เห็นทีจะปลุกไม่ขึ้นกับสร้างกระแสให้ ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ที่เปรียบเสมือน บันทึกข้อตกลง ที่ใช้เป็นกรอบเจรจาระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในการแบ่งพื้นที่และการพัฒนาแหล่งพลังงาน ซึ่งบันทึกดังกล่าวจัดทำขึ้นในสมัย “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” เลยทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ
ยิ่งเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “สมเด็จฮุนเซน” ทำให้เกรงว่า หากมีการเจรจา จะทำประเทศไทยต้องเสียเปรียบ อีกทั้งยังมีข่าวรัฐบาลภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” จะเดินหน้าเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน หลายฝ่ายเลยกลัว อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะ “นายกฯอิ๊งค์” ก็เป็นบุตรสาวทักษิณ
อีกทั้งก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” ได้ไปกล่าวปาฐกถาในงานดินเนอร์ทอล์กของสื่อสำนักหนึ่ง สนับสนุนให้มีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงาน เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไป อาจทำให้มูลค่าพลังงานต้องลดลง เนื่องจากมีพลังงานรูปแบบอื่นๆ มาทดแทน ทำให้บางคนคิดว่า เป็นแผนแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
หลังจากนั้นก็เริ่มมีกระแสต่อต้านจากหลายองค์กร ที่มองว่า ไทยจะเสียเปรียบ และมีผลกระทบกับพื้นที่เกาะกูด โดยพรรคการเมืองที่เดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้ อย่างเอางานเอาการ และต่อเนื่องหนีไม่พ้น “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ที่มี “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น “บิ๊กป้อม” สมัยเป็นรองนายกฯ ก็นั่งเป็นประธานร่วมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee JTC) เพื่อหารือเรื่องเขตทับซ้อน ตามกรอบการเจรจา “เอ็มโอยู 2544” ซึ่งหมายความว่า ในยุค “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ ทั้งในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ยังเดินหน้าเจรจากับกัมพูชา และช่วงนั้นก็ไม่ได้มีการจุดประเด็น เรื่องความกังวลในเรื่องเสียดินแดน สะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น
ขณะที่ท่าทีของ “พรรคพลังประชารัฐ” เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา “ชัยมงคล ไชยรบ” ส.ส.สกลนคร เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ และ “พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย” โฆษกพรรค แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่มีพล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ได้มีมติพรรคให้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ เพื่อให้ดำเนินการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐได้ศึกษาผลกระทบ แล้วพบว่า แผนที่แนบเอ็มโอยู ได้ปรากฏเส้นเขตแดนของประเทศกัมพูชา ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากลและรวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทะเลอาณาเขตของเกาะกูดด้านทิศใต้ รวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทย เข้าเป็นพื้นที่ ที่ฝ่ายกัมพูชา นำมาใช้เป็นกรอบการเจรจา ซึ่งการยอมรับเส้นเขตแดนของฝ่ายกัมพูชาที่กล่าวอ้าง โดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรค จึงขอเรียกร้องต่อนายกฯและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า
1.ให้นายกฯและครม. ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยกเลิกเอ็มโอยู 2544 อย่างเร่งด่วน
2.ให้นายกฯและครม. ดำเนินการแก้ปัญหาเขตอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด ต้องยึดตามกฎหมายทะเลที่เป็นสากล และดำเนินการเจรจาเฉพาะ เรื่องเขตแดนทางทะเลให้เสร็จสิ้นก่อน โดยต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องเขตแดนทางทะเลและอำนาจอธิปไตยของชาติ ยิ่งไปกว่าผลประโยชน์อื่นใด โดยจะต้องรักษาทรัพยากรของชาติไว้ให้ลูกหลานสืบไป
3.ขอให้สั่งการให้บุคคลและหน่วยงานรัฐ หยุดกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดข้อผูกพันตามกฎหมายอันจะนำมาซึ่งงการเสียดินแดนอธิปไตยทางทะเลและผลประโยชน์ในทรัพยากรฯของชาติและของประชาชน
4.ขอให้ระลึกถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 161 ที่ได้ถวายสัตย์ไว้ว่า “จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและของประชาชน และปฏิบัติตามซึ่งรธน.แห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ด้าน “พล.ต.ท.ปิยะ” กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรยืนยันชัดเจนว่า จะรักษาผืนแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้วไว้ด้วยชีวิต และจะไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำอาณาเขตหรือพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ไปใช้ประโยชน์ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อครอบครัวหนึ่ง ครอบครัวใดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมช่วง “พล.อ.ประวิตร” เป็นประธานร่วมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค เพื่อเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับทางกัมพูชา จึงไม่เสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544
ซึ่งมีคำชี้แจงจาก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่า พล.อ.ประวิตรสั่งการให้พรรคพลังประชารัฐผลักดันนโยบายการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ถึงแม้ว่าจะเคยเป็นประธานคณะเจรจาฯ ตามกรอบเอ็มโอยู 2544 แต่ในขณะนั้น ท่านไม่ทราบมาก่อนว่าเอ็มโอยู 2544 จะมีปัญหาสำคัญทางกฎหมาย จนกระทั่งในเดือนมิ.ย. ได้ไปเรียนให้พล.อ.ประวิตรทราบว่า ได้ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) โดยเหตุที่ตรวจพบว่า เอ็มโอยู 2544 มีปัญหาสำคัญทางกฎหมายอย่างน้อย 2 ประการ
1.การที่ฝ่ายกัมพูชาได้ลากเส้นไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชา เริ่มจากหลักหมุดที่ 73 จุด แบ่งดินแดนทางบกของไทย-กัมพูชา ลากเส้นไหล่ทวีปตัดตรงมาทางทิศตะวันตก ผ่านกลางเกาะกูดที่เป็นดินแดนของไทย ตัดเส้นตรงเลยเกาะกูดไปทางอ่าวไทยตอนใน การกระทำของฝ่ายกัมพูชาเป็นการลากเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง
2.ได้พบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าเอ็มโอยู 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ พรรคเพื่อไทยก็แก้เกม โดยให้ “แพทองธาร” เรียกบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มาร่วมหารือถึงเอ็มโอยู 2544 พร้อมออกมาแถลงร่วมกัน ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย ทางประเทศกัมพูชาก็รับรู้เช่นกัน ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส รัฐบาลชุดนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ส่วนเรื่องเอ็มโอยู 2544 ยังต้องอยู่ ไม่สามารถยกเลิกได้ ถ้ายกเลิก ต้องใช้การตกลงระหว่าง 2 ประเทศคือ ไทยและกัมพูชา เนื้อหาในเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า จะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นหากจะเกิดอะไรขึ้น จะมีข้อตกลงอะไร เราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน อีกทั้งปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯในขณะนั้น ยืนยันทุกคนเป็นเนื้อเดียวกันว่า มติครม.ไม่มีการยกเลิกเอ็มโอยู 2544
ด้าน “สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า เอ็มโอยู 2544 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เพราะสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุชัดเจน “เกาะกูด” เป็นของไทย เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ และยังใช้อำนาจอธิปไตยเกาะกูด 100% ประเด็นยกเลิกเอ็มโอยู 2544 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในปี 2552 ซึ่งเสนอให้ยกเลิก เพราะขณะนั้นไม่มีความคืบหน้า และ ครม.รับในหลักการ แต่ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ
และได้หารือกับที่ปรึกษาทีมต่างชาติ และประชุมคณะกรรมการพิเศษที่เป็นภาคี และหน่วยงานด้านความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงพลังงาน รวมทั้งกฤษฎีกา โดยปี 2557 ได้ข้อสรุปว่า เอ็มโอยู 2544 ยังมีประโยชน์ที่จะนำไปสู่การเจรจา จึงเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติครม.ปี 2552 ต้องใช้เอ็มโอยู 2544 ต่อ ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ยังขอให้กรอบเอ็มโอยู 2544 เป็นพื้นฐานในการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ยอมรับและหลักการยังเหมือนเดิม
เช่นเดียวกับ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ระหว่างไทย-กัมพูชาว่า ตามหลักการทำเอ็มโอยู มีจุดเริ่มต้นมาจาก 2 ประเทศว่า จะคุยกันเรื่องอะไร ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราเป็นคนริเริ่ม และทำฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำ ถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ แต่ไม่ควร เนื่องจากมีผลกระทบมาก ต้องให้เกียรติกัน เราเริ่มมาด้วยกัน เวลาจะยกเลิก หลักการคือจะต้องพูดคุยกัน
เมื่อถามถึงการอ้างพื้นที่ทับซ้อน “ปกรณ์” อธิบายว่า เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ในระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกันไม่ตกลงว่า เป็นดินแดนของใครจะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ ต่างคนต่างอ้าง
เมื่อถามอีกว่า การใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน ในทางกฎหมายจะเสียเปรียบใช่หรือไม่ “ปกรณ์” กล่าวยอมรับว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศอาจมีผล แนะนำให้สื่อมวลชนใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ เพราะต่างคนต่างอ้าง การใช้คำว่า “ทับซ้อน” คิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว เนื่องจากจะมีคนเอาไปอ้างหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ต้องไปขึ้นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย ก็จะหยิบยกไปอ้างได้ ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้คำว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ” มาตลอด ไม่เคยใช้คำว่า “พื้นที่ทับซ้อน”
ฟังผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ต่างยืนยันว่า “เอ็มโอยู 2544” มีประโยชน์ เป็นพื้นฐานในการเจรจาข้อพิพาท พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ยอมรับ และหลักการยังเหมือนเดิม
อีกทั้ง “พรรคร่วมรัฐบาล” ก็ยังผนึกกันหนัก ยืนยันข้อตกลงดังกล่าว ไม่ทำให้เสียดินแดน ดังนั้นหนทางที่พรรคฝ่ายค้าน และนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มเสนอให้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว คงไม่มีผล และใช้เรื่องมาดิสเครดิตฝ่ายบริหาร ก็คงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ถ้าจะบอกว่า กระสุนด้านหรือมุกแป้ก ก็คงไม่เกินเลยความจริง
…………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”