มีรายงานข้อมูลภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 ผลตอบแทนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในไทยยังให้ผลตอบแทนติดลบ นั่นแปลว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องขาดทุนจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ Gen y และ Gen z อยากรวยทางลัดหันมาลงทุนกันอย่างคึกคัก เมื่อก่อนมักจะมีคำพูดว่า ”คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” แต่ตอนหลังต้องเพิ่ม “วัยรุ่นเล่นคริปโต” ที่คนรุ่นเก่าเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง แต่คนรุ่นใหม่กลับเห็นว่านี่คือ “สินทรัพย์ทางเลือก” ที่มีอิสระปลอดจากการควบคุมโดยรัฐหรือ”ส่วนกลาง”
กระแสนี้ไม่ใช่ลามไปเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังรุกเข้าไปในกลุ่มธุรกิจอีกมากมายเราจะเห็นภาคธุรกิจหลายๆวงการ เริ่มจะก้าวเข้าสู่การยอมรับเงินคริปโตบางตระกูลในการชำระค่าสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจค้าปลีก รวมไปถึงร้านกาแฟและบริการต่างๆ ก่อนหน้านี้เคยมีการนำเสนอข่าว”ร้านปลาเผา”แห่งหนึ่งยอมให้ลูกค้าจ่ายเป็นคริปโต กลายเป็นค่านิยมใหม่
แต่ที่น่าห่วงกระแส คริปโต ไม่ได้อยู่เฉพาะในธุรกิจและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานมีเงินเดือนเท่านั้น แต่กำลังแพร่ระบาดไปสู่เด็กมัธยมที่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ทุกวัน เรื่องนี้มีเสียงสะท้อนแสดงความเป็นห่วงจาก“ดร.สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ เฟซ บุ๊ก ส่วนตัว Somchai jitsuchon ได้กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กมัธยมในต่างจังหวัดจำนวนมากที่ซื้อคริปโตเคอร์เรนซี่ และกำลังขาดทุนอย่างหนัก แนะภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันผู้เล่นหน้าใหม่
โดยระบุว่า เพิ่งคุยกับพรรคพวกที่ลงพื้นที่ เจอว่ามีเด็กมัธยมต่างจังหวัด (ทั้งมัธยมปลายและต้น) จำนวนไม่น้อยซื้อคริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) และกำลังขาดทุนอย่างหนัก (หลักหมื่นหรือกระทั่งหลักแสน) โดยเอาเงินที่บ้านมาเล่น บางทีก็เป็นเงินที่ปู่ย่าตายายเก็บไว้เพื่อการศึกษาของหลาน
ทั้งนี้มองว่า เรื่องดังกล่าว น่าจะเป็นห่วงมาก ภาครัฐควรมีมาตรการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อป้องกันผู้เล่นตัวจิ๋วหน้าใหม่ที่อาจเข้ามาเพราะเชื่อว่าในที่สุดจะกำไรมากมายอย่างน้อยควรมีการกำกับ platform ซื้อขายคริปโต ในเรื่อง Know Your Customer หรือ KYC ซึ่งเป็นกระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถ ระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้องและให้ความรู้ (ที่ถูกต้อง) กับนักลงทุนหน้าใหม่
หากดร.สมชัย ไม่กล่าวถึงก็คงไม่รู้ว่า กระแสการลงทุนคริปโตฯได้ระบาดลงลึกถึงระดับรากหญ้าเชื่อว่าหลายคนคงจะสูญเงินไปไม่น้อย ไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการรับรู้เรื่องนี้หรือยัง ถ้ารู้แล้วจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร
ก่อนหน้านี้ สภาพัฒน์ก็แสดงความเป็นห่วงพฤติกรรมวัยรุ่นไทยที่อยากรวยทางลัดแต่ไม่ได้ศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง ว่ามีความเสี่ยงอย่างไรบ้างสอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า สาเหตุที่คน Gen Z สนใจลงทุนในคริปโต เพราะต้องการรวยเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยง รวมถึงศึกษาหาความรู้น้อย และใช้สัญชาตญาณตัดสินใจลงทุน
ขณะที่ผลสำรวจของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสำรวจบุคคลที่เคยลงทุนอยู่ในคริปโต อายุไม่เกิน 24 ปี ระบุว่าสนใจเพราะการขับเคลื่อนจากตลาด ปลอดจากการกำกับดูแลและทันสมัย โดย 1 คน สามารถลงทุนได้มากกว่า 1 บัญชี และเทรดไม่พร้อมกัน
อีกทั้งนักลงทุนรุ่นใหม่มองว่า การลงทุนในคริปโต เป็นการลงทุนที่เข้ามาทดแทนตลาดหุ้น และมักลงทุนเฉพาะสินทรัพย์สมัยใหม่อื่นๆ โดยเชื่อว่าความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงนั้นเป็นเรื่องปกติ จึงกล้าเสี่ยง แม้จะขาดทุนแต่ไม่ติดลบ ไม่มีหนี้สินก้อนใหญ่ และสามารถหารายได้ได้
ทางด้านกลุ่มนักลงทุนรายย่อย อายุมากกว่า 30 ปี สนใจในคริปโตเพราะเป็นการลงทุนแบบใหม่ผลตอบแทนสูงแม้มีความเสี่ยงสูง แต่สามารถทดลองเทรดเองหรือฝากคนใกล้ชิดทำให้ได้ ซึ่งมองว่าเป็นการลดถือหุ้นเดิม ได้กระจายพอร์ต โดยเชื่อว่าความเสี่ยงคือ ความไม่แน่นอนต้องบริหารจัดการตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้มีความกล้าเสี่ยงอยู่บ้าง โดยค่อยๆ เรียนรู้จากการเข้าตลาด
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ กำลังเป็นภัยสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะนักเรียน ที่อาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจจริงๆอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าแบงก์ชาติหรือ ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการป้องกัน โดยด่วน กระทรวงศึกษาธิการเองก็ต้องมีมาตรการป้องกันก่อนที่เด็กนักเรียนจะถลำลึกมากกว่านี้
……………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย…”ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving