ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับอีเว้นท์ใหญ่ทางการเมือง “ฝ่ายค้าน” เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี หลังว่างเว้นในการทำศึกซักฟอกมาร่วม 2 ปี โดยครั้งล่าสุดเกิดในเดือนก.ค.2565 สมัยฝ่ายบริหารที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ ดังนั้นหลายคนจึงให้ความสนใจ และติดตามกันมากเป็นพิเศษ
ยิ่งการใช้แคมเปญ “ดีลแลกประเทศ” ทำให้หลายคนให้อยากรู้เนื้อหา เพราะเชื่อว่าผลงานของ “พรรคประชาชน” (ปชน.) ต้นกำเนิดมาจาก พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งโชว์ผลงานไว้ในสมัย “รัฐบาลนายกฯลุงตู่” หลายคนเลยอยากติดตามดู ว่าจะมีข้อมูลใหม่ๆ มานำเสนอหรือไม่ แม้ว่าไม่ได้คาดหวังว่า การอภิปรายครั้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงถึงขั้นล้มรัฐบาล เพราะด้วยเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีมากกว่า 319 เสียง ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเพียง 161 เสียง เรียกว่า ห่างกันราวฟ้ากับดิน

ที่น่าสนใจคือ การลุกขึ้นมาอภิปรายของ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้จะใช้เวลาเพียง 10 นาที่ แต่ก็แสดงให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำ” โดยพูดเปิดประเด็นต่างๆ เพื่อให้บรรดาสส. ของพรรค นำมาขยายผลต่อใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว 2.MOU44 เสี่ยงสูญเสียทรัพยากรทางทะเลมูลค่ามหาศาล 3.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ มีช่องทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง และ 4.ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เรื่องการถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ แถมยังเปิดประเด็น “คนในครอบครัว” เรียกแกนนำพรรคการเมืองไปพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และ “บุคคลในครอบครัว” ทำตัวมีอิทธิพลเหนือพรรค ส่อไปในทาง “ครอบงำ”
แต่ประเด็นที่เป็นไฮไลต์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หนีไม่พ้นการเปิดข้อมูลของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ซักฟอกประเด็น “หุ้น” ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ ตั๋ว PN กว่า 4.4 พันล้านบาทของ “แพทองธาร ชินวัตร” โดยระบุว่า “ส่อมีพฤติการณ์ทำนิติกรรมอำพราง เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษีอย่างน้อย 218.7 ล้านบาท”

โดย “วิโรจน์” อภิปรายเริ่มจากกรณีการโอนหุ้น หลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ กรณีเมื่อ 18 ส.ค.2567 โอนหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด 22,410,00 หุ้น มูลค่า 224.1 ล้านบาทให้ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” มารดา และ 5 ก.ย.2567 โอนหุ้นบริษัท ประไหมสุหรี พร้อพเพอร์ตี้ จำกัด 16,949,990 หุ้น มูลค่า 169.4 ล้านบาทให้ “พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์” พี่สาว
ถ้าการโอนหุ้นดังกล่าว เป็นการให้มารดาและพี่สาว ซึ่ง ในฐานะ “ผู้รับ” มีภาระในการจ่าย “ภาษีการรับให้” โดยกรณีมารดา ภาษีการรับให้ที่ต้องจ่ายให้รัฐ 10.2 ล้านบาท ส่วนพี่สาว มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้เช่นเดียวกัน คิดเป็นเงิน 8 ล้านบาท รวมแล้วรัฐต้องได้ภาษีการรับให้ 18.2 ล้านบาท
“สส.พรรคประชาชน” ตั้งคำถามต่อ “แพทองธาร” ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ว่า รัฐจะได้รับภาษีการรับให้ 18.2 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งจะต้องจับตา ภายใน 31 มี.ค.2568 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการจ่ายภาษีก้อนนี้
“วิโรจน์” ยังกล่าวอีกว่า หนี้สินของ “แพทองธาร” ที่เป็นลูกหนี้ทั้ง 9 รายการ ระบุในบัญชีทรัพย์สินว่า ไม่ใช่หนี้ที่อยู่ในรูปแบบสัญญาเงินกู้ แต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือที่เรียกว่า ตั๋ว PN เป็น หนี้สินที่ “แพทองธาร” ซื้อหุ้นจาก “พี่สาว-พี่ชาย-ลุง-ป้าสะใภ้-แม่” เป็นการซื้อหุ้น และออกตั๋ว PN แทนการจ่ายเงิน
