คงไม่จบลงง่ายๆ หรือข่าวจะเกิดอันตรธานหายไป ด้วยความต้องการของใครบางคน หลังนักวิชาการออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อหลายสำนักที่อวดอ้างว่า เป็นนักประชาธิปไตย ถึงไม่นำเสนอรายละเอียดในคดี “นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” น้องชาย เสี่ยเอก “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินใต้โต๊ะ 20 ล้านบาท ซึ่งมีการจ่ายให้เจ้าหน้าที่สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อแลกสัมปทานที่ดินทำเลทอง 12 ไร่ ย่านชิดลม
“รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร” อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ว่า “กรณีคุณสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคุณธนาธร ที่ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หลอกให้จ่ายเงิน 20 ล้านเพื่อได้สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินย่านชิดลม-เพลินจิต ซึ่งเป็นไปได้ว่า เงิน 20 ล้าน เป็นเงินใต้โต๊ะหรือเรียกอีกอย่าง เป็นการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้
เพราะเหตุใดจึงไม่ค่อยเห็นข่าวนี้ ใน page ดังๆ เช่น The Standard The Reporter ประชาไท ฯลฯ หรือผมหาไม่เจอก็ไม่ทราบ ใครทราบช่วยยืนยันด้วย ว่ามีข่าวนี้หรือไม่ใน page เหล่านี้ อีกทั้งในเฟซบุ๊กของเหล่าแกนนำม็อบ ก็ดูเหมือนจะเงียบกริบกันหมด น่าแปลกไหมครับ”
จริงๆก็หาคำตอบได้ไม่ยาก ถ้าย้อนไปดูภูมิหลังสมาชิกในตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็คงรู้ว่าหลายคนเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อ แม้กระทั่ง “นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” มารดาของประธานคณะก้าวหน้า ยังถือครองหุ้นสื่ออยู่หลายสำนัก
ไม่ว่าจะเป็นสื่อในเครือมติชน สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หรือการสื่อสารในรูปแบบต่าง ซึ่งอาจเป็นเพราะ “นางสมพร” เห็นว่า ในเมื่อบุตรชายเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานการเมือง เลยหวังได้สื่อมาช่วยเป็นกระบอกเสียงช่วยเป็นพันธมิตร นำเสนอข้อมูลข่าวสารทางบวก
แต่คงไม่ได้หมายความว่า จะมีอิทธิพลถึงขั้นห้ามสื่อทุกสำนัก นำเสนอข่าวในทางลบ ยิ่งการเมืองบ้านเรามีความขัดแย้งสูง กลุ่มก้าวหน้า และ พรรคก้าวไกล (กก.) ที่มี “เสี่ยเอก” คอยชี้นำอยู่ ออกมาสนับสนุน “ม็อบราษฎร” ที่ใช้สัญญลักษณ์ชูสามนิ้ว และประกาศจุดยืนชัดว่า ต้องการให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมลาออกจากตำแหน่ง
อย่าลืมว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กับแนวทางการเคลื่อนไหวของ “นายธนาธร” และพวก ก็จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการช่วงชิงอำนาจรัฐ มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่อ่อนไหวมากกว่านั้นคือ หนึ่งในข้อเรียกร้องของม็อบสามนิ้วคือ ปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแกนนำกลุ่มก้าวหน้า และพรรคกก. ก็ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเฉพาะ “นายธนาธร” และ “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” ซึ่งมักออกมาวิพากษ์จารณ์สถาบันอย่างต่อเนื่อง
ถ้าลองเข้าไปตรวจสอบคำพิพากษาคดีอาญา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 76/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อท 228/2562 ที่มีข้อเท็จจริงในคดีเกี่ยวข้องกับ “นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ระหว่างกลางเดือนมี.ค.-พ.ย. 2560 ตกลงจ่ายค่าดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่จำเลยทั้งสองประกอบด้วย “นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ” และ “นายสุรกิจ ตั้งวิทวนิช”
คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ อีกคนหนึ่งเป็นเหมือนคนกลาง ที่คอยประสานงานให้ ด้วยจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อให้ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) จากสำนักงานทรัพย์สินฯ และได้จ่ายไปแล้วบางส่วนจำนวน 20 ล้านบาท
จะพบว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ในช่วงปี 2560 ระหว่างเดือนมีนาคม 60 ถึงเดือนพฤศจิกายน 60 สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ตรวจพบมีการ “ปลอมแปลงเอกสาร” จึงได้สืบสวนแล้วดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคือจำเลยในคดีนี้ทั้ง 2 คน พฤติกรรมคือ เกี่ยวข้องกับจัดทำ “เอกสารปลอม”
