แม้อายุราชการ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข “ผบ.ตร.คนที่ 12” จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 65 แต่ด้วยบทบาทและความสำคัญของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อีกทั้งยังในความสนใจของประชาชน อันเนื่องมาจากมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม และดูแลความสงบเรียบร้อยร้อยให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
นอกจากนี้ยังต้องทำงานสนองนโยบายรัฐบาล หลายครั้งเลยเกิดข้อเปรียบเทียบ หากมีผู้นำองค์กรสีกากีคนใดใส่เกียร์ว่าง ก็จะทำให้มักส่งผลให้ฝ่ายบริหาร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รัฐบาลภายใต้การนำของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2550-2553 เลยเผชิญวิบากกรรม โดยเฉพาะการความเคลื่อนไหวของมวลชน “นปช.” ที่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง พอผู้รักษากฎหมายใส่เกียร์ว่าง อิงแอบอยู่กับอำนาจเก่า ก็เลยทำรัฐบาลตกอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียขา
อีกทั้งด้วยความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเองสูง ยิ่งทำให้ “นายอภิสิทธิ์” ตกอยู่ในสภาพถูกโดดเดี่ยว กองทัพก็เอือมระอา จนทำให้ เกิดวิกฤติทางการเมือง เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในช่วงปี 53 แม้กระทั่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 52 ใช้เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่จัดประชุม
แต่ก็ต้องล้มไป เพราะคนเสื้อแดงบุกเข้าไปป่วนการประชุม ผลพวงจากพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้ “ศาลพัทยา” มีคำพิพากษาศาลฎีกา ให้จำคุกนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และพวกรวม 12 คน ที่เป็นแกนนำนำล้มการประชุม
ถึงต้องบอกว่า ตร.ถือเป็นหน่วยงาน ใครมีอำนาจก็ต้องยึดกุมการบริหารนี้ไว้ให้ได้ ถ้าใครจำได้หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เข้ามายึดอำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 57 ก็สั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์ทันที ต่อเนื่องมาจนกระทั่ง 7 ปี “นายกฯลุงตู่” ก็แต่งตั้งนายตำรวจที่วางไว้มาทำหน้าที่ตลอด ไล่ตั้งแต่ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร. “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จนมาถึง “พล.ต.อ.สุวัฒน์” แม่ทัพสีกากีคนปัจจุบัน ซึ่งทุกคนล้วนทำงานสนองนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่
ยิ่งหัวหน้ารัฐบาลเคยรับรู้ถึง ปัญหาการทำสำนวนคดี ในช่วงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้น จากการทำงานของ เนื่องจากทหารตกเป็นจำเลย “พล.อ.ประยุทธ์” เลยให้ความสนใจในการทำงาน ที่มีบทบาทดูแลเรื่องคดีความมากเป็นพิเศษ เพราะเคยมีบทเรียนในอดีตมาแล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หลังกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยแพร่บันทึกข้อความที่ 0009.221/ว 33 ลงวันที่ 11 พ.ย. 64 รายชื่อข้าราชการตำรวจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจะพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งมีแจ้งรายชื่อข้าราชการตำรวจที่จะเกษียณฯ 4,403 นาย หลายคนให้ความสนใจ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตและความเป็นไปของหน่วยงานนี้
ทั้งนี้รายชื่อข้าราชการตำรวจ ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2565 ที่น่าสนใจ อาทิ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่จะครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในวันที่ 19 ธ.ค.64 ทั้งนี้เนื่องจากเกิดหลังวันที่ 30 ก.ย. ทำให้ได้รับอายุราชการต่ออีก 1 ปี, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม รอง จตช.
ผู้บัญชาการ (ผบช.) 10 ราย พล.ต.ท.ธนาศักดิ์ ฤทธิเดชไพบูลย์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. (ทำหน้าที่นายตำรวจประสานงานรัฐสภา), พล.ต.ท.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. (ทำหน้าที่ ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย), พล.ต.ท.กษณะ แจ่มสว่าง ผบช.สกบ., พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผบช.สงป., พล.ต.ท.นพปฎล อินทอง ผบช.สง.ก.ตร., พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ จตร.(หน.จต.), พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.8, พล.ต.ท.สันติ์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษา (สบ 8) สพฐ.ตร., พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน นายแพทย์ (สบ 8) รพ.ตร., พล.ต.ท.พรชัย สุธีรคุณ นายแพทย์ (สบ 8) รพ.ตร. รองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) 25 ราย ผู้บังคับการ (ผบก.) 46 ราย
ซึ่งจากการกประกาศดังกล่าว ทำให้ในปี 65 ตำแหน่ง ผบ.ตร. ต้องว่างลงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามยังมี รอง ผบ.ตร. หรือจเรตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ซึ่งมียศ “พล.ต.อ.” และมีสิทธิลุ้นได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ 3 นาย คือ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช. ) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ที่จะเกษียณฯ พร้อมกันในปี 66 และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เกษียณฯ ปี 67
ถ้าไล่เรียงจุดเด่นของแคนดิเดทผบ.ตร. แต่ละคน เริ่มต้นที่ “พล.ต.อ.วิสนุ” หรือใครเรียกติดปากว่า “บิ๊กหิน” ที่เข้ามารับหน้าที่ “จตช.” ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ มีภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ ด้านการตรวจราชการ เพื่อติดตามผลการทำงาน ด้านการร้องเรียนร้องทุกข์จากประชาชนในการให้ความเป็นธรรมของตำรวจ ด้านระเบียบและจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมตำรวจ และด้านการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของตำรวจ
แม้การตรวจสอบองค์กรกรสีกากีจะมีความสำคัญ แต่อาจจะมี เพื่อนร่วมองค์กร ไม่ยอมรับ การสร้างผลงาน ด้วยการฆ่าน้องฟ้องนายขายเพื่อน แม้ว่าจะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ หากไม่ทำก็เจอข้อหาละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่ “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ซึ่งได้รับมอบหมายงานด้านความมั่นคง และยังมอบหมายภารกิจสำคัญ อย่างเช่น ในฐานะผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ รองผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ดูเหมือนก่อนหน้านี้จะได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษ
ส่วน “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.), ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.ตร.), ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.) และศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.)
ก่อนหน้านี้มีการคาดหมายว่า “บิ๊กเด่น” จะได้รับการการผลักดันให้เป็น “ผบ.ตร.คนที่ 13” เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากหลาย โดยเฉพาะอดีตผบ.ตร.บางคน แต่ระยะหลัง “บิ๊กรอย”เริ่มมีความโดดเด่นขึ้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องปราบปรามการค้ามนุษย์ อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจาก “บุคคลสำคัญ” ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการแต่งตั้ง ก็หมายความว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าลืมะตำแหน่ง “แม่ทัพสีกากี” ไม่ว่านายตำรวจคนไหนก็หมายปอง ที่อยากได้เข้ามาครอบครอง
เพราะขนาดยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับการผลักดันให้เป็น “ผบ.ตร.” ต่อจาก “บิ๊กปั๊ด” วันนี้คนก็พูดไปถึงอนาคต “บิ๊กต่อ” พล.ต.ท.ต่อศักดิ สุขวิมล และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาลหาญ สองผช.ผบ.ตร. กันแล้ว
แต่ต่อจากนี้ไป บทบาทและการทำงาน แคนดิเดทคู่ชิงเก้าอี้ “ผบ.ตร” จะทวีความเข้มเข้นและดุเดือด เพราะกองเชียร์แต่ละฝ่าย ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาจริงๆ
……………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย …แมวสีขาว