นาทีนี้คงต้องบอกตามตรง ไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า “คดีฮั้วสว.” ถือเป็น “สงครามการเมือง” ระหว่าง “สีแดง” กับ “สีน้ำเงิน” แม้หน้าฉากพรรคการเมืองที่ถูกพาดพิง ทั้ง “เพื่อไทย” (พท.) และ “ภูมิใจไทย” (ภท.) จะยังไม่ประกาศหน้าชนกัน แบบเปิดหน้าเปิดตา
แต่ “หลังฉาก” หรือ “เบื้องหลัง” ของเรื่อง ต่างฝ่ายต่างก็มี “มือที่มองเห็น” คอยสนับสนุนอยู่ ซึ่งถ้าไล่ดูไทม์ไลน์ต้องบอกว่า “สว.สีน้ำเงิน” เป็นต่อ หากดูท่าทีของ “องค์กรอิสระ” ที่รับคำร้องให้ตรวจสอบ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” และ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (ดีเอสไอ)
ไล่เรียงตั้งแต่ “กลุ่มสว.” ซึ่งถูก “ดีเอสไอ” ตั้งข้อกล่าวหา “ฟอกเงิน” ในการเลือก สว. หรือ “คดีฮั้ว สว.” นำโดย “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” สว.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พร้อมคณะ สว. ประมาณ 10 คน ยื่นหนังสือถึง “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา เมื่อปลายเดือนก.พ.68 เพื่อส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการสืบสวนไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และพ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ทำให้ สว.ได้รับความเสียหายและอาจถึงขั้นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีมติรับเรื่องไว้แล้ว

ตามขั้นตอน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้รับเรื่องไว้ตรวจสอบ เบื้องต้นทางสำนักที่มีหน้าที่ในการดำเนินการ เช่น สำนักไต่สวนการเมือง ก็จะเข้าไปดำเนินการหาข้อเท็จจริง เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนให้ได้ข้อมูลประมาณ 70-80% ถ้าเห็นว่า ข้อมูลเพียงพอ ก็จะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะขึ้นมาไต่สวน ถ้าเป็นเรื่องสำคัญมีระดับรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีกรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 คนเป็นองค์คณะ หรือถ้าเรื่องสำคัญมาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ จะเป็นองค์คณะไต่สวนเอง ทั้งนี้ในการไต่สวนสามารถใช้ข้อเท็จจริงที่ได้จากตรวจสอบเบื้องต้น มาใช้ในสำนวนได้ด้วย ซึ่งถ้าการไต่สวน เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลก็จะแจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและชี้แจงข้อกล่าวหา จากนั้นจะสรุปสำนวนเพื่อชี้มูลความผิดต่อไป
ซึ่งก่อนหน้านั้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” (รธน.) มีมติสั่งให้ “พ.ต.อ.ทวี” หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม เฉพาะในฐานะผู้กำกับดูแล “ดีเอสไอ” และ รองประธานกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ตามรธน. มาตรา 82 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.68 จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย
ซึ่งการวินิจฉัยดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณี สว. เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง มีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม
ถ้าดูจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จากการวินิจฉัยของ “องค์กรอิสระ” เชื่อว่า “ดีเอสไอ”ก็คงต้องคิดหนัก หากการดำเนินคดีไม่มีหลักฐานชัดเจน พยานไม่หนักแน่นพอ อาจถูกตอบโต้ และยื่นร้องให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบได้
ยิ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสว.สำรอง นำหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฮั้ว สว. มาเปิดเผย ถูกตั้งคำถามว่า มีการแบ่งบทกันเล่นหรือไม่ อีกทั้งยังมีเสียงลือว่า การตรวจสอบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการ “ใช้อำนาจการเมือง” มี แกนนำสองพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพื่อตั้งเป้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล โดยหมายปองเก้าอี้ “รมว.มหาดไทย” หรือที่เรียกขานว่า “มท.1” ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่ มีอำนาจรองจากนายกฯ เท่านั้น
อีกทั้ง สว.ยังมีบทบาทสำคัญ กับการเลือกบุคคลที่ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ ซึ่งถือว่า มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง ยิ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ “ผู้มากบารมี” ต้องการผลักดัน บุคคลเข้าไปทำงานในองค์กรตรวจสอบ ประสานไปกับบางบุคคลแต่ติดปัญหา ไม่ได้รับการคัดเลือก อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ และคิดว่า ถูกหักหน้า จึงเลยวางเป้าหมายต้องการล้างบาง “สว.สายสีน้ำเงิน”

ขณะที่ “ประธานวุฒิสภา” ได้แจ้งบรรจุวาระการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญครั้งที่ 1 ในวันที่ 30 พ.ค.68 มีวาระการพิจารณาเรื่องด่วน การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ กกต. ศาลรธน. และองค์กรอัยการ ที่ประกอบไปด้วย ตำแหน่ง “กกต. 1 คน” คือ “ณรงค์ กลั่นวารินทร์” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตำแหน่ง “ตุลาการศาลรธน. 2 คน” คือ “ศ.ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ” ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ตำแหน่ง “อัยการสูงสุด (อสส. ) 1 คน” คือ “อิทธิพร แก้วทิพย์” ตามที่คณะกรรมการอัยการ หรือ “ก.อ.” มีมติเอกฉันท์เสนอชื่อ
นอกจากนี้ ยังมีวาระการให้ความเห็นชอบ บุคคลได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. หลังจากที่คณะกมธ.สามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลได้รับการเสนอชื่อ เสร็จสิ้น จำนวน 3 คน ประกอบไปด้วย 1.ประกอบ ลีนะเปสนันท์ 2.เพียรศักดิ์ สมบัติทอง และ 3.ประจวบ ตันตินนท์
ท่ามกลาง “กระแสคัดค้าน” จาก “บางฝ่าย” รวมทั้ง “สว.บางกลุ่ม” ยื่นร้องให้องค์กรต่างๆ เพื่อหวังมีคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ สว. ในส่วนของการคัดเลือกองค์กรอิสระ เพราะเกรงว่า จะมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เนื่องจากทั้ง “ป.ป.ช.” และ “ศาลรธน.” ก็ต้องมาตรวจสอบ ในปมที่เกี่ยวข้องกับ สว. โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ “คดีฮั้ว สว.” แต่ต้องยอมรับขั้นตอนอยู่ ในส่วนการแจ้งข้อกล่าวหา ยังไม่ถึงขั้นตอนการชี้มูลความผิด ซึ่งต้องใช้เวลาสมควร
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ “สว.ส่วนใหญ่” ต้องการเดินหน้า ให้ความเห็นชอบบุคคลที่ทำหน้าที่ใน “องค์กรอิสระ” เพราะในทางการเมืองถือว่า เป็นจุดที่สร้างความได้เปรียบกับตนเอง
นอกจากนี้ ทีมกฎหมายพรรคภูมิใจไทย ก็ยังออกมาเปิดแผล “ดีเอสไอ” และ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยื่นร้องให้ยุบพรรคภูมิใจไทย โดยอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการฮั้ว สว.

โดย “ศุภชัย ใจสมุทร” ทีมกฎหมายพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 3 พ.ย.64 อย่างต่อเนื่องพบว่า “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็น 1 ใน14 ผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินการขายที่ดิน ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น วงเงิน 477 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง ผู้ต้องหา 14 ราย ตั้งแต่ปี 2560 แต่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 สำนักงาน อสส. ยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่ออาญาต่อศาล จึงอยากเรียกร้องให้ดีเอสไอ และสำนักงานอัยการพิเศษ 4 ออกมาชี้แจงความคืบหน้าในส่วนของคดีอาญา ว่าทำไมยังไม่มีการสั่งฟ้อง”
โดยพบข้อพิรุธ ของ 4 ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินฯ จาก 14 ราย ได้แก่ 1.ศุภชัย ศรีศุภอักษร ทราบว่ามีการสืบพยานโจทย์ครบแล้ว ปัจจุบันสืบพยานจำเลย 2.ณฐพร โตประยูร ที่มีความสนิทกับ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการพิเศษ 4 แล้ว แต่มีการเลื่อนไม่ส่งตัวฟ้องมาหลายปี 3.พ.ต.หญิงนาฏยา มุตตามระ อดีตผอ.ส่วนช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์ ดีเอสไอ และ 4.พ.อ.อมร มุตตามระ เมื่อช่วงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ สมัยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ
“ศุภชัย” กล่าวว่า โดยบุคคล ข้อ 3 และ ข้อ 4 เป็นสามี-ภรรยากัน และทั้งคู่มีเส้นทางการเงินจากเช็คที่สั่งจ่ายนายศุภชัย ไปปรากฏอยู่ในบัญชีเงินฝากของข้าราชการทั้ง 2 ราย จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคดีแพ่ง ศาลได้มีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินไปให้ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ผู้เสียหายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนายณฐพร และอดีตข้าราชการดีเอสไอทั้ง 2 คน เป็นคนสนิทของนายธาริต ซึ่งเคยเป็นอัยการ และช่วยราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) ก่อนย้ายมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ และรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นลูกหม้อตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน (พปช.) และพรรคเพื่อไทย ก่อนถูกดำเนินคดี และเข้าเรือนจำในที่สุด เนื่องจากมีพฤติกรรมสนองงานทางการเมือง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อนายณฐพร ซึ่งมีคดีฟอกเงิน ที่ดีเอสไอ เป็นผู้สืบสวนสอบสวน และสำนักงานอัยการพิเศษพิเศษ 4 เป็นผู้มีหน้าที่สั่งฟ้อง แต่วันนี้ ยังไม่เข้ากระบวนการพิจารณาชั้นอาญา จึงเรียกร้องให้ 2 หน่วยงานดังกล่าว ออกมาชี้แจงทำไมถึงยังไม่ฟ้อง ทั้งที่เวลาเนิ่นนานมา เพราะไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นการดึงเรื่อง เพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีและเกื้อกูลกัน รวมถึงอาจใช้ นายณฐพร เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาเล่นงานพรรคภท.อยู่ในเวลานี้ใช่หรือไม่” ทีมกฎหมายพรรคภูมิใจไทย กล่าว

นอกจากนี้ ฝ่ายกฎหมายพรรคภูมิใจไทย ยังได้ยื่นฟ้อง “ณฐพร” ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.พรรคการเมืองแล้ว
งานนี้เชื่อว่า แต่ละฝ่ายต้องงัดหลักฐาน ออกมาตอบโต้กันอย่างต่อเนื่อง เพราะเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดทางการเมือง และความน่าเชื่อถือในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะสถานะของนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักร้อง หากตรวจสอบว่า มีเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ดังนั้นคงจะต้องหาหลักฐานมาหักล้างที่ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตนเองอย่างเต็มที่
แต่เหนืออื่นใด…จากนี้ไป ความสัมพันธ์ระหว่าง“เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” คงไม่เหมือนเดิม และอาจเชื่อมโยงไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า แต่ที่แน่ๆ งานนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า “ใคร” เป็น “ฝ่ายผู้นำอนุรักษ์นิยม” ต้องการพึ่งพา เพื่อป้องกัน ไม่ให้มีใครยึดครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย….“แมวสีขาว”