วันพุธ, เมษายน 30, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS‘การเมือง’หวังผลเร่งปิดจ๊อบ‘ฮั้วเลือกสว.’ บี้เช็คบิล‘สว.สีน้ำเงิน’คุมตั้ง‘องค์กรอิสระ’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘การเมือง’หวังผลเร่งปิดจ๊อบ‘ฮั้วเลือกสว.’ บี้เช็คบิล‘สว.สีน้ำเงิน’คุมตั้ง‘องค์กรอิสระ’

ลุ้นระทึกพอสมควร หลัง “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ออกมาชี้แจงถึงความคืบหน้า “คดีการฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา” (สว.) ในส่วนของ คดีฟอกเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า “มีความคืบหน้าพอสมควร อยากทำให้ทันภายในกรอบเวลา ซึ่งอาจจะเป็นสิ้นเดือนเม.ย. นี้ ที่จะต้องมีกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา หรือจับกุมจะส่งฟ้อง หรือไม่ส่งฟ้อง”

หากใครติดตามกระบวนการตรวจสอบ “สว.” ที่ใช้ขั้นตอนเลือกกันเอง ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า มี “กลิ่นอายทางการเมือง” ปะปนอยู่ เพราะ สว.ส่วนใหญ่ประมาณ 140 คน ที่ตกเป็นเป้าในการตรวจสอบ ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “สว.สีน้ำเงิน” มีความใกล้ชิดกับ “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.)

อีกทั้งการขับเคลื่อนในสภาฯก็สอดคล้องกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีเสียงเป็นอันดับสอง ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ หรือล่าสุด “สว.ส่วนใหญ่” ยังออกมาคัดค้านพ.ร.บ.ธุรกิจการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) และเดินหน้าตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) โดยดึง “คนนอก” เช่น “แก้วสรร อติโพธิ-คำนูณ สิทธิสมาน-จรัญ ภักดีธนากุล-เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ที่แสดงท่าทีคัดค้านพ.ร.บ.ดังกล่าวมาตลอด

ดังนั้นจุดหมายปลายทาง ซึ่งเป็นบทสรุปของคณะกมธ.ฯ ที่เข้ามาศึกษาร่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่ถูกฝ่ายต่อต้านเรียกว่า “พ.ร.บ.กาสิโน” คงเดาออกไปไม่ยาก ซึ่งคงจะนำผลการศึกษาดังกล่าว ไปใช้ในการพิจารณา  เวลามีการนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว นำเข้ามาพิจารณาในวุฒิสภา

ขณะที่เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่มฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ร.ต.อ.ธรรศ เลาห์ทวี เลขานุการกรมดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม, ไกรศรี สว่างศรี ผอ.ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ, เจ้าหน้าที่จากส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ดีเอสไอ, เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมเข้าสังเกตการณ์ การตรวจสถานที่คัดเลือก “สว.ระดับประเทศ” และ “จำลองเหตุการณ์” เพื่อประกอบการสอบสวนคดีพิเศษในคดีฟอกเงิน สว. (คดีพิเศษที่ 24/2568) และใช้ประกอบการไต่สวนของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ “พ.ต.ต.ณฐพล” ได้นำทีมเดินสำรวจและใช้เครื่องมือพิเศษ “เลเซอร์สแกน 3 มิติ” เพื่อจัดทำ Mold เป็นแบบ 3D Mapping ให้เห็นภาพโดยรวมของห้องอาคาร และภายในห้องน้ำ รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิด ที่จะมีการจับภาพใบหน้า ในลักษณะเอไอ ซีซีทีวี

โดยจะช่วยให้โฟกัสกลุ่ม 140 สว. ว่าแต่ละคนในวันเกิดเหตุ มีพฤตินิสัยรวมกลุ่มกันอย่างไรบ้าง รวมถึงมีการจัดเตรียมเก้าอี้ พร้อมแปะกระดาษหมายเลข จำนวน 154 ตัว

