พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่พยายามเปิดช่องให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายสุราได้ ซึ่งผลักดันโดย “พรรคก้าวไกล” กำลังจะกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติผ่านวาระแรกเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 และจะนำเข้าสู่การพิจารณาวาระต่อไปในวันที่ 2 พ.ย.65
คงต้องลุ้นกันว่า จะออกหัวหรือออกก้อย เพราะมีกระแสข่าวว่า “รัฐบาล” เตรียมที่จะเตะสกัดไม่ให้ได้ผุดได้เกิด สัญญาณนี้สะท้อนจากก่อนการประชุมครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้หารือกับแกนนำพรรคร่วม ในวงหารือได้ข้อสรุปว่า ไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ อ้างว่าจะทำให้มีสุราเถื่อนที่ไม่ได้คุณภาพเกลื่อนเมืองและไม่มีมาตรการรองรับความปลอดภัย ต่างจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานสูง
แต่มีข้อน่าสังเกต ก่อนหน้าที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมีการหารือกัน ก็มีข่าวรั่วออกมาว่า มี “ผู้ใหญ่ในรัฐบาล” ได้พบและพูดคุยกับ “นักธุรกิจใหญ่ที่อยู่ในแวดวงน้ำเมา” แต่ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าหรือไม่
สาระสำคัญของพ.รบ.สุราก้าวหน้า เจตนาเพื่อให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย สามารถประกอบกิจการได้ตามกฎหมาย และแข่งขันกับเจ้าใหญ่ๆ ในตลาดได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ต้องการ “ต้มเบียร์” ไว้กินเองสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
ความจริงพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไม่ใช่การนำเสนอกฎหมายใหม่แต่อย่างใด เป็นการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตเดิมที่มีอยู่แล้ว แม้จะเปิดให้รายย่อยดำเนินการได้ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากมากๆ เพราะมีกฎระเบียบยุบยับไปหมดเพื่อจะกีดกัน ไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชนหรือสุราท้องถิ่นที่เป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ได้มีโอกาสเกิดนั่นเอง
สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาผลิตแอลกอฮอล์ โดยใช้ “ของดี” ในพื้นที่ เช่น ข้าวออร์แกนิคสายพันธุ์ท้องถิ่น หรือผลไม้ต่างๆ มาแปรรูปเป็นสุราท้องถิ่น ไวน์ หรือดราฟเบียร์ รายได้ก็จะเข้าสู่ชุมชน เข้าสู่ท้องถิ่นและคนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น
ทุกวันนี้สุราชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ฝ่าด่านนายทุนได้มีไม่กี่ราย ที่เป็นที่รู้จักบ้าง เช่น ชุมชนสุราสักทอง ต.แม่สะเอียบ จังหวัดแพร่ สามารถสร้างรายได้แต่ละปีไม่น้อย ช่วยให้คนท้องถิ่นมีงานทำกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน แต่ก็ยังนับอยู่ในวงจำกัดตลาดยังแคบ
ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กอื่นๆ ต้องจดทะเบียนและผลิตสุราในต่างประเทศ แล้วใช้กลยุทธ์ “กองทัพมด” ขนเข้ามาในบ้านเรา ทั้งที่ภูมิปัญญาคนไทยในเรื่องนี้ไปไกลถึงระดับโลกแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน คราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์ “ศิวิไลซ์” ได้ชนะรางวัลเหรียญเงินจากเวทีประกวดระดับโลก แต่น่าเศร้าใจเพราะต้องรับรางวัลในฐานะ “คราฟต์เบียร์เวียดนาม” เพราะกฎหมายไทยกีดกันรายเล็ก โดยอ้างเรื่องกำลังการผลิตไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรม ขายนักท่องเที่ยวได้ ต่อไปเราอาจจะได้เห็นบาร์เหล้าในโรงแรม 5 ดาวหรือร้านเหล้าย่านทองหล่อ มีแต่สุราแบรนด์ท้องถิ่นของไทยให้ชาวต่างชาติเลือกชิม และอาจจะยกระดับถึงระดับโลกอย่างเช่น “เมซกาล” เป็น “เหล้ากลั่น” สุราชุมชนของเม็กซิโกที่กลั่นจาก “อะกาเบ” พืชพื้นเมืองที่แทบไม่มีราคา พัฒนาจนเกิดมูลค่าและโกยเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล
หากผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าสำเร็จจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศที่กำลังวิกฤติได้ และยังจะกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมากมายไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร, อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์, การขนส่ง, สื่อและการตลาด ทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ รวมไปถึงสาธารณูปโภคและอื่นๆ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมสุรา ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตลาดน้ำเมาบ้านเราเป็นตลาดใหญ่ แต่ถูก “ผูกขาด” โดย “ยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย” อย่างธุรกิจเบียร์ถูกควบคุมโดย สองผู้เล่นยักษ์ใหญ่ มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันถึง 93% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศ ยังไม่รวมกับอุตสาหกรรมสุรา มีเพียงเจ้าเดียว ครองตลาดไปถึง 80%
ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตเดิมนั้น เปิดโอกาสให้สองเจ้ายักษ์ใหญ่ผูกขาด เนื่องจากขนาดและความพร้อมของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน กำลังคน หรือเครื่องจักร ที่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเทียบได้ จนขาดคุณสมบัติที่จะครอบครองใบอนุญาต
นั่นหมายความว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการต่อยอดภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ไปจนถึงขาดการกระจายรายได้ให้แก่ทุกภาคส่วนไปอย่างน่าเสียดาย
การปลดล็อคกฎหมายภาษีสุรา จึงจะช่วยให้เกิดความหลากหลายในการแข่งขันในตลาดมากขึ้น รวมทั้งเกิดความคิดสร้างสรรค์เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลายเป็นซอล์ฟเพาเวอร์ ที่สำคัญจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงได้ เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไทยมีโอกาสลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเต็มตัว
คงต้องลุ้นกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะได้รับการขานรับหรือถูกปัดตก ต้องวัดใจรัฐบาลส.ส.และส.ว.ในสภาฯว่า จะมองเห็นประโยชน์ส่วนรวม หรือจะเห็นแก่ประโยชน์ของนายทุน จะเห็นหัวชาวบ้านหรือยอมให้เจ้าสัวไม่กี่ตระกูลผูกขาดต่อไป
………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving