เสถียรภาพของรัฐบาล ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี อยู่ในภาวะเปราะบางจริงๆ อยู่ดีๆ ก็มีข่าว “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) พรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 ซึ่งมีเสียงสส. 69 เสียง จะไม่ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2569 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 28-30 พ.ค.68 นี้
ทำเอา แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ต่างออกมาปฏิเสธกันวุ่น เพราะ ถ้าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ “นายกฯแพทองธาร” ต้อง “ลาออก” หรือไม่ก็ “ยุบสภา”
แต่หลังจากข่าวดังกล่าวเผยแพร่ได้ไม่นาน “แนน บุณย์ธิดา สมชัย” สส.อุบลราชธานี ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย ออกมาปฏิเสธข่าวที่พรรคภูมิใจไทยเตรียมจะคว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เนื่องจากไม่พอใจการดำเนินคดีคดีฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเป็นต้นเหตุสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคภูมิใจไทย” ว่า “กระแสข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า พ.ร.บ.งบประมาณฯเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ และแก้ปัญหาประชาชน จึงขอปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง”
คงต้องบอกว่า ในความเป็นจริงทางการเมือง ข่าวชิ้นดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะ “ภูมิใจไทย” มีส่วนในการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งความขัดแย้งกับ “เพื่อไทย” ยังไม่ถึงจุดแตกหัก เพราะร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) ยังไม่เข้าพิจารณาในสภาฯ

แม้ “ไชยชนก ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เคยประกาศกลางสภาฯ “ไม่เห็นด้วย” แต่แกนนำพรรคก็ชี้แจงว่า เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติพรรคภูมิใจไทย ซึ่งในที่สุดหากกระแสสังคมคัดค้านมากๆ พรรคเพื่อไทยอาจเปลี่ยนแปลงรายละเอียด โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ให้ กันพื้นที่ 10% ทำเป็น “กาสิโน”
ที่ผ่านมาหลังจากเปิดนโยบายดังกล่าวให้สาธารณชนรับรู้ ยังไม่มีมวลชนกลุ่มไหนออกมาสนับสนุน ส่วนใหญ่จะเป็น “กลุ่มต่อต้าน” แทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีบรรดา “ขาประจำ” ในหลากหลายภาคส่วน รวมตัวออกมาต่อต้าน แม้กระทั่ง “กลุ่มแพทย์” ที่ไม่ค่อยออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ก็ออกมาประกาศไม่เห็นด้วย ส่วน “คดีฮั้ว สว.” ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กว่าจะมีบทสรุปหรือศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งจะตัดสิน
ขณะที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกฯและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นถึงกระแสข่าวพรรคภูมิใจไทยจะไม่โหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯว่า “พรรคภูมิใจไทยออกมาชี้แจงแล้ว ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค บอกมาตลอดว่า พร้อมผลักดันนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาขวางร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล”
“คนที่ปล่อยข่าวนี้ออกมามีเจตนา ทำให้คนในรัฐบาลระแวงกันเอง แต่ส่วนตัวที่ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทำงานร่วมกับรัฐมนตรีแต่ละพรรค ยังไม่เห็นประเด็นขัดแย้งในการทำงาน ทุกคนยังพร้อมให้ความร่วมมือการเดินหน้าภารกิจของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จึงมั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาล ว่าจะสามารถทำงานแก้วิกฤตต่างๆ ที่เจอในขณะนี้ได้ จนอยู่ครบวาระ และเชื่อว่าด้วยความเป็นผู้นำของน.ส.แพทองธาร ที่ให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างดี ทำให้การทำงานราบรื่น แม้จะมีคนพยายามปล่อยข่าวทำนองนี้มาหลายครั้ง แต่เวลาที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่า มันไม่เป็นความจริง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ขอให้ความมั่นใจประชาชนได้เลยว่า รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานแก้วิกฤต และพัฒนาประเทศได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน” รมต.ประเสริฐ ระบุ

