วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ภูมิใจไทย”ขอเล่นบทตัวแปร ในวันที่ “เพื่อไทย”ไม่มีทางแลนด์สไลด์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ภูมิใจไทย”ขอเล่นบทตัวแปร ในวันที่ “เพื่อไทย”ไม่มีทางแลนด์สไลด์

แม้การจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต่างๆ จะเป็นไปตามกฎระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องรายงานกิจการในรอบปี และอนุมัติงบการเงินในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ (พรป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

แต่หลายพรรคก็ใช้เวทีดังกล่าว หวังแสดงพลัง สร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก กับการต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะถ้านับตามเงื่อนเวลารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา จะหมดวาระในปี 2566 แต่การเมืองไทย ใครก็รู้ไม่มีอะไรแน่นอน ยิ่งถ้าเกิดปัญหาการประชุมสภาฯ ต้องล่มลงบ่อยครั้ง แรงกดดันเรียกร้องให้ยุบสภา ก็จะสูงตามไปด้วย ดังนั้นนักการเมืองต้องเตรียมตลอดเวลา เพื่อรับมือกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

นิกร จำนง

ก็คงเป็นไปอย่างที่ “นายนิกร จำนง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมการจัดทำร่างพ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความเห็นไว้ “การยุบสภาคือสภามีปัญหา ซึ่งการที่องค์ประชุมไม่ครบแล้ว ทำให้สภาล่มก็ถือเป็นปัญหาอย่างมีนัยยะสำคัญที่ของสภาเหมือนกัน จึงต้องพึงรักษาสภากันไว้ ในฐานะส.ส. ถ้าไม่อยากจะเลือกตั้งกันเร็วก็ต้องช่วยกันรักษา เพราะเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสามารถนำไป เป็นเหตุยุบสภาได้ ส่วนที่มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีหลายคนไม่มา คงเพราะติดงาน เร่งทำงานเข้าพื้นที่เพราะใกล้สิ้นปี”

แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า อยากอยู่จนครบวาระของรัฐบาล เพื่อรับหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2565 เพราะถือเป็นเกียรติประวัติ อีกทั้งจะมีผู้นำมหาอำนาจของโลกเข้ามาร่วมประชุมอย่างคับคั่ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองที่ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ การประชุมที่มีความสำคัญ ในการกำหนดกติกาโลก

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขึ้นกับท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล จะประคับประคองและรักษาองค์ประชุม ให้เดินหน้าไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ รวมทั้งการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งการประกาศความพร้อมและโชว์วิสัยทัศน์ ในห้วงเวลาต่างๆจึงมีความสำคัญ เหมือน “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ปัจจุบันมี ส.ส.อยู่ 62 คน และน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ กับการเมืองในอนาคต

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่าง การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคภท. ซึ่งจัดขึ้นที่อินดอร์สเตเดียม (ชาติชาย ฮอลล์) จ.นครราชสีมา ในห้วงเวลาสำคัญนี้ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะ หัวหน้าพรรคภท. กล่าวกับสมาชิกพรรคตอนหนึ่งว่า “พรรคพร้อมเลือกตั้งทุกวัน จากนี้ไม่เกิน 15 เดือนต้องมีความพร้อม ผู้สมัครส.ส.ของพรรคทั้งหมดต้องนำนโยบายของพรรคไปทำความเข้าใจ สร้างความเชื่อถือศรัทธากับประชาชน”

“เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าพรรคภท.จะเป็นพรรคที่นำนโยบายที่ประกาศไว้ไปปฏิบัติ สมกับคำพูดที่ว่าพรรคภูมิใจไทย “พูดแล้วทำ” เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ โดยจุดเด่นของพรรคคือการเป็นเอกภาพมากที่สุด เป็นภาคีสมาชิกเคารพกติกา รัฐธรรมนูญ และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีจนทำให้รัฐบาลชุดนี้มีความมั่นคง เป็นเสาค้ำระบบรัฐสภาให้มีความแข็งแกร่ง หรือแม้กระทั่งการส่งสัญญาณให้พรรคการเมือต่างๆรู้ถึงจุดยืนหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ใครร่วมงานกับเราไม่ต้องเหลียวหลัง ไม่มีแทงข้างหลัง ถ้าอยู่กันดีก็อยู่กันไปเรื่อยๆ ใครไม่ดีก็อยู่เป็นรอบๆ จะให้พวกมากลากไปไม่ได้ พรรคมีความเป็นตัวของตัวเอง”

ใครติดตามบรรยากาศการประชุมใหญ่ของภท. คงต้องยอมรับว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีสมาชิกพรรค หรือแกนนำมาแย่งซีนหัวหน้าพรรค หรือเปิดประเด็น หวังสร้างเป็นปมขัดแย้งให้เกิดขึ้น เหมือนบางพรรคที่มีสมาชิกพรรค ใช้เวทีการประชุมพรรคเป็นที่ระบายอารมณ์  เพื่อหวังจะให้กระทบกับภาพลักษณ์ผู้บริหารพรรค ก่อนจะแยกตัวไปไปสังกัดพรรคใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นได้เป็นอย่างดี

