ไม่อยู่นอกเหนือจากความเป็นจริง หลังสื่อประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาฝ่ายบริหาร ที่นำโดย “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็น “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง”
พร้อมทั้งขยายความว่า “ด้วยความเป็น “พ่อ” ของหัวหน้ารัฐบาล ยี่ห้อ “ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นชื่อดีกรีความรักลูกไม่น้อยหน้าใคร ทั้งปกป้อง เลี้ยงดู อุ้มชู ปูทาง จนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ เป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น ที่มี DNA เดียวกันเป๊ะ จนไม่พ้นเสียงครหา รัฐบาลนี้ “พ่อคิด ลูกทำ” และไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูลูกในสนามการเมืองเท่านั้น ยังลามไปถึงวาทะเลี้ยง “มาม่า” พรรคร่วมรัฐบาล ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จนสะเทือนเลื่อนลั่น สะท้อนบทแบ็กอัพที่ไม่ใช่เลี้ยงลูกตัวเองเท่านั้น แต่เลี้ยงรัฐบาลให้เดินอยู่ในรอยด้วย”
สอดคล้องกับความเห็นของคนที่ติดตามการเมือง เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ได้เป็นแกนนำรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” จะเข้ามามีบทบาทในการ “ชี้นำ” หรือ “แทรกแซง” ตลอด โดยขึ้นอยู่กับผู้นำรัฐบาลช่วงนั้นเป็น “ใคร”
แม้ก่อนหน้านั้น ผลสำรวจประชาชนผ่าน “นอร์ทกรุงเทพโพล” ยกให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เป็น “นักการเมืองแห่งปี 2567”
โดย 9 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 แพทองธาร ชินวัตร 15.4%, อันดับ 2 ภูมิธรรม เวชยชัย 7.8%, อันดับ 3 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 7.5%, อันดับ 4 ศิริกัญญา ตันสกุล 7.3%, อันดับ 5 รักชนก ศรีนอก 6.8%, อันดับ 6 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 6.1%, อันดับ 7 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 5.5%, อันดับ 8 รังสิมันต์ โรม 5.3%, อันดับ 9 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 5%
สอดคล้องกับคะแนนนิยมทางการเมืองของนักการเมืองประจำเดือนก.ย. ที่ Line Today สำรวจ พบว่า “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” เกิดปรากฎการณ์ก้าวกระโดดขึ้นมาครองอันดับ 1 หลังจากเดือนส.ค.ติดอยู่ที่อันดับ 11 มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากถึง 4.5 พันคะแนน ขณะที่อันดับ 2 ตกลงมาจากอันดับ 1 ได้แก่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งหลังพรรคถูกยุบ พบว่าคะแนนลดลงมากถึง 16,803 คะแนน หลังจากเดือนส.ค. มีคะแนนโหวตสูงถึง 19,794 คะแนน
ใครตามข่าวการเมืองก็คงรู้ว่า หาก “ทักษิณ” ไม่ไฟเขียวให้ “ลูกสาวคนสุดท้อง” เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง เชื่อได้เลย สังคมไม่มีทางได้เห็นเธอโลดแล่น ในฐานะผู้นำประเทศ แม้ พรรคเพื่อไทย จะเปรียบเป็นสมบัติของ “ตระกูลชินวัตร” แต่เมื่อชะตากรรมของ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) รวมทั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำประเทศ
ซึ่งจุดจบบุคคลทั้งสาม มีบทสรุปไม่หนัก ดังนั้นการส่ง “แพทองธาร” เข้ามาเป็นนายกฯ อาจถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ หลังพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งให้กับ “พรรคประชาชน” (ปชน.) เมื่อเดือน พ.ค.66 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ “ทักษิณ” ก้าวเข้ามาทำงานการเมือง
ดังนั้นการทำให้ให้พรรคแกนนำรัฐบาล กลับมาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งให้ได้ จึงมีความหมายมาก รวมทั้งการที่ “ทักษิณ” จะเข้าไป “แทรกแซง” หรือ “ชี้นำ” ได้อย่างเต็มที่ ต้องเป็นคนที่ไว้วางใจและเต็มใจ จึงไม่แปลกเมื่อ “ผู้มากบารมี” จะเลือก “ลูกสาว” เข้ามารับตำแหน่งสำคัญในขณะนี้
