แม้คนถูกพาดพิงจะออกมาปฏิเสธ ใครถูกกล่าวถึงจะไม่ยอมขานรับ แต่กระแสข่าวการย้ายพรรคของ แกนนำพรรคพลังระชารัฐ (พปชร.) ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กลุ่มสามมิตร ที่มี “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม และ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม เป็นแกนนำ ซึ่งมักถูกตั้งคำถาม และจับตามอง
อันทีจริงก็ไม่ใช้เรื่องแปลก ด้วยโครงสร้างพรรคแกนนำรัฐบาล มาจากนักการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาร่วมตัวกัน คาดหวังจะมีโอกาสยึดครองอำนาจรัฐ ซึ่งภายหลังการเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เครือข่ายอำนาจเก่าอย่าง “เพื่อไทย” (พท.) ดูจะตกเป็นรอง ยิ่ง “พปชร.” ได้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลยกลายเป็นแรงดึงดูด จึงทำให้นักการเมืองต่างที่มา หลั่งไหลเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างต่อเนื่อง
พอมาถึงวันนี้ แม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะยืนยันหลายครั้ง จะยังไม่มีการยุบสภาฯในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากเป้าหมายลึกๆหัวหน้ารัฐบาล ต้องการที่ดำรงตำแหน่งนายกฯไปถึง การประชุมเอเปก ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปี 2565
แต่การเมืองไทย มักมีความไม่แน่นอน แม้หัวหน้ารัฐบาลยังได้รับการสนับสนุน จากเหล่าทัพอย่างเต็มเปี่ยม สนับสนุนแนวคิดนายกฯอย่างต่อเนื่อง การแต่งตั้งโยกย้ายในตำแหน่งสำคัญ ก็เป็นไปตาม ข้อเสนอหัวหน้ารัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงช่วงเวลาได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บรรดานักการเมือง ย่อมต้องการอำนาจต่อรอง มีเสียงสิทธิ์เสียงมากกว่า คนในเครื่องแบบ อีกทั้งบรรยากาศในช่วงที่มีหลายพรรคการเมืองม่กำลังตั้งไข่ กฎหมายลูกอย่างทั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) พรรคการเมือง และการเลือกตั้งกำลังจะมีผลบังคับใช้ บางทีการออกมาส่งเสียงในช่วงนี้ อาจทำให้อำนาจต่อรองของพรรคพวกตัวเองสูงมากขึ้น
ยิ่งแกนนำหลายกลุ่มในพรรคพปชร. คิดว่า “บิ๊กป้อม” ให้ความสำคัญกับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค มากจนเกิน ขนาดที่ว่าหัวหน้ารัฐบาลพยายามจับมือ กับขั้วอำนาจต่างๆ ในพรรคแกนนำรัฐบาล ต้องการปรับโครงสร้างพรรค เพื่อลดอำนาจผู้กองคนดัง ยังถูกขัดขวางจาก “พล.อ.ประวิตร” ท่ามกลางวลีประโยค “พรรคเป็นเรื่องของผม ส่วนรัฐบาล เป็นเรื่องที่หัวหน้ารัฐบาลจะตัดสินใจ” ดังนั้นอาจมีแกนนำพปชร. เก็บความรู้สึกไม่ความไม่พอใจ เพื่อรอเอาคืนในห้วงเวลาสำคัญ
ยิ่งถ้าย้อนไปดูขั้วการเมืองที่ถูกกระทำ โดนลดทอนอำนาจต่อรอง มากที่สุดในพปชร. คงหนีไม่พ้น “กลุ่มสามมิตร” ไม่จะเป็นเรื่องตำแหน่งเลขาธิการพรรค, เก้าอี้รมว.พลังงาน ขอเสนอบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในพรรค แม้กระทั่งการเลือกยืนเคียงข้าง “พล.อ.ประยุทธ์” ในช่วงเกิดวิกฤติการเมือง จนเกือบถูกปลดพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในระหว่างเกิดศึกซักฟอก จนได้ใจหัวใจรัฐบาลไปเต็มๆ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อมีผู้สื่อข่าวไปสอบถาม “นายสุริยะ” ถึงกระแสข่าวที่กลุ่มสามมิตรจะย้ายกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย (พท.) ในช่วงแรก ๆ จึงไม่ตอบรับตอบปฏิเสธ ทำเพียงยิ้มและหัวเราะในลำคอเท่านั้น
