วันพุธ, ธันวาคม 18, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ป.ป.ช.”ตั้งสอบ“ทักษิณ”..ปม“ป่วยทิพย์” ระวัง“ดีลลับ“เป็น“ดีลลวง”สอนอย่าลืมตัว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ป.ป.ช.”ตั้งสอบ“ทักษิณ”..ปม“ป่วยทิพย์” ระวัง“ดีลลับ“เป็น“ดีลลวง”สอนอย่าลืมตัว

เพิ่งแสดงความยิ่งใหญ่ รุกไล่ “พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค” ในระหว่างจัดสัมมนา “พรรคเพื่อไทย” (พท.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ต่อมา “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาล” กลับได้ยิน “ข่าวร้าย” เรื่อง “ป่วยทิพย์”

หลัง “สาโรจน์ พึงรำพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคดีกรณีกล่าวหานายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีส่งตัวผู้ต้องขังรายนายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปรักษาที่ รพ.ตำรวจโดยมิชอบ และให้นายทักษิณอยู่รักษาที่รพ.ตำรวจ จนกระทั่งครบ 180 วัน ทั้งที่ไม่เจ็บป่วยจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ…

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้น แล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 51 โดยให้ดำเนินการไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมราชทัณฑ์ และรพ.ตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รวม 12 คน ทั้งนี้หากในชั้นไต่สวนพบว่า มีบุคคลอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ดำเนินการไต่สวนกับบุคคลดังกล่าวต่อไปและถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ให้ผู้ที่ถูกระบุชื่อได้ไปชี้แจง”

สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 12 ราย ที่จะถูกดำเนินไต่สวนกรณีนี้ ประกอบด้วย 

1.สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

2.สิทธิ สุธีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

3.ชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

4.นัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

5.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งทำหน้าที่นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ

6.พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ

7.พ.ต.อ.ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5) รพ.ตำรวจ แพทย์เจ้าของไข้ และผู้ออกใบความเห็นแพทย์

8.พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ แพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ออกใบความเห็นแพทย์

9.นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

10.พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่

11.สัญญา วงค์หินกอง พัศดีเวร เรือนจำพิเศษ กทม.

12.ธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษ กทม.  

แม้ว่าบทสรุปที่เกี่ยวข้องกับตรวจสอบครั้งนี้ จะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ แต่หากในที่สุดพบว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ป่วยจริง เชื่อว่าต้องมี “บรรดานักร้อง” ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบอดีตนายกฯ หาช่องทางทางกฎหมาย เพื่อให้ “ทักษิณ”ได้ถูกคุมขังในเรือนจำจริงๆ

ยิ่งบรรดานักเคลื่อนไหวที่เคยรวมตัวต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” มีการนัดพูดคุยกันไม่นานมานี้ จนภาพปรากฏออกมาเป็นข่าว กระทั่งมีการเชิญพี่น้องประชาชนร่วมแสดงพลัง สนับสนุน ป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีการทุจริตประพฤติมิชอบในกรณีการบริหารโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” โดยพลัน ในวันพุธที่ 18 ธ.ค.67 เวลา 11.00 น.เป็นต้นไป ที่สำนักงานป.ป.ช.

คร่าวๆ ที่ปรากฏชื่อออกมาก็มี อ.แก้วสรร อติโพธิ, ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ดร.คมสัน โพธิ์คง, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, ประพันธ์ คูณมี, ประสาร มฤคพิทักษ์, ชาญชัย อิสระเสนารักษ์, ปรีดา เตียสุวรรณ์, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์, เสน่ห์ หงส์ทอง, นีรนุช จิตต์สม, มานพ เกื้อรัตน์, จตุพร พรหมพันธุ์, นิติธร ล้ำเหลือ (ทนายนกเขา), อานนท์ กลิ่นแก้ว, ดร.ใจเพชร กล้าจน, พิชิต ไชยมงคล, นัสเซอร์ ยีหมะ ฯลฯ

