ถึงวาระสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง โดยวันที่ 13-14 ก.พ. จะมี การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการนำเสนอโดย 2 พรรคการเมืองใหญ่
ทั้ง “เพื่อไทย” (พท.) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และ “พรรคประชาชน” (ปชน.) แกนนำพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างว่า การพิจารณาอาจจะไม่ราบรื่น เพราะบางฝ่ายมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องผ่านกระบวนการทำ “ประชามติ” ขอความเห็นชอบจาก “ประชาชน” ผ่านกระบวนการประชามติ ในครั้งแรกเสียก่อน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะใช้กลไกของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 31 เพื่อเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า “การกระทำของรัฐสภาก่อนการทำประชามตินั้น ไม่สามารถทำได้”
สอดคล้องกับความเห็น “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาบอกว่า “เท่าที่ทราบ ให้ดำเนินการไปตามระบบ ตามญัตติที่เสนอ ซึ่งมีร่างของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย และให้มีการอภิปรายกันตามปกติ จนจบขั้นตอนและโหวตรับหลักการหรือไม่ แต่ที่ทราบจะมีการอภิปรายไปสักพักหนึ่ง อาจจะมีผู้ลุกขึ้นมาโต้แย้ง ในประเด็นการบรรจุวาระนั้นถูกต้องหรือไม่ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมไปถึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีการเสนอญัตติและทำคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนุญ ตามมาตรา 210 และตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 เพื่อเข้าชื่อจำนวน 40 คน…
เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ต้องทำประชามติกี่ครั้ง โดยหากมีการเข้าชื่อ เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็แสดงว่า พวกเขา มีความไม่สบายใจ ว่าสิ่งที่กระทำอยู่ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่ารัฐสภาจะมีมติเห็นชอบ กับแนวทางยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และยอมรับว่าหลายภาคส่วน มีความวิตกกังวล จึงอยากให้ดำเนินการในแนวทางนี้”
![](https://thekey.news/wp-content/uploads/2024/11/1008214_0.jpg)
คำถามคือ…ทำไม “ชูศักดิ์” ถึงรับรู้ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้??? หรือพรรคเพื่อไทยก็มีความกังวลเหมือนกัน เพราะหากเดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้ไป อาจมีคนไปร้องว่า “สมาชิกรัฐสภา” ที่ร่วมพิจารณาในเรื่องนี้ กระทำการขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกระทำผิดด้านจริยธรรม
ยิ่งที่ผ่านมา “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญคำร้องเกี่ยวกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนับ 10 เรื่อง ซึ่งไม่แน่ว่า เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจมีผลการวินิจฉัยในทางลบเกิดขึ้น ดังนั้นพรรคเพื่อไทยคงไม่อยากเพิ่มความเสี่ยง กับการเดินเกม “นิติสงคราม” ซึ่งที่ผ่านมาพรรคแกนนำรัฐบาล มักจะเซฟหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไว้ตลอด
![](https://thekey.news/wp-content/uploads/2024/10/1728021291912_copy_800x534.jpg)
ยิ่งมีคำเตือนจาก “นิกร จำนง” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธณรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 ก.พ.ว่า “โอกาสผ่านยาก เพราะมีปัญหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับจำนวนครั้ง ในการออกเสียงประชามติ อีกทั้งมีประเด็นว่า รัฐสภาสามารถพิจารณาได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภา หากสมาชิกรัฐสภาลงมติ ก็อาจถือว่าเข้าข่ายมีความผิดทันที เพราะกระทำการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และมั่นใจว่า จะต้องมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ไม่ทราบว่า ใครจะเป็นผู้ยื่น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีประเด็น หากพิจารณาเสร็จแล้ว สมาชิกรัฐสภาที่ลงมติไปแล้ว ก็สุ่มเสี่ยงที่ผิดจริยธรรมได้”
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกกับ ท่าที “พรรคร่วมรัฐบาล” ทั้ง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ที่แสดงท่าที่วิตกกังวล หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เท่าที่ทราบ มีสมาชิกหลายคนกังวลประเด็นดังกล่าว ฉะนั้นเวลาเห็นอะไรขัดแย้งกัน ก็ต้องยิ่งให้ความสำคัญ เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งบอกทำได้ แต่อีกฝ่ายบอกทำไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ยุ่ง และเมื่อความเห็นต่างกัน ก็ต้องหาความเห็นอื่นๆ มาประกอบ
“เราไม่เสี่ยงหรอกครับเรื่องพวกนี้ ถ้ามันมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย และมันไม่ใช่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ และเป็นเรื่องของแต่ละพรรค เมื่อเรามีความเห็นของตัวเอง ก็แปลว่าเราไม่ได้เป็นทีมเดียวกัน เราก็ต้องรักษาเอกสิทธิ์ ก่อนย้ำว่าเราไม่อยากมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย” อนุทิน ส่งสัญญาณชัดๆ
เช่นเดียวกับ “ธนกร วังบุญคงชนะ” รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และสส.บัญชีรายชื่อ ให้สัมภาษณ์ หลังจากที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 256 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า “ผมไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะร่างของพรรคประชาชน เรื่องการแก้ไขในมาตรา 256 (8) แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ ซึ่งที่มีอยู่ ถือว่าดีอยู่แล้ว”
