ไม่ใช่เรื่องแปลก หลัง “บรรดานักโทษในคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว” ต่างทยอยได้รับการ “พักโทษ” จะมีการตีความว่า กระบวนที่เกิดขึ้นเป็น “ดีลพิเศษ” เพื่อแลกกับการเดินทางกลับประเทศไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการฉาว ที่สร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุด นับตั้งแต่ฝ่ายบริหารหลายชุดผลักดันโครงการต่างๆ มา
ในที่สุด “อดีตนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย” ก็ตัดสินใจเดินทาง “หลบหนีไปต่างประเทศ” ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรมว.พาณิชย์ เดินทางไปรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่า อดีตรมว.พาณิชย์ถูกหลอกให้เดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และในที่สุดก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย และได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” อาจกำลังเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะมาในรูปแบบไหน เป็นเรื่องที่สังคมเกาะติดและต้องรอดู
ก่อนหน้านั้น “นิตยสาร Nikkei Asia” รายงานเมื่อวันที่ 18 พ.ย.67 อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ระหว่างลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อช่วย “ศราวุธ เพชรพนมพร” ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ตอนหนึ่งระบุว่า “ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯผู้เป็นน้องสาวจะได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า และไม่เห็นว่า จะมีปัญหาอะไรที่จะขัดขวางเธอไม่ให้ได้กลับบ้าน”
สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์กับสื่อไทย ในช่วง “ทักษิณ” เดินทางไปฉลองเทศกาลสงกรานต์ ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมื่อช่วงปี 67 ก็ออกมายืนยันว่า “ในปีหน้าน้องสาวอาจมีโอกาสเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน มาทำบุญในช่วงสงกรานต์” หลายคนเลยตีความกันไปต่างๆ นานา
อย่างไรก็ตาม เหตุผลหนึ่งที่ “ทักษิณ” ต้องการนำ “น้องสาว” เดินทางกลับประเทศ เชื่อว่า เป็นเพราะต้องการ “ไถ่บาป” เนื่องจากเป็นคนชักนำ “ยิ่งลักษณ์” เข้ามาสู่เส้นทางการเมือง และในที่สุดต้องเผชิญวิบากกรรม จนทำให้ต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศ ด้วยติดชนักเรื่อง “คดีความ”
สำหรับกระบวนการพักโทษ “บุญทรง” ซึ่งต้องรับโทษในคดีจำนำข้าว 48 ปี ในข้อหาทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี เจ้าตัวรับโทษไปแล้ว 7 ปี และได้รับการอภัยโทษไปก่อนหน้านี้ถึง 2 ครั้ง เข้าเงื่อนไขการ “พักโทษ” และถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ กลับไปควบคุมที่บ้านพัก เมื่อ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยถือเป็นรายที่ 2 ต่อจาก “ภูมิ สาระผล” อดีตรมช.พาณิชย์ ที่ต้องโทษจำคุกในคดีเดียวกัน เป็นเวลา 36 ปี ได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 7 ปีและได้รับการปล่อยตัว พักโทษแบบเงียบๆ ไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย.67 ที่ผ่านมา
โดย “2 อดีตรัฐมนตรี” ต้องติดกำไลอีเอ็ม และอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมคุมประพฤติ โดยคดีของ “บุญทรง” ยังเหลือโทษจริงอีก 3 ปี 5 เดือน จะพ้นโทษวันที่ 21 เม.ย.71 ขณะที่ “ภูมิ” เหลือโทษอีกราว 1 ปี และจะพ้นโทษในวันที่ 25 ส.ค.68
แต่ในคดีเดียวกันที่มีเสียงวิจารณ์ การพักโทษบางบุคคลมากเป็นพิเศษ เกิดขึ้นหลัง “วัชระ เพชรทอง” อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาเปิดเผยว่า “ตามที่นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” ถูกจำคุก 48 ปี จากคำพิพากษาศาลฎีกาฯอยากถามข้อเท็จจริงจากนายกฯ และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คณะอนุกรรมการการพักโทษ กระทรวงยุติธรรม ได้ปล่อยตัวนายอภิชาติ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.67 จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด และเป็นการขัดแย้งกับข่าวที่รายงานว่า นายอภิชาติยังอยู่ในเรือนจำหรือไม่ ในขณะที่ “พ.ต.อ.ทวี” เป็นรมว.ยุติธรรม ด้วยเหตุผลใด เหตุใดกรมราชทัณฑ์ถึงปกปิดไม่แถลงข่าวคดีสำคัญ ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เนื่องจากเป็นคดีที่สร้างความเสียหายกับเงินงบประมาณของประเทศชาติอย่างร้ายแรง”