ถ้าจะบอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเป็นการ “ข้ามขั้ว” การรวมตัวของบรรดา “คนที่เคยที่ต่อต้านทักษิณ” ก็มาจากนักเคลื่อนไหวหลากสี ที่เคยอยู่คนละข้าง-คนละฝ่ายกันมาก่อน แต่วันนี้หันหน้ามาร่วมมือกัน เพื่อหวังให้อดีตนายกฯยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ยิ่งหลังการพ้นโทษ “ทักษิณ” แสดงอาการเหมือนคนไม่ได้ป่วยหนัก เหมือนช่วงพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.67 “กรมราชทัณฑ์” ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า “กรณีที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาพยาบาลที่รพ.ภายนอก ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.66 โดยพบว่า นายทักษิณมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเนื่องจากทัณฑสถานรพ.ราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต จึงเห็นควรส่งตัวไปรพ.ตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น 

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้นายทักษิณได้ออกไปรับการรักษาตัวยังรพ.ตำรวจ เกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษ กทม. ได้ดำเนินการประสานไปยังรพ.ตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่า ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต

คำชี้แจงดังกล่าว ต้องถือเป็น “ใบเสร็จชั้นดี” ตอกย้ำว่า “ทักษิณ” ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งถ้าหาก ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบและพบว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น เชื่อว่าต้องมีการชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้ข้อมูลของคนไข้ถือเป็นความลับทางการแพทย์ ดังนั้นช่องทางในการหาข้อเท็จจริง อาจยากพอสมควร

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ก่อนหน้านั้น หากจำกันได้ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ตั้งโต๊ะแถลงเปิดหลักฐานข้อความในแอปพลิเคชันไลน์ ที่มีการพูดคุยกับ “บุคคลหนึ่ง” ที่คอยจัดคิวเข้าพบ “ทักษิณ” ที่รพ.ตำรวจ ชั้น 14 ขณะพักรักษาตัว เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าพบ “ทักษิณ” จริง ภายหลังจากที่ “ทักษิณ” เคยปฏิเสธเรื่องดังกล่าวกับสื่อมวลชน ซึ่ง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ได้เข้าพบ “ทักษิณ” ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือ 14 พ.ย.66 และอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ.67

“พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ยังระบุว่า “หลังจากนี้ให้รอดู ป.ป.ช.เชิญผมไปให้ข้อมูลหรือไม่ ขอบอกเลยว่า จะต้องติดคุกกันทั้งหมด ตั้งแต่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม, อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผบ.เรือนจำ และนายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ” ซึ่งมีข่าวว่า ป.ป.ช. ได้เชิญหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยไปให้ข้อมูลแล้ว

ขณะที่ “สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาระบุว่า “ขอยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยอนุญาตให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เข้าเยี่ยมนายทักษิณ เพราะในบรรดารายชื่อผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ตามที่ระบุไว้ 10 รายชื่อนั้น มีเพียงญาติและทนายความ ส่วนข้อความที่ปรากฏเป็นแชตไลน์นั้น ก็ไม่สามารถไปบอกได้ว่า เป็นไปได้อย่างไร โดยกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยและควบคุมให้เป็นตามระเบียบ ดังนั้นต้องรอกระบวนการตรวจสอบข้อมูลใครให้ความจริง ใครให้ความเท็จ”

ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกมาแถลง ได้รับการร้องเรียนว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่า “ผู้ต้องขังรายอื่น” โดยมีการร้องเรียนผ่านมาทาง กสม.เมื่อเดือนพ.ย.66 ตอนหนึ่งระบุว่า “กรณีที่เรือนจำพิเศษ กทม.และรพ.ตำรวจ อนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เห็นว่า แม้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กสม.ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อ้างถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย แต่หากนายทักษิณมีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามอ้าง ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำฯ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันที โดยไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก

รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับรพ.ตำรวจมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงขนาดที่ต้องรักษาตัวที่รพ.ตำรวจนานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานรพ.ราชทัณฑ์ หรือกลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำฯได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษ กทม. และรพ.ตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