นอกจากนี้ ในการเสนอแก้ไขมาตรา 256(6) ก็ขอคัดค้านที่จะมีการถอดอำนาจของวุฒิสภา ที่จะต้องใช้เสียงในการเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 1 กับวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออกในการเห็นชอบผ่านร่าง เพราะเป็นการ “ริบอำนาจ สว.” อย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุลของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่สำคัญที่สมาชิกรัฐสภาทุกคนจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบร่วมกันคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า “ในการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องจัดทำประชามติก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
“ผมย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราสามารถแก้ได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และถ้าจะยกร่างทั้งฉบับโดยไม่ทำประชามติ ขอเตือนว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ทั้งต่อผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณาเห็นชอบร่างด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องเอาผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และอาจถูกส่งให้ป.ป.ช.ถอดถอนได้ ผมเชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ครั้งนี้ คงยากที่จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะอยู่บนฐานความเสี่ยง” ธนกร กล่าวย้ำ
![](https://thekey.news/wp-content/uploads/2023/12/FB_IMG_1702359813342_copy_800x533.jpg)
ส่วนท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) “พล.อ.เอกสวัสดิ์ ทัศนา” สว. ซึ่งมีบทบาทกุมเสียง “สว.สีน้ำเงิน” กล่าวถึงแนวโน้มที่ สว.จะโหวตเห็นชอบถึง 1 ใน 3 หรือไม่ว่า “คงเสียงไม่ถึง เพราะค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งผลกระทบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยตรง ทางฝั่ง สว.เราคงไม่เห็นด้วย”
ขณะที่ “ชาญวิศว์ บรรจงการ” สว. ให้ความเห็นว่า “กระบวนการทั้งหมดที่พวกเขาทำ ก็เหมือนกับเป็นเกมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ต้องถามประชาชนก่อน แต่คุณมาเสนอร่างแก้ไขแบบนี้ ก็เหมือนเป็นศรีธนญชัย คือมาใช้วิธีเสนอแก้รายมาตรา อีกทั้งไม่ได้เป็นการทำประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่ดีมีสุขขึ้นมาเลย มีแต่ตอบสนองนักการเมืองบางพวกบางฝ่ายเท่านั้นเอง เช่นสุดท้ายจะไปยกเลิกมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แบบนี้ผมไม่เอาด้วย”
ต้องยอมรับแม้ “2 พรรคใหญ่” จาก 2 ขั้วการเมือง คือ “พรรคเพื่อไทย” 142 เสียง และ “พรรคประชาชน” มี 143 เสียง รวมกันมีถึง 285 เสียง (จากสภาล่าง) แต่ลำพังเสียงของ สส. ไม่อาจเปิดประตูสู่การ “รื้อรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20” ได้ เพราะหากไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เกิน 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การผ่านร่างแก้ไขในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องมี สว. เห็นชอบด้วย “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือต้องได้เสียงสนับสนุนจาก สว. 67 คน จาก สว.ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในปัจจุบัน 199 คน ซึ่งถ้าหากประเมินจำนวนซึ่งมีอยู่ประมาณ 160 คน หนทางที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฯ คงเป็นไปได้ยาก
สำหรับในประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของทั้ง 2 พรรค สาระหลัก กำหนดให้ ส.ส.ร. แต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการ (กมธ) ยกร่างรธน.” เพื่อยกร่างตามตามแนวทางที่ ส.ส.ร. กำหนด
ทั้งนี้ในรายละเอียดทั้ง 2 พรรคแตกต่างกันคือ “พรรคเพื่อไทย” กำหนดให้มี กรธ. 47 คน มาจากการตั้งของ ส.ส.ร. 24 คน โดยกำหนดคุณสมบัติคือ ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และอีกจำนวน 23 คนนั้น ให้ส.ส.ร. แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภาฯ 12 คน สว. 5 คน และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 คน พร้อมกับกำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 180 วัน ทั้งนี้ใน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ฉบับพรรคเพื่อไทย” กำหนดว่า “ห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ”
![](https://thekey.news/wp-content/uploads/2025/01/4-3-THEKEY-เท้งเต้ง-No-Text-1024x768.jpg)
ขณะที่ “พรรคประชาชน” กำหนดให้มี กรธ. อย่างน้อย 45 คน โดยตั้งจาก ส.ส.ร. อย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 30 คน ส่วนที่เหลือให้ตั้งจากบุคคลที่เป็นหรือไม่ได้เป็น ส.ส.ร. ก็ได้ โดยพิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ ในการทำหน้าที่และมีจำนวนตามความจำเป็น พร้อมตั้งกรอบ ให้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ภายใน 360 วัน พร้อมกำหนดหัวใจของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
ดูท่าทีของ “พรรคร่วมรัฐบาล” และ “สว.” หนทางที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ไปต่อ น่าจะยากเย็นแสนเข็ญ แม้จะมีกระบวนการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ต้องทำประชามติกี่ครั้ง แต่เมื่อตัดอำนาจ สว. ที่จะต้องใช้เสียงในการเห็นชอบการแก้ไขรธน.ในวาระ 1 กับวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ในการเห็นชอบผ่านร่างออกไป คงจะมีสว.ไม่กี่คน ที่ยอมตัดอำนาจของตัวเอง ซึ่งน่าเสียดายร่างของพรรคเพื่อไทย ที่น่าจะเข้าใจบริบทการเมืองไทย แต่กลับตัดอำนาจ สว.
ทั้งนี้ ร่างของพรรคประชาชน ที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ก็ไม่ได้มุ่งมั่น กับการเสนอแก้ไขกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ หวังเพียงแค่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้คิดถึงความเห็นของแนวร่วม หรือความต้องการของกลุ่มที่เห็นต่าง
ดังนั้น การเลือกตั้งปี 2570 ยังคงต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มาเป็นตัวกำกับการเลือกตั้ง และบางที “พรรคเพื่อไทย” ยังหวังพึ่งกลไกบางอย่าง ที่จะช่วยสกัดกั้นคู่แข่งสำคัญคือ “พรรคประชาชน”
………………………………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”