วันพุธ, พฤษภาคม 7, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSลุ้น‘ศาลฎีกา’ไต่สวน‘ทักษิณ..ป่วยทิพย์’ ผลสอบ‘แพทยสภา’คือหลักฐานสำคัญ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลุ้น‘ศาลฎีกา’ไต่สวน‘ทักษิณ..ป่วยทิพย์’ ผลสอบ‘แพทยสภา’คือหลักฐานสำคัญ

เส้นทางการทำงานการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี หนีไม่พ้นการเข้าไป พัวพันกับ “กระบวนการยุติธรรม” หรือ “ถูกร้องเรียนในประเด็นต่างๆอย่างต่อเนื่อง”

แม้กระทั่งการเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อยอมรับใน คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับการลดโทษจำคุกจาก 8 ปี เหลือเพียงปีเดียว แต่ก็ยังเกิดเป็นประเด็นขึ้นอีกจนได้ มีการตั้งคำถามว่า การเกิดอาการป่วย ตั้งแต่วันแรกของการเข้าเรือนจำ และนำตัวส่งเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ  จนกระทั่งพ้นการถูกจองจำ และสามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ตามปกติ

แต่เรื่องยังไม่จบสิ้น หลังมีเสียงวิจารณ์ “อดีตนายกฯไม่ได้ได้ป่วยจริง” นำมาสู่การร้องเรียนให้ตรวจสอบ ทั้ง “กรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ” โดยร้องผ่าน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็เคยออกมาสรุปแล้วว่า กระบวนรักษาพยาบาล “ทักษิณ” มีการ “เลือกปฏิบัติ”

แต่ที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา จนอาจทำให้ “ทักษิณ” ต้องออกอาการร้อนๆ หนาวๆ มากกว่าการตรวจสอบของหน่วยงานอื่น เกิดขึ้นหลัง “ศาลฎีกาฯ” มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ไม่รับคำร้องของ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” อดีตสส.ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยื่นขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ “ทักษิณ” ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลฯตัดสินใจใช้อำนาจไต่สวนเอง ซึ่งถูกมองถือเป็นกรณีแรก ไม่เคยปรากฏการณ์เหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน

ขณะเดียวกันก็เห็นควรส่งสำเนาคำร้องให้ โจทก์ และ จำเลย ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2556 และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ แล้วโจทก์และจำเลยดังกล่าวแจ้งต่อว่าข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในคำร้อง จริงหรือไม่ อย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกทม., อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นพ.ใหญ่ รพ.ตำรวจ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาลว่า การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลย เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้โจทก์ จำเลยดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกทม. อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนพ.ใหญ่รพ.ตำรวจ แจ้งให้ศาลทราบ พร้อมกับแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 68 เวลา 09.30 น.

หลังเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา หลายคนที่ตั้งข้อสงสัยถึงประเด็นการตรวจสอบอาการป่วยของ “ทักษิณ” ก็เริ่มมีความหวังว่า ตกลงอดีตนายกฯ “ป่วยทิพย์” หรือ “ป่วยจริง” ในระหว่างพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ จะได้รับการพิสูจน์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีความล่าช้า

ซึ่งก่อนหน้านั้น “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” หัวหน้าพรรคเสรีไทย (สร.) ซึ่งเคยเดินทางเข้าเยี่ยม “ทักษิณ” ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ได้เข้าไปให้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป่วยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ป.ป.ช. ตั้งขึ้น โดยระบุว่า เหตุจากการเข้าให้ข้อมูลครั้งแรก ยังไม่ครบถ้วน และโดยข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป จึงขอเข้าชี้แจงเพิ่มเติม หลังมีความเห็นจากแพทยสภา

ข้อมูลล่าสุดของเวชระเบียน ที่รพ.ตำรวจ บันทึกและแยกไว้ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงข้อมูลที่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม อ้างอิงถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่ “ทักษิณ” เป็นฝ่ายผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีใบเสร็จแสดงเป็นหลักฐาน ก็สามารถตรวจสอบอาการป่วย และเหตุที่ต้องส่งตัวเข้ารักษาที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจได้ เพราะตามกฎหมายราชทัณฑ์ เมื่อศาลพิพากษาสั่งลงโทษ “คุมขัง” จำเลยในคดี แต่เรือนจำ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมราชทัณฑ์ พิจารณาส่งผู้ต้องขัง ไปพักรักษาตัว เหตุป่วยวิกฤต ไปยังรพ.โดยไม่ได้ขออนุญาตศาล ถือเป็นการกระทำผิดต้องโทษเช่นกัน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

พร้อมกันนี้ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ยังตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้ป่วยวิกฤตจริง จะต้องมีการตรวจสมอง หัวใจ และปอด แต่กรณี “ทักษิณ” ไม่มีหลักฐานการตรวจใดๆ ตั้งแต่เข้ารพ.ราชทัณฑ์ ส่งตัวไปรพ.ตำรวจ

