น่าจะเป็นระเบิดเวลาที่หนักหนาสาหัส มากกว่าศึกซักฟอกที่เพิ่งผ่านพ้นไป หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยรัฐมนตรีทั้ง 11 คน ผ่านพ้นกระบวนการตรวจสอบในสภามาได้ แม้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระ ลงดาบต่อก็ตาม แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน คงหนีไม่พ้นความเคลื่อนไหวภาคประชาชนบางกลุ่ม ที่อิงแอบอยู่กับบางพรรคการเมือง ใช้ประเด็นการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี กดดันให้หัวหน้ารัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่จำเป็นต้อง ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่ใช้ชื่อ “99 พลเมือง” อาทิ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, พะเยาว์ อัคฮาด ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้เสียหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553, ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, วสันต์ สิทธิเขตต์ เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย, สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, เมธา มาสขาว นักพัฒนาเอกชน, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์เสียสละ” ลาออกจากตำแหน่งก่อนวันที่ 24 ส.ค.65 นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
“หากนายกฯยังต้องการต่ออายุออกไปอีก โดยการ ตีความรธน.บิดเบือน เข้าข้างตนเอง จะทำให้ท่านมีมลทินมัวหมองไปตลอดชีวิต และขัดกับคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม และธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ จนเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองจากความแตกแยกสามัคคีที่เกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการ และประชาชน ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ” แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่ “วิชิต ปลั่งศรีสกุล” รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ในฐานะทีมกฎหมายพรรคศท. ออกมาเปิดเผยว่า วาระ 8 ปีในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ชัดเจนว่า ดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย เป็นเวลา 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 65 ตามที่นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ระบุถึงมาตรา 158 และ 264 ของรธน.ปี 2560
รวมทั้งเหตุผลต่างๆ ตามที่ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรมว.คลัง ได้ให้เหตุผลไว้ในจดหมายเปิดผนึกฉบับลงวันที่ 26 ก.ค.65 ในคำปรารภอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรธน.ปี 2560 ยังได้ระบุถึงนายกฯตามรธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 ซึ่งหมายถึง “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างน้อย 4 แห่ง สืบทอดต่อเนื่องกันมา ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปีในไม่กี่วันข้างหน้า
“ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นต่อศาลรธน.ได้ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 23 ส.ค.65 เพราะรธน.เป็นป็นกฎหมายสูงสุดที่วางหลักโครงสร้างการปกครองประเทศ หวังว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะพิจารณาตัวบทกฎหมายเคร่งครัด ไม่ใช้สีข้างเข้าถู เเละไม่เลือกปฏิบัติเพราะรธน.ระบุไว้ชัด หากมีการใช้หลักศรีธนญชัยในกรณีพล.อ.ประยุทธ์อีก นักกฎหมายคงต้องสังคายนา วิธีการตีความกันใหม่ เชื่อว่าศาลรธน.จะยึดหลักการปกครองเเละเจตนารมณ์ของรธน. รวมทั้งคำปรารภในการวินิจฉัยให้มีมาตรฐานเเละสังคมยอมรับด้วย และในฐานะ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคศท. ขอร่วมขับเคลื่อนกับภาคต่างๆ ของสังคมในเรื่องนี้” วิชิตกล่าว
จริงๆ ไม่ใช้เรื่องแปลก กับการเคลื่อนไหวของพรรค ศท. หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออจากตำแหน่งนายกฯ และต้องมาเริ่มจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เกือบ 1 ปี บุคคลที่ได้รับคาดหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล คงหนีไม่พ้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากได้รับการยอมรับทุกพรรค อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” หัวหน้าพรรคศท. ให้การยอมรับนับถือ
หรือแม้มีคนบางกลุ่มไปยื่นศาลรธน.ให้ตีความสถานะของหัวหน้ารัฐบาล เรื่องการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีหรือไม่ หากในที่สุดผลการวินิจฉัยออก โดยชี้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องมีอันเป็นไป พ้นจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล บุคคลที่จะทำหน้าที่รักษาการ ในตำแหน่งนายกฯคงหนีไม่พ้น “พล.อ.ประวิตร” ดังนั้นจึงมีคาดหวังลึกๆ จากนักการเมืองบางกลุ่ม ต้องการให้หัวหน้าพรรคพปชร.มีโอกาสนั่งเก้าอี้นายกฯ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นก็ตาม แต่เพื่อเป็นเกียรติประวัติของชีวิต
ขณะที่มาตราซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในรธน.60 คือ มาตรา 158 ซึ่งระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ต่อมาในวันที่ 22 ก.ค.57 มีการประกาศใช้รธน.(ฉบับชั่วคราว) 57 และวันที่ 24 ส.ค.57 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เลือก “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ นั่นหมายความว่า วันที่ 24 ส.ค.ที่จะถึงนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีเต็ม ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการเป็นนายกฯ มาจาก รธน.ฉบับชั่วคราวปี 57
ซึ่งมาตรา 19 บัญญัติเอาไว้ดังนี้ “..พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีอื่นอีกจํานวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดําเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ…”