น่าสังเกตว่า กรณีการพักโทษ “เสี่ยเปี๋ยง” ทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีการออกมาแถลงข่าว ทำเหมือนลับๆ ล่อๆ เหมือนไม่ต้องการให้สังคมรับรู้
แต่หลังจาก “วัชระ” ออกมาตั้งคำถามผ่านสังคม “กรมราชทัณฑ์” จึงออกแถลงการณ์ชี้แจงระบุว่า “นายอภิชาติเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ที่ได้รับการพิจารณาจากคณะทำงาน เพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษในชั้นเรือนจำ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และได้เสนอให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ พิจารณาตามลำดับและเห็นควรให้พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ”
ทั้งนี้ตามสภาพความรุนแรงของการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และมีอำนาจในการบริหารโทษภายใต้กฎหมายเกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562 และประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาด เข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการหรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
ต้องยอมรับ “เสี่ยเปี๋ยง” ถือเป็นตัวละครสำคัญในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และยังเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร อีกทั้งยังมีภาพถ่ายคู่กับ “ทักษิณ” แต่ที่น่าสนใจคือบรรดา “กฎกระทรวง-ประกาศต่างๆ” ของกระทรวงยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการ “พักโทษ” ของผู้ต้องขัง ส่วนใหญ่ล้วนจัดทำขึ้นในช่วงที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ทำหน้าที่รมว.ยุติธรรม สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปัจจุบัน “สมศักดิ์” ย้ายกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย หลังไปร่วมงานกับ “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ในช่วงที่เป็นแกนนำรัฐบาล ก่อนที่ “พ.ต.อ.ทวี” จะเข้ามาทำหน้าที่ “รมว.ยุติธรรม” ตั้งแต่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ต่อเนื่องมาจนถึง “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ ซึ่งในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ “พ.ต.อ.ทวี” ก็ถือเป็นบุคคลที่หัวหน้ารัฐบาลให้ความไว้วางใจ ได้รับตำแหน่ง “เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศอ.บต.) และได้รับการวางตัวให้มาดูแลกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่แรกหลัง “พรรคเพื่อไทย” กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลในเวลานี้
สำหรับ กฎระเบียบเกี่ยวกับการคุมขังนอกเรือนจำ และการพักโทษ ประกอบด้วย
1.กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ระบุหมายเหตุในการออกประกาศใช้กฎกระทรวงว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 หากพบผู้ต้องขังที่ป่วย และไม่สามารถรักษาในเรือนจำได้ ผู้บัญชาการเรือนจำสามารถใช้ดุลพินิจส่งไปรักษาเฉพาะทางนอกเรือนจำได้ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ และระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับนี้
โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ ถูกใช้กับ “ทักษิณ” เมื่อครั้งป่วยและถูกส่งตัวจากเรือนจำไปรักษาที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วย
2.กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือ การพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562 เกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุกของผู้ต้องขังชั้นๆ ต่างๆ เช่น ชั้นเยี่ยม ชั้นกลาง เป็นต้น โดยต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือไม่น้อยกว่า 10 ปีในกรณีต้องโทษตลอดชีวิต จะได้รับการลดวันต้องโทษ
ส่วน เงื่อนไขการพิจารณาพักโทษ นั้น ต้องนำปัจจัยหลายอย่างมาประกอบการพิจารณา เช่น พฤติการณ์แห่งคดีที่ได้กระทำผิด ระยะเวลาการคุมประพฤติ ความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของผู้อุปการะในการควบคุมดูแลนักโทษ ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม มีพฤติการณ์ระหว่างคุมขังจนน่าเชื่อว่าได้กลับตนเป็นคนดี เป็นต้น
3.ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการหรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
โดยกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า มีการดำเนินการมาตั้งแต่ 2546 อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายที่มีคุณสมบัติและเข้าหลักเกณฑ์อย่างเท่าเทียมกัน มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด
ขณะที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการ สำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่มีการแก้ไขใหม่นั้น ต้องมีการตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” โดยมีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน คณะทำงานฯชุดนี้มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง หรือเพิกถอนการคุมขังเสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาอนุมัติ โดยสถานที่คุมขังดังกล่าวคือ สถานที่สำหรับอยู่อาศัย หรือ สถานที่สำหรับกักขัง หรือ กักตัวตามกฎหมายของราชการที่มิใช่เรือนจำ โดยเงื่อนไขผู้ต้องขังที่เข้าข่ายตามระเบียบนี้คือ ต้องเป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์
ถ้า “ยิ่งลักษณ์” กลับมาต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯเสียก่อน หลังจากนั้น จะมีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล โดยผู้ต้องขังต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาว่าผู้ต้องขังดังกล่าว มีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่ พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ ความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำ ความเสี่ยงในการหลบหนี ผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม เป็นต้น ยิ่งหลักเกณฑ์สำคัญระบุในระเบียบคุมขังนอกคุกว่า จะต้องเป็นนักโทษที่มีโทษไม่เกิน 4 ปี
ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 5 ปี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถ้าจะให้เข้าหลักเกณฑ์ ก็ต้องมีการแก้ไขเรื่องนี้ นอกจากนี้ต้องเป็นนักโทษชั้นดี และรอที่จะพ้นโทษด้วย
แต่ “อดีตนายกฯหญิง” ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรับโทษ และคุมขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นการข้ามขั้นตอนอย่างมาก
หรือจะใช้ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” มาช่วยล้างผิดในคดีทุจริต ทางพรรคเพื่อไทยก็ออกมายืนยันว่า จะไม่ออกกฎหมายมาช่วยเหลือใครเป็นพิเศษ เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้วสมัยปี 2557 จนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องมีอันเป็นไป
ดังนั้นคงต้องรอดูว่า “ทีมกฎหมายของอดีตนายกฯ” และ “ทักษิณ” จะใช้ช่องทาง เพื่อช่วย “น้องสาว” ไม่ให้ต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ
แต่ถ้าอ้างเรื่องเจ็บป่วยมาเป็นเหตุ สังคมและกรมราชทัณฑ์อาจไม่ให้ความเชื่อถือ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีข่าว “อดีตนายกฯหญิง” มีอาการป่วยไข้มาก่อน หรือจะมีหลักฐานใหม่ ที่มาช่วยรื้อฟื้นการพิจารณาคดีทุจริตรับจำนำข้าว ของ “ยิ่งลักษณ์” กลับมาพิจารณาใหม่
นั่นคือ เอกสารสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงโครงการระบายข้าวจีทูจี เพื่อยืนยันว่า “อดีตนายกฯหญิง” ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้เป็นการไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกเธอ 5 ปี
แต่ไม่ว่าจะดำเนินการด้วยวิธีการอะไร คงต้องยึดถือข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาสังคมคลางแคลงใจ กับกระบวนการรักษาตัว “ทักษิณ” ระหว่างพำนักอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตกลงว่า “ป่วยทิพย์” หรือ “ป่วยจริง” โดยไม่ถูกจองจำเลยซักวันเดียว
โดยเรื่องกำลังอยู่ในกระบวนการสอบสวนของ คณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากมีปมข้อสงสัยเกิดขึ้นกับกรณี “ยิ่งลักษณ์” กรณีได้รับสิทธิ์คุมขังนอกเรือนจำ โดยยกเว้นหลักเกณฑ์บางอย่าง ย่อมทำให้เกิดคำถามกับคนในสังคม และคงหนีไม่พ้น “บรรดานักร้อง” ไปยื่นเรื่องให้ “องค์กรอิสระ” ตรวจสอบ
และอาจทำให้คนย้อนไปนึกถึงสมัย “ทักษิณ” เรืองอำนาจ ที่มักถูกวิจารณ์ว่า ใช้กลไกเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกพวกเพื่อนพ้อง ทำให้เกิด “ผลลบ” กับ “รัฐบาลแพทองธาร” นอกจากจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนในเรื่องของเสถียรภาพฝ่ายบริหาร เพราะต้องตกอยู่ในวงล้อมของ “องค์กรอิสระ” และคอยตามลุ้นเรื่อง “ความถูกต้องในข้อกฎหมาย”
…………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…. “แมวสีขาว”