คนในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวเล่าให้ฟังว่า ทันทีที่มีข่าวว่า “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีต้องเลื่อนแผนการฉีดวัคซีนออกไป ทุกคนถึงกับช็อคในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างที่รู้ๆ ว่า อนาคตธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะฟื้นหรือไม่ฟื้น ก็อยู่ที่วัคซีนตัวเดียวเท่านั้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นทำให้หลายคนขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนทันที
ต้องยอมรับว่าเป็นเวลากว่าปี ที่โลกต้องสู้กับไวรัสโควิด-19 ระบาดแม้ยังไม่มีวี่แววว่า โรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่หลายๆ ประเทศก็เริ่มเห็นแสงสว่างรำไร หลังจากที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง อังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมัน จีน และอินเดีย เริ่มประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนฉีดป้องกันเชื้อโควิด-19 หลายประเทศเริ่มระดมฉีดให้ประชาชน โดยอิสราเอลเป็นประเทศแรก ล่าสุดสามารถฉีดได้มากกว่า 90% ของคนทั้งประเทศ
การที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ย่อมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก อย่างที่รู้ๆ กันว่าวิกฤติครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจเหมือนหลายๆ ครั้งในอดีต แต่มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านสุขภาพที่เจอพิษโควิดเล่นงาน ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการต้องหยุดดำเนินกิจกรรม เพราะคนไม่กล้าออกนอกบ้าน ส่งผลเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก
หันไปมองประเทศอื่น แล้วย้อนกลับมามองบ้านเรา รู้สึกใจหาย แม้ว่าในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ประเทศไทยได้รับคำยกย่องจากองค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ว่ารับมือกับการระบาดโควิด-19 ได้ดีอันดับต้นๆ โลก แต่พอมาดูขีดความสามารถในการจัดหาวัคซีน กลายเป็นหนังคนละม้วน ยิ่งมาเจอโควิดระบาดรอบ 2 แทบเสียมวย
เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการกระจายการฉีดวัคซีน ยิ่งสร้างความกังขา เมื่อโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งประกาศจะนำเข้าวัคซีนมาบริการประชาชน แต่ก็ถูก “ศบค.” เบรกหัวทิ่ม แม้ต่อมามีข่าวว่าจะเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนมาบริการประชาชนได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
น่าเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลยังจำกัดให้มีการนำเข้าโดยหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะตั้งรับสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อาจจะยกระดับเป็นการระบาดรอบ 3 ได้ทันหรือไม่ และจะทันรับมือกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดหรือไม่
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า รายได้หลักของประเทศต้องพึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในอาการโคม่ามากว่าปีแล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวก่อนที่มีโควิด-19 ระบาดมีสัดส่วน 12-15% ของจีดีพี. มีแรงงานทีอยู่ในวงจรนี้ราว 10 ล้านคน แต่ทุกวันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ พากันทะยอยปิดกิจการ แรงงานในธุรกิจต่างพากันตกงานหลายล้านคน
ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โควิดระบาด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในบ้านเราราวๆ 40 ล้านคน/ปี แต่ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบจะเป็นศูนย์ ปี 64 นี้คาดว่าไม่เกิน 5-6 ล้านคนรายได้ก็ราว 5-6 หมื่นล้านบาทเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด แทบไม่เห็นฝุ่น ก็คงมีแต่นักท่องเที่ยวไทย ที่รัฐบาลพยายามรณรงค์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ก็แค่สีสันต์
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “อัศวินม้าขาว” ที่จะช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาได้ ย่อมไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ “ลด-แลก-แจก-แถม” ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน-เราชนะ-เรารักกัน หรือโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นการเยียวยาชั่วคราวเพื่อ “ซื้อเวลา” รอให้เศรษฐกิจฟื้น หากรัฐบาลจะให้เศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นไปตามที่ตั้งเป้าราว 2.6% ของจีดีพี. มีทางเดียวเท่านั้นคือ ประชาชาชนจะต้องได้รับ “วัคซีน” อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวบ้านเรา
อย่างไรก็ตาม โอกาสดีๆ ต้องหลุดลอย เพราะเกิดกรณีวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในวัคซีนอย่างที่รู้ๆ กันว่า ยา และ วัคซีนทุกตัว มันมีผลข้างเคียงทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ยังไงการฉีดวัคซีน ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจประเทศ แต่รัฐบาลกลับทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤติอย่างไม่น่าเชื่อ
ขอย้ำว่าในสถานการณ์ยามนี้มีเพียง “วัคซีน” เท่านั้นที่เป็น “อัศวินม้าขาว” อย่างแท้จริง
……………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”