วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“จนเพิ่ม หนี้ท่วม” ทุกข์ของชาวนาไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“จนเพิ่ม หนี้ท่วม” ทุกข์ของชาวนาไทย

“ชาวนา” คือกระดูกสันหลังของชาติ เป็นคำปลอบประโลมชาวนาที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ และยังส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงชีวิตของชาวนาไทยยังยากจนเหมือนเดิม หรือแย่งลงกว่าเดิม

เป็นเพราะรัฐบาลที่ผ่านๆ มา มองแต่ประโยชน์ระยะสั้นๆ ช่วยแบบมักง่าย ด้วยการ “แทรกแซงตลาด” หรือ “แทรกแซงราคา” ไม่ว่าจะเป็นการ “รับจำนำ” หรือ “ประกันรายได้เกษตรกร” หวังเพียงคะแนนนิยมจากชาวนาและไม่สนใจผลประโยชน์หรือผลกระทบระยะยาว

ที่สำคัญนโยบายการแทรกแซงของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะ นโยบายรับจำนำข้าว นอกจากจะไม่ได้ช่วย ยังทำลายศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทย ยังทิ้งความเสียหายจากการทุจริตมหาศาล แต่รัฐบาลปัจจุบัน ก็ยังใช้นโยบายแทรกแซงราคา มาตลอด โดยไม่คิดจะแก้ปัญหาที่ต้นตอ

หากย้อนอดีตไปราว 50 ปีที่ผ่านมา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ต้องยกระดับเกษตรกร โดยต้องทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น” ผ่านมาแล้ว 50 ปี กลับมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ

เมื่อเร็วๆ นี้มีบทวิเคราะห์โดย ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในประเด็น “10 ปี ชาวนาไทย : จนเพิ่ม หนี้ท่วม?” พบว่า ข้าวไทยวนเวียนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” 3 ด้าน มาตลอดหลายสิบปี ส่งผลให้ชาวนาไทย “ยิ่งทำนา ยิ่งเป็นหนี้เพิ่ม”

ด้านแรก การปลูกข้าว ชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง ชาวนาส่วนใหญ่ซื้อปัจจัยการผลิตด้วยเงินเชื่อ ทำให้เป็นหนี้ร้านขายปัจจัยผลิต หรือบางรายกู้เงินจากสถาบันการเงิน สหกรณ์การเกษตร มาใช้เป็นทุนปลูกข้าว โดย 70% ของชาวนาที่เป็นหนี้ มีหนี้สิน 1-3 แสนบาทต่อครัวเรือน

อีกทั้งผลผลิตต่อไร่ต่ำ เพียง 450 กิโลกรัม (กก.) แต่เวียดนาม 1,000 กก. ขาดพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค น้ำไม่เพียงพอ และซ้ำเติมด้วยภาวะโลกร้อน ขาดการวิจัยและพัฒนา แต่เวียดนาม 3,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนอินเดีย จีน ญี่ปุ่น มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

ด้านที่สอง เมื่อได้ผลผลิตข้าวแล้วนำไปขาย แต่กลับขายได้ราคาต่ำ จากปัญหาความชื้นสูง คุณภาพข้าวไม่ดี เอกลักษณ์ของข้าวไทยหายไป ทั้งความหอม ความนุ่ม เพราะมุ่งแต่เพาะปลูกให้ได้หลายรอบเพื่อให้ขายได้หลายรอบ (แต่ได้ราคาต่ำ) โดยไม่สนใจปรับปรุงคุณภาพข้าว บำรุงดิน

ด้านที่สาม นำเงินไปใช้จ่าย โดยเมื่อขายข้าวได้แล้ว เงินส่วนใหญ่นำไปใช้หนี้ เหลือส่วนน้อยใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย จึงต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมาโดยตลอด เกิดหนี้สะสมก้อนใหญ่ ไม่มีวันใช้หนี้หมดทางปลดหนี้คือ ขายที่นาของตนเอง แล้วเช่าทำนาต่อ จากนั้นก็เข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” เหมือนเดิม ไม่มีรัฐบาลชุดใดช่วยแก้ปัญหานี้ และปลดหนี้ให้อย่างจริงจัง ส่งผลให้ชาวนาไทยจนที่สุดในเอเชีย และอาเซียน

เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง อินเดีย เวียดนาม และ เมียนมา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือปี 55-65 จากบทวิเคราะห์พบว่า ปี 65 ชาวนาไทยมีรายได้ 3,900 บาทต่อไร่ ลดลงจาก 4,678 บาทต่อไร่ในปี 55 และเงินในกระเป๋า หายไป 1,160 บาทต่อไร่ จากที่มีเหลือ 838 บาทต่อไร่ ขณะที่อินเดีย เวียดนาม พม่า มีรายได้ต่อไร่สูงกว่าแถมชาวนาของเขายังมีเงินเหลือ ไม่ติดลบเหมือนชาวนาไทย

ขณะที่ ต้นทุนการผลิต ไทย 5,898 บาทต่อไร่ จากปี 55 ที่ 3,839 บาท อินเดีย 6,994 บาท เพิ่มจาก 4,412 บาท, เมียนมา 4,574 บาท เพิ่มจาก 3,154 บาท และเวียดนาม 5,098 บาท เพิ่มจาก 4,070 บาท ส่วนศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของข้าวไทยลดลง ส่งออกได้ 6-9 ล้านตัน เพราะถูกข้าวจากอินเดีย เมียนมา เวียดนาม เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้การส่งออกจาก 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา “ข้าวไทย” ไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเลย ทั้งในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาแข่งขันในตลาดและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ทางออก ที่จะทำให้ชาวนาพ้นจากวงจรอุบาทว์ได้ รัฐบาลต้องจริงใจ เลิกนโยบายแทรกแซงราคาที่ใช้เงินมหาศาล นำเงินจำนวนนั้น มาพัฒนาพันธุ์ข้าว มาลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกร ปัจจุบันในประเทศไทยมีเทคโนโลยีด้านเกษตรก้าวหน้ามาก สามารถคำนวณคุณภาพดิน คำนวณปริมาณฝนล่วงหน้าได้ จะช่วยให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

จะเห็นได้จากความแตกต่างระหว่าง ชาวนาไทย กับ ญี่ปุ่น ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างชัดเจนคือ มูลค่าผลผลิตต่อพื้นที่ของไทยน้อยกว่าของญี่ปุ่นประมาณ 8.5 เท่า โดยเกษตรกรไทยทำเกษตรในพื้นที่ 2 แสนตารางกิโลเมตร แต่มีมูลค่าการผลิต 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ญี่ปุ่นทำเกษตรในพื้นที่มีขนาดเล็กกว่า ประมาณ 4 หมื่นตารางกิโลเมตร แต่ได้ผลผลิตมูลค่า 4.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ความแตกต่างทางด้านมูลค่าการผลิตมาจากการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรมาช่วยนั่นเอง

ขณะที่เรื่อง การตลาด ในปัจจุบันกระแสนิยมของตลาด “ข้าวอินทรีย์” โดยเฉพาะในต่างประเทศกำลังมาแรง มี ชุมชนวิสาหกิจศูนย์ข้าว หลายแห่งปลูกข้าวอินทรีย์ส่งออกขาย ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางไปยังผู้ซื้อต่างประเทศ

เช่นวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง จังหวัดศรีษะเกษ ทุกวันนี้ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของอุ่มแสง ส่งขายต่างประเทศ 80% ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่สหรัฐและ ยุโรปโดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่ต้องถูกกดราคา

ข้าวอินทรีย์ที่ส่งออกในนามชุมชนฯนั้น เป็น “เสน่ห์การตลาด” อย่างหนึ่ง เพราะฝรั่งเขารู้ว่า หากซื้อข้าวไปบริโภคแล้ว เงินถึงมือเกษตรกรแน่ๆ ตัวอย่างดีๆ อย่างนี้ รัฐบาลกลับไม่ส่งเสริมให้มาปลูกข้าวตามกระแสความต้องการของตลาด ชาวนาไทยจึงกลายเป็นกระดูกสันหลังผุๆ เท่านั้น

………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img