ซึ่งเป็นจังหวะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีคำวินิจฉัย เนื่องจากไปแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” ให้เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ แม้ช่วงแรกมีข่าวจะแต่งตั้ง “ชัยเกษม นิติศิริ” ให้มาทำหน้าที่นายกฯ แต่ในที่สุดก็พลิกมาเป็น “แพทองธาร” โดยสส.พรรคเพื่อไทยมีมติสนับสนุน หาก “ผู้บารมี” ไม่ไฟเขียว เชื่อว่ามติพรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะมีบทสรุปตามนั้น อีกทั้ง “ทักษิณ” อาจมั่นใจใน “ดีลลับ” คิดว่าไม่มีปัญหากับ “บุตรสาว” โดยตั้งเป้าในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องได้ สส. 200 เสียง
จึงไม่ใช้เรื่องแปลก ก่อนการผลักดันนโยบายต่างๆ มักได้ยินความเห็นจาก “ทักษิณ” ก่อนเสมอ ทั้งการ “แจกเงินหมื่น-เปิดสถานบันเทิงครบวงจร” โดยมีบ่อนกาสิโนอยู่ด้วย เพื่อหวังต้องการดึงเงินใต้ดินเข้ามาอยู่ในระบบ “การเร่งเจรจากับกัมพูชา” เกี่ยวกับงการแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทย ภายใต้ข้อตกลงเอ็มโอยู 44 และอีกหลายนโยบาย
โดย “แบ่งบทกันเล่นกับบุตรสาว” ให้ “แพทองธาร” สร้างคะแนนนิยมกับ “คนรุ่นใหม่” ใช้ผลงานรัฐบาลมาช่วยดึงคะแนน ส่วน “ทักษิณ” ก็ไปช่วยหาเสียงกับ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จ ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยคว้าชัยชนะทั้งที่จ.อุดรธานี และอุบลราชธานี และตั้งเป้าหมายยอีกหลายจังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ.68 เพื่อดึงเสียง “บ้านใหญ่” กลับมาเป็นฐานการเมืองให้พรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม หลังจากในอดีตเคยเป็นฐานการเมืองให้พรรคไทยรักไทย แต่ต้องแยกตัวไปอยู่พรรคอื่น ในช่วงเกิดการรัฐประหารเมื่อ 57 จึงหวังนำฐานเสียงดังกล่าวกลับมา เพราะคู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้ง “พรรคประชาชน” มีความเชี่ยวชาญเรื่องโซเชียล ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารถึง “คนรุ่นใหม่” และ “คนชั้นกลาง”
แม้กระทั่งในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าหาก “บุพการีของนายกฯ” ได้รับรายงานว่า มีปัญหาในการทำงาน ก็จะออกมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ หวัง “ปรามพรรคร่วมรัฐบาล” ล่าสุดที่เป็นประเด็นข่าวใหญ่ สื่อนำมารายงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังวิเคราะห์ว่า อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เหตุเกิดในระหว่างการสัมนา สส.พรรคเพื่อไทย
โดย “ทักษิณ” กล่าวตอนหนึ่งว่า “สองวันก่อนมี พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีระหว่างประเทศ เข้าที่ประชุม ครม. ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรค หลบ ป่วย อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า ถ้าอยู่ด้วยกัน ก็ต้องด้วยกันสิ วันหลังไม่อยากอยู่ ต้องบอกให้ชัดเจน เราเป็นคนพูดรู้เรื่อง ห้ามหนี ต่อไปใครหนี ก็บอกว่าหนี้ ถ้าหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย ง่ายดี ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมา ง่ายๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบายคุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรี ค่อยๆ หลบมือออก ไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา”
สำหรับการประชุม ครม.ในวันดังกล่าว มีรัฐมนตรีแจ้งลา 7 คน คือ 1.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะ หัวหน้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่เข้าร่วมประชุมในภายหลัง 2.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและ รมว.พลังงาน ในฐานะ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 3.มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ (พท.) 4.ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย (ภท.) 5.อัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) 6.สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ (ภท.) 7.สุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ (รทสช.)
ซึ่งหลายคนเชื่อว่า “ทักษิณ” พุ่งเป้าไปที่ “พีระพันธุ์” หลังมีข่าวเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ และ 25 สส.ของพรรค อาจแยกตัวไปสังกัด “พรรคโอกาสใหม่” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ “กลุ่มข้าราชการเกษียณ” โดยส่วนใหญ่มาจากสายปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมี “อดีตผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ” หลายคน เข้ามาร่วมกัน และยังมี “อดีตปลัด-บิ๊กกระทรวงใหญ่” เข้ามาร่วมด้วย ผ่านการประสานของ “นายทุนพรรคใหญ่แห่งหนึ่ง” ที่ร่วมรัฐบาล โดยมีจุดมุ่งหมายจะดึง ส.ส.มาแทน โดยเฉพาะจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ โดย “ทักษิณ” อาจต้องการดึง กระทรวงพลังงาน กลับมาดูแลเอง
จึงไม่แปลกที่ในเวทีสัมมนาพรรคเพื่อไทย ยังได้เห็นภาพ “ทักษิณ” โชว์วิชั่น แก้ปัญหาราคาค่าไฟ ที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเลขราคา 4 บาท หรือราคา 3.99 บาท แต่ต้องลดให้เหลือ “3 กลางๆ”
แต่การเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” แม้จะเป็นผลบวกกับ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” และ “พรรคเพื่อไทย” ในทางการเมือง แต่ในแง่ลบ ก็ปลุกให้บรรดา กลุ่มที่เคยต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยใช้เรื่องการทำเอ็มโอยู 44 ซึ่งทำไว้ในสมัย “ทักษิณ” เป็นนายกฯ มาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว โดยอ้างไทยจะเสียเปรียบกัมพูชา ทั้งในเรื่องเส้นแบ่งเขตดินแดน หรือการแบ่งผลประโยชน์ในด้านพลังงาน หากมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ เพราะอดีตนายกฯของไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำกัมพูชา
รวมทั้งการเข้าไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของ “ทักษิณ” โดยไม่ได้ถูกจำจองอยู่ในเรือนจำเลยซักวันเดียว ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เครือข่ายอดีตกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), กปปส. รวมถึง “จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน นำมวลชนเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือกับ ป.ป.ช. ให้เร่งรัดพิจารณาเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยเร็ว เพื่อนำเรื่องส่งศาลยุติธรรม
นอกจากนี้ แพทยสภา ได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อขอเอกสารทุกอย่าง ตั้งแต่วันเข้ารับการรักษาจนวันออกจากโรงพยาบาลในกรณีของ “ทักษิณ” ทั้งนี้หนังสือดังกล่าว ออกโดย “นพ.อมร ลีลารัศมี” กรรมการแพทยสภา ในฐานะ ประธานอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ที่ตั้งโดยมติที่ประชุมแพทยสภา ได้ทำหนังสือของแพทยสภา ลงวันที่ 16 ธ.ค.2567 ถึง “แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเฉพาะกิจตั้งขึ้นตามมติของกรรมการแพทยสภาฯ เมื่อ 10 ต.ค.2567 ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าวที่เกิดจากมีการย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มาที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงขอข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การสืบสวนสอบสวน อันเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ จึงขอให้ท่าน (แพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งพยานหลักฐานหรือวัตถุพยานเพื่อประโยชน์การแก่การพิจารณาจริยธรรม
นอกจากนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ ซึ่งเปิดทางให้พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ซึ่งมีความชัดเจน “พรรคประชาชน” แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประกาศไว้แล้วว่า จะยื่นซักฟอกรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ออกมาวิจารณ์บทบาทท “แพทองธาร” กรณีไม่ยอมมาตอบกระทู้ แม้ช่วงที่ผ่านมา สังคมจะมองว่า พรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทย เป็นพันธมิตรกัน เพราะมีเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน
โดย “แกนนำพรรคฝ่ายค้าน” หวังพึ่งเสียง “แกนนำรัฐบาล” แต่เมื่อถึงกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เชื่อว่า “พรรคสีส้ม” คงต้องแยกความสัมพันธ์กับ “พรรคสีแดง” เพราะถ้าหากตรวจสอบไม่เต็มที่ ชกไม่เต็มหมัด ผลกระทบก็จะตกอยู่กับ “พรรคประชาชน”
ยิ่งผลสำรวจคะแนน “นอร์ทกรุงเทพโพล” พบคะแนนนิยมของ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน อยู่ในลำดับ 9 ได้เพียง 5.0% นั่นหมายความว่า ถ้าหากยังทำหน้าที่ตรวจสอบแบบไม่สมราคา ยิ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือยิ่งลดลง และจะส่งผลถึงเป้าหมาย ที่ตั้งเป้าในการเลือกตั้งปี 70 ที่หวังได้เสียงเกินครึ่ง 270 เสียง เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้วรัฐบาล หวังหลุดพ้นปัญหาการไม่มีพรรคการเมืองไหนยอมจับมือร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย
ที่สำคัญกรณีของชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่เป็นข้อสงสัยของสังคม ว่าตกลง “ทักษิณ” ป่วยจริงหรือไม่ แกนนำพรรคฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายหรือไม่ รวมถึงการที่บุพการีเข้ามามีบทบาทในฝ่ายบริหาร ชี้นำในนโยบายหลายเรื่อง ซึ่งถ้าหากฝ่ายค้านมีการอภิปราย และมีหลักฐานที่เป็นความจริงนำมาแสดง อาจทำให้บรรดากลุ่มต่อต้านทักษิณ นำประเด็นดังกล่าวไปขยายผล เพื่อเคลื่อนไหวนอกสภาฯ และทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร” มีปัญหา
นั่นหมายความว่า “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” อาจตกอยู่ในสภาพ “พ่อทำพัง” ถ้า “ทักษิณ” ยังทำตัวเป็น “สายล่อฟ้า” เปิดศึกไปทั่ว เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
…………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”