ไม่บ่อยครั้งนัก จะได้ยิน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาแสดงอาการไม่พอใจพรรคร่วมรัฐบาล แต่การแสดงออกในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ก็เป็นเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาเกิดขึ้น กับฝ่ายบริหารจริง
สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ในที่ประชุมครม. ส่วนใหญ่หารือถึง มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แต่มีบางช่วงได้มีการพูดถึงบรรยากาศในการประชุมสภาพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ (พ.ร.บ.) รายจ่ายประจำปีประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรารภเชิงตัดพ้อ น้อยใจ กรณีมีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำงบประมาณว่า “ขอให้ช่วยๆ กัน ตรงไหนเกี่ยวข้องก็ให้ช่วยเร่งตอบ ปากก็ว่าโอเค แต่ปล่อยให้ลูกพรรคซัดโครมๆ“
ช่วงหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกกับ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข(สธ.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ให้ช่วยชี้แจงรายละเอียดงบประมาณกระทรวง สธ. ที่ถูกตัดไปว่าเป็นส่วนไหนอย่างไร และให้บอกด้วยว่าในงบฯพ.ร.ก.กู้เงิน สธ.ได้งบตรงไหนอย่างไรบ้าง???
ถ้าย้อนไปไล่เรียง ที่ไปที่มาของความไม่พอใจส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล เริ่มตั้งแต่ “นายชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี ภท. อภิปรายว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ เป็นการทำงบที่ ไม่ให้เกียรติพี่น้องประชาชน เพราะในสถานการณ์โควิด-19 สำนักงบประมาณตัดงบของกระทรวงสาธารณสุข ลงแทบทุกกรมทุกส่วน ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 คนที่ดูแลประชาชนคือสาธารณสุข ท่านบอกว่าจะไปใช้งบกลาง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เปรียบเหมือนส่งทหารไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ
แต่เป็นประโยคสำคัญอยู่ที่ “สำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภท. เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ” นายชาดากล่าว
ขณะที่ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล อีกพรรคหนึ่ง “นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. อภิปรายตอนหนึ่งว่า ถ้าจะบอกว่ากฎหมายฉบับนี้คือเลือดที่จะเข้าไปปั้มหัวใจภาคเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้หายใจโรยริน การแจกเงินก็ถือเป็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการคือ การอัดฉีดเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาใน 2 ภาคส่วน 1.ภาคเศรษฐกิจจริง คือ ภาคผลิตและภาคบริการ และ 2.ภาคเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเมื่อดูงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวต้องบอกว่ายังไม่ตอบโจทย์
“เอสเอ็มอีในประเทศมี 3 ล้านกว่าราย จ้างงาน 12 ล้านราย ตอนนี้เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของประเทศที่ กำลังบาดเจ็บสาหัส ซึ่งตามแผนเงินของพ.ร.บ.งบประมาณ จัดสรรไว้เพียง 5.31 หมื่นล้านบาท หรือ 1.72 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณทั้งหมด เหมือนเอายาแดง ไปทาแผลปฐมพยาบาล แต่ยังมองไม่ออกว่าจะต่อชีวิตหรือรอดชีวิตได้อย่างไร” นายอิสระ กล่าวและว่า สำหรับภาคเศรษฐกิจฐานราก ในกฎหมายนี้มีแผนทำหลายเรื่อง เขียนไว้อย่างสวยหรู แต่มีงบประมาณให้เพียง 1.64 พันล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วพันกว่าล้านบาท ก็ยังมองไม่ออกว่า จะต่อชีวิตได้อย่างไร
ถ้าติดตามข่าวจะทราบว่า สัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย.มีการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณฯวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท จากนั้นสัปดาห์ถัดไป พระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 เพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับมีความสำคัญมาก ส่งผลถึงความอยู่รอดของรัฐบาล ในช่วงเผชิญภาวะวิกฤติ
ลองขนาดมือกฎหมายรัฐบาล “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาอธิบายว่า ร่างพ.ร.ก.เงินกู้ เป็นเรื่องที่สำคัญ กว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ถ้าพรก. ซึ่งถือเป็นกฎหมายการเงินไม่ผ่านเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายกฯต้องยุบสภา ถือเป็นธรรมเนียม
บางพรรคร่วมรัฐบาลอาจคิดว่า ช่วงเวลานี้เป็นห่วงเวลาสำคัญ ที่จะมีอำนาจต่อรองมากที่สุด ยิ่งการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาฯ ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าภายใต้รหัส “ไทยไม่ทน” ที่มี “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.เป็นหัวเรือใหญ่ มี นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนเดือนพฤษภาฯ ร่วมขบวน ประสานเสียงกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาลลาออก ทั้งยื่นเงื่อนไขให้ภท.ถอนตัวออกจากรัฐบาล ฝ่ายค้านพร้อมเทเสียงส.ส.ให้ “นายอนุทิน” เป็นนายกฯ
