ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไร นับถอยหลังจากนี้อีกไม่กี่ชั่วโมง วันที่ 13 ก.ค.นี้ เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศคงเฝ้าติดตามการประชุมสภาฯด้วยความระทึกใจและคงต้องลุ้นว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่
หลังจากสะดุดเล็กๆ จากตำแหน่งประธานสภาฯ ที่แต่เดิมจะเสนอคนของพรรค สุดท้ายต้องยอมตำแหน่งให้ “อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม จนถึงนาทีนี้ ทั้ง 8 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มี “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำ ยังจับมือกันเหนียวแน่น พร้อมส่งให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะฝ่าด่าน สมาชิกวุฒิสภา หรือ “สว.” และ พรรคร่วมเดิม ได้หรือไม่ ต้องรอลุ้นหรืออาจจะเจอแผนสกัดจากองค์กรอิสระอย่าง กกต.เสียก่อน หากไม่ผ่านก็ต้องเสนอกันใหม่
ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อจบไม่ลงง่ายๆ ภายในวันที่ 13 ก.ค.นี้ การโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรีก็อาจจะลากยาวไปถึงเกือบสิ้นเดือนหรือมากกว่านั้น แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ ก็อยากให้ทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี หากจัดตั้งรัฐบาลช้าเท่าไหร่ ยิ่งจะสร้างความเสียหายกับบ้านเมืองเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
ต้องบอกว่า ประเทศไทยในเวลานี้อยู่ในห้วง “สุญญากาศ” จริงๆ แม้รัฐบาลเดิมจะรักษาการ ก็เหมือนไม่มี ทำงานไม่เต็มที่ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำบริหารจัดการกันเอง รัฐบาลรักษาการจึงมีสภาพเหมือน “เป็ดง่อย” มาตรการหลายๆ อย่างก็ชะงัก รอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ
เมื่อรัฐบาลรักษาการก็ “ลอยตัว” ข้าราชการก็อยู่ในสภาพ “เกียร์ว่าง” ต้องเฝ้าดูทิศทางลม ดู “นายใหม่” ว่าจะเป็นใคร ซึ่งเป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เมื่อประเทศอยู่ในช่วง “สุญญากาศ” ปัญหาที่เคยซุกใต้พรม ก็ค่อยโผล่ออกมา สะท้อนจากกรณี “วิกฤติตลาดหุ้น” ในเวลานี้
ในช่วงนี้ตลาดหุ้นบ้านเรา ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกขานกันว่า “โจรใส่สูทปล้นกลางตลาด” ทยอยโผล่มาเรื่อยๆ ดัชนีตลาดหุ้นไทยจึงตกต่อเนื่อง ตั้งแต่วันเลือกตั้งจนวันนี้ ดัชนีรูดลงกว่า 100 จุด จนนักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นไทยไปแล้วหลายแสนล้านบาท หันไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีความน่าถือมากกว่าและให้ผลตอบแทนดีกว่าแทน
ทั้งนี้ล้วน เป็นผลจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นนั้นเอง อันเนื่องมาจากการเมืองไม่นิ่ง รัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการไม่ตัดสินใจ หน่วยงานที่ดูแลก็ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ทันสถานการณ์ ปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนเอาไม่อยู่และปัญหาก็คงโผล่มาเรื่อยๆ นอกจานี้ ยังจะสะท้อนจากยอดการส่งออกของไทยที่เป็นรายได้หลักของประเทศ “หดตัว” หรือ ส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน
เหนือสิ่งใดหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะส่งผลกระทบกับการจัดทำงบประมาณประจำปี จะต้องเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ เมื่องบประมาณล่าช้า จะกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐ โครงการต่างๆ จะต้องเลื่อนออกไป เมื่อภาครัฐไม่มีการลงทุน ภาคเอกชนก็ไม่กล้าลงทุน เพราะเอกชนจะดูทิศทางการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่
ที่สำคัญ…กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จ รัฐมนตรีเข้าทำงาน กว่าทุกอย่างจะลงตัว ปีนี้ทั้งปีจะมีเวลาทำงานแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น เวลาที่ผ่านมาจึงสูญเปล่า
ตอนนี้บรรดานักธุรกิจต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า อยากให้ตั้งรัฐบาลใหม่เร็วที่สุด ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจลงทุนในไทย เขาจับตามองการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะได้เร็วหรือไม่ เพราะหากตั้งได้เร็วก็จะสร้างความมั่นใจได้ เพราะรัฐบาลรักษาการทำอะไรมากไม่ได้ หน่วยงานราชการด้านเศรษฐกิจก็ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องรอนโยบายที่ชัดเจน
ภาวะเศรษฐกิจกำลังบอบช้ำ สูตรสำเร็จคือต้องเร่งสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้คนจะมั่นใจในอนาคตของตัวเอง กล้าจับจ่ายใช้สอย กล้าใช้เงิน ภาคเอกชนและนักลงทุนก็กล้าที่จะลงทุน ทุกอย่างก็จะเดินหน้าต่อไปได้
…………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)