วันเสาร์, มกราคม 4, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSตามลุ้น“เท้งเต้ง”ไร้สิทธิ์สู้“ศึกซักฟอก” ติด“บ่วง”ป.ป.ช.ลงดาบ“ยื่นแก้ม.112”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตามลุ้น“เท้งเต้ง”ไร้สิทธิ์สู้“ศึกซักฟอก” ติด“บ่วง”ป.ป.ช.ลงดาบ“ยื่นแก้ม.112”

ถือเป็นข่าวปลอบใจในช่วงส่งท้ายปีเก่า…ต้อนรับปีใหม่ หลังศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2567” จากการสำรวจที่ถามถึง บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้

ที่พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.85 ระบุว่าเป็น “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” (พรรคประชาชน) เพราะมีความมุ่งมั่นในการสานต่ออุดมการณ์ของพรรคและมีบทบาทที่เข้ากับคนรุ่นใหม่ อันดับ 2 ร้อยละ 28.80 ระบุว่าเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมุมมองทันสมัยในด้านการเมือง 

เมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.30 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 27.70 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย 

ก่อนหน้านั้น “นอร์ทกรุงเทพโพล” มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจประชาชนในหัวข้อ “นักการเมืองแห่งปี” ในประเด็น “ท่านเห็นว่า บุคคลใดที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นนักการเมืองแห่งปี2567” ในระหว่าง วันที่ 10-15 ธ.ค.67 จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,500 คน จากทั่วทุกภูมิภาคประเทศไทย ปรากฎว่า…แพทองธาร ชินวัตร 15.4%, ภูมิธรรม เวชยชัย 7.8%, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 7.5%, ศิริกัญญา ตันสกุล 7.3%, รักชนก ศรีนอก 6.8%, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 6.1%, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 5.5%, รังสิมันต์ โรม 5.3%, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 5% 

จะเห็นว่าผลสำรวจโพลนอร์ทกรุงเทพโพล “ณัฐพงษ์” คะแนนนิยมอยู่ลำดับ 9 ตามหลังแม้กระทั่งสส.พรรคประชาชน (ปชน) ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดียวกัน แต่ผลสำรวจ “นิด้าโพล” กลับออกมาตรงกันข้าม ซึ่งอาจเป็นเพราะสอบถามคนละฐานข้อมูล แต่น่าสังเกตว่า ผลการสำรวจนอร์ทกรุงเทพโพล สอดคล้องกับการตั้งฉายาของสื่อมวลชนสายรัฐสภา ที่มีต่อ “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

“ณัฐพงษ์” ได้รับฉายา “เท้งเต้ง” เพราะการทำงาน-พฤติกรรมของผู้นำฝ่ายค้านฯป้ายแดง ที่ถูกมองว่า ไม่โดดเด่นเท่าลูกพรรคหลายคน “ดูเคว้งเท้งเต้ง” ซ้ำยังเหมือนฝ่ายค้านพรรคเดียว แม้จะ “มีลุง” มาเสริมทัพ กลับไร้แนวร่วม เป็นฝ่ายค้านโดดเดี่ยวที่ไม่โดดเด่น เน้นรุกเสนอกฎหมาย มากกว่าตรวจสอบ จนถูกปรามาสสภาฯ ไร้ฝ่ายค้าน ประกอบกับบทบาทหัวหน้าพรรคฯมือใหม่ ที่ขาดเสน่ห์ ไร้บารมีผู้นำ ถูกเทียบชั้นกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล หนำซ้ำป้ายหาเสียง อบจ.ยังมีแต่ภาพ “พิธา” ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงมากกว่ารูป “หัวหน้าเท้ง” ซะอีก จึงเป็น “เท้งเต้ง” ลอยไปลอยมา

ส่วน “ดาวดับ” ในปี 2567 นี้ สื่อมวลชนประจำรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันที่จะมีผู้ได้รับตำแหน่งนี้ 2 คน ได้แก่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ “ธิษะณา ชุณหะวัณ” สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน โดยขยายความว่า “ธิษะณา” หลานปู่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของไทย แม้พรรคประชาชนจะผลักดันการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่กลับสวนทางกับผลงาน เพราะฟังการอภิปรายแล้วต้องอ้าปากค้าง ทั้งอ่านตัวเลขผิด และยังอินกับสิทธิเสรีภาพเกินเบอร์ ถึงขนาดให้รัฐบาลรับรองสิทธิชาวเมียนมาหนีสงคราม จนถูกโซเชียลหัวคะแนนออแกนิคของพรรค ทับถมเป็น #พรรคประชาชนพม่า และถูกแซวว่า เป็น “สส.ราชเทวี” หรือ “หงสาวดีกันแน่?” จึงสะท้อนว่า แม้พรรคฯจะสนับสนุนมาก แต่เจ้าตัวกลับดับโอกาสนั้นเอง