“ตั๋ว PN 9 ใบนี้ มีเงื่อนไขสุดว้าวมากๆ จะชำระเงินค่าซื้อหุ้นเมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย ซื้อหุ้นกันภาษาอะไร ไม่มีกำหนดจ่ายค่าซื้อหุ้นเมื่อไหร่ ต้องสงสัยอย่างฉกรรจ์ว่า เป็นการใช้ตั๋ว PN เป็นเครื่องมือทำนิติกรรมอำพราง ทำธุรกรรมการซื้อปลอม ตบตาการได้หุ้นจากการให้ มาเป็นการซื้อหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ ที่ต้องจ่ายให้กับแผ่นดิน เป็นพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบประชาชน บ่อนทำลายการพัฒนาประเทศ ซึ่งการจ่ายค่าหุ้นด้วยตั๋ว PN ที่ไม่ได้จ่ายเงินจริงๆ ทำให้คนเหล่านี้ ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแม้แต่บาทเดียว” วิโรจน์ ระบุ

รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกว่า จะส่งเรื่องให้อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบ หากอธิบดีฯบอกว่า การโอนหุ้นแบบนี้ ใช้ตั๋ว PN ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี ต้องให้อธิบดีฯออกระเบียบมาให้ชัดว่า ต่อจากนี้ใครโอนหุ้นให้ลูก-หลาน-เพื่อน ในปีภาษีหนึ่ง เกิน 20 ล้านบาท ถ้าไม่ประสงค์เสียภาษีรับให้ 5% ให้ใช้ตั๋ว PN แสร้งทำได้ เขาจะได้เอาพฤติการณ์น.ส.แพทองธารเป็นเยี่ยงอย่าง การจัดเก็บภาษีประเทศนี้ได้เสมอภาคกัน ไม่ใช่เก่งกับรีดเลือดกับปู แต่ปล่อยผ่านคนมั่งมีระดับนายกฯ ให้มีพฤติกรรมหนีภาษีแบบนี้ นอกจากนี้เตรียมยื่นคำร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนเรื่องดังกล่าวด้วย ทั้งประเด็นกล่าวหาส่อทุจริต และประเด็นผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ “วิโรจน์” อภิปรายตอนหนึ่งพาดพิงว่า เจตนาของ “แพทองธาร” อาจไม่ได้ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีกว่า 218 ล้านบาท แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว “แพทองธาร” มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินในจักรวาล “ชินวัตร” ถ้าติดตามนวนิยายจีนกำลังภายใน นี่คือ เคล็ดวิชา “เคลื่อนย้ายจักรวาล” ที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2544 ในตอนนั้น “เจ้าสำนัก” ไม่ใช่แค่ย้ายทรัพย์สิน แต่ยัง “ซุกหุ้น” ไปยัง “คนรับใช้” ถ่ายเททรัพย์สินให้แก่ “คนขับรถ-คนรับใช้” แต่ในยุคนั้นอาจทำได้ ไม่ว่ากัน เพราะยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีการรับให้ แต่ หลัง 1 ก.พ.2559 จะต้องเสีย “ภาษีการรับให้” ด้วย
อย่าลืมที่ผ่านมา “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “บุพการี” เคยเผชิญวิบากอันเนื่องมาจาก “คดีซุกหุ้น” โดยได้โอนหุ้นในส่วนของตนเองให้แก่ “คนรับใช้-คนขับรถ-คนรักษาความปลอดภัย” ถือไว้รวมมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าหุ้นของ “ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน” ต่อมาเมื่อ “ทักษิณ” เข้ามาเล่นการเมืองเมื่อช่วงปลายพ.ศ.2530 ได้เริ่มทยอยโอนหุ้นจาก “คนรับใช้-คนขับรถ-คนรักษาความปลอดภัย” ให้แก่ “ลูก-ญาติพี่น้อง” กระทั่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล “ชวน หลีกภัย 1” และรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
แต่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2544 ที่ “ทักษิณ” ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) แล้ว มีบุคคลยื่นคำร้องไปป.ป.ช. ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของ “ทักษิณ” กรณีเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “ทักษิณ” จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ พร้อมกับส่งศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) แต่ศาลรธน.มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง “ทักษิณ” ไม่จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ด้วยวลีในตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต”
ด้าน “แพทองธาร” ได้ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นที่สส.ตั้งข้อสังเกตมี พฤติการณ์ทำนิติกรรมอำพราง เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี อย่างน้อย 218.7 ล้านบาทว่า ขอยืนยันว่า ทั้งการปฏิบัติและเจตนาที่ได้ดำเนินการทุกอย่าง อย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องตามกระบวนการตามข้อกฎหมายทุกอย่าง การกล่าวหาว่านายกฯคนนี้หนีภาษี ไม่ได้เป็นความจริงเลย และเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม “แม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน แต่ก็มั่นใจว่า ดิฉันเสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอน”

