ต้องยอมรับ นับตั้งแต่ “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” เข้ามารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กลุ่มการเมืองที่ใช้ “สัญลักษณ์สีส้ม” ก็อยู่ในภาวะขาลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่วางเป้าหมายไว้ในการเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนต้องคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ให้ได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง (250 เสียง) หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้จำนวนส.ส.มากที่สุด 151 ที่นั่ง ก่อนที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) สั่งยุบพรรค ด้วยเหตุมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับปกป้องและคุ้มครองสถาบัน เข้าข่ายเซาะกร่อนและบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยังส่งผลทำให้พรรคประชาชน ที่รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ต้องเผชิญวิบากกรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่เป็นตัวตึงอย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “ชัยธวัช ตุลาธน” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ยังต้องตามลุ้น 44 ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เข้าชื่อขอเสนอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอยู่ในระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังไต่สวน จะกระทำผิดจริยธรรมหรือไม่
ซึ่งอาจทำให้บรรดาส.ส.เหล่านี้ หมดโอกาสในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตลอดชีวิต เช่นเดียวกับ “ช่อ-พรรณณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต อันเนื่องมาจากเกี่ยวข้องกับการสื่อสารที่ไปกระทบกับ “สถาบัน”
สัญญาณแรกที่มีในทางลบกับ “เท้ง-ณัฐพงษ์” หลังจากเข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพใหม่ๆ คือ ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี และ การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 1 จ.พิษณุโลก ซึ่งทางพรรคประชาชน ตั้งความหวังไว้มาก เพราะเป็นการเลือกตั้งภายหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ
ซึ่งบรรดา “แกนนำพรรคสีส้ม” ถึงขั้นออกมาให้ความเห็นว่า ประชาชนจะช่วยออกมาแสดงพลัง เพื่อยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดต้องพ่ายแพ้ในสนามท้องถิ่นและระดับชาติ ทั้งที่พรรคประชาชน ยกทัพใหญ่ไปช่วยหาเสียง รวมถึง “อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” ซึ่งมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เป็นประธาน แต่ก็ยังประสบความล้มเหลว
ซึ่งก่อนที่จะมีการเลือกบุคคลเข้ามารับไม้ต่อจาก “พิธา” ใครก็คาดหมายว่า หัวหน้าพรรคประชาชน น่าจะเป็น “ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล” เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้ความเห็น และชี้ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหมื่น ภายใต้โครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” จนทำให้หลายสื่อนำความเห็น ไปเผยแพร่อยู่บ่อยๆ
แต่ในที่สุดชื่อกลับกลายมาเป็น “เท้ง-ณัฐพงษ์” โดยมีเสียงวิจารณ์ เหตผลสำคัญ เป็นเพราะได้รับความไว้วางใจจาก “ธนาธร” ในฐานะ “ผู้นำจิตวิญญาณ” และเป็น “นายทุนคนสำคัญ” ของพรรคประชาชน
แต่วันแรกของการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็เริ่มมีสัญญาณในทางลบ เมื่อยืนยันจะไม่มีการลดเพดานในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จากนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาทันที ทั้งๆ ที่พรรคเพิ่งเผชิญวิบากกรรม จากการยื่นขอแก้กฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองสถาบัน แต่ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าแก้ไขปมร้อน และก็ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
แม้กระทั่งส.ส.พรรคประชาชน ที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษารายงานการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ตั้งขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎร ก็มีความเห็นต้องนิรโทษกรรมมาตรา 112 แม้จะไม่ได้เป็นข้อสรุป แต่ก็อยู่ในข้อสังเกต และในที่สุด สภาฯก็ตีตกข้อสังเกตดังกล่าว ด้วยเกรงว่าจะเป็น สารตั้งต้นในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ยกเลิกความผิด พวกคนกระทำความผิดข้อหาล่วงละเมิดสถาบัน
