ผ่านพ้นไปเรียบร้อย การทำศึก เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา บทสรุปที่เกิดขึ้นเกือบทุกพรรคการเมือง ต่างได้ตัวแทนเข้าไปทำงานอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ก็ทิ้งร่องรอยให้หลายฝ่ายได้ตามกันต่อ
แต่ที่แน่ๆ พรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ซึ่งมีสถานะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้มาถึง 10 เก้าอี้ จากการส่งลงชิง 16 จังหวัด รวมทั้งได้ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมี มาเป็น “ผู้ช่วยหาเสียง” ลงไปปราศรัยในหลายพื้นที่ ที่มีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ซึ่งผลลัพธ์มีทั้งบวกและลบ
โดยจังหวัดที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายคือ “ศรีสะเกษ-ลำพูน-เชียงราย” ที่ต้องพ่ายแพ้ให้ผู้สมัครที่มีความใกล้ชิดกับ “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) ส่วน “จ.ลำพูน” ซึ่งผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เป็นแชมป์เก่ามาหลายสมัย แต่บทสรุปที่เกิดขึ้น ที่นั่งเก้าอี้นายกอบจ. กลับตกเป็นของ “พรรคประชาชน” (ปชน.) ซึ่งเป็นเพียงเก้าอี้เดียว ทั้งๆ ที่ส่งทั้งหมด 15 จังหวัดที่พรรคสีส้มมีมติส่ง
สำหรับผลเลือกตั้งนายกอบจ. พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ 10 ที่นั่ง รองลงมาเป็นพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 9 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) 2 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ (ปช.) 2 ที่นั่ง, พรรคกล้าธรรม (กธ.) 2 ที่นั่ง และ พรรคประชาชน 1 ที่นั่ง
แต่เหนือกว่านั้นคือ ผลจากความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งนายกอบจ. ทำให้ “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” เห็นรอยร้าว และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรค ถึงกับออกมาปรารภช่วงหนึ่ง ในระหว่างการประชุมพรรค เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยกล่าวกับสส.ว่า “เลือกตั้งนายก อบจ.มีแพ้ มีชนะ ครั้งนี้พรรคทำเต็มที่ พยายามประสานความเห็นที่แตกต่าง ทำให้เหนื่อยในการเคลียร์ อยากให้ปล่อยวางเพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ และเป็นผลดีกับเรา ถ้ารวมใจกันชนะได้ เหมือนบางจังหวัดที่เรารวมกันได้ก็ชนะ แต่จังหวัดที่มีความขัดแย้ง เพราะไม่ยอมกัน เราแตกสามัคคี ดังนั้นอยากให้ทุกคนปล่อยวาง ลดตัวตนของตัวเอง ความคิดความอ่านเพื่อให้เห็นแก่พรรค แก่ส่วนรวม บางจังหวัดแยกกันสามสี่ก๊วน ทำให้งานลำบาก พรรคต้องคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น คือพรรคได้รับผลบกระทบ เพราะไม่ได้นายก อบจ.ตามเป้า ดังนั้นอยากให้ทุกคนสามัคคีกัน เพราะจะกระทบกับการเลือกตั้งใหญ่”
