วันพุธ, มกราคม 22, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“ที่ดินอัลไพน์”ปมร้อนไม่มีวันพัก เมื่อนิติกรรมผิด-ย่อมไร้สิทธิ์“ได้ชดเชย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ที่ดินอัลไพน์”ปมร้อนไม่มีวันพัก เมื่อนิติกรรมผิด-ย่อมไร้สิทธิ์“ได้ชดเชย”

เชื่อว่าหลายคนคงมองว่า ถ้า “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ยอมรับในข้อกฎหมายและกฎกติกา ที่เกี่ยวข้องกับ “ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์” กระทรวงมหาดไทยคงไม่กล้าลงนามเพิกถอน ที่ดินดังกล่าวให้กลับไปเป็น “ที่ธรณีสงฆ์”

หลัง “ชํานาญวิทย์ เตรัตน์” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯ และนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนต่อจากนี้ “กรมที่ดิน” จะต้องดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ

จากนั้น ต้องแจ้งไปยัง จ.ปทุมธานี เพื่อให้สำนักงานที่ดิน จังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ดำเนินการตามหมายเหตุ การเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน และขาย รวม 2 โฉนด ในโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมทั้งโฉนดที่ดินแปลงแยกที่ออก ให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ “ยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” เจ้ามรดก ที่มี มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยฯ ในฐานะ ผู้จัดการมรดก สามารถจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมของ “นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อที่ดินตกเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว วัดสามารถนำที่ดินดังกล่าวให้ผู้ครอบครองคนปัจจุบันเช่า หรือออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อโอนสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองคนปัจจุบันหรือโอนที่ดินโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 ข้อ 6

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน และโฉนดที่ดินตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้อง พร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทย/กรมที่ดิน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้

ถ้าย้อนที่มาเรื่องของที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เริ่มต้นจาก “นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 924 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2512 จนกระทั่ง ในวันที่ 31ส.ค.2533 ที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ได้ถูกขายในราคา 130 ล้านบาทและโอนให้กับ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือ “ชูชีพ หาญสวัสดิ์” และ “อุไรวรรณ เทียนทอง” ภริยานายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรมช.มหาดไทย กำกับดูแลกรมที่ดิน

จากนั้นในปี 2540 ที่ดินผืนนี้ ถูกขายต่อในราคา 500 ล้านบาทให้ “คุณหญิงพจมาน ชินวัตร” ภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)

สำหรับ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย 1.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ 7,470,000 หุ้น และ 22,410,000 หุ้น รวม 29,880,000 หุ้น 2.พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) 22,410,000 หุ้น (30%) 3.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ (เอม) 22,410,000 หุ้น (30%) รวมทั้งหมด 74,700,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

โดยก่อนหน้านั้น “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ได้โอนหุ้นจำนวน 22,410,000 หุ้น ให้ “คุณหญิงพจมาน” ผู้เป็นมารดา ซึ่งการเคยถือครองหุ้นดังกล่าว ก็นำมาสู่การยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวน เพื่อตรวจสอบว่ากระทำผิดจริยธรรมหรือไม่ เพราะที่ดินดังกล่าวถือเป็น “ที่ธรณีสงฆ์”

นอกจากนี้ผลสืบเนื่องจากแปลง “ที่ธรณีสงฆ์” ให้เป็น “สนามกอล์ฟ” ยังส่งให้ “ผู้ที่เกี่ยวข้องบางคน” ต้องถูกจำคุก โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” อายุ 78 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหา “ยงยุทธ” จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา 

แม้จำเลยได้ยื่นขออนุญาตฎีกา ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ตามมาตรา 42, 44, 46 ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา แต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดก็ยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า “ในช่วงปี 2545 ปรากฎข้อเท็จจริงว่าภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งหลังจากนั้นก็พบว่าจำเลยได้รับดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยจนเกษียณราชการ และยังได้รับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ในยุครัฐบาลนายทักษิณ”