สำหรับตัวแทน สว. 150 ตัว และกรรมการ 4 ตัว เตรียมหีบบัตรเลือกตั้ง ใช้สำหรับจำลองสถานการณ์ 1 กล่อง และคูหาสำหรับจำลองสถานการณ์ 1 กล่อง เพื่อจำลองเพียง 1 กลุ่มอาชีพ หรือ 1 บล็อกกิ้ง ซึ่งเชื่อว่า ดีเอสไอคงต้องหาหลักฐานมาประกอบ เพื่อทำให้สำนวนให้แน่นหนามากที่สุด เพราะหากมีการดำเนินคดีกับ สว. แล้วมีหลักฐานไม่ชัดเจน อาจถูกโต้กลับได้เช่นเดียวกัน   

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.68 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เผยแพร่ผลการประชุมวินิจฉัยของตุลาการศาลรธน. โดย ศาลรธน.มีมติเป็นเอกฉันท์ รับคำร้องของ “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” สว.และสว.รวม 92 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และส่งคำร้องขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยตามรธน.มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและ รมว.กลาโหม และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรธน. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

โดยอ้างถึงกรณี “ภูมิธรรม” ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) และ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะรองประธาน กคพ. ซึ่งดีเอสไอ เสนอเรื่องให้สอบกระบวนการเลือกสว. ปี 67 ต่อ กคพ. เพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษนั้น เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของ กกต. โดยใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่และครอบงำสว. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่า “ภูมิธรรม-พ.ต.อ.ทวี” ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะเฉพาะตัว ตามรธน.หรือไม่

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ

ขณะที่ “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำหรับผู้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอ รวมทั้งพยานที่เป็นผู้สมัคร สว. วันนี้ได้พามานำชี้จุดที่เป็นการเลือกระดับประเทศ ซึ่งมีการกล่าวหาว่า ในการเลือกครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และมีการกล่าวหาในคดีอาญาด้วย ซึ่งเบื้องต้น ดีเอสไอได้รับคดีพิเศษฐานฟอกเงิน และล่าสุดก็เพิ่งรับฐานความผิดอั้งยี่เป็นคดีพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ดังนั้นการรวบรวมพยานหลักฐาน ก็จะเป็นรูปแบบภาพกว้างขึ้น รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ

อีกทั้งพยานและผู้กล่าวหาได้นำชี้จุด เราก็จะได้มาดูว่า ที่มีการกล่าวหาว่ามีการพบโพยตรงส่วนไหน มีการรวมตัวกันตรงไหน ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เราได้มา มันเกิดจากกล้องตัวไหน มันเห็นมุมไหนบ้าง เพื่อที่เราจะได้นำไปวิเคราะห์และจัดทำภาพถ่ายและแผนที่จำลองสถานการณ์ ดังนั้น เวลาเราเรียกพยานมาสอบปากคำ เราจะได้ชี้จุดถูกต้องว่า พยานรายนี้อยู่ตรงจุดไหนในวันเกิดเหตุ และเห็นเหตุการณ์อย่างไร เพื่อให้มันสอดคล้องกับพยานหลักฐานทั้งหมด รวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ว่าการเลือก การลงคะแนนในลำดับซ้ำกัน เช่น ลำดับที่ 1 เบอร์นี้ ลำดับที่ 2 เบอร์นั้น ที่มันมีลักษณะซ้ำกัน มันจะเกิดขึ้นได้ด้วยเปอร์เซ็นต์เท่าไร

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรอบระยะเวลาสอบสวนคดีนั้น ในการดำเนินคดีอาญา เราต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่า มีบุคคลใดบ้างที่ได้กระทำผิดอาญา ขณะที่ในส่วนของดีเอสไอที่ไปร่วมกับ กกต. ในชุดคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ก็จะมีการพิสูจน์ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ตรงส่วนนี้เราทำร่วมกับ กกต. หากพยานหลักฐานฟังได้ความว่า การเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ก็เป็นเรื่องของ “กกต.” ที่จะดำเนินการ แต่ถ้าคดีอาญาก็ต้องเป็น “ดีเอสไอ” รับผิดชอบ