ซึ่งเป็นรายละเอียดการให้เอกชนเสนอโครงการพัฒนาที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณชิดลม หลังจากองค์การโทรศัพท์ผู้เช่าเดิมหมดสัญญา เพื่อนำไปหลอก “นายสกุลธร” ในฐานะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด” ที่สนใจเข้ามาพัฒนาโครงการให้หลงเชื่อว่าเป็นจริง
ซึ่งคำสารภาพของจำเลยทั้งสอง ยอมรับว่าได้เรียกรับเงินจาก “น้องชายนายธนาธร” แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรก 5 ล้านบาท งวดที่สอง 5 ล้านบาท และงวดสุดท้าย 10 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท อ้างว่าจะเอาไปดำเนินการประสานงานให้ โดยจำเลยในคดีนี้ถูกถูกตัดสินว่า เป็นความผิดทุจริตต่อหน้าที่ และปลอมแปลงเอกสารราชการ รวมจําคุกคนละ 5 ปี และให้การรับสารภาพ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจําคุกจําเลยทั้งสองคนละ 3 ปี
ส่วนที่เป็นปัญหาคาใจตามมาคือ ทำไม “นายสกุลธร” ซึ่งผู้จ่ายเงินใต้โต๊ะ 20 ล้านบาทนั้น ทำไมไม่ถูกดำเนินคดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ หรือข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด
เนื่องจากตามคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า จำนวนเงิน 20 ล้านบาท ที่จ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกัน ไปดำเนินการติดต่อประสานงาน และนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย
เพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้บริษัท เรียลเอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯย์ อันเป็นคุณแก่ บริษัท เรียลแอสเlท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจาการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อื่น และประชาชน
เมื่อเรื่องนี้ปรากฎเป็นข่าวขึ้น ก็เริ่มมีการตั้งคำถาม และช่วยกันปลุกสังคมให้ช่วยกันติดตาม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ฝ่ายตรงข้ามนายธนาธร และคนที่ต้องการเห็นความถูกต้องเกิดขึ้น ยิ่งที่ผ่านมา “นายธนาธร” พยายามเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จัดทำรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ขณะที่ “นายวัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินทางมายื่นหนังสือถึง “นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์์ อัยการสูงสุด (อสส.) เรื่องขอให้อสส.ชี้แจงเหตุผลที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการการทุจริต 4 ไม่ฟ้องนายสกุลธร กรณีให้เงินเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ 20 ล้านบาท แลกกับการได้สิทธิเช่าที่ดินระยะยาว บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ย่านชิดลม มูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯโดยไม่ผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติ
นอกจากนี้ “นายวัชระ” ยังทำหนังสือเรียกร้อง “ผบ.ตร.” ให้สอบสวนพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และ ผกก.สถานีตำรวจผู้รับผิดชอบ ว่าเหตุใดจึงสั่งไม่ฟ้องนายสกุลธร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะดำเนินการทางกฎหมายต่อนายสกุลธรอย่างไร
จะเห็นว่า ที่ผ่านมา “นายธนาธร” มักออกมาออกมาแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับแนวคิดปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งในระหว่างเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นายธนาธรมักเข้าไปตรวจสอบงบประมาณรายจ่าย และการบริหารงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นประจำ อีกทั้งยังเคยเสนอให้ตัดงบประมาณโครงการพระราชดำริ อย่างเช่นโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง
จึงไม่แปลกเมื่อเกิดคดีของน้องชายประธานก้าวไกลขึ้น หลายคนเลยวิจารณ์กันว่า ความพยายายามในการตรวจสอบงบประมาณสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเพราะนายธนาธรต้องการล่วงรู้ข้อมูลบางอย่าง หวังนำไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจของตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ”
แต่ในทางทางการเมือง เชื่อเลยว่า เรื่องนี้ไม่มีทางจบลงง่ายๆ ยิ่งเครือข่าย “เสี่ยเอก” มักถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวง เมื่อแสดงท่าทีและพฤติกรรมพาดพิงถึงสถาบัน เลยถูกต่อต้านด้วยถ้อยคำ “หนักแผ่นดิน” และการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ
อย่างน้อยๆ ก็ช่วยตอกย้ำให้สังคมรู้ว่า อย่าเชื่อคำพูดของนักการเมือง ที่ชอบสร้างภาพว่าเป็นนักตรวจสอบและ ต้องการใหทุกภาคส่วนในสังคมเกิดความโปร่งใส
…………………………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
#แมวสีขาว