ถ้าไปเช็คเสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาฯ มีจำนวน 275 เสียง ภท.มีส.ส.รวม 61 คน หากตัดพรรคการเมืองออกไป จะเหลือเพียง 214 เสียง และถ้าภท.ย้ายขั้วไปร่วมงานกับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะช่วยเพิ่มเสียงให้กลุ่มอำนาจเก่า จากเดิมที่มี 212 เสียง บวกภท. 61 เสียง ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเสียงเพิ่มเป็น 273 เสียง มีเสียงข้างมากในสภาฯทันที แต่ถ้ามาถึงจุดนั้น หลายคนเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” คงตัดสินใจยุบสภาฯ คงไม่ยอม ให้เกิดการพลิกขั้ว แน่ๆ
แม้แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเชื่อว่า ภายหลังการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ และ พรก.เงินกู้ พรรคร่วมอาจตัดสินใจถอนตัวออกจากรัฐบาล “นายสุทิน คลังแสง” แกนนำพท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ให้ความเห็นถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯว่า จะทำให้เขาสร้างความตระหนักและเราหวังผลว่าจะได้รับการแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) และในวาระ 2-3 ซึ่งมติที่ไม่รับนั้น เป็นการสอดคล้องกันของทุกพรรคฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตามการที่เราจะคว่ำเราก็ต้องดูและฟังคำชี้แจง แต่ก็ไม่แน่ตน ได้ฟังจากส.ส.ของรัฐบาลหลายพรรคก็ไม่เห็นด้วย อึดอัดกับการแจกงบประมาณ ฉะนั้นจะถึงขั้นที่เขาจะคว่ำงบด้วยหรือเปล่า เท่านั้นเอง ว่าเขาจะเลือกเอามารยาทหรือเลือกเอาประชาชน
แล้วก็เป็นไปอย่างที่ “นายสุทิน” บอกว่า ถ้าจับเนื้อหาการอภิปรายของส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เน้นไปในทาง โจมตีรัฐบาล ชี้การจัดงบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ไม่ให้สำคัญกับการการศึกษาและสาธารณสุข และเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากการบริหารงานผิด จากการรับมือไวรัสร้ายโควิด-19
ก่อนหน้านั้น สมาชิก. “ภท.” หลายคน ต่างแสดงออกต่างกรรมต่างวาระ ในทำนองไม่พอใจหัวหน้ารัฐบาล หลัง “พล.อ.ประยุทธ”์ ขอรับบท “ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.” รวบอำนาจแบบ SINGLE COMMAND ผลักดันมติครม. ให้โอนอำนาจของบรรดารัฐมนตรี มาเป็นอำนาจหน้าที่ของตัวเอง
ส่งผลทำให้บรรดารัฐมนตรีที่เหลือทั้งหมด มีสภาพเป็นเพียงแค่ไม้ประดับ แม้กระทั่ง “นายอนุทิน” ก็อาจรู้สึกว่า ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินในประเด็นสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกับการรับมือเชื้อไวรัสร้าย ยึดอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ “ผอ.ศบค.” แถมหลายครั้งหลายหน การสื่อสารของหัวหน้ารัฐบาล ยังเหมือนต้องการหักหน้า หัวหน้าภท.
ทั้งเรื่องการกระจายวัคซินไปถึงประชาชน จากรูปแบบน “วอล์กอิน” มาเป็น “ออนไซต์” รวมทั้งการชะลอการลงทะเบียนด้วยรูปแบบหมอพร้อม เปลี่ยนมาใช้ การลงทะเบียนช่องทางผ่านเว็บ www.ไทยร่วมใจ.com รับลงทะเบียนผ่านร้านสะดวกซื้อหลายค่าย พร้อมจัดที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล และให้แต่ละจังหวัดเปิดลงทะเบียน ตามรูปแบบของตนเอง
จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า “พล.อ.ประยุทธ์” พอใจกับการทำงานรวมกับ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อันเนื่องมาจากเติบโต มาจากระบบราชการ ด้วยกัน การสั่งการทำได้ง่าย ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีปัญหาการเมืองมาเป็นอุปสรรค เลยส่งให้บางพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ
ขณะที่ “ปชป.” แม้จะยังไม่มีปมขัดแย้งกับกับหน้ารัฐบาลอย่างรุนแรงมากหนัก แต่การแย่งชิงฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ และเมืองหลวงกับ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ก็มีส่วนทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาล ใครติดตามการเมืองก็ประเมินได้ว่า ยิ่งพรรคแกนนำรัฐบาลโตมากขึ้นเท่าไหร่ พรรคเก่าแก่ก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นนั้น
แต่ถ้า “ปชป.” จะตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการร่วมรัฐบาลกับ พปชร. ฝ่ายบริหารต้องผลักดันให้แก้ไขรธน. เป็นที่ยอมยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในอนาคต
แต่ไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะได้ไปต่อในฐานะหัวหน้ารัฐบาล อีกนานเท่าไหร่ คงต้องนมาทบทวน รูปแบบการทำงาน เปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลได้โชว์ผลงานในช่วงเกิดสภาวะวิกฤติ การเชื่อมั่นในระบบราชการจนมากเกินไป ในที่สุดก็ตกอยู่ในสภาพ หมู่บ้านกระสุนตก ต้องร้องหาตัวช่วย คงเริ่มรู้ว่าวันนี้ไม่ใช้ หัวหน้าคณะปฏิวัติ แปลงสถานะตนเองเป็นนักการเมืองเต็มรูปไปอยู่ จะสั่งซ้ายหันขวาหันอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
………………………………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย “แมวสีขาว”