นั่นหมายความว่า กรอบเวลาที่ทาง “รมว.ยุติธรรม” ตั้งเป้าไว้ว่า ต้องสรุปสำนวน “ฮั้วเลือกสว.” ภายในเดือนเม.ย. อาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คำถามคือทำไม “รมว.ยุติธรรม” ต้องเร่งรีบในการสรุปสำนวน หรือมี “เป้าหมายบางอย่าง” อย่าลืมว่า สว.มีอำนาจสำคัญในการสรรหา บุคคลที่จะเข้ามาทำงานใน “องค์กรอิสระ” ที่มีบทบาทสำคัญชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง

แหล่งข่าวจากดีเอสไอ ระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการในหลายประเด็นแล้ว เช่น สอบปากคำพยานไปแล้ว จำนวน 30 ปาก ทั้งพยานบุคคล พยานแวดล้อม พยานกลุ่ม สว.สำรอง พยานซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ (ประจักษ์พยาน) พยานผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมไปถึงการรวบรวมพยานวัตถุและพยานเอกสาร เป็นต้น อีกทั้ง มีการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมบุคคลในขบวนการ จำนวน 1,200 ราย ข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์ จำนวน 20,000 เลขหมาย และทำฐานข้อมูลทางดิจิทัล ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร 

ขณะที่สื่อบางสำนักรายงานว่า มี “พยานหลายคน” ให้ข้อมูลกับดีเอสไอ ระบุว่า มี “3 รัฐมนตรี” และ “1 ผู้นำ” คอยกำกับการเกือบทุกขั้นตอน และพบ “เจ้าหน้าที่ กกต.” มีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะขั้นตอนการนำ “โพย” เข้าคูหา หรือจดใส่มือ ก่อนเผาทำลายโพยในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานกกต. ออกเอกสารชี้แจงกรณี การนำเอกสารหรือโพยเข้าไปในสถานที่เลือกสว.ว่า

1.กกต.ได้ออกระเบียบกกต.ตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสว. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567 ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่า “เอกสารแนะนำตัว ตามวรรคหนึ่งจะแจกจ่ายหรือนำเข้าไปในสถานที่เลือกไม่ได้”

2.เมื่อวันที่ 24 พ.ค.67 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 971/2567 และคดีหมายเลขแดงที่ 972/2567 ให้เพิกถอนข้อ 7 วรรคสอง ของระเบียบกกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสว. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567

3.ต่อมาในวันที่ 28 ม.ค.68 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อท 13/2568 วินิจฉัยว่า การนำโพยหรือเอกสารที่มีการจดหมายเลขของผู้สมัครอื่นเข้าไปในสถานที่เลือก ตามพระราชบัญญัติประกอบรธน.(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.พ.ศ. 2561 มิได้มีข้อห้ามไว้โดยตรง จึงเห็นได้ว่า กฎหมายรธน.ได้กำหนดว่าการนำเอกสาร รวมทั้งเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครอื่นเข้าไปในเขตเลือกตั้งเป็นความผิดในตัวเอง ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดห้าม หรือกำหนดเป็นความผิดไว้ ผู้สมัครย่อมมีสิทธินำเอกสารใดเข้าไปในสถานที่เลือกได้

สำหรับอำนาจสำคัญของ สว. ที่หลายคนครั่นคร้าม และอยากจะเข้ามามีบทบาทในสภาสูง คือการเลือกบุคคลที่จะเข้าไปทำงานในองค์รกรอิสระ โดยเมื่อปี 2567 มีกรรมการองค์กรอิสระหมดวาระลง 12 คน จาก 4 องค์กร โดยที่ สว. ชุดปัจจุบันเป็นผู้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง ซึ่งบางตำแหน่งอาศัย “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง” และบางตำแหน่งอาศัย “เสียงข้างมาก” ของวุฒิสภา

