรัฐธรรมนูญในครั้งที่ทำให้ “เศรษฐา” พ้นไปด้วยมติ 5:4 

จึงเห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่รอบ “พรรคเพื่อไทน” และ “ผู้มากบารมีที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล”

ส่วนท่าที “พรรคร่วมรัฐบาล” ทั้ง “ภูมิใจไทย” (ภท.)-“รวมไทยสร้างชาติ” (รทสช.)-“ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ต่างไม่เห็นด้วยในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับ “จริยธรรมและความซื่อสัตย์”

โดยเฉพาะ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะ “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ให้ความเห็นว่า “คิดว่า “คนการเมืองคือคนสาธารณะ” ถ้าไม่อยากให้ถูกตรวจสอบ ก็เล่นการเมืองไม่ได้ เพราะหากเข้ามาแล้วแม้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง ก็ต้องมีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน นั่นคือปลดแรกของการตรวจสอบ ฉะนั้นคิดว่า คนที่มาทำงานสาธารณะ รับใช้บ้านเมืองและต้องใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบ หากเราไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ต้องกลัวการโดนตรวจสอบ นักร้องก็มีอยู่ทั่วไปก็สามารถที่จะร้องเรียนได้ในสิ่งที่เราทำผิด แต่หากร้องเรียนในเรื่องที่เราไม่ได้ทำผิด ต่อให้พิสูจน์อย่างไร ก็ไม่ผิด ตนคิดว่าทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเอง”

เมื่อถามต่อว่า หากเรื่องนี้นำเข้าที่ประชุมรัฐสภา พรรคภูมิใจไทยจะดำเนินการอย่างไร “อนุทิน” ตอบว่า นายภราดร  ปริศนานันทกุล ได้แถลงในนามพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว ก่อนจะขึ้นรับตำแหน่งรองประธานสภาฯ และยังไม่ทันไร ก็มีคนพร้อมที่จะร้องเรียนตีความว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลังจากคุยกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มั่นใจว่าไม่ซีเรียสเรื่องเหล่านี้ นายกฯบอกว่า “เราทำดีซะอย่าง จะกลัวอะไร” ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบ ขณะนี้เข้ามาทำงานยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่กลับมีเรื่องปัญหาต่างๆ เยอะแยะมากมายที่รัฐบาลจะต้องทำ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน อะไรก็ตามที่ทำแล้วเกิดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง พรรคการเมืองหรือพวกพ้องของตัวเอง ถือว่าผิดตั้งแต่นับ 1 แล้ว

ล่าสุด “กรวีร์ ปริศนานันทกุล” สส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมการบริหารพรรค​ แถลงภายหลังการประชุม สส. ประจำสัปดาห์​ว่า​ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ โดยต้องเดินหน้าสู่การทำประชามติ ซึ่งขณะนี้กฎหมายประชามติผ่านชั้น สส.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สว.​ คาดว่าอีกไม่นานจะบังคับใช้​

“รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ​ที่ต้องได้รับการยอมรับจากคนในสังคม และเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเป็นวิธีการที่ทำให้สังคมเกิดการยอมรับในกติกาการอยู่ร่วมกัน” กรวีร์ กล่าวและว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ​ควรแก้ไขทั้งฉบับ โดยทางที่ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเป็นคนกลางจากทุกภาคส่วนในรูปแบบของ “สสร.” ที่เคยทำกันมา ยืนยันมาตลอดว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเดินหน้าไปสู่การแก้ไขมาตรา 256 และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ที่ไม่ควรจะแตะต้อง

ไชยชนก ชิดชอบ

ขณะที่ “ไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ ​และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย​ ระบุว่า​ “ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคเพื่อไทยเพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรฐานจริยธรรมแต่อย่างใด แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เรามองว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น และเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมืองและพรรคการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลก เมื่อ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหม ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ทื่นัดหมาย “พรรคร่วมรัฐบาล” เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 1 ต.ค. จะเริ่มเปลี่ยนท่าที่ในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตอบคำถามกรณีพรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมว่า “เราพยายามจะนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้คุยกันเร็วที่สุด ถ้าเห็นด้วยเหมือนกัน ก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ยังไม่ต้องไป ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวจุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค ที่แสดงความไม่สบายใจ เราจึงเริ่มต้นคุยเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร”

“ภูมิธรรม” บอกด้วยว่า “ถ้าถามว่ามีประเด็นปัญหาหรือไม่ และเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นเหมือนกัน เลยพยายามคุยเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไร จะเดินอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ซึ่งต้องรอการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฯโดยเร็วที่สุด และก่อนมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ มีการพูดคุยกัน เริ่มต้นจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำ จึงหยิบมาพิจารณา แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอพรรคร่วมฯคุยกันอย่างชัดเจน”

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหน เป็นคนอยากให้แก้ “ภูมิธรรม” ตอบว่า “ที่คุยกันฟังดูเกือบทุกพรรค แต่ถ้าคุยทางการ ต้องคุยหลายพรรค”

จับสัญญาณจาก “ภูมิธรรม” ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ดูเหมือน “เพื่อไทย” จำยอมจะ “ถอย” เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น “จริยธรรม-ความซื่อสัตย์” หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย คงไม่อยากเดินทางร่วมไปกับ “พรรคประชาชน” เพราะจะกระทบกับเอกภาพในการร่วมรัฐบาล

แต่ที่สำคัญคือ สะท้อนให้เห็นว่าเป็น “ความผิดพลาด” ในการ “จัดลำดับความสำคัญในการทำงาน” เรียกว่า “ก้าวแรก” ในการทำงานของพรรคเพื่อไทย เมื่อเข้ามา “คุมอำนาจรัฐ” ก็ “สร้างปัญหา” ให้เกิดขึ้น กลายเป็น “บทเรียนราคาแพง”

จากนี้ไปคงไม่กล้าผลีผลามทำอะไร ให้กลายเป็น “จุดเสี่ยง” จนกระทบกับรัฐบาลที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นผู้นำแน่ๆ

………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img