เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันนาม “เจโทร” ได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกจาก 6 ประเทศในอาเซียน ปรากฏว่า ลดลง 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในปี 2563 สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านดอลลาร์
ซึ่งถือว่าลดลงค่อนข้างน้อย แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียและส่วนอื่นๆ ของโลกก็ตาม
อย่างไรก็ตามบรรดา 6 ชาติอาเซียน เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 7.0% สู่ระดับ 2.8266 แสนล้านดอลลาร์ส่วนฟิลิปปินส์มียอดส่งออก ลดลงมากที่สุด 10.1% ในปี 2563, สิงคโปร์ ลดลง 4.1% มาเลเซียและอินโดนีเซีย ลดลง 2.6%
สำหรับประเทศไทยนั้น ปรากฏว่า ลดลง 6.0% และคาดกันว่าปี 2564 การส่งออกไทยอย่างเก่งอาจจะเป็นบัวพ้นน้ำนิดๆ โตขึ้นราวๆ 3-4% จากปี 2563 แต่หลังจากโควิด-19 ระบาด ส่งออกไทยต้องเผชิญกับวิกฤติที่คาดไม่ถึงนั่นคือ “การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เปล่า” ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าไม่เพียงพอกับสินค้าที่มีออเดอร์ สินค้าที่ผลิตแล้วไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้มีการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ผู้ส่งออกต้องประสบปัญหาสภาพคล่องเดือดร้อนกันทั่วหน้า
ปัญหาการชาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กระทบการส่งออกนั้น เริ่มส่อเค้าตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อโลกมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการ “ล็อกดาวน์” ของท่าเรือในหลายๆ ประเทศ ทำให้อัตราการหมุนของตู้ในระบบติดขัดต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ๆ หลาย ๆ ประเทศในยุโรปและอเมริกาได้สั่งล็อกดาวน์ บรรดาโรงงานผลิตในประเทศจึงพากันปิดตัว สินค้าส่งออกไม่มี สวนทางกับความต้องการนำเข้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากเอเชีย จึงเกิดการล้นทะลักของสินค้าขาเข้า แต่ขาออกไม่มีสินค้าส่งออก ในช่วงแรกค่าระวางถูกมากทำให้ไม่คุ้มที่จะตีเรือเปล่ากลับ ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์ถูกทิ้งไว้ตามท่าเรือจำนวนมาก
รวมถึงเศรษฐกิจจีนและเวียดนามฟื้นตัวเร็วอันดับต้นๆ ของโลก สามารถส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทุกวันนี้ตู้คอนเทนเนอร์จึงไปกองรวมกันอยู่ที่จีนและเวียดนามเป็นจำนวนมากเพื่อรอการส่งออก
นั่นหมายความว่า ไทยต้องรอให้จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ใช้ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าปีละ 200 ล้านตู้ ส่งออกสินค้าให้หมดก่อนจะหยุดยาวในช่วงตรุษจีน และเวียดนามใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 13 ล้านตู้ ขณะที่ไทยมีความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 10 ล้านตู้ ต้องไปแย่งตู้กับจีนและเวียดนาม แม้จะยอมจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นก็แข่งลำบาก
ผลจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ราคาค่าเช่าพุ่งพรวด โดยในเดือนพฤศจิกายน ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่งเป็นขนาดที่นิยมมากที่สุด ราคา 2,500 เหรียญสหรัฐต่อตู้ แต่ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ ราคาพุ่งพรวดเดียว 9,000-12,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้
ลองนึกภาพดูว่า ราคาค่าเช่าตู้คอนเทเนอร์ขยับขึ้นทีเดียว 4-5 เท่าตัว นี่ยังไม่รวมค่าระวางเรือที่ก็ขยับขึ้นตามไปด้วย ต้นทุนสินค้าส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้นขนาดไหน ยิ่งสินค้าของไทยเป็นพวกสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูปสินค้า และสินค้าอุตสาหกรรม พื้นฐานกำไรต่ำอยู่แล้วจะเหลือสักเท่าไหร่
ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนนอกจากจะทำให้ “ต้นทุน” การส่งออกสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้การส่งออกผิดเพี้ยนผิดฤดูอย่างไม่น่าเชื่อ สินค้าที่ผลิตต่างได้รับความเสียหายอย่างหนัก ล่าสุด สมาคมกีฬาในยุโรป ออกมาเปิดเผยว่า ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ทั้ง อะดีดาส และ ไนกี้ ผู้ผลิตชุดกีฬาระดับโลกที่เตรียมสินค้าชุดกีฬาออกมาต้อนรับฤดูหนาว ต้องเลื่อนไป 2-3 สัปดาห์ ซึ่งก็หมดฤดูไปแล้ว สินค้าขายไม่ได้
ปัญหาอุปสรรคการส่งออกไทย นอกจากต้องเจอวิบากกรรมนอกจากปัญหาตู้คอนเนอร์เปล่าสำหรับใช้ขนสินค้าขาดแคลนแล้ว ยังมีปัญหา “เงินบาทแข็งค่า” อันเป็นปัญหาโลกแตกที่ยังแก้ไม่ได้คอยเป็นตัวถ่วงการส่งออกไทยมาจนทุกวันนี้
ในปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่เพียง “ค่าเงินรูเบิ้ล” ของรัสเซียเท่านั้น ผลพวงจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ส่งออกของไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นหลัก
ฟันธงได้เลยว่าการส่งออกของไทยปีนี้ก็ยังคงไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์หากคนที่รับผิดชอบปัญหาดังกล่าวยังมะงุมมะหงาหรากว่าหาทางออกเจอคงชาติหน้าตอนบ่ายๆ
…………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”