เดือน ก.ย.67 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เกือบยกชุดรวม 6 จากทั้งหมด 7 คน ครบวาระ ประกอบด้วย พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน คตง., ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, จินดา มหัทธนวัฒน์, สรรเสริญ พลเจียก, อรพิน ผลสุวรณ์ 

เดือน พ.ย.67 ตุลาการศาลรธน. ครบวาระ 2 คน จากทั้งหมด 9 คน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธาน, ปัญญา อุดชาชน และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบวาระ 1 คน จากทั้งหมด 3 คน คือ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานฯ

เดือน ธ.ค.67 กรรมการ ป.ป.ช. ครบวาระ 3 จากทั้งหมด 9 คน คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน, สุวณา สุวรรณจูฑะ และ วิทยา อาคมพิทักษ์

นอกจากตำแหน่งข้างต้นที่ สว. ชุดใหม่จะได้พิจารณาทั้งกระบวนการแล้ว ยังมี “2 ตำแหน่งสำคัญ” ในองค์กรอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่วุฒิสภาต้องแต่งตั้งคณะกมธ.วิสามัญเพื่อทำหน้าที่สอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง แล้วต้องนำรายงานมาขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาชุดใหม่ นั่นคือ ประธานศาลปกครองสูงสุด และ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น อัยการสูงสุด (อสส.) คนใหม่

แต่ที่เป็นไฮไลต์ และบรรดานักการเมืองให้ความสำคัญคือ ตามที่รธน. 2560 มาตรา 222 กำหนดให้มี “คณะกรรมการ กกต.” จำนวนเจ็ดคน และมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 223  โดยจะมี กกต. 5 จาก 7 คน พ้นตำแหน่งในปี 2568 โดยในจำนวน กกต. เจ็ดคน มีสามคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯพร้อมกัน เมื่อ 12 ส.ค.61 ได้แก่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต., ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และ ปกรณ์ มหรรณพ นั่นหมายความว่า ทั้งสามคนนี้จะดำรงตำแหน่งครบเจ็ดปี และจะหมดวาระในเดือนส.ค.68

ขณะที่ กกต.อีกสองคน คือ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ก็จะพ้นจากตำแหน่งตามกัน เนื่องจากทั้งสองคนได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าสู่ตำแหน่ง 4 ธ.ค.61 จะดำรงตำแหน่งครบเจ็ดปีในเดือนธ.ค.68 เท่ากับว่า ในปี 2568 จะมี “กกต. 5 คน” ที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งสว.จะเลือก กกต.คนใหม่ได้ถึงห้าคน ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวน กกต. ทั้งหมด ส่วนกกต.อีก สองคน จะพ้นตำแหน่งในปี 73-74 คือ ชาย นครชัย ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.66 จึงทำให้จะหมดวาระในช่วงเดือนต.ค.73 และ กกต. อีกรายหนึ่ง สิทธิโชติ อินทรวิเศษ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 สามารถดำรงตำแหน่ง กกต. ได้ถึงช่วงเดือนมี.ค.74

จึงไม่ใช้เรื่องแปลก ที่ฝ่ายการเมืองจะพยายามเข้ามามีอิทธิพลใน สว. เพราะถ้าคุม “องค์กรอิสระ” ได้ นั่นหมายความว่า “มีชัยไปกว่าครึ่ง” ไม่ต้องกังวลกับกระบวนการตรวจสอบ ดังนั้นคงต้องรอดูบทสรุปของการตรวจสอบ “ฮั้วสว.” จะจบลงอย่างไร อย่าลืมการเมืองมีความซับซ้อน และมีบางเรื่องที่ใครก็คาดไม่ถึง

………………………..

คอลัมน์..ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img