ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีของ “พรรคประชาชน” (ปชน.) โดย สส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาเคลมว่า คะแนนเสียงไว้วางไว้วางใจทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 319 ต่อ 162 เสียง ซึ่งต้องยอมรับว่า ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครแตกแถว
มีเพียง 4 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกอบด้วย “ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-สรรเพชญ บุญญามณี” ที่ “งดออกเสียง” ซึ่งไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะแสดงท่าทีเช่นนี้มาโดยตลอด รวมกับอีก 1 ประธานสภาฯ และ 2 รองประธานสภาฯ ที่ลงมติ “งดออกเสียง” ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ของการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุม
มี 2 ประเด็นที่ต้องตามต่อคือ 1.ยุทธการโรยเกลือของแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จะเดินหน้าต่ออย่างไร โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ยื่นหนังสือถึง “ปิ่นสาย สุรัสวดี” อธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบนายกฯกรณีการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินในการซื้อหุ้น เข้าข่ายทำนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงภาษีที่ผิดกฎหมาย เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีการรับให้หรือไม่

ต้องยอมรับประเด็นที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปราย กรณี การใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินของหัวหน้ารัฐบาล มีน้ำหนักและน่าสนใจมากที่สุด แม้จะเป็นการนำข้อมูลจากสื่อ มาเรียบเรียงและใช้ในการอภิปราย แต่อย่าลืม ก่อนหน้านั้นสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” ทำหน้าที่นายกฯ เมื่อปี 2544 ก็เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีมี การซุกหุ้น จึงมีการตั้งคำถามว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่
2.พรรคประชาชนยื่นหนังสือขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน ที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลเลย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นของ “แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งมี “เจนกิจ เชฏฐวาณิชย์” รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้รับหนังสือ โดยรายละเอียดของหนังสือระบุว่า “มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2514 กำหนดพื้นที่ที่ดินของโรงแรมเทมส์ วัลเลย์ เป็นต้นน้ำลำธารอยู่ ยังไม่มีคำสั่งใดทางกฎหมาย ในการยกเลิกมติ ครม.2514 จึงยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารยังอยู่”
ล่าสุด “ป.ป.ช.” มีการเรียกตรวจสอบแผนที่ที่ “กรมที่ดิน” ส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก็ยังปรากฏพื้นที่ต้นน้ำลำธารอยู่ ดังนั้นเมื่อพื้นที่ต้นน้ำลำธารยังอยู่ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 ข้อที่ 14 (5) ยืนยันชัดเจนว่า พื้นที่ที่เป็นภูเขาต้นน้ำลำธารออกโฉนดไม่ได้
คำถามคือการออกโฉนดที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลเลย์ ไม่ได้แปลว่า ที่ดินแปลงนั้นถูกต้อง จึงต้องการให้มีการตรวจสอบว่า มีการออกโฉนดได้อย่างไร
จากนี้ไปคงต้องรอกระบวนการตรวจสอบของของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนหน้านั้น “นายกฯอิ๊งค์” ชี้แจงในสภาฯตอนหนึ่งว่า “เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ก่อนเข้าสู่การเมืองหลายปี มีความตั้งใจปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัท ด้วยการซื้อ-ขายผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ “ตั๋วพีเอ็น” อันเป็นคำมั่นสัญญาว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับอีกคนหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หนังสือดังกล่าวติดอากรแสตมป์เรียบร้อย บางรายการยังไม่เสียภาษี เนื่องจากยังไม่มีการชำระเงิน จึงยังเสียภาษีไม่ได้ เป็นภาระหนี้สินระหว่างตัวเองในฐานะ “ผู้ซื้อ” กับครอบครัวที่เป็น “ผู้ขาย” ไม่ได้มีนิติกรรมอำพรางใดๆ เพราะการซื้อขายต้องแสดงยอดหนี้ชัดเจนในบัญชี ได้ยื่น ป.ป.ช.แล้ว ตรวจสอบได้”
ส่วน “กรมที่ดิน” ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า การออก น.ค.3 ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร บนเนื้อที่ประมาณ 3.3 หมื่นไร่ เพื่อปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าเพื่อทดแทนและอนุรักษ์ที่ดิน และกรมที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินและ น.ส.3 ก. เนื้อที่ประมาณ 5.2 หมื่นไร่นั้น ไม่ได้ออกโฉนดที่ดินในบริเวณที่ถูกอภิปรายแม้แต่พื้นที่เดียว ขณะที่พื้นที่ต้นน้ำลำธารในนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ไม่ได้เป็นพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติจึงมีมติให้ออก น.ค.3 เพื่อเป็นหลักฐานไปออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก. ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จึงเป็นไปตามนโยบายบริหารที่ดิน และชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทุกประการ
ในส่วนของ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่พยายามขยายผล หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องรอดูว่า กระบวนการตรวจสอบ จะพบความผิดปกติเพิ่มเติมหรือไม่
ขณะที่ในส่วนของ “ฝ่ายบริหาร” ก็ต้องมารอดูจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ โดยเฉพาะ การปรับ ครม. เพราะถ้าย้อนไปในอดีต จะพบว่า ในสมัยพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต่อเนื่องมาจากจนถึงพรรคเพื่อไทย มักจะปรับครม.ทุก 6 เดือน ด้วยเหตุผล “รมต.บางคน” ทำงานไม่เข้าตา “ผู้มีอำนาจในพรรค” มีปัญหาการบริหารงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงการที่ สส.พรรคเพื่อไทยมีจำนวนมาก บางครั้งต้องสลับเปลี่ยนให้บุคคลในพรรค เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารบ้าง เพื่อตอบแทนสมาชิก
ประกอบกับ “รัฐบาลแพทองธาร” ทำงานมา 6 เดือนแล้ว “คำถาม” คือจำเป็นต้องมีการปรับครม.หรือยัง
อย่าลืมว่า บรรดารมต.ในส่วนของพรรคเพื่อไทย นอกจากต้องทำงานสนองความต้องการของ “หัวหน้ารัฐบาล” ยังต้องทำให้ “บุพการีนายกฯ” พอใจอีกด้วย เพราะมีอำนาจอิทธิพลมากล้นในรัฐบาล

ขณะที่ท่าทีของ “แพทองธาร” กล่าวภายหลังผ่านพ้นญัตติติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ยังไม่มีแผนจะปรับ ครม. และเมื่อถามว่า หากคนที่อยากปรับ ไปกดดันนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพื่อให้มากดดันนายกฯ จะรับฟังหรือไม่ นายกฯ กล่าวตอบว่า รับฟังทุกเรื่องอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว ได้คุยกันอยู่แล้ว ตั้งรัฐมนตรีอย่างไร ก็มีการคุยกัน ถามกัน มีการปรึกษาคุยกัน อย่างเช่นวันที่จะมีการอภิปรายรอบนี้ ก็ได้พูดคุยกับนายทักษิณ ว่ายังไม่ได้จะปรับ ครม. ท่านก็บอกว่า “อ๋อ โอเค” ก็แค่นี้ ก็ยังไม่ได้คิดจะปรับ ครม.ตอนนี้
เมื่อถามว่า นายกฯจะลำบากใจหรือไม่ หากทุกคนวิ่งไปหานายทักษิณ เพื่อกดดันนายกฯในการปรับ ครม. “แพทองธาร” ยิ้มและถามกลับว่า “อันนี้อภิปรายครอบงำ ยังไม่จบใช่หรือไม่” ก่อนกล่าวต่อว่า “คิดว่าถ้าทุกคนอยากได้อะไร อาจจะต้องมีการวิ่งทุกช่องทาง ต้องทราบอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก็ดูกันเองว่า วิ่งทางไหนแล้วเป็นผลก็แล้วกัน”