นั่นหมายความว่า แกนนำพรรคพท.เชื่อว่า มีคนต้องการทำให้เกิดความหวาดระแวงในพรรคร่วมรัฐบาล สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับ ถ้าไม่มีประเด็นทำให้คนเกิดความสงสัย จนนำมาตีความต่างนานา ก็คงไม่เกิดกระแสข่าวเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินคดีกับสว. ประเด็นฮั้ว อั้งยี่ ฟอกเงิน ยิ่งสว. เกือบ 140 คน ถูกขนานนามว่า เป็น“สว.สีน้ำเงิน” ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ “ภท.” มีบทบาทสำคัญในการกลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านมาเห็นต่างกับรัฐบาลหลายเรื่อง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แต่อำนาจที่สำคัญที่หลายคนอยากเข้ามามีส่วนร่วมคือ การเลือกบุคคลเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระ ซึ่งถือเป็นการชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง ซึ่งมีกรมสอบสวนสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามามีส่วนร่วมสอบสวนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เนื่องจากดีเอสไออยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ดูแล ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง อีกทั้งยังมีข่าวนายทุนคนสำคัญของพรรค เคยมีปัญหากับแกนนำพรรคภท. ระหว่างดูแลกระทรวงคมนาคม เลยถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
ขณะที่ย้อนมาดู “เสียงสส.พรรคร่วมรัฐบาล” ในปัจจุบันมี 324 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 142 เสียง-พรรคภูมิใจไทย 69 เสียง-พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง-พรรคกล้าธรรม (กธ.) 26 เสียง-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง-พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง-พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง-พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 3 เสียง-พรรคไทรวมพลัง (ทร.) 2 เสียง-พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) 1-พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 1 เสียง
ส่วน “เสียงสส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน” มี 170 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน (ปชน.) 143 เสียง-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 19 เสียง-พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง-พรรคเป็นธรรม (ปธ.) 1 เสียง-พรรคไทยก้าวหน้า (ทกน.) 1 เสียง

แต่ถ้าหาก “เพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย” ไม่อยู่ในสมการเดียวของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีเหตุให้ต้องแยกทางกัน อาจจะมี “2 สูตร” ที่เพิ่มเสียงฝ่ายบริหารให้ไปต่อได้ โดยไม่ต้องกังวลปัญหาในสภาฯ
สูตรแรก จัดตั้ง “รัฐบาลขั้วใหม่” โดยไม่ดึงพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม โดย ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล จะมีเสียงลดลงเหลือ 255 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 142 เสียง-พรรครรวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง-พรรคกล้าธรรม (กธ.) 26 เสียง-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง-พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง-พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง-พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 3 เสียง-พรรคไทรวมพลัง (ทร.) 2 เสียง-พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) 1-พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 1 เสียง ส่วน พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะมีเพิ่มเป็น 239 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน (ปชน.) 143 เสียง-พรรคภูมิใจไทย 69 เสียง-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 19 เสียง-พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง-พรรคเป็นธรรม (ปธ.) 1 เสียง-พรรคไทยก้าวหน้า (ทกน.) 1 เสียง
ส่วน สูตรที่สอง มีการ ดึงพรรคพรรคฝ่ายค้านมาเพิ่มเสียง ซึ่งหนีไม่พ้น “พรรคพลังประชารัฐ-พรรคไทยสร้างไทย” อันจะทำให้ ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ มี 280 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 142 เสียง-พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง-พรรคกล้าธรรม 26 เสียง-พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง-พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง-พรรคประชาชาติ 9 เสียง-พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง-พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง-พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง-พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง-พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง-พรรคพลังประชารัฐ 19 เสียง
แต่ก่อนหน้านั้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันจะไม่กลับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีก จึงต้องจับตาดูจะมีแกนนำพรรคพลังประชารัฐคนไหน ยอมเข้าร่วมฝ่ายบริหารอีกหรือไม่
แต่คนการเมืองเชื่อว่า ในที่สุด “ภูมิใจไทย” จะไม่ขอแตกหักกับ “เพื่อไทย” เพราะการรักษาสถานการณ์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถือว่ามีความสำคัญในแง่ทางการเมือง ทั้งยังได้ดูแลกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลการเลือกตั้งทุกระดับ เว้นแต่กระบวนการตรวจสอบคดีฮั้ว สว. จะไปเกี่ยวข้องกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งต้องรอดูว่าหลักฐานจะมีความชัดเจนมากแค่ไหน

ส่วนขั้นตอนในการดำเนิน คดีฮั้วเลือก สว. หลัง “ดีเอสไอ” ส่งข้อมูลการสอบสวนทั้งหมดไปให้ “กกต.” ก่อนจะมีการออก “หมายเรียก” 55 สว. ให้เข้าชี้แจงระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. ซึ่งล้วนแต่เป็น “สว.สายสีน้ำเงิน” ซึ่งในจำนวนนี้มี “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา และ “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2
โดยเหตผลที่ “กกต.” มีการแจ้งข้อกล่าวหา สว.กลุ่มนี้คือ มีพฤติการณ์และพยานหลักฐานชัดเจน ว่ากระทำความผิด ไม่ได้ถูกเลือกเป็น สว.โดยสุจริตเที่ยงธรรม
นอกจากนั้นยัง จะมีการเรียก สว. ลอต 2 อีก 97 ราย โดยในกลุ่มนี้มีรายงานว่า มีพยานหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องกระแสเงินมีการจ่ายให้หัวละ 5,000-20,000 บาท รวมมีเงินหมุนเวียนประมาณ 500 ล้านบาท
ซึ่งตามกระบวนการ เมื่อ “กกต.” แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว “ผู้ที่มีชื่อ” ต้องชี้แจงรายละเอียด ทั้งการให้ปากคำ หรือชี้แจงทางเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประกอบการไต่สวนของ กกต. หากมีมูลจริง ต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาชี้ขาด ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ซึ่งอาจนานเป็นปี
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีหลักฐานอาจมีเชื่อมโยงไปถึง “นักการเมืองผู้มากบารมี” หรือ “รัฐมนตรีบางคน” ที่อยู่เบื้องหลัง จึงต้องรอดูพยานหลักฐาน ว่าจะสาวไปถึงจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะพยานที่ให้ข้อมูลจะมีน้ำหนักมากแค่ไหน

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ยังออกมาเปิดเผยอีกว่า “ถ้าหากพยานหลักฐานประจักษ์ชัดถึงเส้นทางการเงิน ที่เชื่อมโยงกับบรรดา สว.รายใด ดีเอสไอก็จะต้องพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแน่นอน ส่วนถ้า สว.จะมีเอกสิทธิ์คุ้มครองตาม “เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ก็ว่ากันไปตามหมายคุ้มครอง แต่ดีเอสไอมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แจ้งข้อกล่าวหาตามที่หลักฐานปรากฏ และแม้ผู้ใดจะให้การอ้าง หรือปฏิเสธว่าตนจะมีความผิดฐานฟอกเงินได้อย่างไร ในเมื่อไม่เคยรับโอนเงินจากกลุ่มคนในรายงานสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอนั้น ส่วนนี้ดีเอสไอมีการตรวจสอบตามพฤติการณ์และหลักฐานวิทยาศาสตร์ อาทิ การมีไว้ การครอบครอง การได้มา การใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ดังนั้นถ้าบุคคลใดไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว หรือไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินในคดีมูลฐาน ก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งมันเป็นเรื่องการตรวจสอบทางนิติกรรม ถ้านิติกรรมไม่ปกติก็ผิดฟอกเงิน”
ส่วนกรณี ความผิดฐานฟอกเงิน ของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. รวมถึงผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ โดยมี “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนรวมทั้งสิ้น 41 ราย จะมีการประชุมพิจารณาพฤติการณ์บุคคลซึ่งกระทำผิดฐานฟอกเงิน-อั้งยี่ จากกรณีคดีการฮั้ว สว.2567 โดยจะเริ่มทยอยออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งอาจมีทั้งสว. และกลุ่มขบวนการจัดฮั้วระดับประเทศ
งานนี้…ต้องรอดู “บทสรุป” ของการตรวจสอบ “คดีฮั้ว สว.” ว่าจะลามไปขนาดไหน ซึ่งฝ่ายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาคงไม่อยู่เฉยแน่ แม้เรื่องนี้จะอ้างว่า เป็นการดำเนินการตามคำร้องของ “สว.สำรอง” แต่ยากที่จะมีใครเชื่อว่า “ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง” เพราะ สว. มีอำนาจในการให้ความเห็น “บุคคลที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระ” หรือเป้าหมายหวังอยากเปลี่ยน “สว.สีน้ำเงิน” ให้เป็น “สว.สีแดง” แต่คงทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะงานนี้อาจมีตัวแปรบางอย่าง ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง !!!
………………………..
คอลัมน์..ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”