เมื่อถามว่า ช่วงที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปเยี่ยมนายทักษิณอาการเป็นอย่างไรบ้าง ฟิตหรือไม่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ตอบว่า “ฟิต ฟิตกว่าผมตอนนี้อีก” พร้อมประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า “จะนำอดีตนายกฯ กลับเข้าคุกให้ได้” 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ ความเคลื่อนไหวของ “แพทยสภา” ที่ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ สอบสวนจริยธรรมแพทย์ รพ.ตำรวจ และรพ.ราชทัณฑ์ ที่รักษาตัว “ทักษิณ” ซึ่งมีความคืบหน้าออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะแพทยสภา ที่มีข่าวว่าจะมีการนัดประชุมวันที่ 8 พ.ค. ซึ่ง “จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตประธานนปช.และคณะหลอมหลวมประชาชน ออกมาเปิดประเด็น ให้จับตาดูผลการสอบสวนของแพทยสภาในวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งจะส่งผลถึงการนัดพร้อมหรือไต่สวนของศาลฎีกาฯ และ ป.ป.ช. เรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ

“ผลสอบสวนจริยธรรมแพทย์ของคณะอนุกรรมการแพทยสภาในวันที่ 8 พ.ค.นี้ โดยมีรายงานแว่วมาว่า สั่งพักใบอนุญาตแพทย์ รพ.ตำรวจเบื้องต้น 2 คน และสอบเพิ่มเติมอีก 5 คน ทั้งแพทย์ 2 โรงพยาบาลคือ รพ.ตำรวจและราชทัณฑ์ และผลสอบคาดจะออกมาหนักกว่า 2 คนแรก” จตุพร ให้ความความเห็นที่น่าสนใจไว้

อย่างไรก็ตาม “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี” กรรมการแพทยสภาฯ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ที่รักษาทักษิณ ชินวัตร ออกมาให้ความเห็นว่า “ให้รอดูผลการประชุมแพทยสภาวันที่ 8 พ.ค. ไม่อยากพูดอะไรออกไปก่อน”

ส่วนข่าวที่ออกมาว่า ผลสอบของแพทยสภามีการเสนอให้สั่งพักใบอนุญาตแพทย์ 2 คน และสอบเพิ่มเติมอีก 5 คน รวมเป็น 7 คน “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี” กล่าวแบบสงวนท่าที ไม่ตอบรับ-ไม่ปฏิเสธ โดยตอบว่า “คงไม่ยืนยันอะไรทั้งนั้น ต้องรอฟังผลการประชุมแพทยสภา เรื่องข่าวที่ว่ามีการเสนอให้ลงโทษและสอบสวนหมอ 7 คน เพิ่งทราบข่าววันนี้มีคนส่งข่าวมาให้ดู แต่ผมตอบอะไรไม่ได้ ขอให้ไปรอติดตามผลการประชุมแพทยสภาวันที่ 8 พ.ค.นี้ ข่าวที่ออกมา ก็ไม่รู้ว่าคนที่พูด เขาเอาข้อมูลมาจากไหน ผมไม่ยืนยันและไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น ดูวันที่ 8 พ.ค.นี้ว่า เรื่องนี้จะเข้าที่ประชุมแพทยสภาวันที่ 8 พ.ค.นี้ได้ทันหรือไม่ หากเข้าได้ ก็รอฟังเนื้อหาที่จะออกมา แพทยสภาเขาก็จะจัดการกันเอง ต้องไปทีละขั้นตอน” 

สำหรับกระบวนการพิจารณาของแพทยสภาในการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ที่มีการร้องเรียนไปที่แพทยสภานั้น ก่อนหน้านี้ “รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ” กรรมการแพทยสภา เคยชี้แจงไว้ว่า มีทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่อนุกรรมการสอบสวนฯ ชุดนพ.อมร กำลังสอบสวน อยู่ในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งเมื่อสอบสวนเสร็จ ต้องส่งเรื่องให้อนุกรรมการกลั่นกรองที่มีบุคคลภายนอก ซึ่งไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายระดับประเทศ ให้ความเห็นต่อคดีเพื่อให้มีความแน่นหนาต่อการทำสำนวน ที่เป็นขั้นตอนที่ 5

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 คือส่งให้ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการแพทยสภา เพื่อพิจารณาว่าผู้ถูกร้องมีความผิด ต้องลงโทษหรือไม่ หรือยกข้อกล่าวหา สุดท้ายจะเป็นลำดับที่ 7 เสนอต่อสภานายกพิเศษ ซึ่งถ้าสภานายกพิเศษใช้อำนาจวีโต้-โต้แย้ง เรื่องจะต้องย้อนกลับมายังคณะกรรมการแพทยสภาลงความเห็น

โดยหากที่ประชุมแพทยสภาลงมติ 2 ใน 3 ยืนยันมติเดิม ทางผู้ถูกร้อง (หากถูกลงโทษ) ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นร้องต่อศาลปกครอง แต่ถ้าที่ประชุมแพทยสภาเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 จะถือว่ายึดตามความเห็นของสภานายกพิเศษ ซึ่งบุคคลที่เป็นสภานายกพิเศษ ก็คือ รมว.สาธารณสุขโดยตำแหน่ง คือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข

แต่สังคมกำลังจับตามองว่า การให้ความเห็น “นายสมศักดิ์” จะใช้ “อำนาจโต้แย้ง” ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทยสภาหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อ “สถานะความเป็นรัฐมนตรี” เพราะถ้าเลือกที่จะปกป้อง “อดีตนายกฯ” อาจถูกกระแสสังคมโจมตี หรือถ้ายึดถือความเห็น “แพทยสภา” ที่ออกมาเป็นลบกับอดีตนายกฯ อาจมีผลกระทบกับตำแหน่งฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม แม้ “สมศักดิ์” จะใช้อำนาจโต้แย้งที่ประชุมแพทยสภา แต่ถ้าสังคมรับรู้บทสรุป เสียงส่วนใหญ่เสนอให้ลงโทษและสอบสวน “หมอที่รักษาทักษิณ” เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการตรวจสอบอดีตนายกฯ ของ ป.ป.ช. รวมทั้งศาลฎีกาฯซึ่งจะนัดไต่สวน

เพราะเท่ากับกระบวนการรักษาตัวอดีตนายกฯมีความผิดปกติ ไม่ได้ยึดหลักการทางการแพทย์ แต่คงต้องรอดูว่า การประชุมแพทยสภาจะเลื่อนหรือไม่ หลังเคยเลื่อนมาแล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย. และมีความเป็นไปได้ว่า ศาลฎีกาอาจทำหนังสือถึงแพทยสภา เพื่อขอให้ส่งผลการสอบสวน และมติที่ประชุมแพทยสภา-รายงานการประชุมแพทยสภามาให้ ศาลฎีกาฯ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก

ขณะที่ “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นว่า “หากศาลฎีกาฯไต่สวนแล้วเห็นว่า นายทักษิณยังไม่ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และมีการสร้างข้อมูลเท็จเรื่องอาการป่วย เพื่อให้นายทักษิณได้ย้ายไปอยู่ที่รพ.ตำรวจ แทนการรับโทษจำคุกในเรือนจำ ก็เป็นไปได้ 2 ทาง คือ แนวทางแรก ศาลอาจจะมีคำสั่งให้ทักษิณติดคุก 1 ปี ตามที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ แนวทางที่ 2 ศาลอาจจะสั่งให้นายทักษิณต้องเข้ารับโทษจำคุก 8 ปีตามคำพิพากษาเดิมก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ”

เนื่องจากเห็นว่า ในการขอพระราชทานอภัยโทษของ “ทักษิณ” นั้น ได้อ้างว่า เคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา แต่ขณะนี้อายุมากและมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วย ต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

แต่จากการไต่สวนพบว่า “ทักษิณ” ไม่ได้เคารพในกระบวนการยุติธรรม และไม่ได้มีอาการป่วยถึงขั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างที่กล่าวอ้าง จึงเท่ากับเป็นการ “ทูลเท็จ” เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษและจากกรณีที่มีการ “ทูลเท็จ” ดังกล่าว ก็อาจจะมีผู้ไปดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับ “ทักษิณ” อีกคดีหนึ่งด้วย จึงอาจทำให้ “ทักษิณ” ต้องรับโทษจำคุก จากทั้งสองคดีเป็นเวลามากกว่า 8 ปี

ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมช่วยเหลือให้ “ทักษิณ” ไม่ต้องรับโทษในคุก ก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “ผู้บัญชาการเรือนจำ-อธิบดีกรมราชทัณฑ์-แพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ-แพทย์ที่อ้างว่าทำการรักษา” และอาจรวมถึง “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” และ “รมว.ยุติธรรม” ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ด้วย

ในทางกฎหมายคงเป็นประเด็น ที่แต่ละฝ่ายจะต้องใช้พยานหลักฐานมาต่อสู้กัน แต่ในทางการเมือง “บทสรุปกระบวนไต่สวนของศาลฎีกาฯ” เป็นที่พึ่งและเป็นความหวัง ของคนติดตามกระบวนการตรวจสอบการรักษาตัวของ “ทักษิณ”  เพราะเชื่อในอำนาจศาล ที่สามารถเรียกข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ได้ โดยไม่มีใครกล้าบิดพลิ้ว

แต่ก่อนอื่น คงต้องรอความชัดเจนจากการประชุมแพทยสภาวันที่ 8 พ.ค. นอกจากนี้ความเป็นไปของ “ทักษิณ” คงหนีไม่พ้นแรงเหวี่ยง ที่มีผลกระทบไปถึง “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ทั้งคำถามในประเด็น “ดีลลับหมดอายุ” งานนี้ “บุพการีหัวหน้ารัฐบาล” หนีไม่พ้นถูก “นิติสงคราม” ไล่ล่าไม่จบ-ไม่สิ้น…อีกครั้ง

………………………..

คอลัมน์..ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

                                                                                                                                   

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img