คำถามคือพื้นที่ไหนที่มีปัญหา??? จนทำให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยต้องนำเรื่องไปพูดในที่ประชุมพรรค ซึ่งหากตรวจสอบข่าวจากสื่อ น่าจะเป็นพื้นที่ จ.เชียงราย โดย “สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช” ภริยานายยงยุทธ ติยะไพรัช คนทำงานใกล้ชิดนายทักษิณ ที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับกับ “อทิตาธร วันไชยธนวงศ์” ที่พรรคภูมิใจไทยให้การสนับสนุน ทั้งที่ “ทักษิณ” ลงพื้นที่ไปช่วยปราศรัยหาเสียง แต่ “สลักจฤฎดิ์” ได้ 230,262 คะแนน ส่วน “อทิตา” ได้ 249,845 คะแนน สำหรับการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่จ.เชียงราย มีพรรคเพื่อไทยได้สส. 4 ที่นั่ง โดยตระกูล “ติยะไพรัช” และ “เตชะธีราวัฒน์” ยังเหนียวแน่น ขณะที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ 3 เก้าอี้
หลังผลเลือกตั้งปรากฏออกมา มีข่าวว่า ทางพรรคเพื่อไทยมีการตรวจเช็กคะแนน กันแบบ “อำเภอต่ออำเภอ” ที่เชียงราย พบว่า ในบางอำเภอที่มีการแบ่งโซนรับผิดชอบพื้นที่อย่างชัดเจนคือ อำเภอเมือง ที่รับผิดชอบโดยบ้านใหญ่เชียงรายตระกูล “จงสุทธานามณี” ที่มี “วันชัย จงสุทธานามณี” เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และ “ร.ต.อ.ธนรัช จงสุทธานามณี” หรือ “ต้นน้ำ” ลูกชายนายวันชัย ที่มีตำแหน่งเป็น เลขานุการ รมว.คลัง-อดีตผู้สมัคร สส.เชียงราย เขต 1 พรรคเพื่อไทย ปี 2566 กับ อำเภอเชียงของ ซึ่งรับผิดชอบโดย “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ และสส.เชียงราย 6 สมัย พบว่า ทั้ง 2 อำเภอ คะแนนไม่เข้าเป้าตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีการมองกันว่า หากคะแนนเข้าเป้า ไม่หายไปเยอะ ก็น่าจะทำให้ “สลักจฤฎดิ์” มีโอกาสชนะ ซึ่งทราบกันดีว่า “บ้านใหญ่เชียงราย” ที่มีอยู่ประมาณ 5 กลุ่ม ที่มีคนในตระกูลอยู่ในการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
โดยในส่วนของ บ้านใหญ่ “จงสุทธานามณี” เป็นที่รู้กันว่า ไม่ลงรอยกับตระกูล “ติยะไพรัช” มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาต่อสู้กันตลอด ทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น แต่เลือกตั้งปี 2566 กลุ่มจงสุทธานามณี ยกทีมเข้าพรรคเพื่อไทย ภายใต้การเห็นชอบ และผลักดันจาก “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวนายทักษิณ ซึ่งก็มีปัญหาขัดแย้งกับ “ยงยุทธ” เพราะแย่งกันมีบทบาทในการดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แต่ก็ยังไปเอากลุ่มจงสุทธานามณี มาอยู่พรรคเดียวกัน แถม “วันชัย” ยังผลักดันให้พรรคเพื่อไทยส่งลูกชาย “ร.ต.อ.ธนรัช” ลงสมัคร สส.เชียงราย เขต 1 ได้สำเร็จ โดยเขี่ยเด็กยงยุทธออก
ทั้งที่สาขาพรรคเพื่อไทย เชียงราย ลงมติให้ส่ง “เด็กของยงยุทธ” ลงสมัคร จนมีการเตรียมหาเสียงไว้แล้ว ทำให้ “ทีมงานเด็กของยงยุทธ” เลยไปเปิดดีลกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า “ชัยธวัช ตุลาธน” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้ส่ง “ชิตวัน ชินอนุวัฒน์” อดีตผอ.สโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ที่เป็นสโมสรฟุตบอลของตระกูลติยะไพรัช ลงสมัคร สส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ชนกับ “ต้นน้ำ” ที่เขต 1 เชียงราย และผลปรากฏว่า อดีต ผอ.เชียงราย ยูไนเต็ดเอาชนะลูกชายวันชัยได้