ต้องยอมรับ สื่อมวลชนสายรัฐสภาทำงานใกล้ชิดกับพรรคฝายค้าน ซึ่งใช้เวทีสภาฯมาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ดังนั้นจะเห็นบทบาทและความเคลื่อนไหวของนักการเมืองแต่ละคน โดยเฉพาะ “ผู้นำฝ่ายค้านฯ” เมื่อมีวิจารณ์ถึงภาพลักษณ์ “ณัฐพงษ์” จึงถือว่ามีน้ำหนักมากพอสมควร และสอดล้องกับความรู้สึกของหลายคน ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง

อีกทั้งหลังจาก “เท้ง” เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็นำทัพพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทุกสนาม ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ไล่ตั้งแต่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี ต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 1 จ.พิษณุโลก ซึ่งทั้ง 2 สนามเกิดภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล อันเนื่องมาจากมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112  โดยแกนนำพรรคฝ่านค้านคาดหวังว่า หลังผลคำวินิจฉัยดังกล่าว จะช่วยปลุกด้อมส้มให้ออกมาใช้สิทธิ์อย่างถล่มทะลาย เพื่อแสดงอาการไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผลกับตรงกันข้าม พ่ายแพ้แบบหมดสิทธิ์ลุ้น หรือล่าสุดการเลือกตั้งนายกอบจ.อุบลราชธานี ซึ่งพรรคสีส้มส่งคนลงสมัคร ก็พ่ายแพ้แบบไม่เห็นฝุ่น เรียกว่าทุกสนามไม่ว่าพลพรรคสีส้มจะส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือไม่ ก็ประสบความล้มเหลวมาตลอด

ก่อนหน้านั้น แกนนำพรรคประชาชนแถลงเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ. ในนามพรรค จำนวน 12 คน ประกอบด้วย เชียงใหม่-ลำพูน-มุกดาหาร-หนองคาย-ตราด-ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี-พังงา-สงขลา-สมุทรสงคราม-สมุทรปราการ-นนทบุรี พร้อมนำเสนอชุดนโยบาย 5 ด้านคือ น้ำประปาดื่มได้ น้ำเกษตรทั่วถึงตลอดปี, ขนส่งมวลชน ถนนทั่วถึง รถเมล์ตรงเวลา, สาธารณสุขบริการทั่วถึง อยู่ไหนก็ใกล้หมอ, อบจ.โปร่งใส ทำงานไวรับใช้ประชาชน, โรงเรียนคุณภาพ สอนทักษะอนาคตเรียนไปได้ใช้จริง จึงถือว่าเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ ไม่ว่าผลจะออกมาบวกหรือลบ ย่อมกระทบกับความเชื่อมั่นของ “ณัฐพงษ์” ซึ่งตั้งเป้าว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 70 ต้องได้ สส. 270 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ (250 เสียง) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เหมือนหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.66 ได้เสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ต้องตกอยู่ในสภาพแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เพราะมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

ทักษิณ ชินวัตร-แพทองธาร ชินวัตร

ขณะที่คู่แข่งสำคัญทางการเมืองอย่าง “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ก็ไม่ยอมอยู่นิ่ง นอกจากจะมีสถานะเป็นแกนนำรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี” ได้เปรียบในฐานะคุมกลไกอำนาจรัฐ ยังได้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ในฐานะบุพการีมาเป็นผู้ช่วยหาเสียง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งที่ผ่านมาล้วนประสบชัยชนะในทุกสนาม ทั้งยังประกาศว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องได้สส.เกิน 200 เสียง ซึ่งมีผลกระทบกับพรรคประชาชนโดยตรง ดังนั้นทั้งสองพรรคที่คาดหมายจะเป็นคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้ง “เพื่อไทย”และ “ประชาชน” คงไม่มีใครยอมใคร เพราะมีผลต่อนาคตและความเป็นไปทั้งสองพรรค แม้จะมีภารกิจร่วมกัน ในการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 60 ประสบความสำเร็จ แต่การมีสถานะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ถือว่ามีความสำคัญ

