วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเกมแก้รัฐธรรมนูญทำรัฐบาลเกิดรอยร้าว “ภูมิใจไทย-สว.สายสีน้ำเงิน”ค้านสุดลิ่ม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เกมแก้รัฐธรรมนูญทำรัฐบาลเกิดรอยร้าว “ภูมิใจไทย-สว.สายสีน้ำเงิน”ค้านสุดลิ่ม

จับสัญญาณจาก แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) คงออกอาการ “เป็นห่วง” กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) อาจทำให้เกิดร้อยร้าวขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาล หลังการผลักดันการแก้ไขรายรายมาตรา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดจริยธรรม ที่นำโดยเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ต้องถูกตีตกไป หลังบรรดาเพื่อนร่วมงานไม่มีใครเอาด้วย จนต้องพับแผนไป

อีกทั้งก่อนหน้านั้น พรรคแกนนำรัฐบาล ดอดไปหารือกับพรรคประชาชน (ปชน.) ถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ด้วยกันทั้งสองพรรค หลังพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต้องถูกยุบไป เพราะมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112    

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เกิดปัญหา อันเนื่องมาจากกรณี “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากสาเหตุการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ  เพราะมีปัญหาเรื่อง จริยธรรมและความซื่อสัตย์ แม้หลายคนจะเชื่อว่า  การแต่งตั้งครั้งนี้มาจากการผลักดันจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็ตาม

นอกจากนี้ความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรายมาตราและทั้งฉบับ จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ตรวจสอบฝ่ายบริหารไม่เต็มที่ เพราะพรรคประชาชน ซึ่งมีสส. อยู่ 140 กว่าเสียง ก็หวังพึ่งเสียงสส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสส.อยู่ 140 กว่าเสียงเช่นเดียวกัน

นั่นหมายความว่า ถ้าหากสองพรรคเห็นตรงกัน การผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรายมาตราและทั้งฉบับ สามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะมีเสียงเกินครึ่ง แต่ก็ต้องไปลุ้นต่อไปว่า จะฝ่าด่านของ “วุฒิสภา” ที่ถูกยึดครองด้วย “สว.สีน้ำเงิน” ที่มีความใกล้ชิดกับ “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 160 คนด้วยหรือไม่

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

เพราะดูได้จากการแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้คงไว้ซึ่งเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น จนต้องไปตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม สส.-สว. และยังไม่รู้บทสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 1 มาตรา คือ มาตรา 7 (แก้ไขมาตรา 13) สาระสำคัญสั้นๆ ว่า หลักเกณฑ์ประชามติที่ใช้สำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) กล่าวคือ การทำประชามติต้องผ่านเกณฑ์ถึง 2 ชั้น ได้แก่ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และคะแนนเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ทำให้ต้องส่งร่างกฎหมายคืนมาที่สภาฯ จะมีความเห็นด้วยกับมติของวุฒิสภาหรือไม่

ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาฯมีมติไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไขด้วยเสียง 348 เสียง ต่อ 0 งดออกเสียง 65 เสียง โดยจำนวนงดออกเสียง 65 เสียง เป็นเสียงของสส.พรรคภูมิใจไทย จากทั้งหมดที่มีสส. 71 คน คือให้ยึดถือเสียงข้างมาก ของผู้มีสิทธิ์มาออกเสียง

แต่ในระหว่างการอภิปรายในวาระดังกล่าว “มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช” สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นนั้น คล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอต่อสภาฯ สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่า จำเป็นต้องสะท้อนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นหลักประกันที่การทำประชามติในเรื่องกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีข้อกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 10%

“เกณฑ์ผ่านประชามติจะใช้เกณฑ์เดียว สามารถทำได้ และไม่ต้องทำเกณฑ์เดียวก็ได้ ไม่ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกติกาปกครองประเทศ ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้ ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ พบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50% ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้ จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาฯเห็นด้วยกับสว. จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้า กินเวลาไปหลายเดือน เพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก” สส.มัลลิกา กล่าว

ตอกย้ำให้เห็นท่าทีและจุดยืนของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีเสียงเป็นลำดับ 2 มีความเห็นสอดคล้องกับเสียงส่วนใหญ่ของสว.