โดยก่อนหน้านั้นกรมที่ดิน ได้เคยประเมินค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาดโดยการประมาณ และทุนทรัพย์จำนองอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์ตามมูลค่าตลาดประมาณ 7,228 ล้านบาท และทุนทรัพย์จำนอง 439.05 ล้านบาท ปัจจุบันเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์ มีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย

ขณะที่ “พรพจน์ เพ็ญพาส” อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการกรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ภายหลังเซ็นเพิกถอนให้กลับคืนเป็นที่ธรณีสงฆ์ ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้หรือไม่ว่า “มีขั้นตอนดำเนินการอยู่ หากเรื่องมาถึงกรมที่ดิน สิ่งแรกที่ต้องทำ จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบคำสั่งเพิกถอนดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรเป็นสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ซึ่งตามราคาประเมินสูงถึง 7.7 พันล้านบาท จะนำงบส่วนไหนมาจ่ายค่าชดเชย อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า “ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง รวมถึงอยู่กับคำตัดสินของศาล ว่ามีผลอย่างไร ซึ่งจากรายละเอียด และหลักฐานค่อนข้างเยอะ คาดว่าการฟ้องร้องจะต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งนี้ ตามหลักการในเรื่องงบประมาณของระบบราชการ หากไม่มีแผนงานโครงการรองรับไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ เพราะกรมฯไม่ได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ อาจมีการขอในแผนงานงบประจำปี แต่ถึงอย่างไรขณะนี้ยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้”

ทักษิณ ชินวัตร

ส่วน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ในฐานะที่ “ครอบครัวชินวัตร” ครอบครองที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ให้ความเห็นถึงคำสั่งเพิกถอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์​ให้กลับคืนเป็นที่ธรณีสงฆ์​ว่า “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ถ้ามีการบอกให้เพิกถอน แล้วจะอย่างไรต่อ ก็ต้องว่าตามกฎหมาย เพิกถอนแล้วใครเป็นเจ้าของที่ จะเป็นวัดหรือไม่ แล้ววัดจะเอาอย่างไร จะชดเชยความเสียหายผู้ซื้อที่บริสุทธิ์อย่างไร”

“ในฐานะที่เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ เอาอย่างไรก็เอา จะได้จบๆ เสียที คาราคาซังน่ารำคาญ และหากมีการถอนสิทธิ์จริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะหลักการคือ ถ้าเป็นของกรมที่ดิน ก็ต้องชดเชยความเสียหายที่รับโอนอย่างไม่ถูกต้อง หรือหากเป็นของวัด ต้องถามว่า วัดจะชดเชยค่าเสียหายหรือให้เช่าต่อ คนเราถ้ารักษากติกาและไม่ยึดติดอะไร อย่าไปยึดติด ทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกา สิทธิของผู้เสียหายมีอย่างไรบ้างก็ว่ากันไป ในเมื่อรัฐใช้อำนาจตรงนี้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าเสียหาย อย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่ เราชอบเอาเรื่องเล็กไปมองเป็นเรื่องใหญ่ ความจริงไม่มีอะไรใหญ่ ยืนยันว่าได้มาอย่างสุจริต เพราะซื้อต่อมา” ทักษิณ ระบุชัด

แต่ความเห็นของ “ถาวร เสนเนียม” อดีตรมช.มหาดไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ให้ความเห็นกรณีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุ “ยอมรับเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์” ถ้ากรมที่ดินรับโอนที่ดินไม่ถูกต้องก็ต้องจ่ายค่าเสียหายว่า “เมื่อครั้งที่นายเสนาะ เทียนทอง และพวกได้เอาที่ดินของวัดมาทำเช่นนี้ พวกเขามีวัตถุประสงค์ทำนิติกรรมที่มีความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

