ติดตาม แนวทางการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 256 และ เพิ่มเติมหมวด 15/1 ของ พรรคประชาชน (ปชน.) ทำให้นึกถึงช่วง “พรรคสีส้ม” มีนโยบายผลักดัน การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จนทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ช่วงเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต้องพลาดการเป็นนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และเกือบทุกพรรคการเมือง ก็ประกาศไม่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล จนทำให้ในที่สุด “พรรคเพื่อไทย” (พท.) พลิกโอกาสได้เป็นแกนนำรัฐบาลแทน
ท้ายที่สุดผลพวงจากการนำการแก้ไขกฎหมายที่มีไว้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสถาบัน ทำให้พรรคก้าวไกลต้องถูกยุบ ด้วยเหตุมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองฯ และเข้าข่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน จนแปลงสภาพมาเป็น “พรรคประชาชน” ในปัจจุบัน
ที่สุดบทสรุปของความพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาสู่การจัดตั้งสภาร่างรธน. (ส.ส.ร.) ก็อาจประสบความล้มเหลว เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สว. แม้จะใช้เสียงเพียง 1 ใน 3 คือ 67 คน รวมทั้ง “พันธมิตรทาการเมือง” ที่ครั้งแรกดูเหมือนจะจับมือเดินไปในเส้นทางเดียวกัน แต่ล่าสุดก็ทำท่า “สลัดมือทิ้ง”
ก่อนหน้านั้น “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ว่า “ได้คุยกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายไปแล้วว่า เรามีร่างรัฐธรรมนูญที่แก้รายมาตรา 17 ฉบับ และยังมีร่างที่แก้ทั้งฉบับของพรรคประชาชน โดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ์” สส.บัญชีรายชื่อ ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 และหมวด 15/1 เพื่อมี “สสร.” ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของประธานสภาฯ พิจารณาแล้ว และมีความเห็นให้ส่งมา เพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระ แต่ขอดูรายละเอียดโดยอาจจะมีร่างแก้ไขของพรรคการเมืองอื่นก็ได้ เราจะพิจารณาไปพร้อมกับร่างแก้ไขรายมาตราในวันที่ 14-15 ม.ค.68 ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ม.ค. จะเชิญวิป 3 ฝ่าย รวมถึงผู้แทนจากรัฐบาล หารืออีกครั้งว่าจะหยิบยกฉบับใดขึ้นมาพิจารณาก่อน”
ซึ่งผลพวงดังกล่าว เชื่อมโยงกับ “พริษฐ์ วัชรสินธุ์” ที่โพสต์ข้อความระบุว่า “ด่านแรก ทำสำเร็จแล้ว! ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. ให้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่ด้วยประชามติ 2 ครั้ง-จ่อคิวพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. โดยคณะกรรมการของประธานรัฐสภาได้เรียกไปให้ข้อมูล จึงได้นำเสนอหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมมา และชี้แจงต่อคณะกรรมการร่วมกับคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา (ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ) และตัวแทนภาคประชาชน ที่เห็นตรงกัน นำมาการตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรธน.เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา”
แต่ฟังสุ้มเสียงของ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ “ประธานวิปรัฐบาล” ที่ให้ความเห็นถึงข้อเรียกร้องของพรรคประชาชน ที่ต้องการให้นำร่างแก้ไข มาตรา256 และเพิ่มหมวด ส.ส.ร. ขึ้นมาพิจารณาในวันที่ 14-15 ม.ค.ว่า “ยังไม่สามารถสรุปได้แบบนั้น เพราะต้องหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลและ สว. ด้วย เพราะการทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน และหารือกันอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องพึ่ง สว.ด้วย ดังนั้นจะฟันธงให้เป็นแบบที่ต้องการไม่ได้ ต้องหารือร่วมกัน”
เช่นเดียวกับมือกฎหมายของรัฐบาล “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ตอบสื่อเมื่อถูกตั้งคำถามว่า มีเสียงหวั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่รับร่างของพรรคประชาชนว่า “เป็นเพียงแค่เสียง เราจะไปพูดถึงขนาดนั้นไม่ได้ รอให้มีการพิจารณาในรัฐสภาก่อน แล้วให้ว่ากันไปตามกระบวนการ ส่วนจะมีการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันไหนนั้น ต้องถามนายวิสุทธิ์ (ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล แต่ผมมองว่า หากจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 แล้วควรจะเปิดโอกาสให้พรรคอื่นร่วมเสนอด้วย แต่จะทันการพิจารณาวันที่ 14-15 ม.ค.ที่มีการกำหนดมาคร่าวๆ หรือไม่นั้น ไม่ทราบ ต้องไปฟังความเห็นของแต่ละฝ่ายด้วย ส่วนจะพิจารณาในวันที่ 14-15 ม.ค.หรือไม่ ต้องให้นายวิสุทธิ์เป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร”
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไป ไม่ยืนยันว่า จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14-15 ม.ค.หรือไม่ โดยโยนให้วิป 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล, พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ สว.พิจารณา ซึ่งการที่พรรคแกนนำรัฐบาลแสดงจุดยืนไม่แน่ชัด อาจเป็นเพราะเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนที่ถูกมองว่า “สุดโต่งจนเกินไป” และมีความอ่อนไหว มีความเชื่อมโยงกับ “สถาบัน”
ขณะที่ สำนักงานเลขาธิการสภา ได้เผยแพร่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ยื่นต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค.67 โดยสาระสำคัญระบุในเหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ถูกรับรองโดยกระบวนการประชามติ ที่ไม่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย จึงสมควรแก้ไข”
โดยสาระที่แก้ไขสำคัญ ได้แก่ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และแทนที่ด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน
นอกจากนั้น ได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯถวาย ในมาตรา 256 (8) ในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ รวมถึงได้แก้ไขความในมาตรา 256 (9) ที่กำหนดสิทธิให้ สส. สว. หรือสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรธน.ให้ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) เดิมใช้เกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่ได้ปรับลดเหลือ 1 ใน 5
ขณะที่ หมวด 15/1 ซึ่งเพิ่มใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยกติกาบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นเลือกแบบเขต 100 คน และเลือกแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ร. อาทิ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีสัญชาติไทย ส่วนลักษณะต้องห้ามลงสมัครนั้น กำหนดไว้ 13 ข้อ โดยได้นำบทบัญญัติการห้ามลงสมัคร สส.มาบังคับใช้ ยกเว้นข้อห้ามที่ระบุว่า อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน และเพิ่มเติมคือ ห้ามข้าราชการการเมืองลงสมัคร รวมถึงเป็น สส. สว. รัฐมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
สำหรับ การทำงานของ ส.ส.ร. นั้น ยังกำหนดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน นับจากวันประชุมนัดแรก ส่วน กมธ.ยกร่างฯนั้น ได้เสนอให้มี 45 คน มาจากการแต่งตั้งบุคคลที่เป็น ส.ส.ร. 2 ใน 3 หรือ 30 คน และกมธ.อื่นประมาณ 15 คน โดยสามารถตั้งจาก ส.ส.ร.หรือไม่เป็นก็ได้ ส่วนขั้นตอนการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น “พรรคประชาชน” กำหนดไว้ว่า ต้องให้เสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการลงมติ ภายใน 7 วัน เมื่อเสร็จสิ้นให้ กกต.นำไปออกเสียงประชามติภายในเวลา 90-120 วัน พร้อมกำหนดการตั้งคำถามประชามติด้วยว่าต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย
หลังจากเนื้อหาในการแก้ไขถูกเผยแพร่ ก็ถูกวิจารณ์ทันที ทั้งมาตรา 256 หลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการ “วาระแรก” และเสียงเห็นชอบใน “วาระสาม” ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา” ที่มีอยู่ก็แก้ โดยตัดเสียงเห็นร่วมด้วย “ของ สว.” ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทิ้งไป โดยเปลี่ยนเป็น “เสียงเห็นชอบจาก สส.” ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน อีกทั้ง ตัดเงื่อนไขการออกเสียง “ประชามติ” ก่อนทูลเกล้าฯถวาย ในมาตรา 256 (8) กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ส่วน ลักษณะต้องห้าม ของผู้ลงสมัครเป็น ส.ส.ร. พรรคปชน. นำบทบัญญัติการห้ามลงสมัคร สส.มาบังคับใช้ แต่มี “ข้อยกเว้น” ให้คนที่อยู่ระหว่างต้องห้าม ไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คนที่อยู่ระหว่างถูกระงับ “การใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” เป็นการชั่วคราว -คนที่ “ถูกเพิกถอนสิทธิ” สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ได้รับการ “ยกเว้น” ด้านคุณสมบัติผู้สมัครเป็น .ส.ส.ร. ก็ถูกวิจารณ์ว่า ต้องการเปิดทางให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) , นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วาณิช รวมทั้งกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) อนค. ที่ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ได้ รวมทั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธวัช ตุลาธน และ กก.บห.พรรคก.ก. ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ได้ เท่ากับเปิดทางให้พรรคพวกเพื่อนพ้อง เข้ามามีส่วนในการร่างกฎกติกาในการปกครองประเทศ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้พรรคปชน.
ด้านความเห็นของสมาชิกสภาสูง “พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์” สว. กล่าวถึงงจุดยืนต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของพรรคประชาชนว่า “หากการแก้ไขมาตรา 256 ไปแตะ (8) ซึ่งเกี่ยวกับหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย และมองว่าต้องทําประชามติก่อน ทั้งนี้ยังเชื่อว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ”
เช่นเดียวกับ “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” สว. ที่แถลงจุดยืนในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนว่า “การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ซึ่งเดิมกําหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ร่างที่แก้ไขใหม่ ได้เสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และเพิ่มเติมด้วย เสียงเห็นชอบจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน รวมถึงเรื่องการตัดเงื่อนไขการนําไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 256 (8) นั้น ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรานี้ เพราะถือเป็นการตัดทอนอํานาจของ สว.ลงอย่างชัดเจน อาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่าง 2 สภา และที่สำคัญรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 (15) เดิมได้บัญญัติ ชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา”
“นพ.เปรมศักดิ์” กล่าวด้วยว่า “ยังไม่เห็นด้วย เพราะต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาล หรือองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงจะต้องไปแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เห็นควรว่า ไม่ควรไปแตะต้องเลย เพราะจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง”
ด้าน “ธนกร วังบุญคงชนะ” รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ สส.บัญชีรายชื่อ ให้ความเห็นกรณีพรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า “ถือเป็นการริบอำนาจ หรือตัดทอนอำนาจของสว.ลงอย่างชัดเจน จะเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้น ระหว่างสองสภาอย่างแน่นอน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ มาตรา 156(15) ได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด ขอคัดค้านในการเสนอร่างแก้ไขของพรรคประชาชน ได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ มาตรา 256 (8) ในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระนั้น ในฐานะสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนการเสนอของพรรคประชาชน ที่เสนอให้ไม่ต้องจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯนั้น สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนุญ ที่ 4/2564 วินิจฉัย เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถึง 3 ครั้ง
“หากพรรคประชาชนดันทุรังอาจสุ่มเสี่ยงที่ผู้เสนอร่าง และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ อาจถูกร้องเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งเกี่ยวโยงปัญหาสมาชิกรัฐสภา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และอาจถูกส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถอดถอนด้วย เชื่อว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบทั้งสองสภา ที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาล ย้ำจุดยืนเดิมชัดเจนมาตลอดว่า แก้รธน.ได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1-2” ธนกร กล่าวย้ำ
จับสัญญาณบางพรรคการเมือง และสว. เชื่อว่าร่างของพรรคประชาชนคงยากที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และยังช่วยตอกย้ำรูปแบบการทำงานของพรรคสีส้มอีกครั้ง ที่ไม่ยอมแสวงหาความร่วมมือ ยึดถือแต่ความต้องการของพรรคพวกตัวเองเป็นใหญ่
แม้จะได้เคยได้รับบทเรียนจากการนำการแก้ไขมาตรา 112 ไปใส่ไว้ในนโยบายพรรคก้าวไกล จนถูกยุบพรรค จึงเชื่อได้เลย ถ้ายังคงรูปแบบและแนวคิดแบบเดิม ในอนาคตอาจต้องเจอ “วิบากกรรม” ไม่จบไม่สิ้น และยากกับการได้มีโอกาส เข้ามาทำงานในฐานะ “คุมกลไกรัฐ” เพราะสายตาของหลายคนมองว่าเป็น “พรรคอันตราย” ที่อาจเข้ามา เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ โดยไม่คำนึงขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งหลักการปกครองและวิถีทางการเมือง
………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”