จับท่าที “หัวหน้ารัฐบาล” ดูเหมือนยังไม่ต้องการปรับ ครม. อาจพอใจกับการทำงานของรมต. ในส่วนของพรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งท้าทาย “ใครที่ต้องการไปวิ่ง” กับ “ทักษิณ” อยากรู้ว่า จะได้ผลหรือไม่
เพราะในฐานะ “ลูกสาวคนเล็ก” คงมีความเชื่อมั่นว่า “พ่อ” น่าจะยอมรับการตัดสินใจ เพราะยอมกระโดดเข้ามาทำงานการเมือง จนประสบความสำเร็จได้เป็นถึง “ผู้นำประเทศ” แต่ถ้าพูดถึงปฏิกริยาของ คนในพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมาแสดงออกอย่างชัดเจนคือ ไม่พอใจการทำงานของ “พิชัย นริพทะพันธ์” รมว.พาณิชย์ โดยในระหว่างการประชุมพรรค บรรดาสส.ไม่พอใจการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ แต่กลับให้น้ำหนักการเดินทางไปต่างประเทศ อีกทั้งยัง เคยเปิดศึกข้ามพรรค กับ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม (กธ.) อีกด้วย
โดยในระหว่างการประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ การส่งออกทุเรียนของไทย ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของประเทศจีน เกี่ยวกับการตรวจจับสารย้อมสี โดย “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เลขาธิการนายกฯ ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยควรมีเครื่องมือในการตรวจจับปริมาณสารย้อมสีทุเรียน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” ทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 2 กระทรวงหลัก ที่รับผิดชอบเรื่องการส่งออกทุเรียนคือ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รีบแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวโดยตอบโต้กันไปมาอย่างดุเดือด และใช้เวลาในเรื่องนี้พอสมควร

“พิชัย” กล่าวว่า “เมื่อมีการอายัดทุเรียนมาได้แล้ว ทำไมไม่ทำลาย เพราะถือว่าผลผลิตมีปัญหา” ทำให้ “นฤมล” รีบโต้แย้งขึ้นมาด้วยเสียงเข้มว่า “ตามขั้นตอนเมื่ออายัดของได้แล้ว ไม่สามารถทำลายได้ในทันที เพราะต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน” จนในที่สุด “แพทองธาร” ต้องหย่าศึก ไม่ให้ทั้ง 2 คนถกเถียงกันต่อ ด้วยการสั่งให้ 2 รัฐมนตรีดังกล่าว ไปคุยนอกรอบให้ยุติก่อน แล้วจึงนำเรื่องนี้มารายงาน ครม.อีกครั้ง
อย่าลืม “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ในฐานะ ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ถือเป็น “มือทำงานการเมือง” ให้ “ทักษิณ” ตั้งแต่ช่วงการทำงานในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงแยกตัวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาก่อตั้งพรรคกล้าธรรม อีกทั้งยังมีข่าวตามมาต่อเนื่อง “ร.อ.ธรรมนัส” อยากกลับมาทำงานในครม. โดยก่อนหน้าที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ออกมาให้สัมภาษณ์จะมีเสียงจากฝ่ายค้านโผล่มาหนุนไม่น้อยกว่า 10 เสียง และอาจมีมากกว่านั้น โดยปฏิเสธที่จะระบุชื่อพรรค ขอให้รอลุ้นวันลงมติ
อย่างไรก็ตาม พอถึงวันที่ลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า มีคะแนนเสียงสส.พรรคฝ่ายค้าน มาช่วยลงมติไว้วางใจนายกฯ เพิ่มให้อีก 7 เสียง ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 5 เสียง ได้แก่ “รำพูล ตันติวณิชชานนท์” สส.อุบลราชธานี “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” สส.บัญชีรายชื่อ “สุภาพร สลับศรี” สส.ยโสธร “หรั่ง ธุระพล” สส.อุดรธานี “อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์” สส.อุดรธานี พรรคพลังประชารัฐ 1 เสียง ได้แก่ “กาญจนา จังหวะ” สส.ชัยภูมิ พรรคไทยก้าวหน้า (ทกน.) 1 เสียง ได้แก่ “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” สส.กทม.
