ถ้ามีใครถาม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระหว่าง ม็อบสามนิ้ว การเคลื่อนไหวกลุ่มอำนาจเก่า กับ โควิด-19 กลัวอะไรมากกว่ากัน เชื่อว่าคำตอบที่ได้ น่าจะเป็นปมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสร้ายมากกว่า ยิ่งระยะหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเกิน 5,000 คน ยิ่งสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับความความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ฝ่ายบริหารอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็คงประมาทการเคลื่อนไหวของสารพัดม็อบ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “แม่น้ำร้อยสาย” แต่มีเป้าหมายเดียวกันไม่ได้ คือ การขับไล่หัวหน้ารัฐบาลให้พ้นไปจากศูนย์กลางอำนาจโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็น “ม็อบราษฎร” ที่ใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว, กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย นำโดย “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดย “นิติธร ล้ำเหลือ” และอาจมีอีกหลายกลุ่ม ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจรัฐบาล
อีกทั้งยังมีข่าว “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อดีตเลขาธิการ นปช. ซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพ จากการถูกจองจำ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต ก็เตรียมจะเข้ารับบท “แกนนำกลุ่มราษฎร” หลังนักเคลื่อนไหวหลายคน ติดชนักเรื่องคดีความ และเงื่อนไขของศาลอาญา หลังได้รับการประกันตัวจากข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็น “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” “อานนท์ นำภา” “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” “ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” และ “ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก”
ถ้ายังจำได้ อดีตเลขาธิการนปช. ได้แสดงจุดยืนให้สังคมรับรู้ทำนองว่า ขอยืนเคียงข้างขบวนการนักเรียน นักศึกษา และ ประชาชน ที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” พร้อมเรียกร้องให้เอาเยาวชนออกจากกรงขัง
“ผมขอแสดงตัวเคียงข้างนิสิต นักศึกษา และ ประชาชน ที่กำลังต่อสู้อยู่ พร้อมกันนั้นผมขอปฏิเสธข้อกล่าวหาบิดเบือนให้ร้ายป้ายสีว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้หมายถึงการมุ่งร้าย หมายถึงการโค่นล้มทำลายสถาบันฯ” นายณัฐวุฒิกล่าว
ขณะที่ “จตุพร” กล่าวในระหว่างเคลื่อนไหวในนามกลุ่มไทยไม่ทนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนไทยเดือดร้อนจนเคยชิน ไม่ได้คิดว่าจะลุกขึ้นมาจัดการพล.อ.ประยุทธ์อย่างไร ที่สำคัญคือคนไทยไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาจัดการ ตอนนี้มีโอกาสแล้ว ขอให้ศรัทธาและเชื่อมั่น จะชุมนุมวันเสาร์ไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 3 เดือน เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกไป
ถ้าหากไล่เรียงดูเงื่อนเวลา นั่นหมายความว่า ภายในเดือนตุลาคม รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องมีอันเป็นไป ซึ่งการเลือกเดือนดังกล่าว ม็อบต่อต้านฝ่ายบริหารคงต้องการสื่อสังคม เห็นถึงนัยยะสำคัญบางประการ เพราะถ้าย้อนไปไล่เรียงดูจะพบว่า เดือนตุลาคมมักมี เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะ ช่วงตุลาฯ16 ซึ่งรัฐบายภายใต้การนำของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ต้องล้มไป หลังยึดครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ด้วยพลังอันบริสุทธิ์ของนิสิต นักศึกษาและประชาชน
เช่นเดียวกับ “เพนกวิน” ซึ่งกล่าวระหว่างการจัดงานรำลึกวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ของกลุ่มราษฎรว่า ปีนี้เราตั้งเป้าหมายภายใน 2-3 เดือน จะต้องไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ ถ้าวันนี้ทุกท่านลงความเห็นตรงกันว่าราษฎรยังยืนยันเดินหน้าขับไล่พล.อ.ประยุทธ์
“ปีนี้จะต้องเป็นปีแห่งประชาชน การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน จังหวะนี้ถือว่าดีที่สุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา เพราะพล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องช่วยกันขับไล่ นี่เป็นการปฏิญาณครั้งแรก หลังออกจากเรือนจำ จะให้ตนอดอาหารนานกว่านี้ก็ยังได้ แต่ขอให้พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพต้องออกไป”
อย่างไรก็ตามใครตามข่าวการเมืองไทย คงรู้ว่า การสร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้นนอกสภาฯ มักขึ้นอยู่กับ การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหามากสุดเวลานี้ คงหนีไม่พ้นการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และ ระบบสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายบริหารก็ถูกวิจารณ์เรื่องความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน การแทงม้าตัวเดียว การสื่อสารที่มีความไม่ชัดเจน การให้ข้อมูลที่หลากหลายจากบุคคลกรทางการแพทย์ ส่งผลทำให้ สังคมเกิดความสับสน จนทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์ในแง่ลบ
อีกทั้งการที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมิถุนายน และจะฉีดวัคซินให้กับประชาชน 50 ล้านคนภายในปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าเข้าไปตรวจสอบข้อมูลจะพบว่า แต่ละวัน บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซินให้ประชาชน ยังไม่ถึง 400,000 เข็มด้วยซ้ำ อีกทั้งตัวยาสำคัญก็มาแบบกระปริบกระปรอย
นอกจากนี้ คำสั่งศบค. ตามประกาศฉบับที่ 25 ตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี ซึ่งหลังประกาศออกมา ได้สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น ทั้ง กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบกิจการก่อสร้าง ผู้ประกอบการร้านอาหารและพนักงานลูกจ้าง ก็เกิดเสียงเสียงวิจารณ์ในด้านลบกับรัฐบาลอย่าง หนักมีการใช้โซเชียลโจมตีฝ่ายบริหาร ติดแฮชแทก #ประยุทธ์ออกไป เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่กลุ่ม รี-โซลูชั่น ซึ่งมี ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ์” เป็นแกนนำ ซึ่งขับเคลื่อนโดยรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 4 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย
1.ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว
2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ-ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ
3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป-ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ
4.ล้างมรดกรัฐประหาร-หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ก็ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กเพจ “Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่”
ทะลุ 100,000 รายชื่อ + ยังมีที่เร่งตรวจนับอยู่อีกเพียบ ตัวเลขล่าสุด ณ 27 มิ.ย. พุ่งขึ้นไปกว่า 100,000 รายชื่อ แล้ว เราจะรีบจัดการรวบรวมเอกสารที่ส่งมาแล้วทั้งหมด และประกาศจำนวนรายชื่อประชาชนทั้งหมดที่มาร่วมแสดงพลัง #รื้อระบอบประยุทธ์ เร็วๆ นี้
โดยหลังจากการประกาศปิดรับเอกสารเข้าชื่อ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน เวลา 12.00 น. ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าชื่อแล้วกว่า 100,000 รายชื่อ กลุ่ม Re-Solution ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมแสดงพลังและขออภัยทุกท่านที่ต้องทำการปิดรับเอกสาร เพราะจำเป็นต้องใช้เวลาต่อจากนี้ จัดการเอกสารส่งสภาฯ โดยเร็วที่สุดอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น เมื่อประชาชนแสดงพลัง หยุดสืบทอดอำนาจ พอกันทีกับโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชน
ก่อนหน้านั้น การล่ารายชื่อของ กลุ่ม รี-โซลูชั่น ตั้งเป่าจะล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ล้านรายชื่อ แต่ก็มีคนเข้าร่วมกิจกรรมไม่มากหนัก แต่หลังจากศบค. ออกประกาศฉบับที่ 25 กระแสความไม่พอใจพล.อ.ประยุทธ์ ก็เกิดขึ้นสูงมาก แม้จะมีคำชี้แจงตามมาว่า เป็นคำแนะนำจากที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม
นั่นหมายความว่า การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล หรือ ไล่รื้อระบอบประยุทธ์ ก็มีส่วนสัมพันธ์กับการบริหารจัดการกับปัญหาโควิด-19 ถ้ารัฐบาลเดินไม่ถูกทาง ตัดสินใจไม่ตรงกับความต้องการประชาชน ก็ย่อมเผชิญกับเสียงวิจารณ์ทางลบ โดยเฉพาะในแต่ละวัน มีตัวเลขคนป่วย-คนตาย เป็นตัวบ่งชี้ ที่สำคัญที่สุดคือ ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินของรัฐบาล มีส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดฝ่ายบริหาร
บางทีการกำหนดเงื่อนเวลาเปิดประเทศอีก 120 วัน กับการจัดฉีดวัคซินให้ประชาชน 50 ล้านคน อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะหลายคนเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” คงไม่สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผลที่ตามมาคงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ยากจริง ๆ
เพราะในเมื่อเล่นบท รวบอำนาจ ในการแก้ปัญหาโควิด-19 อีกทั้ง “พลังประชารัฐ” (พปชร.) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่ปลื้มกับการถูกแบ่งปันอำนาจ และถ้าจำนวนประชาชนที่จะมาเติมม็อบขับไล่รับบาล ถ้ามาตามใบสั่ง ก็คงไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่ถ้ามาตามธรรมชาติ ไม่มีใครว่าจ้าง ทนไม่ได้กับการทำงานรัฐบาล ต่อให้มีแบ็คดีขนาดไหน ก็ยากที่หัวหน้ารัฐบาลจะทนนิ่งเฉยได้
……………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย “แมวสีขาว”