วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเมื่อแผนต้านยึด“พปชร.”ล้มเหลว จับตา “สุริยะ”ขอลงชิงเลขาธิการพรรค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เมื่อแผนต้านยึด“พปชร.”ล้มเหลว จับตา “สุริยะ”ขอลงชิงเลขาธิการพรรค

ใครตามการเมือง รับรู้ความเคลื่อนไหวของ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) คงพอมองออก ในที่สุดการประลองกำลังระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพปชร. จะมีบทสรุปลงอย่างไร ซึ่งอาจเป็นความต้องการของหัวหน้ารัฐบาล อยากให้เรื่องที่สร้างความกังวลใจ จบลงก่อนวันที่ 1 พ.ย. 

แม้ในทางนิตินัย “นายธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกฯ จะออกมาชี้แจงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.เสร็จสิ้นลง พล.อ.ประยุทธ์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจฯ, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เป็นการพูดคุยเรื่องการทำงาน การบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งมี่ผ่านมา เราเสียโอกาสไปมากในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ยืนยันไม่ได้เกี่ยวการเมือง

นายกฯทำหน้าที่ บริหารราชการประเทศ ไม่ก้าวก่ายการทำงานของพรรคพปชร. การเมืองเป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค นายกฯเป็นบุคคลภายนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง การกระทำการใดๆ เกี่ยวกับการเมือง นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำได้ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานายกฯระมัดระวังเรื่องนี้มาโดยตลอด

จริงๆ ยังมีข่าวช่วงค่ำวันเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์” ยังได้เรียกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ซึ่งร่วมหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า มาหารือต่อที่ บ้านพักรับรอง ภายในร.1 ทม.รอ. ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมี “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย และ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพปชร. ร่วมหารือด้วย ซึ่งหมายความว่า “พี่น้อง 3 ป.” ร่วมรับรู้ปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้

จากนั้นวันที่ที่ 26 ต.ค. ก็มีข่าวกก.บห.พรรคพปชร. ได้เซ็นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว 9 คน ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯรัฐมนตรี, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช

อีกทั้งยังมีข่าวกรรมการบริหารพรรคอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นสายตรง “ร.อ.ธรรมนัส” อยู่ระหว่างตัดสินใจ บางส่วนรอสัญญาณที่ชัดเจนจาก “บิ๊กป้อม” ในฐานะหัวหน้าพรรค แต่ในที่สุดกระบวนการปรับโครงสร้างพรรคแกนนำรัฐบาล โดยให้ คณะกรรมการบริหารพรรค ที่มีอยู่ 26 คน ลาออกเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้มีการจัดประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ก็ต้องเดินหน้าไปได้อยู่ดี

แม้จะมีความพยายามของใครบางคน ล็อบบี้หัวหน้าพรรคพปชร. ไม่ให้กระบวนการปรับโครงสร้างพรรคเกิดขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพปชร. แต่ผลจากการทำโพล ถือเป็นปมเหตุสำคัญ ทำให้ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้หลายคนไม่พอใจ อีกทั้งพื้นดังกล่าวยังเปรียบเสมือนฐานเสียง “นายกฯลุงตู่”

การกล่าวอ้างมีส.ส. สอบผ่านเพียงแค่ 4 คน เท่ากับชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ยอมรับการทำงานของหัวหน้ารัฐบาล แต่คำถามข้อใหญ่คือ ในเมื่อ “พล.อ.ประวิตร” ไม่ได้เป็นคนส่งให้ทำ รวมทั้งการเคลื่อนไหวอีกหลายเรื่อง เลขาธิการพรรคทำโดยพละการ โดยที่หัวหน้าพรรคไม่ได้รับรู้ด้วยหรือไม่

นอกจากนี้การทำกิจกรรมบางเรื่องของ “ร.อ.ธรรมนัส” เช่นลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบอุทกภัย  ก็ถูกมองเหมือนตั้งใจ ให้สังคมเปรียบเทียบ กับการลงพื้นที่ของหัวหน้ารัฐบาล โดยเฉพาะ ภาพลุยน้ำท่วม ที่มีระดับสูงถึงหน้าอก รวมถึงการการระดมส.ส.พรรคพปชร. จากหลายพื้นที่ ไปร่วมคณะกับพล.อ.ประวิตร

ในขณะที่คณะของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีส.ส.ไปร่วมกิจกรรมไม่กี่คน ซึ่งคนจัดทีมส.ส.ให้ไปต้อนรับบุคคลสำคัญรัฐบาล ก็มีความใกล้ชิดเลขาธิการพรรค ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือ หัวหน้ารัฐบาลซึ่งหลายคนยกให้เป็น “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาคนที่สอง” จะไม่รู้เป้าหมายใครบางคน ดังนั้นการเร่งแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เกิดขึ้น ก่อนจะ เปิดสภาฯสมัยสามัญ 1 พ.ย. จึงมีความจำเป็น หากไม่อยากให้กระทบเสถียรภาพรัฐบาล

เพราะฝ่ายบริหารเตรียม ผลักดันกฎหมาย ที่มีความสำคัญหลายฉบับ เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯอาทิเช่น  พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อ กฎหมายปฏิรูปด้านต่างๆ รวมทั้งอาจจะมี พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับรัฐบาล แล้วถ้าหากเกิดพลาดพลั้งไป ไม่ผ่านสภาฯ รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

จึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อหัวหน้ารัฐบาลจะย้ำในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่ง ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ก็ยังกล่าวในเชิงบ่นว่า “ทำไมกฎหมายค้างอยู่ในสภาฯเยอะ รอโน้น รอนี่ รอทำไม ขอให้ไปช่วยกันดูหน่อย แล้วเร่งผ่านกฎหมายที่สำคัญ”

ถ้ายังจำได้จะรู้ว่า ช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯเกิดปัญหาองค์ประชุมหลายครั้ง บ่อยมาก ซึ่งความรับผิดชอบในการดูแลองค์ประชุม เป็นหน้าที่ “นายวิรัช รัตนเศรษฐ” รองหัวหน้าพรรคพปชร. ซึ่งรับหน้าที่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ “ร.อ.ธรรมนัส” ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ถึงกระแสข่าวกดดันให้ กก.บห.ลาออกจากตำแหน่งว่า ตั้งแต่เห็นข่าวยังไม่มีการสั่งการใดจาก “พล.อ.ประวิตร” และ “ร.อ.ธรรมนัส” จึงยังไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร และคิดว่าคงไม่ถึงขั้นเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค

พร้อมบอกอีกว่า ถ้าตรงนี้แก้ไขแล้วเดินได้ดีก็ควรแก้ไข แต่ถ้าแก้ไข แล้วเกิดความวุ่นวาย ก็ไม่ควรแก้ไข และเหตุการณ์นี้ไม่ทราบว่าเป็นความพยายามของรัฐมนตรี 6 คนที่เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ขอรอดูสถานการณ์ก่อน แต่ 6 รัฐมนตรี ที่ไปพบนายกฯ ก็ไม่ได้เป็นเสียงส่วนมากของพรรค

แต่ไม่ว่าการประชุมกรรมการบริหารพรรคพปชร.วันที่ 28 ต.ค. จะจบลงอย่างไร แต่หลายคนเชื่อว่า ยากที่ “ร.อ.ธรรมนัส” จะรักษาตำแหน่งเลขาธิการพรรคไว้ได้ ในที่สุด “พล.อ.ประวิตร” คงต้องทำตามข้อเสนอ “2 ป.” อีกทั้งแกนนำพรรคพปชร.หลายคน ไม่อยากทำงาน ร่วมกับผู้กองคนดัง ทั้งเรื่องเชื่อมั่นในตนเองสูง คิดว่าเป็นคนสนิทหัวหน้าพรรค 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีใครเริ่มคาดเดาชื่อ เลขาธิการพรรคพปชร.คนใหม่ อาจเป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายสุชาติ ชมกลิ่น และ นายสุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาสอดแทรก ถ้านักการเมืองอาวุโสรายนี้ ต้องการรับตำแหน่งสำคัญจริงๆ เพราะถ้าเทียบความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งปัจจัยดูแลส.ส. ประสบการณ์การทำงานการเมือง การดึงส.ส.กลุ่มก๊วนฝ่ายตรงข้าม ให้หันเหมาร่วมงานกับกลุ่มสามมิตร ซึ่งขณะมีอยู่ประมาณ 30 กว่าคน ก็คงทำได้ไม่ยาก ทั้ง “นายสันติ” และ “นายสุชาติ” คงมีศักยภาพเทียบเคียงได้

แต่อย่าเพิ่งตัดชื่อ “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีส่วนช่วยคลี่คลายวิกฤติการเมืองให้ “บิ๊กป้อม” หลายครั้งหลายหน ในเมื่อ “3 ป.” จะลดอำนาจ “ผู้กองคนดัง” การตั้งพรรคใหม่คงไม่จำเป็นแล้ว ใช้ “พปชร.” เป็นฐานการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีพลังและคุ้มค่ากว่าเยอะเลย 

เหนือสิ่งอื่นใด ถ้า “ร.อ.ธรรมนัส” ย้อนเวลากลับไปได้ ก็คงไม่คิดวัดบารมีกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อให้มีใครหนุนหลัง เพราะในที่สุดก็ไม่มีใครมาร่วมรับผิดชอบกับชะตากรรมที่เกิดขึ้นตนเองในวันนี้ได้

………………………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย ..“แมวสีขาว”

                                                                                                      

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img