จะเห็นว่า รธน.(ฉบับชั่วคราว) ปี 57 มิได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ แต่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความสิ้นสุดลงของนายกฯคือมาตรา 20 วรรค 2 บัญญัติว่า “…ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อมีกรณี ตามมาตรา 9 (1) หรือ (2 )…” มาตรา 9 ที่นำมาใช้โดยอนุโลมคือ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาสนช.) สิ้นสุดลงเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก
นั่นหมายความว่า ภายใต้รธน.(ฉบับชั่วคราว) ปี 57 “พล.อ.ประยุทธ์” จะพ้นหน้าที่ได้ มี 2 กรณีคือ ตาย และ ลาออก…เท่านั้น ไม่มีการนับวาระ และเมื่อพิจารณาในคำปารภของรธน.ฉบับดังกล่าว จะพบข้อความที่สำคัญ “…คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงจําเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอํานาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง
ยกเว้นความในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยได้กําหนดแนวทางการแก้ปัญหาไว้สามระยะคือ ระยะเฉพาะหน้า เป็นการใช้อํานาจสกัดการใช้กําลังและการนําอาวุธมาใช้คุกคามประชาชน ยุติความหวาดระแวง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ที่สะสมมากว่าหกเดือนให้คลี่คลายลง เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่สอง
ซึ่งจะจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดตั้งสภาขึ้นทําหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และให้มีคณะรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินแก้ไขสถานการณ์อันวิกฤติให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ฟื้นฟู ความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคี และความเป็นธรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง จัดให้มีกฎหมายที่จําเป็นเร่งด่วน จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้มี การปฏิรูปในด้านการเมืองและด้านอื่น ๆ
และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมือง ให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ก่อนจะส่งมอบภารกิจเหล่านี้แก่ผู้แทนปวงชนชาวไทยและคณะรัฐบาลที่จะเข้ามา บริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป…”
จะเห็นว่า คำปรารถดังกล่าว มิได้ระบุเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลคสช. แต่พูดถึงภาระกิจก่อนส่งมอบให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ความหมายก็คือ นายกฯในรัฐบาลคสช. สามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงวันนี้คือ 1 ส.ค. 65 หรือนานกว่า 8 ปีก็ได้ หากมีความสามารถมากพอและประชาชนยอมรับ ดังนั้นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ระหว่างรธน.ทั้ง 2 ฉบับจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่รธน.60 มีบทบัญญัติห้ามเป็นนายกฯเกิน 2 สมัย หรือ 8 ปี การเลือกตั้งจะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศจะเป็นนายกฯอีกครั้ง จะนับการดำรงตำแหน่งกันอย่างไร เนื่องจากเป็นนายกฯเกิน 8 ปี ตามรธน.ใหม่ไปแล้ว แต่หากเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.62 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรธน.ปี 60 ก็จะไปครบ 8 ปี ในวันที่ 9 มิ.ย.70
จึงมีข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้คือ จะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน ตำแหน่งนายกฯเป็นตำแหน่งเฉพาะมีตำแหน่งเดียว แต่ปัญหาคือการนับวาระการดำรงตำแหน่ง ห้ามเกิน 8 ปี เพิ่งจะบัญญัติในรธน.60 ขณะที่รธน.ฉบับชั่วคราว 57 มิได้ระบุวาระการดำรงตำแหน่งเอาไว้ จะเป็นกี่ปีก็ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของรธน. ทั้ง 2 ฉบับ ระบุวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯเอาไว้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ส่วนความเห็นมือกฎหมายของรัฐบาล “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีข้อถกเถียงว่าจะครบ 8 ปี ในเดือน ส.ค.นี้ว่า ถ้าใครอยากส่งให้ศาลรธน.ตีความเรื่องนี้ ก็ทำได้ โดยเห็นว่าฝ่ายค้านจะยื่นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ส่วนรัฐบาลไม่ใช่คนส่งยื่นตีความ แต่เป็นฝ่ายตั้งรับ เมื่อถามว่ารัฐบาลกังวลเรื่องนี้ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เคยมีใครบอกว่ากังวล ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อมั่น และรู้สึกเฉยๆ เพราะถ้าใครเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง เนื่องจากคิดว่าต้องนับวาระตั้งแต่ปี 57 ก็ให้เป็นไปตามนั้น
ด้าน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เมื่อถูกถามถึงประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์จะยื่นตีความเมื่อไรนั้น นายสุทินกล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกัน แต่ส่วนตัวไม่อยากยื่น เพราะหวั่นว่าจะกลายเป็นการประทับตรา อยากให้นายกฯแสดงสปิริตเอง เพราะนายกฯน่าจะนับเลข 1-8 เป็น
จับท่าทีแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ทำให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมา หรือเป็นเพราะพรรคพท.รู้แล้วว่า ถ้าจะนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องใช้ในช่วงรธน.60 บังคับใช้ ถ้าหากส่งเรื่องให้ศาลรธน.ตีความ ยิ่งเข้าทางผู้มีอำนาจฝ่ายบริหาร ดังนั้นการกดดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัย จากองค์กรที่เกี่ยงข้อง น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่า
….แต่คงไม่มีผลอะไร เพราะประเทศไทยกำลังมีงานใหญ่รออยู่
………………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”