นอกจากนี้ แกนนำพรรคฝ่ายค้านยังมีกลไกที่จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยม คือการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดย “ณัฐพงษ์” ประกาศไว้แล้วว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแพทองธารในต้นปี 68 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชน ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลไปให้ ซึ่งถือเป็นการอภิปรายไม่วางใจพรรคเพื่อไทย เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาจนถึง “แพทองธาร” ดังนั้นหลายคนเลยเฝ้าติดตามการตรวจสอบครั้งนี้ จะมีน้ำหนักมาก-น้อยแค่ไหน เพราะช่วงพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน สมัย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ ก็เล่นบทฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบ จนได้สส.มาเป็นอันดับหนึ่งของสภาฯ ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นของพรรคประชาชนที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ จะทำหน้าที่ได้ดีเหมือนในอดีตหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังมี “กรรมเก่า” ตามมาหลอนแกนนำพรรคประชาชน ซึ่งมีสส.หลายคนในสมัยยังสังกัดพรรคก้าวไกล ลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

โดย “สาโรจน์ พึงรำพรรณ” เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรมร้ายแรง 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า “ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมหลักฐาน ใกล้จะแล้วเสร็จ คาดว่าเดือนม.ค.68 คณะอนุกรรมการไต่สวนฯจะสามารถสรุปสำนวน เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้ ซึ่งการสรุปสำนวนจะมี 2 แนวทาง หากเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ก็เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา หากเห็นว่า ไม่มีมูลเพียงพอ ก็จะสรุปสำนวนให้ข้อกล่าวหาตกไป”

ทั้งนี้ การพิจารณาจะดูข้อกล่าวหาประเด็นฝ่าฝืนจริยธรรม โดยดูพฤติกรรมของแต่ละบุคคลว่า มีส่วนรวมในการดำเนินการแตกต่างกันไป โดย ป.ป.ช.ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 44 คน ตามที่ถูกร้องเรียนจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด

“ป.ป.ช.จะไต่สวนในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย มีพฤติกรรมในการฝ่าฝืน ไม่ได้ระบุว่าทั้ง 44 คนนี้มีพฤติกรรมในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วใครมีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็ว่าเป็นรายๆ ไป” เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุชัด

นั่นหมายความในเดือนแรกของปี 68 บรรดา “44 อดีตสส.พรรคก้าวไกล” ซึ่งส่วนหนึ่งมาทำงานในนามพรรคประชาชน จะรู้ชะตากรรรมว่าจะมีบทสรุปอย่างไร ในที่สุดจะต้องถูก “พักการปฏิบัติหน้าที่” และอาจถูก “ลงดาบ” โดยคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งมี “ตัวตึง” ที่ติดร่างแหตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย เช่น “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ-ศิริกัญญา ตันสกุล-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร-รังสิมันต์ โรม-ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล”

บุคคลเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะ “ณัฐพงษ์” ซึ่งถือเป็น “ผู้นำพรรคสีส้ม” ซึ่งกำลังจะทำศึกครั้งสำคัญ ถ้าหากบทสรุปของป.ป.ช.ออกมาเป็นลบ ย่อมส่งผลกระทบกับการทำหน้าที่ในฐานะสส. อย่างแน่นอน เพราะเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือและการยอมรับ ในเมื่อจะทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่กลับมาถูกป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.61 ได้เริ่มมีการประกาศใช้ “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งกำหนดให้บังคับใช้กับ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย”

ทหากป.ป.ช.สรุปสำนวนคดี 44 สส.พรรคก้าวไกล แล้วมีมติให้ส่งฟ้องเอาผิด ต้องส่งฟ้องไปที่ “ศาลฎีกา” หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

ต้องมาลุ้นกันว่า ชะตากรรมของหัวหน้าพรรคสีส้ม จะเดินตามรอย “อดีตผู้นำคนก่อน” ตั้งแต่ยังสมัยยังใช้ชื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ต่อเนื่องมาถึง “พรรคก้าวไกล” และปัจจุบันใช้ชื่อ “พรรคประชาชน” ซึ่งมีจุดจบที่ไม่ดีหนัก ยิ่งกำลังเปิดศึกกับฝ่ายตรงข้าม ใช้มาตรการรุนแรงถึงขั้นต้องให้รัฐบาลมีอันเป็นไป หากมีหลักฐานชัดเจน แต่กลับต้องมา “ติดบ่วงกรรม” 

ท้ายที่สุด…บทสรุปจะเป็นอย่างไร จะมีผลกระทบกับการตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตาม!!!

…………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

                                                                                                                           

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img