งานนี้ใครก็มองออกว่า นักการเมืองอาวุโสมากประสบการณ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มาแล้ว จะไม่รู้เชียวหรือ ช่วงไหนเครือข่ายตนเองจะมีอำนาจต่อรองสูงสุด ที่สำคัญ “นายสุริยะ” เป็นคนใจถึงพึ่งได้ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ส.ส.กลุ่มสามมิตรกว่า 30 ชีวิต พรรคการเมืองไหนก็อยากได้ ให้เข้าไปร่วมงานการเมืองด้วย
แม้กระทั่งนายเก่า “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งระยะหลังเคลื่อนไหวในนาม “โทนี่ วู้ดซัม” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการชี้นำพรรค พท. เพราะรู้ดีว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพท.ต้องตกอยู่ในสภาพฝ่ายค้าน พรรคต้องแตกแน่ เนื่องจากหลุดจากอำนาจรัฐมาเกือบ 10 ปีแล้ว
ขณะที่ “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ในฐานะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรคพปชร. ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ที่ตกอยู่ในกระแสข่าว จะย้ายกลับไป พท. ถึงกลับโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ถึงกระแสข่าวการย้ายไปอยู่ พรรคพท. ขอตอบพี่น้องสื่อมวลชนฯ พร้อมๆกันตรงนี้เลยครับ
“ไม่ทราบว่าใครปล่อยข่าว และมุ่งหวังในวัตถุประสงค์ใด ตลอดทั้งวันมีการสอบถามกันเข้ามาไม่ขาดสาย เรื่องที่ว่าผมจะย้ายพรรคการเมือง ผมขอเรียนแบบนี้ว่า ผมเป็นนักการเมืองที่ มีอุดมการณ์ ตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ดูแลทุกข์สุขพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และ เทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกลมหายใจ
ก่อนหน้านี้ได้เคยให้คำมั่นยืนยัน มาหลายครั้งหลายหนแล้วว่า จะขอเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ลุงตู่) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ลุงป้อม) ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ดังนั้น ข่าวคราวการย้ายพรรคที่มีกระแสออกมาตลอดทั้งวัน ล้วนแล้วเป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น ขอให้ทราบโดยทั่วกันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพียงเท่านั้น และยืนยันไม่มีทางแปรพักตร์”
ด้าน “พล.อ.ประวิตร” ออกมากล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มสามมิตรจะย้ายกลับไปอยู่พรรคพท. ต้องไปสอบถามกลุ่มสามมิตรดู ถ้าเขาบอกไม่ไปก็ไม่ไป ส่วนข่าวที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ ต้องการบีบพล.อ.ประวิตร กับ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะ เลขาธิการพรรคพปชร. ที่ไม่ให้กลุ่มสามมิตรมีบทบาทในพรรคหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวตอบว่า ให้ไปถามกลุ่มสามมิตรเองว่าทำไมมีข่าวลักษณะนี้ ส่วนมีการมองว่าเป็นการงัดข้อกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตรนั้น ซึ่งพล.อ.ประวิตร กล่าวตอบเสียงสูงว่า “ไม่มี”
ถ้าอ่านความเห็น และท่าทีหัวหน้าพปชร. ดูจะ ไม่แสดงอาการวิตกกังวลใดๆ ด้วยรู้ว่าอีกนานการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ยังไม่มีการยุบสภาฯ ในระยะเวลาอันใกล้
อย่างไรก็ตามการเมืองเมืองไทยหลายครั้ง ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน ในอดีตที่ผ่านมา แม้นักการเมืองบางคน จะออกมายืนยันว่า ยังไม่มีการย้าย จะขอยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน ปัจจัยบางอย่างเกิดขึ้น นักเลือกตั้งบางคนก็หาเหตุผล มาเปลี่ยนแปลงได้ท่าทีเดิมได้อยู่ดี ยิ่งในปี 2565 นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า จะมีระเบิดเวลาทางการเมืองหลายลูกเกิดขึ้น อย่างเช่นการตีความการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปีเมื่อไหร่
บางฝ่ายระบุว่า ถ้านับจากช่วง เวลารัฐประหารคือ เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 24 ส.ค.2557 นั่นแปลว่าจะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 65
ส่วนอีกฝ่ายจะเชื่อว่า ต้องนับตั้งแต่ รธน.2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งในที่สุดเชื่อว่า ปมความเห็นต่างๆ ในเรื่องนี้ จะถูกนำไปร้องให้ศาลรธน.ตีความแน่ๆ
ซึ่งจะกลายเป็นกระแสกดดัน ที่พุ่งเป้าไปที่ หัวหน้ารัฐบาล รวมถึงการผลักดันร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่จะเสร็จประมาณกลางปี 65 ซึ่งถ้าดำเนินการเสร็จ เชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลต้องออกมา กดดันดันให้ยุบสภาฯ เพื่อต้องการให้เกิดการพลิกขั้วทางการเมือง เพื่อหวังเข้ามาครอบครองอำนาจรัฐ
ดังนั้นกระแสการเมืองจะถาโถมหัวหน้ารัฐบาลมากพอสมควร แต่ก็สำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับผลพวงการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ ในห้วงเวลานั้น ถ้าทำให้ประชาชน อยู่ดีมีสุข ต่อให้พรรคการเมืองสร้างกระแสกดดันแค่ไหน ถ้าชาวบ้านไม่เล่นด้วยก็ไม่มีน้ำหนัก ปลุกกระแสต่อต้านไม่ขึ้น
อย่าลืมว่าพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ หรือ “3 ป.” เพิ่งบอกกับนักข่าว จะอยู่กับน้องเล็ก (บิ๊กตู่) ไปจนวันตาย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึง เอกภาพรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาล สามารถทำงานต่อได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดสภาพสนิมเกิดแต่เนื้อในตน
ยิ่งกว่านั้นยังมีข่าว ผู้มีอำนาจที่สามารถชี้นำแกนนำพรรคฝ่ายค้านได้ ส่งสัญญาณถึง “แกนนำนำพปชร.” ขอเป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนตำแหน่งนายกฯนั้น เปิดทางให้ “บิ๊กป้อม” เป็นคนเลือก เนื่องด้วยเกรงว่า ตกขบวนไม่ได้ดูแลอำนาจขรัฐ หลังไม่ได้มีส่วนแชร์อำนาจฝ่ายบริหารมาเกือบ 10 ปี หากรัฐบาลอยู่ครบวาระ
หรือถ้า “พปชร.” จะแปลงสภาพพรรคให้เป็น พรรคขนาดกลาง ก็จะถูกเชิญให้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นพรรคแรก หาก “พท.” คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า การเมืองวันนี้ “พล.อ.ประวิตร” ยังคุมแต่ต่อทางการเมือง จึงไม่แปลก เมื่อพี่ใหญ่ 3 ป. จะไม่ออกอาการสะทกสะท้าน กับการเดินเกมต่อรองทางการเมืองของแกนนำพรรคพปชร.
แม้กระทั่งการปรับครม.ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ ซึ่งถือเป็นโควตาพรรคแกนนำรัฐบาล “พล.อ.ประวิตร” อาจผลักดัน “ร.อ.ธรรมนัส” ให้กลับไปมีตำแหน่งในฝ่ายบริหารอีกก็ได้ เพราะการเมืองไทยเป็นเรื่องการต่อรอง และใครกุมความได้เปรียบในห้วงเวลานั้น ย่อมได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ
…………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย….“แมวสีขาว”