วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSทัพ“ธุรกิจจีนทั่วโลก”บุกไทย ... โอกาสของเศรษฐกิจไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทัพ“ธุรกิจจีนทั่วโลก”บุกไทย … โอกาสของเศรษฐกิจไทย

ความขัดแย้งจาก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี และยังไม่มีทีท่าจะยุติส่งผลให้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน รวมถึงบริษัทต่างชาติลงทุนในจีนหลายบริษัท เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ไปหาแหล่งลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเลือกที่จะไปลงทุนใน เวียดนาม และ อินโดนีเซีย เป็นอันดับต้นๆ เพราะได้เปรียบไทยตรงที่ตลาดใหญ่กว่า การเมืองนิ่ง รัฐบาลมีเสถียรภาพมากกว่าไทย ที่ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แต่อย่างใด

ก่อนหน้า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เคยไปจัดโรดโชว์ที่ประเทศจีน เพื่อดึงนักลงทุนจีนมาลงทุนในประเทศไท ยด้วยการชูจุดแข็งในเรื่องระบบสาธารณูปโภค ระบบโลจีสติกส์ และมีโครงการอีอีซี. ไว้รองรับนักลงทุน ถ้าสามารถดึงนักลงทุนจากจีนย้ายฐานมาลงทุนในไทยได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างมหาศาล

อีกเรื่องที่ประเทศไทย ต้องยกเครื่องใหม่คือ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจากจีน ต้องหันไปเน้นกลุ่มเป้าหมายใหม่ ให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวที่เป็นนักธุรกิจหรือคนชั้นกลางในจีนที่มีกำลังซื้อสูง กระเป๋าหนักกว่า 300 ล้านคน ให้มาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่มากับทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งมีกำลังซื้อต่ำ ใช้เวลาพักช่วงสั้นๆ เม็ดเงินที่ใช้จ่ายตกอยู่กับธุรกิจคนจีน คนไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร มาใช้ทรัพยากรของเราแบบฟรีๆ

ต่างจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีฐานะดี พวกนี้ส่วนใหญ่จะเดินทางมาเอง จะไม่ผ่านบริษัททัวร์ เพราะมีความรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ จะจัดการเองทุกอย่าง จองโรงแรมเอง เช่ารถคนไทย กินร้านอาหารไทย ของฝากก็จะนิยมซื้อจากคนท้องถิ่น เม็ดเงินที่จับจ่ายใช้สอยก็จะตกอยู่ในไทย ปกติกลุ่มนี้จะไปเที่ยวประเทศเจริญแล้ว อย่าง ยุโรป ญี่ปุ่น แต่ถ้าไทยดึงมาได้ จะพลิกโฉมท่องเที่ยวไทยได้

ที่กล่าวมาข้างต้น เพียงเพื่อจะบอกว่า โอกาสมาถึงแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดี เนื่องจากในระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย.นี้ จะมีงานใหญ่ระดับโลกในไทย โดยจะเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก จะมีนักธุรกิจจีนจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 4,000 คน จาก 40 ประเทศ มาร่วมประชุม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและคงมีไม่บ่อยนักที่จะมีนักธุรกิจจีนนับพันๆ คน หากรวมทรัพย์สินไม่รู้ว่ากี่ล้านล้านบาท จะมารวมตัวกันอย่างครั้งนี้ ต้องบอกว่าเป็นโอกาสทองของไทยที่รัฐบาลจะต้องช่วงชิงโอกาสนี้มาให้ได้

ในการประชุมจะมี นักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก จะมาพบปะหารือ และประชุมร่วมกัน สำหรับประเทศไทยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ครั้งแรกเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ในยุค “บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ปกติงานนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี แต่ครั้งนี้จัดหลังจากว่างเว้นมานานถึง 4 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อาจจะเป็นเพราะ เว้นวรรคมานาน ครั้งนี้จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมมากที่สุด ตั้งแต่เคยมีการจัด มีนักธุรกิจจีนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม ที่มาจากประเทศจีน 1 พันคน, ญี่ปุ่น 200 คน, มาเลเซีย 170 คน, อังกฤษ 20 คน จะมีผู้ติดตามราว 1 พันคน ส่วน นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ที่เข้าร่วมงานนี้อีก 1 พันคนล้วน ระดับ “บิ๊กๆ” ทั้งนั้น

ด้านนักธุรกิจจีนก็มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว และยังไม่เคยมาลงทุน เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้ามี บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์, บีวายดี (BYD) ทั้งสองบริษัทนี้คือ ผู้ผลิตรถสัญชาติจีนรายใหญ่ จะยกขบวนมาพร้อมซับพลายเชน ยังมี บริษัท Guangzhou Pharmaceutical Holdings Limited ผู้ผลิตและจำหน่ายยาและสมุนไพรรายใหญ่ของจีน และเป็นเจ้าของเครื่องดื่มชาสมุนไพรเก่าแก่ที่ชื่อ “หวัง เหล่า จี๋” ที่คนไทยรู้จักดี

THE 16th World Chinese Entrepreneurs Convention

“อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า การจัดการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดโอกาสในการขยายตลาดสินค้า เพิ่มขึ้นจากเดิม 35,000 ล้านเหรียญ เป็น 40,000 ล้านเหรียญ ทำให้เพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปจีน จาก 12% เป็น 13% ภายในเวลา 5 ปี เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มจาก 10 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่เม็ดเงินลงทุนตรง (FDI) นักลงทุนจีนจะครองอันดับ 1 ในไทยไปอีก 1 ทศวรรษ สามารถเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากปีละราว 80,000 ล้านบาท เป็นมากกว่า 1 แสนล้านบาทได้ในอนาคต

ถ้าดึงบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมมาลงทุนในไทยและชักชวนนักธุรกิจจีนจากทั่วโลกที่มาประชุมหันมาเที่ยวในเมืองไทยได้ เศรษฐกิจไทยคงจะกระเตื้องขึ้นอย่างแน่นอน

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img