ในส่วนของ “กาญจนา จังหวะ” และ “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” นั้น มีแนวโน้มจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรม ส่วน “งูเห่า” พรรคไทยสร้างไทย นั้น ทั้ง พรรคภูมิใจไทย และ พรรคกล้าธรรม ต่างก็ระบุว่า เป็นผลงานของตัวเอง
ดังนั้นต้องรอดูว่า จำนวนตัวเลขสส.พรรคกล้าธรรม จะหยุดอยู่ที่เท่าไหร่ หลังจากเริ่มต้นที่ 20 เสียง เมื่อแยกตัวออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งใครก็เชื่อว่า ความต้องการเพิ่มจำนวนสส. เพราะเกี่ยวข้องกับการ “สร้างอำนาจต่อรอง” ให้กับตนเอง แต่ต้องยอมรับ ด้วย วิบากกรรมแต่หนหลัง ของ “ร.อ.ธรรมนัส” ซึ่งเคยถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุก
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้ทำเรื่องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในประเด็นที่ว่า บุคคลต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ดังนั้นการตั้ง “ร.อ.ธรรมนัส” เป็นรมต. อาจเผชิญความสุ่มเสี่ยง เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรณี “เศรษฐา ทวีสิน” สมัยทำหน้าที่นายกฯ แต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
จากนี้ไปคงต้องรอดูการตัดสินใจของ “นายกฯอิ๊งค์” หลังผ่านการคลี่คลายเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา จนส่งทำให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างเกิดถล่มลง นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มาสู่ความรู้สึกไม่ไว้วางใจอาคารสูงต่างๆ ทั้งที่เป็นของรัฐหรือเอกชน จนบางครั้งเกิดอุปทานหมู่ ทำให้เกิดเหตุความวุ่นวายในหลายพื้นที่ และทำให้เกิดความไม่มั่นใจ หวั่นเกรงว่า จะเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอีกครั้ง
และแม้ “นายกฯอิ๊งค์” จะไม่อยากปรับครม. แต่ต้องยอมรับ “รัฐมนตรีบางคน” ในส่วนที่มาจาก “พรรคเพื่อไทย” ผลงานยังไม่ออก ทำงานไม่น่าประทับใจจริงๆ

ไล่ตั้งแต่ “พิชัย นริพทะพันธ์” รมว.พาณิชย์ รวมทั้ง “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รมว.ต่างประเทศ และอดีตข้าราชการบัวแก้ว ที่เคยเป็นคนติดตาม “ทักษิณ” ตั้งแต่ทำงานเป็นรมว.ต่างประเทศ ก่อนจะเข้ามาทำหน้าที่เป็น “รมว.ต่างประเทศ” ในสมัย “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ต่อเนื่องมากจนถึงยุค “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ ซึ่งมีหลายสถานการณ์ที่เอื้อให้ “รมว.ต่างประเทศ” ได้โชว์ผลงาน แต่ “มาริษ” หรือ “อดีตทูตปู” กลับไม่แสดงความโดดเด่นให้สังคมได้เห็น
การดึง “บุคคลที่มีศักยภาพ” มากกว่า “รมต.ในปัจจุบัน” เพื่อช่วงสร้างภาพให้หัวหน้ารัฐบาล มีศักยภาพที่ชัดเจน เพื่อนำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “นายกฯอิ๊งค์” ซึ่งแม้จะมี “ที่ปรึกษาคนสำคัญ” ช่วยให้ความคิดเห็น แต่ถ้ามี “มุมมองที่แตกต่างกัน” ก็ยากที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ
ยิ่งเป็นเรื่องระหว่าง “พ่อ” กับ “ลูก” แล้ว “ไม่มีใครยอมใคร”
……………
คอลัมน์..ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”