ยิ่งถ้าไปเช็คเสียงในกมธ.ร่วมพิจารณาพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ซึ่งมีทั้งหมด 28 คน ในส่วนของสส.มี 14 คน แบ่งเป็น พรรคประชาชน 4 คน, พรรคเพื่อไทย 4 คน, พรรคภูมิใจไทย 2 คน, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 1 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 1 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) 1 คน ส่วนสว.อีก 14 คน

ถ้านับเสียงฝั่งเพื่อไทยและพรรคการเมือง ที่สนับสนุนประชามติชั้นเดียวมี 12 เสียง ขณะที่พรรคภูมิใจไทยและสว. ซึ่งสนับสนุนประชามติ 2 ชั้นมี 16 เสียง จึงมีเสียงที่มากกว่า และอีกทางพรรคพลังประชารัฐ อาจออกเสียงประชามติ 2 ชั้นด้วยก็ได้

ด้าน “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้ความเห็นถึงเหตุผล ที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงลงมติ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า การรับฟังความคิดเห็นจากวุฒิสภา และทุกภาคส่วน เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และการปรับปรุงกระบวนการทำประชามติให้สมบูรณ์ก่อน ถือเป็นการเดินหน้า ที่รอบคอบ ดังนั้นการลงประชามติถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของประเทศ ไม่ควรเร่งรัดกระบวนการ เพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว

“เมื่อการลงมติของฝ่าย สส.กับ สว.มีความเห็นต่างกัน การงดออกเสียงของภูมิใจไทย จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า ควรมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและให้รอบคอบที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการทำประชามติในอนาคต จะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถไว้วางใจได้” อนุทิน กล่าว

ก่อนหน้านี้เวลานักข่าวสอบถาม “อนุทิน” เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มักจะตอบว่า “ไม่ใช้เรื่องเร่งด่วน เพราะมีเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหาให้กับประเทศอีกมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ภายหลังเกิดมหาอุทกภัย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ” แม้กระทั่งการหารือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็หลีกเลี่ยงมาตลอด

จนบางฝ่ายตีความว่า หรือพรรคภูมิใจไทยได้รับสัญญาณบางอย่าง เลยไม่ต้องการรื้อรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ถูกให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

ขณะที่ท่าทีพรรคเพื่อไทย “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธานสส.พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของคณะกมธ.ร่วมสภาฯกับวุฒิสภาจะแล้วเสร็จทันสามารถใช้ไปพร้อมกับ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศต้นปี 2568 หรือไม่ว่า “คงต้องให้คณะกมธ.ร่วมสองสภาฯคุยกันก่อน เพราะการทำประชามติถือเป็นกุญแจสำคัญ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น จะไปฟันธงอะไรตอนนี้ คงไม่ได้ แต่หากการทำประชามติไม่ทันกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จะต้องเสียงบประมาณในการทำประชามติอย่างเดียว 2-3 พันล้านบาทต่อรอบ ตนเสียดายงบประมาณตรงนี้ เพราะสามารถนำไปทำอะไรได้มาก หากเร่งทำให้ทัน จะสามารถประหยัดงบประมาณตรงนี้ไปได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นึกถึงงบประมาณตรงนี้และผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ในส่วนของสภาฯร เราลงมติ 300 กว่าเสียงยืนยันให้ทำประชามติชั้นเดียว จนนำไปสู่การตั้งคณะกมธ.ร่วม คงต้องรอให้พูดคุยให้ชัดว่าจะทำกันอย่างไร”

มานิตย์ สังข์พุ่ม”

เช่นเดียวกับ “ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะนักการเมืองอาวุโส ที่ถือเป็นคนทำเกมในสภาฯของพรรคแกนนำรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) จะนัดประชุมในวันที่ 16 ต.ค.67 เพื่อเคาะชื่อคนที่จะมานั่งกมธ.ร่วมกันระหว่างสส.และสว. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มองว่าล่าช้าหรือจะทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาหรือไม่ ว่า “เรายังไม่รู้ว่าวันนี้ทาง สว.จะมีท่าทีถอยหรือไม่ ซึ่งหาก สว.มีท่าทีถอยเพื่อทบทวนก็จะไว แต่หาก สว.ยืนยันเช่นนั้นก็จะต้องขยายไปอีก 180 วัน แน่นอนว่าแก้ไขไม่ทันรัฐบาลนี้ แต่คิดว่าเขาน่าจะเข้าใจอะไรขึ้นว่าต้องเห็นแก่บ้านเมือง ต้องเดินไปอย่างไร”