“ดังนั้น กรณีนี้นายทักษิณไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่วัดต่างหาก ที่ต้องเรียกค่าเสียหาย เพราะนายทักษิณนำพื้นที่ของวัดไปแสวงหาผลประโยชน์ ที่เรียกว่า “ลาภมิควรได้” ฉะนั้นอย่าข่มขู่คุกคาม จะบอกว่า ไม่มีใครกลัวแล้ว ชีวิตของนายทักษิณไปรับสารภาพไว้ตลอด อย่างน้อย 4-5 คดีที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก และคดีนี้ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ คดี หากนายทักษิณบอกว่าเสียหาย ก็ต้องไปพิสูจน์อีกหลายคดีว่า กรณีนี้ที่เสียหายเกิดจากการกระทำของกรมที่ดินหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทุจริตร่วมด้วย ก็ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นๆ” ถาวร ย้ำชัดเจน

เมื่อถามว่า ทางกรมที่ดินประเมิน จะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ประมาณ 7.7 พันล้านบาท “ถาวร” เผยว่า “ถ้าอธิบดีคนใดจ่าย ก็ติดคุก อยู่ๆ ไม่มีอำนาจจ่ายได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าเอาเงินหลวงไปจ่าย ก็ติดคุกเอง เข้าตามมาตรา 150 ถ้าจะเล่นบท “มวยล้มต้มคนดู” เขาเรียกร้องมา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐนำเงินไปจ่าย ถามว่าเอาเงินจากไหน ถ้าตั้งงบประมาณแผ่นดินไปจ่ายเรื่องนี้ ก็ติดคุกกันทั้งสภา ถ้าผ่านกฎหมายงบประมาณ เรื่องนี้หากนายทักษิณเรียกร้อง กรมที่ดินต้องปฏิเสธ ต้องดูก่อนว่า การกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ และขัดศีลธรรมอันดีหรือไม่ เมื่อเรื่องนี้เป็นโมฆะกรรมจะเรียกร้องอะไร มันคือความสูญเปล่า ที่สำคัญคือการสมคบกันเอาที่ดินหลวง”

เช่นเดียวกับ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีแนวคำวินิจฉัยการเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า “แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือ ที่ดินที่ได้มาโดยมรดก ต้องทำเป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนด เมื่อต้องการให้ตกแก่วัด ก็ต้องตกแก่วัด ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทย ว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งก็ต้องไปว่ากันอีกรอบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบว่า มีการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอะไรหรือไม่

ดังนั้นการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ครอบครองที่ดินอัลไพน์ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีบางคนท้วงติง ยิ่ง “ถาวร เสนเนียม” เป็นนักกฎหมาย เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ จนทำให้มีคนกระทำความผิดต้องรับโทษ โดยหยิบยกประเด็นเมื่อมีวัตถุประสงค์ทำนิติกรรมที่มีความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “นิติกรรมที่เป็นโมฆะ” ตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “ทักษิณ” ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ “วัด” ต่างหากที่ต้องเรียกค่าหายจาก “ทักษิณ” อดีตนายกฯจะโต้แย้งข้อกฎหมายอย่างไร เพราะหลายคนคงยากจะเชื่อ “ทักษิณ” ไม่รู้ที่ไป-ที่มาของที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์

นอกจากนี้ยังมีคนไปยื่นร้องให้ตรวจสอบ “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” ว่ากระทำผิดจริยธรรมหรือไม่ เพราะเคยถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ก่อนจะโอนให้คุณหญิงพจมานถือหุ้นแทน

คงต้องรอดูบทสรุปจะจบอย่างไร แต่น่าสังเกตว่า “ที่ธรณีสงฆ์” ที่กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง หลังเรื่องราวเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2512 ผ่านมา 56 ปี และกำลังกลายเป็นสภาพเดิม แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้น ช่วยตอกย้ำว่า อะไรที่เป็นความไม่ถูกต้อง แม้จะผ่านมากี่ปี ก็ยากที่จะทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายไปได้

………………………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img