หลายคนยังมองไกลไปถึงการประชุมสภาฯสมัยหน้าที่จะเปิดในเดือนธ.ค.67 ว่าอาจมีการนำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ในสภาฯ 4 ฉบับ เข้ามาพิจารณา ซึ่งพอจะคาดหมายได้ไม่ยากว่า ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลที่ยื่นไว้ จะมีชะตากรรมอย่างไร แม้ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคประชาชน คาดหวังว่า “จะใช้พลังนอกสภาฯเป็นแรงบีบ” แต่ดูเหมือนจะ “ไร้พลัง” เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และยังสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีผลสำรวจของ 2 สถาบันการศึกษา ที่ชี้ให้เห็นถึง ความนิยมที่ถดถอยลงของ “พรรคประชาชน” ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ไล่ตั้งแต่ กรณี “นอร์ทกรุงเทพโพล” ของมหาวิทยาลัยนอร์ท กรุงเทพ เมื่อไม่นานมานี้ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,500 คน จากทุกภูมิภาค ช่วงวันที่ 11-12 ต.ค.67 คำถามที่น่าสนใจคือ การทำหน้าที่ของนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านคนใดที่โดดเด่นที่สุด
ผลสำรวจระบุว่า 1.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน 15.2% 2.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 12.8% 3.น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม.พรรคประชาชน 9.3% 4.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 9.3% 5.น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 8.7% 6.นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายขื่อ พรรคเป็นธรรม 5.6% 7.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 5% 8.น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 4.9%
9.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 4.8% ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน 10.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย 4.2% 11.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ 3.6% 12.นายชัยมงคล ไชยรบ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ 3.3% 13.นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ 3% ส.ส.กทม.พรรคประชาชน และ 14.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 2% และอื่นๆ 3.9% คำถามต่อมา ถามว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านใดทำหน้าที่ได้ดีที่สุด 5 อันดับแรก ผลสำรวจพบว่า พรรคประชาชน 23.3% พรรคไทยสร้างไทย 19.7% พรรคเป็นธรรม 13.6% พรรคใหม่ 12.5% และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 10.4%
ที่สำคัญ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการทำงานของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ผลสำรวจ…เชื่อมั่นมาก 12.3%, ค่อนข้างเชื่อมั่น 16.1%, ค่อนข้างไม่เชื่อมั่น 30.6%, ไม่เชื่อมั่นมาก 26.7% และ ไม่มีความเห็น 14.3%
ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็น บทบาท “เท้ง-ณัฐพงษ์” ยังไม่เข้าตาประชาชน คะแนนนิยมไล่หลังสมาชิกพรรคเดียวกัน ตกไปอยู่ในลำดับที่ 9 แม้ที่ผ่านมาจะออกมาให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ รวมทั้งลุยจัดแคมเปญ “เท้งทั่วไทย” มีเป้าหมายเดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อเก็บเกี่ยวปัญหาและสอบถามสารทุกข์สุกดิบของประชาชน พร้อมทั้งยืนยันจะไม่ทิ้งงานในสภาฯ ทั้งการอภิปรายญัตติและร่างกฎหมาย รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งที่ผ่านมาทางพรรคประชาชนได้รวบรวมข้อมูลไว้หลายด้านแล้ว แม้จะยังเปิดเผยไม่ได้ แต่คาดว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่จะมีการยื่นญัตติภายในไตรมาสแรกของปี 2568 รวมถึงอาจจะมีการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ก่อนหน้านั้นด้วย
ขณะที่ “พิธา” ออกมาให้ความเห็นถึงคะแนนนิยมของ “หัวหน้าพรรคประชาชน” ว่า “นิด้าโพลครั้งแรกของผม 3% และขึ้น 45% ในระยะเวลา 3 ปี ฉะนั้นหากถามว่า มีเวลาเท่าไร ผมมองว่า มีเวลาตัดสินใจก่อนที่ประชาชนจะเข้าคูหา จะต้องผ่านและเชื่อว่าเป็นกระบวนการ ที่จะต้องผ่านทั้งอุณหภูมิการเมือง ความกดดันและความอดทน ซึ่งเชื่อว่า หากผมผ่านไปได้ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนก็จะผ่านไปได้เช่นกัน”
ดูเหมือนจะเป็น “คำปลอบใจ” แต่หลายคนมองว่า การจะทำให้คะแนนนิยมสูงขึ้นมามาเทียบกับ “พิธา” ได้ อาจเป็นเรื่องยาก เพราะด้วยสไตล์การทำงาน บุคลิกและความมีเสน่ห์ “ณัฐพงษ์” ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้
