อยู่ๆดีประเด็นเรื่องวาระดำรงตำแหน่งของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็ถูกเปิดเผยออกมาในห้วงเวลาที่หลายคนมองว่า รัฐบาลกำลังเผชิญมรสุมรุมเร้า ทั้งปัญหาความขัดระหว่าง “หัวหน้ารัฐบาล” กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร. )
แม้กระทั่งสื่อมวลชนสายรัฐสภาฯ ยังนำเอา “แผนกบฏการเมือง” ล้มนายกรัฐมนตรี มาเป็นเหตุการณ์เด่นแห่งปี หลังมีรายงานข่าว เลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาลเดิมเกมรวบรวมเสียงส.ส.รัฐบาล เพื่อหวังล้ม พล.อ.ประยุทธ์จนนำไปสู่การปลด “ร.อ.ธรรมนัส” พ้นจากรมช.เกษตรฯ
รวมถึง “เหตุการณ์สภาฯล่ม” หลายนัดติดต่อกัน ท่ามกลางการขาดหายไปของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จนถูกนำไปสู่การตั้งฉายาว่า “สภาอับปาง” ซึ่งกระทบกับภาพลักษณ์รัฐบาลไปเต็มๆ เนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันกฎหมาย และกลไกสำคัญ เพื่อนำไปเป็น เครื่องมือฝ่ายบริหาร แม้หัวหน้ารัฐบาลจะย้ำในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายครั้ง สั่งการให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
ยิ่งเกิดปัญหาสภาล่มบ่อยมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเข้าทาง “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ซึ่งต้องการกดดันให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยหวังจะพลิกกลับมาเป็นรัฐบาล แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงปีกว่าๆ ก็หมดวาระสภาผู้แทนชุดปัจจุบัน ในช่วงต้นปี 66 ซึ่งหลายคนก็คงทราบดี “หัวหน้ารัฐบาล” มีเป้าหมาย ต้องการ “ทำงานจนครบวาระ” เพื่ออยู่เป็นประธานการประชุมเอเปค ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีผู้นำมหาอำนาจเข้ามาร่วมประชุมด้วย
ดังนั้นการปล่อยประเด็นเรื่อง “วาระการดำรตำแหน่งนายกฯ” ของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด อาจเป็นความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าในที่สุดพรรคฝ่ายค้านจะนำเรื่องไป ร้องศาลรัฐธรรนูญ (รธน.) ด้วยเชื่อว่า หัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในช่วงเดือนก.ค. 65 แต่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการยื้อการทำงานของรัฐบาลให้นานที่สุด เนื่องเพราะเกี่ยวข้องกับการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
อีกทั้งในทางการเมือง “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมีเรื่องระหองระแหง กับ “พปชร.” แต่ก็ยังไม่อยากแตกหักด้วย เพราะเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ แล้วเกิด “พรรคพท.” ได้เป็นแกนนำรัฐบาล โอกาสที่พรรคเก่าแก่จะเข้าร่วมรัฐบาล กับแกนนำฝ่ายค้าน แทบจะกลายเป็นศูนย์ อันเนื่องมาจากอุดมการณ์และจุดยืนแตกต่างกัน มาถึงวันนี้แกนนำพรรคปชป. คงเชื่อว่า ยังไม่พร้อมกับการเป็นแกนนำรัฐบาล ดังนั้นการเกาะเกี่ยวอยู่กับ “พปชร.” น่าจะเป็นหนทางในการสร้างพรรคให้เติบโตในอนาคตได้
ขณะที่ประเด็นถกเถียงทางกฎหมายถึงการนับ วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 258 วรรคสี่ ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปีนั้น จะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด โดยทางสภาผู้แทนราษฎรได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว
ล่าสุดฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาและส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบข้อสรุปในประเด็นนี้แล้วตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.64 โดยเห็นว่าการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตาม รธน.ปี 2560 เป็นต้นไป
เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการบัญญัติกฎหมาย ในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขใน รธน.ให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รธน.มีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย
ส่วนประเด็น รธน.ปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวัน ประกาศใช้รธน.นี้ เป็นครม.ตามบทบัญญัติแห่งรธน.นี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรธน.ปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง
และต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลังจากที่ ครม.ตาม รธน.ปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรธน.มีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรธน. ให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ด้วย
ดังนั้น ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย.2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯตามรธน.ปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรธน.ปี 2560 มาตรา 158
หากเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันที่โปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรธน.ปี 2560 นั่นเท่ากับว่า วาระ 8 ปี จะไปสิ้นสุดที่ประมาณปี 2570 นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้ง ในการเลือกตั้งรอบหน้า
ก่อนหน้านั้น “พล.อ.ประวิตร” ยืนยันว่า จะเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคพปชร. ดังนั้นยิ่งข้อกฎหมายเปิดทางให้หัวน้ารัฐบาลคนปัจจุบันอยู่ได้ต่อถึงปี 2570 ยิ่งสร้างความมั่นใจพรรคแกนนำรัฐบาล เว้นแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะขอไม่รับตำแหน่งนายกฯอีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ในระว่าง การประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห. ) พปชร. เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ซึ่งมี “พล.อ.ประวิตร” ในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นประธาน มีวาระสำคัญ คือการพิจารณารายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. เขต 9 หลักสี่ โดยมีการเสนอ 2 รายชื่อ คือ “นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ภรรยานายสิระ และ “น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น” โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อดีตผู้สมัคร ส.ส.บางเขน พรรคพปชร.
โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เลือกให้ นางสรัลรัศมิ์ เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม.เขต 9 เนื่องจากอีกคนเป็นผู้สมัครคนละเขต ขณะที่การเลือกตั้งเหลือเวลาเพียงอีก 20 วันเท่านั้น จึงอาจทำให้ เตรียมตัวไม่ทัน ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร” พูดตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 3 เขตจะต้องชนะ
ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่มีนัยยะทางการเมือง เพราะพื้นที่เดิมของพรรคแกนนำรัฐบาล มีเพียง 1 ที่นั่ง คือพื้นที่กทม. เขต 9 “พล.อ.ประวิตร” อาจต้องการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับลูกพรรค ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า พรรคพปชร.อยู่ในช่วงขาลง
นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า“เจ๊คนดัง” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพรรค พท. กำลังเดินเกมดึงแกนนำพปชร. บางกลุ่มให้กลับมาอยู่กลับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน โดยพุ่งเป้าไปที่ “กลุ่มสามมิตร” ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ หลังก่อนหน้านั้นในช่วงก่อตั้ง “พรรคไทยรักษาชาติ” (ทษช.) ผู้หญิงคนดังกล่าว ซึ่งมีอิทธิพลและบารมี ขนาด “นายทักษิณ ชินวัตร” ยังต้องเกรงใจ เคยออกปากชักชวนส.ส.กำแพงเพชร ที่อยู่ใน “กลุ่มนายวราเทพ รัตนากร” เป็นแกนนำหวนคืนกลับพรรคพท. แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะไม่มั่นใจว่า จะได้เป็นแกนนำรัฐบาล
อีกทั้งก่อนหน้านี้ “กระทรวงยุติธรรม” ซึ่งมีนายสมศักดิ์ นั่งรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ผลักดันให้มีการลดโทษ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว จนเกิดกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย จนหัวหน้ารัฐบาลสั่งการมีการ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ในเรื่องนี้
บางทีผลการเลือกตั้งซ่อมใน 3 เขต นอกจากจะวัดบารมี “พล.อ.ประวิตร” เชื่อมโยงกับกระแสความนิยมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะมีแกนนำรัฐบาลบางคน หวังใช้บทสรุปที่เกิดขึ้นจากตัดสินใจของประชาชน เลือกเส้นทางเดินใหม่ เพราะรับไม่ได้กับการเป็นฝ่ายค้าน
………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย. “แมวสีขาว”