พลันที่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ด้วยมูลค่า 55,500 ล้านบาท ดีลนี้ทำให้ กลุ่มบริษัทบางจาก ขึ้นมาเทียบชั้นกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ธุรกิจน้ำมันอย่างมิอาจปฏิเสธได้
เบื้องลึกที่เอสโซ่ตัดสินใจขาย ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเอสโซ่มีนโยบายขายธุรกิจเมืองไทยมานานแล้ว เมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็เคยตัดบริษัทลูกขาย รวมถึงเคยเจรจากับไทยออยล์ มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตอนเจรจารอบแรกเกือบสำเร็จ แต่ข่าวรั่ว ทำให้ดีลล่มไป
หลังจากนั้นก็มีการเจรจากันเรื่อยมา แต่ติดเงื่อนไขบางประการ เพราะ ไทยออยล์ เป็นบริษัทลูกของปตท. ซึ่งบริษัทแม่เตรียมจะเอาสถานีบริการน้ำมัน ตั้งเป็นบริษัทใหม่ในนาม “OR” เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เกรงว่าหากไทยออยล์ซื้อโรงกลั่นเพิ่ม จะถูกมองว่าเป็นการผูกขาดทางการค้า แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอาจสะดุด แผนการเจรจาก็เลยชะงัก และนับจากนั้นก็ไม่มีการเจรจาอีกเลย
ในที่สุดก็มาลงเอยกับกลุ่มบริษัทบางจาก แถมยังขายในราคาค่อนข้างถูก แต่ทางเอสโซ่เองก็พอใจ เพราะอยากจะถอนการลงทุนจากประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของบริษัทข้ามชาติ จะดูที่ผลตอบแทนเป็นหลัก เมื่อเห็นว่า การลงทุนในประเทศไหนไม่คุ้มค่า มีแนวโน้มจะได้รับผลตอบแทนต่ำ ก็จะถอนไปลงทุนประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหรือคุ้มค่ากว่า
เอสโซ่ เป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกมีธุรกิจหลายอย่าง ลงทุนในหลายๆประเทศ คงมองว่า ตลาดในประเทศไทยเล็กมากสำหรับเขา และเศรษฐกิจไม่เติบโตมานานติดต่อกันหลายปี ไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งจาก ปตท. แบรนด์ท้องถิ่นได้ อีกทั้งในช่วงแรกๆ ที่เอสโซ่เข้ามาลงทุนก็กอบโกยกำไรจนคุ้มแล้ว จึงตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากประทศไทย
บางจากเองงานนี้ก็ถือว่า ได้ของดีราคาไม่แพง ประกอบกับแนวโน้มการใช้พลังงานน้ำมันจะยังคงอยู่ไปอีกนานนับ 10 ปี สะท้อนจากยอดขายรถ EV บวกปลั๊ก-อิน ไฮบริด อยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 คัน/ปีเท่านั้น จากยอดขายรถยนต์ทั้งหมด 800,000-900,000 คัน ยังนับว่าน้อยมาก
ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนรถที่ประชากรไทยใช้อยู่ 10 ล้านคัน มอเตอร์ไซค์อีก 10 ล้านคัน จะเห็นได้ว่า 99.9% ยังเป็นรถที่ใช้น้ำมัน ธุรกิจน้ำมันยังไงก็จะยังอยู่ได้อีกนาน
ที่มาที่ไปของดีลนี้ เริ่มจาก กลุ่มบางจากต้องการที่จะขยายโรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2 จากเดิมที่มีโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย กําลังการกลั่นสูงสุด 120,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ถ้าจะลงทุนสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่จะต้องใช้งบฯลงทุนที่สูงมาก ดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว “ไม่คุ้มค่า” กับการลงทุน ฉะนั้นการตัดสินใจซื้อเอสโซ่ครั้งนี้ถือว่าบางจากตัดสินใจถูกต้องและคุ้มค่าอย่างมาก เพราะจะได้สินทรัพย์ไม่รวมแบรนด์ “ESSO”, น้ำมันดิบ 7.4 ล้านบาร์เรล คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 33-34 บาท/เหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท, การลงทุนในท่อส่งน้ำมันอีก 5,000 ล้านบาท, ที่ดิน 800 ไร่ ไร่ละ 15 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ประมาณ 700 สาขา มีการลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 20 ล้านบาท รวม 15,000 ล้านบาท รวมเฉพาะรายการเหล่านี้ บางจากจะได้รับสินทรัพย์คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังไม่รวมโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ขนาดกำลังผลิต 174,000 ล้านบาร์เรล/ แถมยังได้โรงงานพาราไซลีน ขนาด 500,000 ตัน ที่จัดเป็นบายโปรดักต์ด้วยงานนี้จึงคุ้มสุดๆ
เหนือสิ่งอื่นใด การซื้อโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ยังถือเป็นการ synergy ธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้กลุ่มบางจากจะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 120,000 บาร์เรล/วัน เป็น 294,000 บาร์เรล/วัน ส่งผลให้ มีกำลังการกลั่นขึ้นเป็นเบอร์ 1 แซงไทยออยล์ที่มีกำลังการกลั่นอยู่ที่อยู่ที่ 275,000 บาร์เรล/วัน
ปัจจุบันบางจากมีสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 1,400 แห่ง เมื่อรวมกับสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ปัจจุบันอีกกว่า 700 แห่ง ส่งผลให้บางจากจะมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมด 2,100 แห่ง หรือใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. OR ที่ครองอันดับ 1 อยู่ในปัจจุบัน (2,473 แห่ง) และสถานีบริการน้ำมัน PTG ที่อยู่อันดับ 2 (2,181 แห่ง) ทำให้สถานีบริการน้ำมันบางจากจะเติบโตแบบก้าวกระโดด
แต่ที่เป็นไฮไลท์ที่หลายคนอาจมองข้าม อย่าลืมว่า สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตโซนตัวเมืองชั้นในเรียกว่าอยู่ในพื้นที่ “ทำเลทอง” ขณะที่สถานีบริการน้ำมันบางจากอยู่โซนด้านนอก เท่ากับสถานีบริการน้ำมันที่บางจากได้เพิ่มเข้ามาใหม่ ก็จะไม่ทับซ้อนกัน
อย่าลืมว่าโรงกลั่นบางจากปัจจุบัน ที่อยู่ริมถนนสุขุมวิท นับวันการดำเนินธุรกิจจะมีแต่ความยุ่งยาก เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่สังคมเมือง โอบล้อมด้วยความเจริญมีที่อยู่อาศัยและธุรกิจหนาแน่น อาจจะมีปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้ การได้โรงกลั่นเอสโซ่มา จึงเป็นการเตรียมการแก้ปัญหานี้ไว้ล่วงหน้า
อีกทั้งพื้นที่โรงกลั่นเอสโซ่อยู่ในศรีราชา ชลบุรี เป็นพื้นที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เหมาะสำหรับตั้งโรงกลั่นอย่างยิ่ง หาที่เหมาะสมกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ในอนาคตข้างหน้า หากบางจากจำเป็นต้องย้ายโรงกลั่นออกจากในเมือง ก็จะมีพื้นที่รองรับทันที
งานนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับคนไทย เพราะการที่บางจากซื้อเอสโซ่นั้น เท่ากับว่าธุรกิจนี้อยู่ในมือธุรกิจของคนไทยผลกำไรที่ได้ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงการคลังที่ถือหุ้นในเอสโซ่ถึง 12% ก็น่าจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ต้องบอกว่า เกมนี้ของบางจากนั้นมาเหนือเมฆจริงๆ “วิน-วิน” ทุกฝ่าย เอสโซ่ไม่เสียหาย บางจากได้ ประเทศได้
…………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)