ยิ่งฝากรอยแค้นให้บ้านใหญ่ “จงสุทธานามณี” กับ “กลุ่มยงยุทธ” นอกจากนี้ยังมีข่าว “อดีตทีมงานยงยุทธ” ที่แยกตัวออกตอนเลือกตั้ง ยังจัดทีมลงสมัคร สส.เชียงรายอีกบางเขต จนสุดท้ายพรรคก้าวไกลได้สส.เชียงรายมา 3 คน และทั้งหมดยังเข้า-ออกบ้านยงยุทธได้ตลอดเวลา และอาจเป็นสาเหตุทำให้พรรคประชาชนไม่ส่งคนลงสมัครชิงนายกอบจ.เชียงราย ทั้งที่มี สส.เขตในจ.เชียงราย 3 คน และได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่เชียงรายถึง 2 แสนกว่าคะแนน ทำให้วิเคราะห์กันว่า เป็นเพราะทีม สส.เชียงราย พรรคประชาชน 3 คน ที่แนบแน่นกับ “คนของยงยุทธ” ไม่ต้องการให้พรรคประชาชนส่งคนลงสมัครแล้ว ไปชนกับ “ยงยุทธ” ที่ส่ง “เมียตัวเอง” ลง
ส่วนกรณีคะแนนไม่เข้าเป้า ที่ อ.เชียงของ ที่อยู่ในพื้นที่ของ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงต้องไปตรวจสอบว่า ที่คะแนนไม่เข้าเป้า เพราะอะไร เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “พิเชษฐ์” เป็นคนของ “เจ๊แดง” รวมถึงแม้แต่บ้านใหญ่เชียงรายตระกูล “เตชะธีราวัฒน์” ของ “วิสาร” ก็เช่นกัน โดยทั้ง “จงสุทธานามณี-เตชะธีราวัฒน์” และ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ล้วนเป็นคนของ “เจ๊แดง” ทั้งสิ้น
โดยกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดี กับกลุ่มยงยุทธมาตลอด ยิ่งเมื่อผลเลือกตั้งออกมา โดยคะแนนในอำเภอความรับผิดชอบ “พิเชษฐ์” กับ “วันชัย” ทำได้ไม่เข้าเป้า ย่อมเริ่มถูกจับตามองว่ามี “เกียร์ว่าง” ไม่ยอมช่วย ไม่เต็มที่ เพื่อหวังสกัด “ยงยุทธ” ไม่ให้มีอำนาจในจ.เชียงรายหรือไม่ แม้ “ยงยุทธ” จะเป็นน้องรักของ “ทักษิณ” ที่อุตส่าห์เดินทางไปช่วยหาปราศรัยเสียงให้ “ภรรยายงยุทธ” ถึง 2 รอบก็ตาม
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนอาจหวนคิดไปถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ทักษิณ” กับ “บิ๊กแจ๊ส-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” นายกอบจ.ปทุมธานี ซึ่งเกิดขึ้นจากปมส่งคนลงสมัคร สส.จ.ปทุมธานี เมื่อการเลือกตั้งปี 66 ซึ่งมีข่าว “เจ๊แดง” ต้องการเข้ามามีอิทธิพล ในการกำหนดบุคคลในการลงสมัครพื้นที่ดังกล่าว จนทำให้เกิดปัญหากับ “บิ๊กแจ๊ส” ซึ่งจัดวางผู้สมัครไว้แล้ว
แต่ในที่สุด “ผู้มากบารมี” ก็เลือกยืนข้าง “เจ๊คนดัง” จนทำให้ความสัมพันธ์ของอดีตนายกฯ กับนายตำรวจระดับสูง เจ้าของวลี “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ต้องถึงคราวแยกทางกัน นำมาสู่ความล้มเหลวในการเลือกสส.ที่จ.ปทุมธานี ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องผิดหวังไม่ได้เก้าอี้ สส. รวมทั้งการส่งคนลงชิงเก้าอี้นายกอบจ. สู้กับ “บิ๊กแจ็ส” แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
จากนี้ต้องรอดูว่า พรรคเพื่อไทยจะจัดการปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคอย่างไร ทั้งเรื่องส่งบุคคลลงในสนามเลือกตั้งต่างๆ หรือการคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร และตกลง “ใครเป็นศูนย์กลางอำนาจ” อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ในระหว่างไปปราศรัยหาเสียงที่ จ.ศรีสะเกษ ยังพูดถึงปฏิบัติการ “ไล่หนู-ตีงูเห่า ภาค 2” จะขอทั้งเก้าอี้นายกอบจ. และสส.ในพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นของเพื่อไทย ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมี สส. อยู่ 2 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย “วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ” พ่ายแพ้ให้กับ “วิชิต ไตรสรณกุล” ผู้สมัครที่พรรคภูมิใจไทย ให้การสนับสนุน ต้องเรียกว่า “แพ้แบบหมดรูป” เกือบแสนคะแนน ซึ่งส่งผลกระทบไปถึง “เครดิต” ของ “ทักษิณ” โดยตรง
สำหรับปฎิกริยาของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.มหาดไทย-หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางไปแสดงความยินดีกับ “วิชิต” ถึงจ.ศรีสะเกษทันที พร้อมทั้งกล่าวถึงความมั่นใจที่ทำให้ชนะ “ทักษิณ” ในการลงแข่งขันครั้งนี้คือ “เราไม่มีสี มีสีเดียว คือ ศรีสะเกษ มีความหมายยิ่งกว่า สิ่งใดๆ คนศรีสะเกษ ยังมีความเชื่อในความทุ่มเท ความมั่นใจ ในตัวนายกวิชิต เรียกว่า ยิ่งเก่า ก็ยิ่งเก๋า ยิ่งขลัง ยิ่งมีบารมี ยิ่งทำให้ความเจริญเกิดขึ้น”
“เรามาดีจะมาไล่เราทำไม ไม่เคยมาร้ายเลย อย่าไล่เลยครับ เลี้ยงหนูไว้สักตัว มาช่วยศรีสะเกษ และมั่นใจว่า หนูตัวนี้ จะทำให้พี่น้องชาวศรีสะเกษ มีความสุข ที่เลือกนายก อบจ. ที่ชื่อวิชิต อีกทั้ง ส.อบจ.ที่ทราบว่า น่าจะชนะทุกเขต ก็ขอขอบคุณครับ” นายอนุทิน คำถามที่ว่า ต่อไปควรเลิกไล่หนู-ตีงูเห่า ได้แล้วยัง
นอกจากนี้ “ทักษิณ” ยังกล่าวบทเวทีปราศรัยในโค้งสุดท้ายที่ลำพูนและเชียงใหม่ช่วงหนึ่ง ระบุว่า “เลือกตั้งครั้งหน้าขอให้เลือกเพื่อไทยให้หมด ผมไปที่ไหนก็บอกว่า จะเอาให้เพื่อไทยกลับคืนมาเกิน 200 เสียง เพราะคราวที่แล้วได้น้อยไปหน่อย มีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ทำงานได้ แต่ช้า คราวหน้าให้มีพรรคร่วมน้อยๆ เอาเพื่อไทยเยอะๆ รับรองว่าทำงานแล้ว จะรวยเหมือนสมัยไทยรักไทย (ทรท.) มันใหญ่ ทำงานได้เร็ว เพราะรัฐมนตรีอยู่ด้วยกัน อยู่สังกัดเดียวกันหมด ไม่มีเลศนัย เล่ห์เหลี่ยม…”
มีรายงานว่า “คำพูดดังกล่าวสร้างความไม่พอใจ” ให้กับ “บางพรรคร่วมรัฐบาล” เพราะมองว่า “ทักษิณ” โยนบาปให้เพื่อนร่วมงาน ที่เป็นสาเหตุทำให้รัฐบาลทำงานล่าช้า ทั้งๆ ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็สามารถเร่งรัดเพื่อนร่วมงาน และมีอำนาจในการปรับกลไกฝ่ายบริหาร ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นได้
อีกทั้ง พรรคร่วมรัฐบาลมีส่วนผลักดันให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรัฐบาล ทั้งที่ไม่ได้เสียงมากที่สุด ซึ่งประกาศให้เลือกพรรคเพื่อไทยให้หมด ย่อมกระทบกับพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเชื่อว่า “งานนี้ไม่มีใครยอมใคร” เพราะเกี่ยวข้องกับ “อำนาจทางการเมือง” และอนาคตของพรรค ซึ่งมีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะถูกโดดเดี่ยว
นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งนายกอบจ. นอกจากผลลัพธ์พรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นไปตามเป้า ยังทำให้พรรคเพื่อไทยเกิดปัญหาความขัดแย้ง แถมเพื่อนร่วมงาน ก็เริ่มรู้สึก “ผู้มากบารมี” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่มีความจริงใจ บางทีการตั้งเป้าในปี 70 ที่หวังจะกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลอาจเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากต้องเผชิญกับ “พรรคประชาชน” ยังถูกพรรคต่างๆ รุมต้าน สร้างขั้วการเมืองใหม่ขึ้นมาต่อสู้
………………………………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”