ส่วนอีกปมร้อนที่หลายคนรอฟังคือ การนอนพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ถูกวิจารณ์ว่า “ป่วยทิพย์” ซึ่งตกเป็นหน้าที่ของ “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงการ “ทำลายกระบวนการยุติธรรม” กรณีให้ “ทักษิณ” พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น14 ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยนายกฯคือ “ประจักษ์พยาน” และ “ตัวการสำคัญ” ต่อการ “ทำผิดกฎหมายในเรื่องชั้น 14” เพราะมีชื่อ 1 ใน 10 คน ที่สามารถเข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาลตำรวจได้
อย่างไรก็ดี ช่วงที่ “ทักษิณ” ที่ลี้ภัยในต่างประเทศ 15 ปี ได้กลับประเทศไทย ในช่วงรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ซึ่งการกลับประเทศดังกล่าว เชื่อว่ามี “ดีลลังกาวี” เกิดขึ้น และภาพที่เดินทางมาถึงประเทศไทย คือคนที่สุขภาพแข็งแรง แต่ผ่านไป 2 วันพบว่า ทางเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ แถลงถึงอาการป่วย 4 โรคร้ายแรง และมีอาการวิกฤต ที่ต้องส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ การกระทำของนายกฯและคณะ ไม่ต่างจาก “พานักโทษแหกคุก” และสิ่งที่นายกฯและพวกดำเนินการ คือการ “สมรู้ร่วมคิด” ของหน่วยงาน โรงพยาบาลตำรวจ และ กรมราชทัณฑ์ และ สิ่งที่นายกฯทำ ครบองค์ประกอบกฎหมายอาญามาตรา 209 และมาตรา 210 ฐานอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งบทบัญญัติกำหนดโทษร้ายแรง เชื่อว่า “หากมีการทลายซ่อง “โจรจันทร์ส่องหล้า” จะสามารถเอาผิดคนจำนวนมากได้”
อย่างไรก็ดี เหตุที่ “ทักษิณ” ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว เป็นเพราะการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่นายกรัฐมนตรี และลูกสมุน ทำดีลแลกประเทศ จนทำลายหลักนิติรัฐ และกระบวนการยุติธรรม ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตาม “หัวหน้ารัฐบาล” ก็ผ่านกระบวนการตรวจสอบครั้งนี้ เพราะเสียงสนับสนุนซีกรัฐบาล มีเสียงสนับสนุนโหวตไว้วางใจให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯมากถึง 319 เสียง-ไม่ไว้วางใจ 162 เสียง-งดออกเสียง 7 เสียง-ไม่ลงคะแนนไม่มี จากปัจจุบันสภาฯมีสส.ทั้งหมด 492 คน แบ่งเป็นรัฐบาล 320 เสียง ฝ่ายค้าน 172 เสียง แต่มีผู้มาแสดงตนโหวต จำนวน 490 คน-ไม่มา 2 คน
แต่ถึงแม้เสียงในสภาฯจะผ่าน ก็ต้องไปลุ้นในกระบวนการตรวจสอบของ “องค์กรอิสระ” โดยเฉพาะในประเด็นมี “พฤติการณ์ทำนิติกรรมอำพราง” เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษีอย่างน้อย 218.7 ล้านบาท ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช.
แม้ “ปิ่นสาย สุรัสวดี” อธิบดีกรมสรรพากร จะให้ความเห็นกรณี “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯที่รัฐสภาเรื่อง ภาษีการรับให้ จากกรณีที่รับโอนหุ้นจากญาติ-พี่น้อง ในรูปแบบสัญญาซื้อขาย หรือ ตั๋ว PN มูลค่ารวมกว่า 4.4 พันล้านบาทนั้นว่า การทำธุรกรรมโดยออกตั๋ว PN จะเปรียบเสมือนสัญญาเงินกู้
ขณะที่ กรณีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์นั้น ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด หมายถึง ถ้าผู้ซื้อได้มีการออกตั๋ว PN เพื่อเป็นสัญญาว่า จะชำระค่าหุ้นเต็มจำนวน การเสียภาษีจะเกิดขึ้น เมื่อมีการชำระตั๋ว PN ด้วยเงินสด
ซึ่งตามที่ “แพทองธาร” ระบุว่า ในปี 2569 จะมีการชำระเงินกัน ผู้ขายหุ้นก็จะต้องชำระภาษี โดยถือเป็นเงินได้ของปี 2569 ซึ่งจะต้องยื่นแบบฯ ในปี 2570 ในประเภทเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital Gains) ผู้ขายหุ้นให้แก่นายกฯ มีเงินได้ประเภทนี้ ก็ยื่นแบบฯและชำระภาษีตามขั้นตอนปกติ
แต่มุมมองของ “องค์กรอิสระ” และ หน่วยงานราชการ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน คงต้องรอดู หลังเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ “ป.ป.ช.” จะมีแนวทางอย่างไรในการพิจารณา “นายกฯแพทองธาร” จะเผชิญวิบากกรรมเหมือนกับ “บุพการี” หรือไม่ หลังเคยเผชิญข้อกล่าวหา “ขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษี”
……………
คอลัมน์..ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”