หลังจากรัฐบาลได้ส่งสัญญาณมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2562 ครั้งนั้น สภาพัฒน์ฯ เสนอนโยบาลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ด้วยการเสนอให้รัฐ “เก็บภาษีกำไร” จากการขายหุ้น หรือเรียกว่า “Capital Gain Tax” แต่ได้รับการคัดค้านจากกระทรวงคลัง และตลาดหลักทรัพย์ฯ แผนนี้จึงต้องพับไป
กระทั่งเมื่อกลางเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว กระทรวงการคลัง เริ่มส่งสัญญาณว่าจะเอาจริงแล้วนะ แต่จะเรียกเก็บ “Financial Transaction Tax” หรือ “ภาษีขายหุ้น” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านว่า “รัฐบาลถังแตก” เพราะเอาเงินไปถลุงกับนโยบายประชานิยมและแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาด
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “การจัดเก็บภาษีหุ้น” นั้นมี 2 รูปแบบ ภาษีประเภทแรก เรียกว่า “Capital Gain Tax” เป็น “ภาษีกำไร” จากเงินลงทุน หรือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งในหลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษีนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการเรียกเก็บ ประเภทที่สอง เรียกว่า “Financial Transaction Tax” หรือ “ภาษีขายหุ้น” ที่กระทรวงคลังผลักดันออกมาใช้ คือ การเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ คิดจากรายได้การขาย ไม่ได้คิดเฉพาะกำไร
เมื่อสัปดาห์ก่อน ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาเก็บภาษีขายหุ้นร้อยละ 0.1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้เวลาเตรียมตัว 90 วัน ในปีแรก 2566 จะเก็บภาษีเพียงครึ่งเดียว 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) นับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะเก็บเต็มอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น)
ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมครม.ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นมาก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจากเมื่อ 30 ปีก่อน กล่าวคือจากช่วงปี 2534 อยู่ที่ 900,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าจีดีพีของประเทศเสียอีก ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ควรจะมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล การเก็บภาษีขายหุ้นจะเพิ่มความเป็นธรรมในการเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้
ข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่ที่ 4.74 ล้านบัญชี แต่ถ้านับบัญชีที่ไม่ซ้ำกันมี 2.32 ล้านบัญชี แต่บัญชีซื้อขายหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวหรือ “แอ็คทีฟ” จริงๆ มีเพียงวันละหลักแสนบัญชีเท่านั้น และเป็น “นักลงทุนรายย่อย” เสียส่วนใหญ่
ส่วนกรณีการซื้อขายหุ้นผ่าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม “อาคม” บอกว่า จะได้รับการยกเว้น เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากร คาดว่าจะมีรายได้จากภาษีขายหุ้นปีละ 16,000 ล้านบาท แต่ปีแรกจะเก็บได้เพียง 8,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง อาจจะไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ก็ได้
แม้กระทรวงคลังจะออกมาปฏิเสธว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะไม่กระทบรายย่อย แต่ในความเป็นจริงกระทบรายย่อยเต็มๆ เพราะมาตรการเก็บภาษีหุ้นที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทนั้น เป็นการคิดภาษีจากมูลค่าฐานการลงทุนรวมกับส่วนต่างกำไรราคาหุ้น
นั่นเท่ากับ มีการคิดภาษีส่วน “ต้นทุนหุ้น” ด้วย หากนักลงทุนซื้อหุ้นที่มีต้นทุนแพงมาก อาทิ ต้นทุนต่อหุ้นหลัก 100 บาท แต่มีส่วนต่างกำไรต่อหุ้นเพียงหลักสิบบาท ก็จะกำไรส่วนต่างราคาหุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แถมยังโดนหักภาษีอีก แทนที่จะได้กำไรการลงทุนหุ้น อาจจะขาดทุนจากที่โดนหักภาษีได้
ที่สำคัญมาตรการดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนตีความไปในด้านลบว่า ตลาดหุ้นไทยไม่เป็นมิตรกับนักลงทุน จะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศตื่นตระหนกตกใจ หอบเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่มีนโยบายเก็บภาษีหุ้นแทน ซึ่งตลาดเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียก็ไม่เก็บภาษีประเภทนี้
“มาตรการเก็บภาษีหุ้น” จึงเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง การที่กระทรวงคลังคาดว่าจะมีรายได้เข้ารัฐ หลักหมื่นล้านนั้น ก็อาจไม่เป็นตามเป้า นักลงทุนส่วนหนึ่งจะหันไปลงทุนที่อื่นแทน
จะว่าไปแล้ว ตลาดหุ้นไทยเวลานี้ยังไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการดังกล่าว จะนำไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส สิงค์โปร์ ไม่ได้ ขณะเดียวกันตลาดหุ้นที่อยู่ใน Emerging Market (ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่) ที่จะเป็นคู่แข่งแย่งลูกค้าเราไป ยังไม่มีประเทศไหนในกลุ่มนี้ เขาจัดเก็บภาษีขายหุ้นแม้แต่ประเทศเดียว
ขณะที่ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และ ประธานสภาธุรกิจตลาดหุ้นไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีครั้งนี้ เพราะเห็นว่า ช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น คริปโต ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมาส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ นอกจากนี้ ยังมีวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นเค้าลางในบางประเทศแล้ว และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอ่อนไหวง่าย อย่าลืมว่า ตลาดหุ้นบ้านเราไม่ธรรมดา ใครทำอะไรกระทบกระทั่งอาจจะต้องเจออิทธิฤทธิ์ได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เป็นวันที่หุ้นไทยร่วงหนักครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นผลมาจากกระทรวงการคลังออกมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทที่กำลังแข็งค่า จนทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงไปราวๆ 100 จุดหรือราว ๆ 20%
ในที่สุดรัฐบาลยุคนั้นต้องประกาศ “ยกธงขาว” ยอมแพ้ ยกเลิกประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ต้องสรุปบทเรียนให้ดี อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
……………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving