เพิ่งได้รับข่าวดี หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “ผู้มากบารมี” เหนือรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางกลับประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 66 โดยยอมรับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และได้รับพระราชทานอภัยโทษจากต้องถูกจำคุก เป็นเวลา 8 ปี เหลือเพียงปีเดียว
จากนั้นมีการยื่นฟ้องร้องให้ตรวจสอบ เพราะหลายคนไม่เชื่อว่า การพักรักษาตัวบนชั้น 14 ที่โรงพยาบาลตำรวจ จนพ้นโทษออกมา จะ “ป่วยจริง” อาจเป็นการ “ป่วยทิพย์” ซึ่ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบอยู่ รวมทั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี “รังสิมันต์ โรม” สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน ก็เดินหน้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากมีผลกระทบออกมาทางลบ ย่อมส่งผลกระทบต่อ “ทักษิณ” พอสมควร
ก่อนหน้านี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” (รธน.) ได้ออกมาชี้แจง และมีมติเอกฉันท์ “ยกคำร้องคดีล้มล้างการปกครอง” ในประเด็นที่ 1 และ ประเด็นที่ 3-6 ซึ่งหลายคนเชื่อว่า เป็นกระบวนการ “นิติสงคราม” เพราะที่ผ่านมาทั้ง “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย ถูกร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง หากฝ่ายตรงข้ามพบหรือมีประเด็นอะไรที่ล่อแหลม หรือมองว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ จะมีบรรดา “นักร้อง” ไปยื่นให้ตรวจสอบ
ซึ่งล่าสุดกรณีศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ที่ ทนายความอิสระ ไปยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตาม มาตรา 49 กล่าวหา “ทักษิณ” และ “พรรคเพื่อไทย” กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลของการ “ไม่รับคำร้อง” ว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ ขณะเดียวกันได้มี มติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้องในประเด็นที่ 2 ซึ่งเป็น กรณีปมปัญหาเอื้อประโยชน์ให้กับ “กัมพูชา” ในอธิปไตยทางทะเล โดยมีตุลาการเพียง 2 เสียงที่สั่งให้รับคำร้อง คือ “จิรนิติ หะวานนท์” และ “นภดล เทพพิทักษ์”
อีกด้านหนึ่ง “กรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ก็ยังเดินหน้าสอบตรวจสอบ ปม “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทย ต่อไป เนื่องจาก “ถือกฎหมายคนละฉบับ”
โดย “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาตามรัฐธรรมนูญการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นเพื่อเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่ “กกต.” หรือ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” จะพิจารณาว่า การกระทำนั้นผิดกฎหมายพรรคการเมือง เป็นเหตุให้มีการยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรอดูบทสรุปจะออกมาในทิศทางใด???
แต่ที่หลายคนจับตามองคือ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะถือเป็นการเลือกตั้งสนามท้องถิ่นสนามแรก ที่ “ทักษิณ” เดินทางไปช่วยปราศรัยหาเสียง เนื่องจาก “อุดรธานี” ถือเป็น “เมืองหลวงของคนเสื้อแดง” และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคู่แข่งสำคัญเป็น ผู้สมัครของ “พรรคประชาชน” (ปชน.) ซึ่งจะเป็นคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยแกนนำพรรคฝ่ายค้านตั้งเป้าว่า จะต้องได้เสียงสส. 270 เสียงเกินครึ่ง เพื่อจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแกนนำฝ่ายค้านส่งบรรดา “ตัวตึง” ทั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า และผู้ก่อตั้งอนาคตใหม่ (อนค.) “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไปช่วยลงหาเสียง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้เสียงสส.มากที่สุด ก่อนจะถูกยุบพรรค จากนั้นกลายมาเป็น “พรรคประชาชน”

ดังนั้นในการเลือกตั้งทุกสนามการแข่งขัน ทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ต่างหวังคว้าชัยชนะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ได้มากที่สุด เพราะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.66 พรรคเพื่อไทยต้องพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก สร้างความเสียหายมากพอสมควร ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องเรื่องแปลก เมื่อพรรคเพื่อไทยจะอาศัยกลไกทุกรูปแบบ เพื่อคว้าชัยชนะ ในทุกสนามการแข่งขัน รวมทั้ง “ทักษิณ” ซึ่งหลุดพันธนาการในเรื่องคดีความ ยังต้องออกมารับหน้าที่ เป็น “แม่ทัพ” ในการหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยในครั้งแรกในรอบ 18 ปี
สำหรับ ผลการเลือกตั้ง “นายกอบจ.อุดรธานี” ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,240,166 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 646,881 คน คิดเป็น 52.16% บัตรดี 613,386 บัตร, บัตรเสีย 18,945 บัตร, บัตรไม่เลือกผู้สมัคร 14,550 บัตร ปรากฏว่า ผู้มีคะแนนอันดับ 1 คือ หมายเลข 2 “ศราวุธ เพชรพนมพร” จากพรรคเพื่อไทย ได้ 327,487 คะแนน อันดับ 2 หมายเลข 1 “คณิศร ขุริรัง” จากพรรคประชาชน ได้ 268,675 คะแนน และ อันดับ 3 หมายเลข 3 “ดนุช ตันเทิดทิตย์” ผู้สมัครอิสระ ได้ 17,224 คะแนน
ภายหลังการเลือกตั้ง “ทักษิณ” ได้วิดีโอคอลโฟนอินแสดงความยินดีกับ “ศราวุธ” โดยกล่าวว่า “เป็นการตัดสินของพี่น้องชาวอุดรฯอย่างชัดเจนว่า ยังต้องการพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของคนอุดรธานีอยู่ต่อไป และตอนนี้ขอทวงคืน ผมกลับมาแล้ว ขอทวงคืนคะแนนเสียงจากพี่น้องชาวอุดรธานี เลือกตั้งคราวหน้าขอให้ชัดกว่านี้อีกหน่อย เราจะได้มั่นใจว่าเราจะได้อยู่กับพี่น้องชาวอุดรธานีตลอดไป”
ที่น่าสังเกตระหว่างปราศรัยหาเสียง “ทักษิณ” ประกาศว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะได้สส.เกิน 200 เสียง ซึ่งคงหวังกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้ง

ขณะที่ เนื้อหาในการปราศรัย “ทักษิณ” ยังพาดพิง “ธนาธร” และ “พิธา” จนนำมาสู่การตอบโต้ทางการเมืองของทั้งสองพรรค ซึ่งที่ผ่านมามักไม่ค่อยได้ยินมีใครได้เห็นการโจมตีกันแบบนี้ เนื่องจากทั้ง 2 พรรคมีถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่เมื่อ 2 ฝ่ายมุ่งหวังผลประโยชน์ และมีเป้าหมายทางการเมืองตรงกัน คือ ต้องการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้จะเคยประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เวลาหาเสียงก็ต้องทำเต็มที่
ยิ่งพรรคสีส้มเคยเผชิญวิบากกรรม แม้จะได้เสียงมากที่สุด แต่ก็ติดปัญหา เนื่องจากมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จนถูกยุบพรรค และกลายเป็นข้อจำกัด ที่ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ขอร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย ดังนั้นทุกสนามแข่งขัน ก็ต้องสร้างคะแนนนิยมให้มากที่สุด เพื่อส่งผลถึงการเลือกตั้งในปี 2570 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของพรรคประชาชน
นอกจากนี้ในวันเดียวกันที่มีการเลือก “นายกอบจ.อุดรธานี” ยังมีการเลือก “นายกอบจ.เพชรบุรี” โดยชัยชนะตกอยู่ที่ “ชัยยะ อังกินันท์” แชมป์เก่า ซึ่งมีชัยเหนือ “กฤษณ์ แก้วอยู่” 169,208 คะแนน ต่อ 57,574 คะแนน สำหรับสนามเลือกตั้ง “นายกอบจ.นครศรีธรรมราช” นั้น “วาริน ชิณวงศ์” เอาชนะ “กนกพร เดชเดโช” ด้วย 328,823 คะแนน ต่อ 294,835 คะแนน ขณะที่เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา “ธัญพร มุ่งเจริญพร” คว้าชัยในการเลือกตั้ง “นายกอบจ.สุรินทร์” ได้ 222,724 คะแนน มีชัยเหนือ “พรชัย มุ่งเจริญพร” ได้คะแนน 211,625 คะแนน
ที่น่าสนใจ เมื่อศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “พรรคประชาชนเปิดหน้าชนพรรคเพื่อไทย” โดยสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามประชาชนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิวาทะระหว่างพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยผ่านสื่อขณะนี้ พบว่า 45.27% ระบุว่าเป็นแค่ละครทางการเมืองฉากหนึ่ง เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร, 29.16% เป็นแค่ความพยายามที่จะเพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น, 17.10% เป็นเรื่องจริงจังว่า อยู่ฝั่งตรงข้ามกันแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า และ 8.47% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับ “ความเป็นไปได้ที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า” พบว่า 36.72% เป็นไปไม่ได้เลย, 32.37% ค่อนข้างเป็นไปได้, 17.71% เป็นไปไม่ค่อยได้ และ 13.20% เป็นไปได้มาก และเมื่อถามความเชื่อที่ว่า “ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่สามารถต่อสู้กับพรรคประชาชนได้” พบว่า 27.86% ค่อนข้างเชื่อ, 25.88% เชื่อมาก, 23.89% ไม่ค่อยเชื่อ, 20.69% ไม่เชื่อเลย และ 1.68% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ถามถึง “ความเป็นไปได้ต่อคำกล่าวของทักษิณจะได้ สส.