เมื่อถามต่อว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอหรือทางออกระหว่าง 2 สภาฯ อย่างไร “ครูมานิตย์” กล่าวว่า ไม่มีทางออกอะไรเลย เรื่องนี้มันตัน หากวุฒิสภาต้องการทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องทบทวนมติ คือการเอาเสียงข้างมากของคนที่มาใช้สิทธิ์ แต่หาก สว.ยังยืนกรานที่จะเอาเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตรงนี้ก็จะเหนื่อย และไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอแนะอะไรได้เลย เพราะอยู่ที่ สว.เขาคิดอย่างไรเท่านั้นเอง

เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้คิดว่ามีปัจจัยอะไร ที่จะทำให้การทำประชามติเกิดความล่าช้า นอกจากสว.อีกหรือไม่ “ครูมานิตย์” กล่าวว่า ไม่มีแล้ว อยู่ที่ สว. หาก สว.ให้ผ่านทุกอย่างก็จบ ทุกคนก็รู้และปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ใครคุมอำนาจของ สว.อยู่

จับท่าทีพรรคแกนนำรัฐบาลเริ่มรับรู้ว่า อุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะอยู่ที่สว. และพรรคการเมืองที่มีบทบาทชี้นำวุฒิสภาฯ ซึ่งหนีไม่พ้น “พรรคภูมิใขไทย” ซึ่งต้องรอดูปัญหาที่เกิดขึ้น จะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่

เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย หากไม่สามารถดำเนินการได้ ย่อมกระทบกับความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทย หลายคนคงต้องรอดู งานนี้จะมีกระบวนการ “เอาคืนเพื่อนร่วมงาน” เพราะเท่ากับว่า พรรคแกนนำรัฐบาลถูกเพื่อนร่วมงาน “ขี่คอ” หรืออาจมีทางเลือกอื่น หันไปจับมือกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่าง “พรรคประชาชน” เพราะถือว่า มีเป้าหมายร่วมกัน

แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยอาจไม่กล้า เพราะเกรงจะมีปัญหากับ “กลุ่มชนชั้นนำ” และ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าว “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย ได้เข้าพบ “ทักษิณ” ซึ่งในช่วงแรกหลายคนคาดหมายว่าอาจมีการพูดคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อดูท่าทีพรรคภูมิใจไทยและสว.ส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่า น่าจะไม่มีการพุดคุยในเรื่องนี้ หรือ “ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาล” อาจจะขอ แต่ “ครูใหญ่ของภูมิใจไทย” ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพียงครั้งเดียว โดยยึดเสียงข้างมาก เพราะมองว่าไม่ชอบธรรม

แพทองธาร ชินวัตร

ต้องรอดูว่าวันที่ 21 ต.ค. ซึ่ง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ จะมีการนัดหมายหารือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปพูดคุยถึงแนวทางการทำงานของฝ่ายบริหาร  ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นหัวข้อหนึ่งที่นำไปพุดคุย เพื่ออยากรู้ทิศทางเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลอาจออกปากให้พรรคร่วมรัฐบาล ให้ความร่วมมือในการแก้ไขกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ 

นอกจากจากนี้พรรคเพื่อไทยยังผลักดันการตั้งคณะกรรมการ​ขึ้น ​เพื่อประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภา​ผู้แทน​ราษฎร​ ​และพรรคร่วมรัฐบาล ​เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน​ โดยมี “สุทิน คลังแสง” สส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน​ ซึ่งแนวทางในการทำงานคือ ก่อนนำเรื่องอะไรเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย หลังเกิดปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลคัดค้าน การนำการนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิธิการ (กมธ.) วิสามัญ​พิจารณา​ศึกษา ​แนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ เข้าสู่การพิจารณา​ของที่ประชุมสภาฯ เพราะยัง​มีความเห็นต่างกันอยู่ เกี่ยวกับเรื่องการล้างผิดในการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงยังไม่อยากให้เกิดการโต้เถียงในระหว่างการประชุมสภาฯ

ต้องลุ้นว่า ในที่สุดพรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ทันบังคับใช้ในปี 2570 เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเฉพาะการโน้มน้าวให้พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน โดยการทำความเข้าใจกับวุฒิสภาฯ หรือในที่สุด เรื่องนี้จะกลายเป็นปมปัญหา ทำให้เกิดความขัดแย้งในฝ่ายบริหาร จนทำให้แยกย้ายทางใครทางมัน

…………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…..“แมวสีขาว”                                            

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img