คาดไม่เกินกลางเดือนมี.ค.นี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะประกาศที่จะยุบสภาฯตามที่หลายๆ ฝ่ายวิเคราะห์ไว้ นั่นหมายความว่า ปฏิทินการเลือกตั้งก็จะอยู่ราวๆ ในวันที่ 7 พ.ค.66 ไม่เกิน 24 มี.ค.66 ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
ตอนนี้พรรคการเมืองหลายๆ พรรค ต่างออกมาเคลื่อนไหว นำเสนอ “นโยบาย” ส่วนใหญ่จะเน้นนโยบายเศรษฐกิจจูงใจชาวบ้านให้เห็นคล้อยตามและเลือกพรรคตัวเอง จึงจะเห็นนโยบายแปลกๆ พิลึก พิลั่นออกมา เอาใจกันตั้งแต่เกิด วัยทำงาน กระทั่งสู่วัยชรา กันเลยทีเดียว
เท่าที่สังเกตเที่ยวนี้ งัดนโยบายประชานิยมประชันกันแบบจัดเต็มกันทุกพรรค นโยบายหลักๆ แต่ละพรรคอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด อย่างกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเพิ่มเงิน จากเดิม 200-300 บาทต่อเดือนเป็น 700 บาทต่อเดือน ล่าสุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ได้ออกมาเกทับ เป็น 1,000 บาทต่อเดือน นโยบายแรงงานพรรคเพื่อไทย 600 บาทภายในปี 2571 พรรคก้าวไกล 450 บาทปรับขึ้นทันที
หากจะประมวลนโยบายนโยบายสำคัญของทุกพรรค หนีไม่พ้นนโยบาย “พัก” ได้แก่ การพักหนี้ 3 ปี ปลอดต้น/ปลอดดอกเบี้ย “ลด” ทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าก๊าซหุงต้ม “เพิ่ม” บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน
รวมไปถึงนโยบาย “ฟรี” เช่น รักษามะเร็ง ฟอกไต วัคซีนมะเร็งปากมดลูก บัตรประชาชนรักษาฟรีทั่วไทย นมโรงเรียนฟรี 365 วัน ป่วย 16 โรครับยาฟรี เป็นต้น นโยบาย “ประกัน” รายได้เกษตรกร ข้าว-มันสำปะหลัง-ยางพารา-ข้าวโพด-ปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย “อุดหนุน” เช่น ชาวประมงกลุ่มละ 100,000 บาท ชาวนารับ 30,000 บาท/ครัวเรือน ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ออกกรรมสิทธิ์ที่ทำกิน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน บำนาญประชาชน และนโยบาย “เลิก” เช่น ยกหนี้ กยศ. แต่ละพรรคจะหาเสียง ลด แลก แจก แถม แบบไม่บันยะบันยังอย่างกรณี คณะรัฐมนตรีมีมติขึ้นเงินเดือนให้กับนายกฯอ.บ.ต.ทั่วประเทศ ในช่วงใกล้เลือกตั้งกลายเป็นนำเงินภาษีประชาชนมาหาเสียงทางการเมือง
แต่ละพรรคที่หาเสียง จะมีแต่นโยบายใช้เงิน ไม่มีพรรคการเมืองใด บอกว่า จะมีวิธีหารายได้จากไหนมาชดเชยงบประมาณที่ใช้ไป หรือจะสร้างผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างไร จะสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยวิธีการใด
ครั้นเมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองนั้นๆ ได้เป็นรัฐบาล จะเอาเงินมาจากไหนชดเชย นักการเมืองเหล่านั้นมักจะตอบว่า งบประมาณมีเพียงพอหากจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ คำยืนยันจากปากนักการเมืองเพียงแค่ว่า งบประมาณจะมีเพียงพอถ้าจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นคำตอบแบบ “กำปั้นทุบดิน” ไม่ได้บอกว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคให้ความสำคัญต่อวินัยการเงินการคลังแค่ไหน
จึงขอเสนอให้ พรรคการเมืองที่หาเสียงอย่าบอกแค่ว่า จะทำอะไร แต่ควรแจกแจงให้ประชาชนรู้ว่า แต่ละนโยบายจะต้องใช้เงินปีละเท่าไหร่ ใช้จากแหล่งใด เช่น จากการลดรายจ่ายงบประมาณ จะลดงบประมาณด้านใด ของกระทรวงใด หรือจากการเพิ่มรายได้ของรัฐ เช่น เก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มอัตราภาษีใด เพิ่มฐานภาษีประเภทใด หรือจะกู้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
อีกทั้งพรรคการเมืองควรจัดทำตัวเลขรายจ่ายในแต่ละนโยบาย และตัวเลขรวมจากทุกนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ อย่าลืมว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายแปลกๆ เป็นความเสี่ยงที่ต้องระวังให้มาก เช่น นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนี้ เช่น พักหนี้เท่านี้ปี หรือพักหนี้แล้วพักดอกเบี้ยด้วย ไม่คิดดอกเบี้ยซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน
จากเดิมไทยถูกวางในจุดที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะปัจจัยพื้นฐาน แต่หากเริ่มมีนโยบายที่ไม่สนใจวินัยการเงินการทอง ไทยก็จะถูกมองว่ามีความเสี่ยงทางการเมืองสูง นโยบายประชานิยมอาจจะฟังดูดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมีผลข้างเคียงตามมามากมาย
เวลานี้ประเทศต้องเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการกระตุ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีการระบาดของโควิดที่มีผลกระทบหนัก แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่า แม้จะฟื้นช้าแต่ฟื้น การที่จะเหยียบคันเร่งตลอดเวลาไม่เหมาะสม
เหนือสิ่งใด พรรคการเมืองควรมองหานโยบายเศรษฐกิจในระยะยาว มากกว่าจะเน้นประชานิยมเพียงอย่างเดียว เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
รวมถึง สร้างสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เช่น ลดกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนซึ่งเป็นต้นทุนที่ลดความสามารถในการแข่งขัน และเน้นส่งเสริมยกระดับโครงสร้างการผลิต นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่ารายได้ให้แก่สินค้า ประชาชน และประเทศชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ร่วมทำรายงานวิจัยเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566” พบว่า จากการรวบรวมนโยบายจาก 9 พรรค รวม 86 นโยบาย เฉพาะที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี
หากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซํ้ากัน) ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท
เห็นตัวเลขแล้วน่าห่วงอนาคตประเทศ เงินที่นักการเมืองหว่านหาเสียงด้วยการ ลด-แลก-แจก-แถม แบบไม่บันยะบันยัง ล้วนแต่เป็นเงินภาษีชาวบ้านที่ควรต้องใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ประชานิยมแบบมักง่าย อย่างนี้
……………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)