ยิ่งการประชุมครั้งนี้ มีทายาทการเมืองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายพิทักษ์ชน ช่างเหลา บุตรชายนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร.คนสนิท “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพปชร. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ บุตรสาวนายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพปชร., นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ (ปชช.) นายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  (กก.) มาร่วมการประชุมด้วย

ในทางการเมืองสะท้อนให้เห็นว่า พรรคภท. มีโอกาส ยึดครองอำนาจรัฐ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะมีเป้าหมายเพียงจำนวนส.ส. จะขอเป็นเพียงพรรคลำดับที่สาม ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก

แต่สำคัญมากว่านั้นคือ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือ “พปชร.” พรรคไหนได้จำนวนส.ส.เป็นลำดับหนึ่งหรือสอง หนีไม่พ้นต้องดึงพรรคภท.เข้าไปร่วม เนื่องจากหนทางที่จะมีพรรคการเมืองไหน จะได้ที่นั่งส.ส.แบบแลนด์สไลด์ คงเป็นเรื่องยาก แม้กฎกติกาในการเลือกตั้ง จะกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่อย่าลืมมีพรรคเกิดใหม่มาก จำนวนส.ส. อาจต้องเฉลี่ยกันไป

ก่อนหน้านั้นมีข่าว ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เสร็จสิ้น จำนวนส.ส.ของ พปชร. กับ พท. ไม่ห่างกันมากหนัก มีข่าวผู้มีอำนาจตัวจริงในแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เสนอตำแหน่งนายกฯ ให้ “นายอนุทิน” เพื่อให้มาร่วมจัดรัฐบาลกับ “พท.” แต่หัวหน้าพรรคภท.ปฏิเสธข้อเสนอ ด้วยมองว่า พรรคพปชร.สามารถรวบรวมเสียงพรรคร่วมได้เกินครึ่งแล้ว และมีส.ว.จำนวน 250 เสียงให้การสนับสนุนอยู่ ยากที่เหตุการณ์พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้

ทักษิณ ชินวัตร

บางทีการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “หัวหน้าพรรคภท.” อาจได้ข้อเสนอรูปแบบเดิมอีก ยิ่งมีข่าว “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ระยะหันมาใช้ชื่อ “โทนี่ วู้ดซัม” สื่อสาร ได้กล่าวกับคนใกล้ชิดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอสู้หมดหน้าตัก จะยอมแพ้ไม่ได้ เนื่องจากหลุดพ้น จากการยึดครองอำนาจรัฐมาเกือบ 8 ปี ทางการเมืองถือว่านานมาก ถ้า “พท.” ต้องตกอยู่ในสภาพฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้ง พรรคคงถึงคราวแพแตกแน่ สมาชิกพรรคหลายคนคงแปลงสภาพเป็นงูเห่า เลื้อยเข้าร่วมงานกับฝ่ายตรงข้าม เหมือนสภาพที่เกิดกับสมาชิกพท. บางคนในเวลานี้

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวในทำนอง ผู้มีอำนาจตัวจริงของแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ยื่นข้อเสนอไปยังแกนนำพรรค พปชร. ขอเพียงเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดไฟเขียวให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร.เป็นผู้เลือก ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวคงขึ้นอยู่ปัจจัยการเมืองในอนาคต และการตัดสินใจของ “นายกฯลุงตู่” จะเดินหน้าขอทำงานต่อในฐานะผู้นำประเทศอีกหรือไม่

แต่การเมืองไทยมักมีปัจจัยและตัวแปร ที่หลายคนคาดไม่ถึง ที่แน่ๆ คือ สูตรในการจัดตั้งรัฐบาล “พรรคภท.” สามารถร่วมงานได้กับทั้งสองขั้ว ไม่ว่าจะเป็น “พท.” หรือ “พปชร.” ขณะที่ พรรคปชป. ซึ่งมีแนวโน้มจะได้จำนวนส.ส เป็นลำดับสี่ คงยากที่จะรวมงานกับ แกนนำพรรคฝ่ายค้าน เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้นในห้วงเวลานี้ “พรรค ภท.” ถือเป็นตัวแปรทางการเมือง ที่ส่งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งถ้า “พรรค พท.” ได้จำนวนส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง หนทางการต่อรอง เพื่อประโยชน์ แต่และฝ่ายก็จะมีความเข้มข้นขึ้น รวมถึงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่จะชี้ให้เห็นถึงสูตรจัดตั้งรัฐบาล และยังมีข้อเสนอ ใครบางคน ที่อยากจะปฏิเสธได้….

…………………………………………                                                                                                  

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก             

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img