มีเรื่องต้องให้ตามลุ้นตลอด สำหรับ พรรคประชาชน (ปชน.) ที่ใช้สัญลักษณ์สีส้ม สืบสานเจตนารมณ์มาจาก พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งทั้งสองพรรคต้องถูกยุบไป อันเนื่องมาจากกระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญ (รธน.) จนถูกยุบพรรค
เรื่องเริ่มกลายเป็นประเด็นร้อน หลังเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นหนังสือลับจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอเชิญให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา กรณี อดีต 44 สส.พรรคก้าวไกล ลงชื่อเสนอ แก้ไขมาตรา 112 พร้อมข้อความ ระบุไม่สามารถเข้าใจได้ว่า การเข้าชื่อเสนอเพื่อแก้กฎหมาย มันจะเป็นความผิดได้อย่างไร ในเมื่ออำนาจนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของ สส. รวมถึง ไม่มีบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายที่ระบุว่า การเข้าชื่อเสนอเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้การหาเสียงของพวกเราอดีตพรรคก้าวไกล ก็มีการส่งให้กับ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันในการทำหน้าที่ของพวกเราว่า ไม่มีทางที่จะผิดต่อมาตรฐานจริยธรรมอย่างแน่นอน
พร้อมทั้งระบุอีกว่า ได้รับหนังสือฉบับนี้ในวันมาฆบูชา ไม่แน่ใจว่า เป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ และหลังจากนั้น “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” ก็ได้รับการโปรดเกล้าเป็น ประธาน ป.ป.ช. ก็ขอแสดงความยินดีด้วย หากคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะได้แจ้งให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบกันอีกที ส่วนตัวทราบดีว่า “เวลาของผมคงจะมีอีกไม่มาก ระหว่างนี้ก็คงจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่”
ด้าน “สาโรจน์ พึงรำพรรณ” เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงการเรียกตัว “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ไปรับทราบข้อกล่าวหาลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ว่า คณะทำงานไต่สวนเรื่องดังกล่าวได้มีหนังสือเรียกตัว สส. ที่ปรากฏรายชื่อว่า เป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้ง 44 คน มารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว

“เบื้องต้น ป.ป.ช.ให้เวลา สส.ผู้ที่ถูกเรียกตัว ไปรับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน แต่ถ้าไม่สะดวกก็ขอขยายเวลาได้อีก 15 วัน แต่ถ้าครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ทาง ป.ป.ช.จะส่งหนังสือไปยังภูมิลำเนา พร้อมบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว” สาโรจน์ กล่าวและว่า สำหรับการชี้แจงข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือก็ได้
ถามถึงระยะเวลาในการแจ้งข้อกล่าวหาและชี้แจงข้อกล่าวหาจะนานถึง 6 เดือนหรือไม่ “สาโรจน์” ตอบว่า “ถ้าผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงตามระยะเวลา และไม่ขอขยายเวลาเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ก็ไม่น่าจะนานเกิน 6 เดือน”
ขณะที่มีรายงานว่า แต่ละคนได้รับแจ้งไม่เหมือนกัน ตามฐานความผิดในชั้นสอบสวน โดยมีบางราย ทั้งที่ปัจจุบันเป็น สส. และเป็นอดีต สส. ได้ถูกเชิญเข้าให้ถ้อยคำกับ ป.ป.ช. โดยมี บางรายถูก “กันไว้เป็นพยาน” ในการไต่สวน ทำให้ ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการเชิญอดีต สส.ก้าวไกล ที่มิได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ไปให้ถ้อยคำเป็นพยานด้วย
ขณะที่ไปที่มาของเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ชี้ว่าการที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ พรรคก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขมาตรา 112 รวมถึง การใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 หาเสียงเลือกตั้งปี 2566 และมีพฤติการณ์รณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 เรื่อยมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการปกครอง เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว “ธีรยุทธ สุววรรณเกสร” ได้นำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงประกอบคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนเอาผิด สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่เข้าชื่อกันเสนอแก้ไขมาตรา 112 ฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ที่ใช้บังคับแก่ สส. ข้อ 5 ที่กำหนดว่า “ต้องยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรธน.” ข้อ 6 ที่กำหนดว่า “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” และ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง”
สำหรับ รายชื่อสส.ทั้ง 44 คน พรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ประกอบด้วย 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ 3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.บัญชีรายชื่อ 4.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี 5.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ 6.นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี สส.บัญชีรายชื่อ 7.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ 9.นายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ 10.นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) 11.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.
12.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ 13.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก 14.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สส.บัญชีรายชื่อ 15.นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ 16.นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ 17.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ 18.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.กทม. 19.น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ 20.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สส.นครปฐม 21.นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ 22.นายคำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ

23.นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สส.กทม. 24.นายทองแดง เบ็ญจะปัก สส.สมุทรสาคร 25.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา 26.นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี 27.นายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ 28.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ 29.นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ 30.นายองค์การ ชัยบุตร สส.บัญชีรายชื่อ 31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ 32.นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ 33.นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด 34.นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ 35.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ 36.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ 37.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ 38.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ 39.นายทวีศักดิ์ ทักษิณ สส.บัญชีรายชื่อ 40.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร สส.บัญชีรายชื่อ 41.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล สส.บัญชีรายชื่อ 42.นายวุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ 43.นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ 44.นายสุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ
โดยใน 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ถูก ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนนั้น ปัจจุบันเหลือเป็น สส.สังกัดพรรคประชาชน จำนวน 25 ราย แบ่งเป็น สส.เขต 8 ราย ได้แก่ 1.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. 2.นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. 3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. (ในช่วงเกิดเหตุเป็น สส.บัญชีรายชื่อ) 4.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี 5.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา 6.นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี 7.นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด 8.นายวุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ
เป็น สส.บัญชีรายชื่อ 17 ราย ได้แก่ 1.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน ในช่วงเกิดเหตุเป็น สส.กทม.) 2.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค 3.นายนิติพล ผิวเหมาะ 4.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) 5.นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ 6.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 7.นายวรภพ วิริยะโรจน์ 8.นายคำพอง เทพาคำ 9.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 10.นายองค์การ ชัยบุตร 11.นายมานพ คีรีภูวดล 12.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 13.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน 14.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 15.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ 16.นายรังสิมันต์ โรม 17.นายสุรวาท ทองบุ
จากรายชื่อจะเห็นว่า มี “บรรดาตัวตึง” ที่มีบทบาทตรวจสอบฝ่ายบริหาร และผลักดันเรื่องต่างๆ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติมาอย่างต่อเนื่อง “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ในฐานะหัวหน้าพรรค “ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค ที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” อย่างต่อเนื่อง “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) รวมทั้ง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร-รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ ที่มีบทบาทตรวจสอบเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ภารกิจของกองทัพ และ ประเด็นร้อนในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง
ในวันที่ 27 ก.พ. พรรคประชาชน ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงต้องรอดูผลพวง จากการถูกแจ้งข้อกล่าวหา จะกระทบการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่ ซึ่งในที่สุดต้องมาลุ้นจะมีใครถูกชี้มูลความผิด จะมีใครหลุดข้อกล่าวหา และหาก “ณัฐพงษ์” ได้รับผลกระทบในเรื่องคดีความ ต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ใครจะเข้ามารับไม้ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนคนต่อไป

โดยหลายคนที่ติดตามการเมือง จับตามองไปที่ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคนผลักดันเรื่องการแก้ไขรธน. ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นมากพอสมควร ด้วยอายุเพียง 33 ปีปัญหาตามมาคือ รธน.ปี 60 กำหนดไว้ว่า “บุคคลเข้ารับตำแหน่งนายกฯและรัฐมนตรีต้องมีอายุ 35 ปี” ซึ่งหากพรรคประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากต้องเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหาร “ไอติม” จะมีข้อจำกัดทางการเมืองหรือไม่ เว้นแต่จะรอให้มีการเลือกตั้งในปี 2570 อายุจะครบ 35 ปีพอดี ถึงวันนั้นอายุคงไม่ใช้เงื่อนไข
ทั้งนี้ ความผิดตามมาตรฐาน “จริยธรรมร้ายแรง” นั้น เมื่อวันที่ 30 ม.ค.61 ได้เริ่มมีการประกาศใช้มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรธน. และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรธน.และองค์กรอิสระ ซึ่งกำหนดให้บังคับใช้กับ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย
โดยกรณีของ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล หาก “ป.ป.ช.” สรุปสำนวนคดี แล้วมีมติให้ส่งฟ้องเอาผิด ต้องส่งฟ้องไปที่ศาลฎีกาฯ เบื้องต้น หากศาลฎีกาฯรับคำร้องไว้พิจารณา บุคคลที่เป็น สส.อยู่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน และในที่สุด หากศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
หลังจากบังคับใช้ “มาตรฐานจริยธรรม” มี นักการเมืองอย่างน้อย 3 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพจากการฝ่าฝืนจริยธรรม ที่ศาลฎีกาฯเป็นผู้พิพากษา ไม่ว่าจะเป็น “ปารีณา ไกรคุปต์” กรณีครอบครองเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.โดยมิชอบ, “กนกวรรณ วิลาวัลย์” อดีตรมช.ศึกษาธิการ กรณีรุกป่าเขาใหญ่ และ “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” สส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีเสียบบัตรแทนกันในสภาฯ ส่วน การตัดสิทธิการเมืองตลอดชีพ ของ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” ถือเป็นคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “พาดพิงสถาบัน” และมีผลทางกฎหมายย้อนหลังต่อการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่ “พรรณิการ์” ได้เป็น สส.
อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเดียวกัน “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักร้องคนดัง ออกมาเปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์อีเอ็มเอสถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” ประธานป.ป.ช. ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่ หลังปรากฏคลิปภาพหลุด ประธานรัฐสภาหารือกับประธานป.ป.ช. ที่บ้านพัก จนถูกตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากประธานป.ป.ช. มีบทบาทในการตรวจสอบทุจริต ต้องวางตัวให้เหมาะสม ดังนั้นการเดินทางไปพบประธานรัฐสภา ย่อมถูกตั้งคำถาม แม้เรื่องที่เคยถูก “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล” อดีตรองผบ.ตร. ที่ถูกยื่นร้องถอดถอนไว้ จะถูกตีตกไปแล้ว

เช่นเดียวกับ “รังสิมันต์ โรม” ได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของ “สุชาติ” ในการทำหน้าที่ โดยกล่าวว่า “ท่านยังไม่สามารถเคลียร์ข้อกล่าวหาของตัวเองได้ แล้วจะมีความชอบธรรมอะไรในการมาทำหน้าที่นี้” และยังฝากให้สื่อมวลชนช่วยติดตามการทำงานของ ป.ป.ช. ในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหากองค์กรนี้ไม่สามารถเคลียร์ข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวของประธาน ป.ป.ช. ได้ ก็จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในองค์กรต่ำลงไปอีก
เชื่อว่า สส.พรรคก้าวไกล ที่ถูกแจ้งข้อหาเรื่องการลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 คงใช้ประเด็น “สุชาติ-ประธาน ป.ป.ช.” เข้าพบ “วันนอร์-ประธานรัฐสภา” มาทำลายความน่าเชื่อถือ ป.ป.ช. แน่ เพราะในขณะที่ต้องตรวจสอบจริยธรรมของผู้ร้อง แต่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ กลับถูกตั้งข้อสงสัยด้านจริยธรรม อีกทั้งยังมีสถานะเป็นประธานป.ป.ช.อยู่ด้วย
ดังนั้นในเมื่อบทลงโทษกระทำความผิดด้านมาตรฐานจริยธรรม มีความรุนแรงถึงขั้นต้องยุติบทบาททางการเมืองตลอดชีวิต จึงไม่แปลกเมื่อมีอะไร เป็นจุดอ่อนฝ่ายตรงข้าม และเป็นจุดแข็งของตัวเอง ก็ต้องนำมาต่อสู้เต็มที่ เพียงแต่ว่า บทสรุปจะจบลงอย่างไร
เพราะการทำลายความชอบธรรมฝ่ายตรวจสอบ โดยไม่แจกแจงพฤติกรรมตนเอง อาจเป็นข้อกังขาของสังคม!!!
……………………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”