อีกทั้งแนวทั้งการทำงานของพรรคประชาชน ในยุค “เท้ง” เป็นผู้นำ ก็มุ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม ให้กับบรรดาผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่า เป็นแนวร่วมกับพรรคสีส้ม อีกทั้งยังมีส.ส.ของพรรคหลายคน มีคดีความในเรื่องนี้ติดตัวด้วย เลยกลายเป็นว่า ต้องการช่วยเหลือพรรคพวกเดียวกัน
ทั้งที่เรื่องสำคัญที่สุดในช่วงนี้ ควรเป็นเรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเสนอแนวทางทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นมหาอุทกภัย ให้กับมาอยู่ในสภาพปกติโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาหลายพื้นที่ที่เกิดปัญหา ส.ส.พรรคประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ก็ถูกวิจารณ์ ไม่ได้อยู่รวมทุกข์ร่วมสุขกับผู้ประสบภัย เลยกลายเป็นว่า พรรคประชาชนเรียงลำดับในการแก้ไขปัญหาของประเทศไม่ตรงกับความการของประชาชน มุ้งเน้นแต่เรื่องการเมืองและประโยชน์ของพวกพ้อง
นอกจากนี้ในเรื่องการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ก็เหมือนทำงานไม่เต็มที่ ทั้งเรื่องกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีที่พำนักอยู่ใน ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำเลยซักวันเดียว หลังยอมเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เพื่อรับโทษจำคุก 1 ปี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย มีการยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ เพราะเชื่อว่าเป็นการ “ป่วยทิพย์”
รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล แม้กระทั่งแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการที่มีบุคคลต่างๆ ไป ยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ “อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ และ พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำรัฐบาล จนหลายคนวิเคราะห์กันว่า ก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาล “ธนาธร” ได้เดินทางไปพบ “ทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกง หรือ “พิธา” ซึ่งเป็นญาติ “ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์” ซึ่งเป็นคนติดตามทักษิณ สมัยทำหน้าที่เป็นนายกฯ
เลยทำให้มีเสียงวิจารณ์ นี่คือเหตุผล…ทำไมแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ถึงตรวจสอบรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยไม่เต็มที่
เพราะหวังร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในอนาคต ด้วยการเป็นรัฐบาลร่วมกัน หลังจากที่ผ่านมา พรรคแกนนำรัฐบาลต้องย้ายขั้ว ไปอยู่กับ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ท่ามกลางกระแสข่าวมี “ดีลลับ” ที่เป็นผลดีกับ “ทักษิณ” อีกทั้งยังมีข่าว พรรคประชาชนยังหวังเสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะทั้งสองพรรคมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ เลยทำให้พรรคประชาชนอาจออกหมัดไม่เต็มที่
นอกจากนี้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,136 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-30 ต.ค.67 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ย 5.01 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย.67 ที่ได้ 4.80 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.34 คะแนน (ลดลงจากเดือนก.ย.)
นอกจากนี้ในโลกโซเชียลยังมีการโจมตี “พรรคสีส้ม” ว่าเป็น “พรรคประชาชนพม่า” และ เป็น “พรรคประชาชนบีอาร์เอ็น” อันเนื่องจากมีส.ส.ของพรรค มักออกมาให้ความเห็นเรื่อง “ปัญหาในประเทศพม่า” และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
จากนี้ไปต้องรอดู “พรรคประชาชน” จะปรับแนวทางการทำงาน หรือเดินหน้าไปตามความเชื่อของตนเอง อาจคิดว่าผลการเลือกตั้งซ่อมหรือการเลือกผู้นำท้องถิ่น ไม่ใช้ตัวชี้วัด ต้องรอการเลือกตั้งสนามใหญ่ แต่ในเมื่อเป้าหมายสำคัญต้องได้เสียงเกินครึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากร่วมงานด้วย หลังยืนยันไม่ลดเพดาน เดินหน้านโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
แต่ถ้ายังเล่นบทฝ่ายค้านไม่สมศักดิ์ศรี ยังเดินหน้าในประเด็นอ่อนไหว กระทบกับจารีตและประเพณีสังคมไทย นอกจากนี้จะต้องถูกโดดเดี่ยว ยังต้องเผชิญวิบากกรรม ซึ่งยากที่คาดได้ว่าบทสรุปจะเลวร้ายขนาดไหน
…………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย….“แมวสีขาว”