เกิน 200 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า” พบว่า 34.20% เป็นไปไม่ได้เลย, 27.25% ค่อนข้างเป็นไปได้, 24.58% เป็นไปไม่ค่อยได้, 12.29% เป็นไปได้มาก และ 1.68% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ท้ายสุดเมื่อถาม “ความคิดเห็นต่อบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่น ทักษิณ ชินวัตร, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นเวทีหาเสียงในฐานะผู้ช่วยหาเสียง” พบว่า 46.49% ไม่เป็นไร เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม, 22.75% ถึงกฎหมายไม่ห้ามก็ไม่สมควรขึ้นเวทีหาเสียง, 14.35% ควรแก้กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองขึ้นเวทีหาเสียง, 12.29% ควรแก้กฎหมายยกเลิกการตัดสิทธิทางการ และ 4.12% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
จากผลการสำรวจดังกล่าว เป็นเพราะ ที่ผ่านมา “พรรคประชาชน” ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบ “พรรคเพื่อไทย” ไม่เต็มที่ ไม่เคยส่งสัญญาณถึงความพยายาม ในการยื่นญัตติอภิปรายมาไว้วางใจ อาจหวังพึ่งเสียงของพรรคเพื่อไทย แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและรายมาตรา หรือการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งอาจรวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งหวังเสียงสนับสนุน ผ่านร่างกฎหมายบางฉบับ เช่น การปฏิรูปกองทัพ การปรับโครงสร้างเรื่องพลังงาน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ทักษิณ” ไม่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ และจากชัยชนะจากการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ต่อจากนี้ “อดีตนายกฯ” จะมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น เพราะมีเป้าหมายให้พรรคเพื่อไทย กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และคาดหวังให้ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
โดยในการการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ 47 จังหวัด “กกต.” กำหนดวันเลือกตั้งแล้วคือ วันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ซึ่งพรรคการเมืองที่พร้อมเปิดหน้าส่งผู้สมัครนายกอบจ. คงจะมีแค่ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” เป็นหลัก ส่วน “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) แม้ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค เพราะดูแลกระทรวงมหาดไทย ด้วยเกรงว่าจะไม่มีความเป็นกลาง แต่คนในท้องถิ่นก็ทราบดีว่า บางจังหวัดเป็น “นายกอบจ.ค่ายสีน้ำเงิน” เช่น บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม และศรีสะเกษ
ดังนั้นต้องรอดูการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” จะเดินแรงถึงขั้น ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยการเข้าไปแย่งชิงเก้าอี้นายกอบจ. ที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยยึดครองอยู่ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ซึ่งฐานเสียงก็อยู่ในภาคอีสานเช่นเดียวกัน
ล่าสุด ทีมงานพรรคเพื่อไทย เห็นชอบร่วมกันในการเสนอ “วุฒิไกร ช่างเหล็ก” ลงชิงสมัครรับเลือกตั้ง นายกอบจ.หนองคาย โดยได้เตรียมฟอร์มทีมที่แข็งแกร่งและเตรียมทีมส่งผู้สมัคร สจ.ทั้ง 30 เขต ของพื้นที่จ.หนองคาย
ก่อนหน้านี้ถ้าหากมีการเลือกตั้งนายกอบจ. ถ้าหากพรรคประชาชนส่งบุคคลลงสมัคร แล้วพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนเป็นเจ้าของพื้นที่ จะมีการหลีกทางให้เจ้าของพื้นที่ส่งคนลงสมัคร และมีการเทคะแนนให้กัน ซึ่งการเลือกนายกอบจ.ราชบุรี เป็นโมเดลดังกล่าว และส่งผลทำให้การเลือกตั้งชิงผู้นำท้องถิ่นในหลายพื้นที่ พรรคสีส้มแพ้มาโดยตลอด
ดังนั้นถ้าหากพรรคเพื่อไทยส่งคนลงสมัคร กับคู่แข่งที่พรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุน แล้ว “ทักษิณ” ลงพื้นที่ช่วยปราศรัยหาเสียง อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล จะกระทบเอกภาพการทำงานในฐานะฝ่ายบริหาร หรือการชิงเก้าอี้ผู้นำท้องถิ่น จะทำให้เกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เข้าใคร-ออกใคร???
……………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”