“กสม.” ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษ กทม., รพ.ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของป.ป.ช. โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม.จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

ด้าน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้ความเห็นกรณี ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวน กรณีกล่าวหาอธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวม 12 คน ที่ส่งตัวผู้ต้องขังรายนายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกทม. ไปรักษาที่รพ.ตำรวจโดยมิชอบว่า “มีความเชื่อมั่นทั้ง 12 คนที่ถูกระบุชื่อ เพราะได้เห็นหลักฐานแล้ว ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ ตามหลักวิชาชีพที่เป็นสากลทุกประการ และถือเป็นเรื่องที่ดีที่ ป.ป.ช.รับเรื่องไว้ไต่สวน แต่ประการสำคัญคือกระบวนการเรื่องป่วย ทั้งแพทย์และบุคลากรมีความมั่นใจ หากได้ดูเวชระเบียน หรือหลักฐานซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่ได้เห็นผ่านตา ในบางช่วงยืนยันว่าหลักฐานมีครบทุกอย่าง

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วก็เป็นฝ่ายปฏิบัติ ที่ถูกตรวจสอบ “พ.ต.อ.ทวี” กล่าวว่า “คงไม่ เพราะ ป.ป.ช.ระบุอยู่แล้ว แต่เขามองว่า ในขณะนั้นยังไม่ได้รับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ส่วนจะถูกตัดตอนอยู่ที่เจ้าหน้าที่นั้น ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่จะต้องดำเนินการไต่สวน หากสืบสวนแล้วไม่มีมูล ก็ไม่รับ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวพร้อมใช่หรือไม่ เพราะอาจจะทำให้หลุดออกจากเก้าอี้ได้ “พ.ต.อ.ทวี” กล่าวว่า “ไม่ได้กังวลเลย นายทักษิณถูกควบคุมตามกฎหมาย เพียงแต่ไม่สะใจกับคนบางกลุ่ม อย่างเช่น รายงานของ กสม. ซึ่งไม่เคยสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องเลย ซึ่งหากเอาความเห็นของคนที่อยู่ตรงข้าม ก็จะปรากฏเช่นนั้น ไม่ใช่ความเห็นปกติในการสืบสวนสอบสวน เขาควรเอาประจักษ์พยาน มายืนยันว่า โรคที่ปรากฏเกินกว่าศักยภาพของ รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ระบุว่าให้ส่งตัวโดยเร็ว”

น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านั้น มีข่าว “ทักษิณ” จะเดินทางไปเป็นประธานร่วมพิธีทำบุญเก็บศพ “ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์” (สจ.โต้ง) ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่วัดมะกอก จ.ปราจีนบุรี แต่ปรากฏว่า กลายเป็น “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแทน หลังจากป.ป.ช. แถลงว่า ได้ตั้งกรรมการป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวนชั้น 14 รพ.ตำรวจ อดีตนายกฯก็งดภารกิจดังกล่าว

เชื่อว่า บทสรุปของ “ป.ป.ช.” กรณีการตรวจสอบปมร้อน “ป่วยทิพย์” ที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วยของ “ทักษิณ” ที่หลายฝ่ายติดตามอยู่ ถ้าออกมาใน “ทางลบ” ย่อมมีผลกระทบกับ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งเป็นบุตรสาว แม้จะอ้างว่า การเข้ารักษาตัวของอดีตนายกฯ ที่รพ.ตำรวจ เกิดขึ้นในสมัย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ แต่เรื่องราวก็ยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึงสมัย “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ และ “รัฐบาลนางแพทองธาร”

ยิ่งระยะหลัง “ทักษิณ” เคลื่อนไหวทางการเมือง แสดงอาการ “ก้าวร้าว” เหมือนไม่เคยทำอะไรผิด บางที “ดีลลับ” อาจกลายเป็น “ดีลลวง” เพื่อสั่งสอนให้รู้ว่า “อย่าลืมตัว” เพราะที่ผ่านมาเคยสร้างปัญหาไว้กับประเทศหลายเรื่อง

………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img